Skip to main content

 

‘โรงเรียนอิสลามบูรพา’ หรือ 'ปอเนาะสะปอม' จ.นราธิวาส โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งแรกที่ถูกสั่งปิดหลังเกิดเหตุความรุนแรงชายแดนใต้รอบใหม่ ปี 2547 ‘ซูใบดะห์ ดอเลาะ’ ในฐานะประธานมูลนิธิฯ ครูใหญ่ เป็นผู้รับใบอนุญาตฯ เธอจึงกลายเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงพร้อมอุสตาซ ครูในโรงเรียนอีกหลายคน ต้องต่อสู้ทางคดีและสู้เพื่อการอยู่รอดของชีวิตร่วมกับผู้หญิงคนอื่นที่ร่วมชะตากรรม เธอยืนหยัดสู้เพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ปลายปี 2554 ด้วยความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่าย แต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็มาสั่งอาญัติทรัพย์สินของมูลนิธิและโรงเรียนอีก เพราะไม่ผิดเธอจึงต้องสู้ต่อไป...

ปักหมุด:  “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข

 

'ซูใบดะห์ ดอเลาะห์': เพราะไม่ผิดจึงต้องสู้

ซูใบดะห์ ดอเลาะ

รอฮานี จือนารา
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ

      

      

10 กว่าปีแล้วซินะ ที่ฉันต้องมารับภาระเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สมัยก่อนเขาเรียกตำแหน่งนี้ว่า 'ครูใหญ่' โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ อันเป็นตำแหน่งที่ฉันไม่ได้ใฝ่ฝัน ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า ชีวิตนี้ฉันต้องมานั่งเป็นผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เคยถูกสั่งปิดจากทางการว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบแห่งแรก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้รอบใหม่ ในปี 2547 คือ โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า 'ปอเนาะสะปอม' ตั้งอยู่ที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  

ทำไมต้องเป็น “ฉัน” ที่ต้องมารับภาระอันหนักอึ้งนี้ ถามกับตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือเมื่อถูกตำหนิหรือไม่ก็ทำงานผิดพลาด แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาฉันก็มีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจเสมอว่า “การทำงานก็ต้องมีผิดพลาดไม่อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าทำงานหรอก ถือซะว่าเป็นบททดสอบจากพระเจ้าก็แล้วกัน” คำพูดเหล่านี้ทำให้ฉันคิดได้ว่า มนุษย์ทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และไม่ได้เก่งเสียทุกเรื่อง 

หลายคนก็คงสงสัยว่า ทำไมฉันซึ่งเป็น “ผู้หญิง” ต้องมาเป็นผู้นำท่ามกลาง “ผู้ชาย” ที่มีประสบการณ์มากกว่า เป็นผู้อาวุโสมากกว่า แล้วเหตุใดผู้ชายเหล่านั้นต้องให้ฉันขึ้นมาเป็นผู้นำได้ เพราะโดยปกติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยรับ “ผู้หญิงเป็นผู้นำ” นัก ที่สำคัญ ฉันก็ไม่ได้เก่งกว่าคนที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ อย่างลูกของผู้อำนวยการโรงเรียนคนหนึ่ง เธอจบปริญญาตรี มีความสามารถ เรียนเก่ง

แต่ทางคณะกรรมการโรงเรียนขณะนั้น เขามองว่าฉันสามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง จึงสามารถสื่อสารกับทางราชการได้ อีกทั้งเป็นคนที่กระฉับกระเฉง มีความมั่นใจ ฉะนั้นเหมาะที่จะเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่และที่สำคัญเรียนจบสายอาชีพครูโดยตรง มีประสบการณ์สอนแล้วหลายปี และอีกเหตุผลหนึ่งคงจะเป็นเพราะว่า พ่อเลี้ยงของฉันเป็นหนึ่งในห้าที่เป็นผู้บุกเบิกเปิดโรงเรียนแห่งนี้ 

ฉันได้รับคัดเลือกเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนอิสลามบูรพาเมื่อปี 2545 ไม่มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง มีแต่ค่าตอบแทนเป็นรายวันๆ ละ 150 บาท วันไหนที่ไม่สอนก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน และทำงานเรื่อยมาจนเงินเดือนขึ้นเป็น 6,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้ต้องรับหน้าที่เป็นผู้บริหาร ธุรการ และครูสอนหนังสือ อย่างไรก็ตามฉันพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตามที่ทุกคนมอบหมายไว้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคในการบริหารบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา 

สำหรับเรื่องการเรียนการสอนฉันและคณะครูพยายามสอน ให้กำลังใจลูกศิษย์ให้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ชั้นมัธยมปีที่ 6 รุ่นที่หนึ่ง มีนักเรียนได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจำนวน 3 คน รุ่นที่สอง จำนวน 5-6 คน รุ่นที่สาม จำนวน 30 กว่าคน และรุ่นที่ 4 จำนวน 49 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วประมาณร้อยละ 80 ของนักเรียน ม.6 ทั้งหมด คือเกือบทุกคนที่เรียนต่อมหาวิทยาลัย และปัจจุบันเด็กนักเรียนเหล่านี้หลายคนก็ได้เป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนแห่งนี้ ฉันรู้สึกภูมิใจที่ได้ปั้นลูกศิษย์ให้มีการศึกษา เพราะนี่คือความตั้งใจของครูทุกคน

ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ บางคนติด ร. ได้เกรด 0 บ้าง และไม่ยอมมาสอบแก้ ฉันได้ไปตามเด็กเหล่านี้ถึงบ้านเพื่อให้พวกเขามาสอบแก้ แต่พวกเขากลับตอบว่า 

“เรียนไปทำไม ในเมื่อบ้านเมืองจะเกิดสงครามแล้ว” เมื่อได้ยินอย่างนั้น ฉันรู้สึกตกใจมาก ฉันรีบพูดว่า “แล้วเธอจะให้คนข้างนอกมาสอนรุ่นน้องของเราหรือ แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้เขา ในเมื่อเราไม่มีความรู้” 

สองสามปีให้หลัง เด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้มาที่บ้านและมาขอใบรับรองการศึกษาชั้นม. 6  (รบ.ม.6) เพื่อไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และมีนักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ผมเสียใจที่ผมไม่ได้ตั้งใจเรียน  ทำให้ผลการเรียนต่ำมาก” จำได้ว่าช่วงนั้นเขาจะไปสมัครเป็นพนักงานไปรษณีย์ แต่สมัครไม่ได้ เพราะเกรดไม่ถึง คือได้ 1.9 เท่านั้น แต่แล้วเขาได้มีโอกาสไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยและตั้งใจเรียนจนวันนี้ เด็กนักเรียนดังกล่าวเรียนจบปริญญาตรีและบรรจุเป็นครูสอนในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในอำเภอตากใบ เพราะความตั้งใจของเขานั่นเอง 

สำหรับประเด็น “ผู้หญิงเป็นผู้นำ” นั้น เนื่องจากตามวัฒนธรรมของคนที่นี่ไม่ค่อยยอมรับ แม้ว่าฉันจะแสดงความคิดที่ดีเลิศขนาดไหน แต่บางครั้งผู้บริหารหรือคณะครูที่เป็นผู้อาวุโสกว่า พวกเขาไม่ได้ยอมรับความคิดเห็นของฉัน แต่ใช้ความคิดของพวกเขาตัดสินแทน หรือถ้าฉันไม่ได้เข้าร่วมประชุมพวกเขาก็ไม่ได้สนใจ ทั้งนี้เนื่องจากฉันมีอายุน้อยกว่าและเป็นผู้หญิง แต่พวกเขามีประสบการณ์มากกว่า ทำให้พวกเขาไม่เชื่อถือฉัน 

กระทั่งวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 โรงเรียนอิสลามบูรพาถูกสั่งปิด เพราะมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแจ้งว่ามีคนร้ายมากบดานในโรงเรียนของเรา ฉันในฐานะที่เป็นครูใหญ่ จึงกลายเป็นผู้ต้องคดีในข้อหา “เป็นผู้ได้รับอนุญาต ผู้จัดการครูใหญ่หรือครู ใช้หรือยอมให้ผู้อื่น ใช้สถานที่หรือบริเวณโรงเรียนทำการสอนหรืออบรมเพื่อสนับสนุนซึ่งลัทธิที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือทำการอื่นใดขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน” 

วันที่เกิดเหตุ ตรงกับวันที่ 2 กรกฎาคม 2550  มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงประกอบด้วยกองกำลังสามฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง และขณะนั้นมีหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย และแจ้งว่ามีคนร้ายมาหลบซ่อนในโรงเรียน เจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมตรวจค้นและต้องการค้นหาผู้ต้องสงสัยที่ชื่อ มะนาเซ ยา กับพวก  

ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ได้จับผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลจากภายนอก จำนวน  6 คนที่บ้านพักร้างภายในบริเวณโรงเรียนซึ่งอยู่ติดกับสุสาน ซึ่งคนดังกล่าวไม่ได้เป็นลูกศิษย์หรือญาติของบุคลากรในโรงเรียน แต่เป็นเพื่อนกับอดีตครูสอนศาสนาหรืออดีตอุสตาสในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งอุสตาสที่ว่านี้ก็ไม่ได้สอนที่นี้แล้ว และที่ผ่านมาทางโรงเรียนก็ไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน ว่าอุสตาสคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการหรือไม่อย่างไร นอกจากนั้นมีเด็กนักเรียนในโรงเรียนอีกหนึ่งคนที่ถูกจับเป็นผู้ต้องสงสัยคือ นายตอริก พีรีซี  ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่จะจับเด็กนักเรียนอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่คนดังกล่าวได้หลบหนีไปก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่จับคนนี้แทน เพราะรูปลักษณ์หน้าตามีความคล้ายคลึงกัน

ฉันซึ่งต้องตกเป็นจำเลยด้วยในข้อหาความมั่นคง ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนอีกสองคนที่ถูกจับคือ ซอมะ หะมะและอูเซ็ง ปุโรง และวันถัดมา เจ้าหน้าที่ได้จับผู้บริหารเพิ่มอีกหนึ่งคนคือ ฮารง บาเกาะ แต่โชคดีที่มีคนดีไม่ประสงค์ออกนามได้ประกันตัวฉันออกมา

  ฉันจำได้ว่าตอนที่ไปยื่นขอทำเรื่องประกันตัวเป็นเวลาใกล้ปิดทำการของศาลแล้ว วันนั้นฉันไม่รู้ว่าฉันจะได้ประกันตัวหรือไม่ ไม่มีใครรู้นอกจากอัลลอฮฺ ฉันได้แต่วอนขอพรจากอัลลอฮฺ(ซ.บ.) 

“อย่าให้ฉันต้องรับโทษจากสิ่งที่ฉันไม่ได้ทำ ไม่แม้แต่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับความผิดนั้นเลย ขอพรต่ออัลลอฮฺ อย่าได้ทรงทดสอบฉันด้วยภาระหน้าที่เกินความสามารถของฉันเลย” อามีน...

จนกระทั่งเวลา สี่โมงเย็น ทนายของฉันมาบอกว่า “ขอแสดงความยินดีด้วย คุณได้ประกันตัว มีคนช่วยประกันตัวให้ เขาเป็นเพื่อนของเพื่อนผมเอง” ฉันดีใจมาก ขณะเดียวกันก็เกิดความสงสัยว่าคนที่มาประกันตัวฉันคือใคร ฉันซูโกรต่ออัลลอฮฺที่ประทานคนดีมาช่วยฉัน และอยากขอบคุณเขาเหลือเกิน 

ช่วงที่ฉันต้องต่อสู้คดีเพื่อเรียกร้องความเป็นยุติธรรมกลับคืนมา ฉันก็มีทนายพงศ์จรัส รวยร่ำ ที่ใจดีคอยช่วยเหลือว่าความฟรี แม้แต่อาหารกลางวัน ท่านก็จ่าย ไม่ยอมให้ฉันต้องหมดเงิน แต่สิ่งที่ฉันต้องใช้จ่ายคือ ค่าเดินทางไปศาล  ทนายพงศ์จรัส เป็นทนายความมือดีจากกรุงเทพ เขาเป็นอดีตอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขณะนั้น  เขาเป็นคนรักความเป็นธรรม  และเห็นว่าเรื่องนี้รัฐใช้อำนาจโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม

การสู้คดีครั้งนี้ ฉันเชื่อว่าโรงเรียนไม่มีความผิด ฉันเองก็ไม่ผิด สิ่งเดียวที่ฉันต้องทำคือ ต้องสู้เพื่อบอกกับสังคมว่า ฉันไม่ยอมรับกับข้อกล่าวหานี้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสั่งปิดโรงเรียนมันกระทบหลายอย่าง  ความจริงแล้วทางการควรที่จะดำเนินคดีเป็นรายบุคคลไป  ดังนั้นการสั่งปิดโรงเรียนแบบนี้มันไม่ยุติธรรมเอาซะเลย 

หลังจากที่ฉันต้องอยู่ในภาวะที่หนักใจนี้แล้ว ภายหลังต้องคดีฉันก็ต้องมารับภาระที่หนักเพิ่มกว่าอีก

ภายหลังจากที่มีคำสั่งปิดโรงเรียนเหล่าครู อุสตาส ต่างก็ตกงานกันระนาว ครั้นจะไปสมัครที่โรงเรียนอื่น ทางโรงเรียนก็ไม่รับโดยเฉพาะอุสตาส เพราะหลายคนก็ไม่มีวุฒิการศึกษา นอกจากนั้นเด็กนักเรียนหลายคนก็ไม่ได้รับการศึกษาต่อ

สำหรับฉันเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ภายในระยะเวลาหนึ่งปีกว่า ฉันดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอนใหม่ให้ได้ โดยส่งหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ และไปพูดถึงปัญหาในเวทีต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนฉันรู้สึกเหนื่อย จึงกลับไปตั้งหลักใหม่ และทบทวนว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อให้โรงเรียนได้เปิดอีกครั้ง

นอกจากฉันต้องต่อสู้คดีของตัวเองแล้ว ก็ต้องต่อสู้คดีที่โรงเรียนถูกฟ้องร้องอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ฉันจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับผู้บริหารของโรงเรียนอยู่เรื่อยมา เพียงเพราะฉันสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้

หลังจากโรงเรียนปิดหนึ่งปีเงินที่เก็บไว้ก็เริ่มร่อยหรอ แต่โชคดีที่ฉันเป็นคนที่ดิ้นรนต่อสู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ปัญหามรสุมใหญ่ที่เข้ามาถาโถมนี้ทำให้ฉันสามารถฝ่าฟันได้ 

เดิมทีฉันเป็นคนอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกันหนึ่งคน และต่างพ่อแม่ 11 คน แต่พ่อฉันได้เสียชีวิตตั้งแต่ฉันอายุ 12 ขวบ ทำให้ฉันเป็นเด็กกำพร้าต้องไปอยู่กับยายตั้งแต่เด็กๆ ฉันเรียนหนังสือจบมัธยมปลายที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ราชภัฎยะลา เอกวิทยาศาสตร์ แต่ระหว่างที่เรียนฉันต้องหางานเสริมพิมพ์งานบ้าง ช่วยอาจารย์บ้าง ทำให้ฉันพอมีรายได้เสริมเป็นค่าอาหาร เพราะทางแม่ก็ต้องดูแลน้องๆ อีกหลายคน 

เมื่อเงินเริ่มหมด แน่นอนฉันจึงต้องกลับมาคิดเรื่องปากท้อง เริ่มแรกฉันได้ชวนเหล่าภรรยาผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องคดีสองคนไปเปิดร้านอาหารที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไปอาศัยบ้านญาติ และหาร้านเช่าในราคาถูกๆ ซึ่งพวกเราได้ปรับปรุงซ่อมแซมกันเอง เดินสายไฟเอง ทาสี ทำโต๊ะ ทำครัว ซึ่งเป็นหน้าที่ที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เราเปิดกิจการได้ไม่นานเพียงแค่สามเดือนกิจการก็ต้องล้มเลิก เพราะว่าภรรยาของอุสตาส ฮารง และภรรยาของอุสตาสซอมะนั้น มีครอบครัวที่ต้องกลับไปเยี่ยมทุกอาทิตย์ โดยเฉพาะภรรยาของฮารงซึ่งต้องไปเยี่ยมสามี ที่เรือนจำนราธิวาสทุกอาทิตย์ 

เมื่อกลับมาแล้วทำให้ทุนที่มีก็เริ่มหมด ทำให้ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ คราวนี้ฉันรวมกลุ่มบรรดาภรรยาของบุคลากรในโรงเรียนทั้งหมด 10 คน และตั้งกลุ่มชื่อว่า “บุหงาตำเสา” หรือภาษามลายูคือ “บูหงาตึมบูซู” ขณะนั้นไม่มีต้นทุนอะไร ฉันได้เล่าปัญหากับอาจารย์เมตตา กูนิง อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์จึงได้บริจาคเงินมา 8,000 บาท ทำให้ฉันและคนในกลุ่มมีความหวังมากขึ้น 

ฉันได้แบ่งเงินเหล่านี้ให้กับสมาชิกเป็นต้นทุนการทำงาน บางคนไปซื้อผ้าเย็บเป็นผ้าละหมาดและเอาไปขาย ในขณะที่ฉันเลือกทำขนมขาย เพราะเป็นช่วงเดือนถือศีลอด ขณะที่ขายท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักและไม่มีคนซื้อ พลันนึกในใจว่า “ฉันเคยเป็นตั้งผอ.โรงเรียน ทำไมต้องมาตกระกำลำบากมาขายขนมเนี่ยะ” ฉันร้องไห้พร้อมสายฝนที่ตกหนัก แต่ลึกๆ ก็คิดว่า ฉันต้องสู้ทำงานเพื่อให้ได้เงินขอแค่งานนั้นเป็นงานที่สุจริต แต่แล้วกิจการนี้ก็ต้องล้มเลิกไป 

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฉันเริ่มคิดได้ว่าถ้าลงทุนแล้วต้องคิดให้รอบคอบเพื่อไม่ให้ขาดทุน ของที่จะลงทุนต้องไม่เน่าไม่เสีย แต่ต้องเป็นของที่ใช้ได้ตลอด ก็เลยคิดว่าจะรวมตัวกันตัดเย็บเสื้อผ้า  ตอนนั้นได้รับอนุเคราะห์จากพี่ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เป็นเงิน 20,000 บาท ฉันได้ไปซื้อผ้าปาเตะ มาตัดเป็นกระเป๋า กางเกง เสื้อ ปลอกหมอน โดยให้คนที่มีความถนัดมาร่วมกันทำ และนำไปขายตามงานนิทรรศการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อมาเมื่อต้นปี 2554 ฉันได้รับทุนกู้ยืมจากกองทุนซีเมนต์ไทย SCG จำนวน 28,000 บาท ไปขยายกิจการตัดเย็บดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

ช่วงปลายปี 2552 ฉันได้มีโอกาสไปทำงานที่มูลนิธิมูนิธิฮิลาลอะห์มัร จังหวัดปัตตานี โดยรับผิดชอบเป็นผู้ประสานงาน ฝ่ายกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียจากความรุนแรง ด้วยคำแนะนำของคุณโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ฉันได้ทำหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ การได้ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเหล่านี้ทำให้ฉันมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะทำให้ฉันรู้สึกว่าปัญหาที่ฉันพบเจอนั้นมันเล็กน้อย เพราะคนที่ฉันได้ไปเยี่ยมนั้น พวกเขาเหล่านั้นต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว อีกทั้งต้องดิ้นรนหางานทำ 

การทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมอย่างมูนิธิฮิลาลอะห์มัร ครั้งนี้ ทำให้ฉันมีเครือข่ายภาคประชาสังคมมากขึ้น มีโอกาสได้ไปเรียนรู้กระบวนการสร้างสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันบนความขัดแย้ง ทำให้สามารถประยุกต์ความรู้เหล่านี้ไปใช้และนำมาเผยแพร่กับคนรอบข้างและคนในชุมชน

....................................

สำหรับเรื่องโรงเรียนอิสลามบูรพา ฉันกลับมาเริ่มต่อสู้ใหม่ปลายปี 2554 โดยมีคณะผู้บริหารโรงเรียนไปพบและปรึกษากับเลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) คือ พ.อ.ทวี สอดส่อง เพื่อให้ท่านเลขาฯ ได้ผลักดันให้โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง ซึ่งฉันไม่ได้ไปร่วมพบเจอด้วย ขณะนั้นคณะผู้บริหารได้ยื่นหนังสือขออนุมัติเปิดโรงเรียน แต่ทางเขตพื้นที่การศึกษา ไม่สามารถอนุมัติได้เนื่องจากผู้ที่ขออนุมัตินั้นไม่มีคุณสมบัติที่เพียงพอ จึงไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากตำแหน่งประธานมูลนิธิยังคงอยู่ที่ฉัน ดังนั้นตามหลักแล้ว ฉันต้องเป็นผู้ยื่นหนังสือขออนุมัตินี้  

เลขาธิการศอ.บต. ให้สัมภาษณ์ทางสื่อในรายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ เกี่ยวกับการให้เปิดโรงเรียนว่า “เรื่องการศึกษา ไม่ควรมีใครไปปิดกั้น เราจึงประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง ลองช่วยดูว่า ถ้าเขาไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ขอให้ช่วยดำเนินการ คือ ถ้าเรายังไปลงโทษด้วยการปิดโรงเรียน ถือว่าไม่ใช่การลงโทษใครเลย เท่ากับไปลงโทษประชาชน”

ฉันจำได้ว่า ตอนที่ทำเรื่องขออนุมัติเปิดโรงเรียนอีกครั้งมีความวุ่นวายมาก ดูเหมือนหลายคนไม่ต้องการให้ฉันเข้าไปมีส่วนร่วม แต่แล้วพวกเขาทุกคนก็ไม่สามารถยื่นหนังสือขออนุมัติเปิดโรงเรียนได้ จึงมาขอร้องฉันให้ช่วยยื่นและดำเนินการขออนุมัติเปิดโรงเรียน  เนื่องจากมีฉันคนเดียวที่คุณสมบัติครบถ้วน ฉันรู้สึกดีใจ อย่างน้อยทุกคนยังมองเห็นค่าของฉันอยู่

แต่ช่วงที่ทุกคนประชุมหารือเรื่องการเปิดโรงเรียนนั้น ฉันได้แต่นั่งสงบนิ่ง อยากบอกให้ทุกคนมาขอโทษ เพราะที่ผ่านมาฉันต้องรับผิดชอบเรื่องคดี และทุกคนมาประณาม และพิพากษาว่าที่โรงเรียนเปิดไม่ได้ เป็นเพราะ “ฉัน” ถูกดำเนินคดีอยู่ หากให้ฉันเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องขอเปิดโรงเรียน  ทางการก็จะไม่อนุญาต และแล้วอัลลอฮฺได้ตอบรับดุอาอ์ของฉัน ทุกคนมาขอโทษ ฉันเองก็ขอโทษทุกคนเช่นกันที่บางครั้งฉันพยายามไม่สนใจกับปัญหา

ดังนั้น ฉันซึ่งเป็นเจ้าของมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ (โรงเรียนอิสลามบูรพา) เป็นผู้ยื่นหนังสือขออนุมัติเปิดโรงเรียน เพียงแค่ 20 กว่าวัน ทางเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้อนุมัติให้เปิดทำการเรียนการสอนได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554  ทำให้ฉันและชุมชนมีความรู้สึกยินดีและดีใจ แต่อีกทางหนึ่งในใจฉันก็รู้สึกหวาดระแวงเพราะอย่างที่บอกว่าเรื่องคดีที่โรงเรียนถูกฟ้อง และผู้บริหารที่ต้องคดี ยังไม่จบสิ้น  

หลังจากที่โรงเรียนได้เปิดการเรียนการสอน เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ก็มาเยี่ยม พูดคุย ถามไถ่อย่างไม่ไว้วางใจว่า “เปิดโรงเรียนได้อย่างไร ในเมื่อผู้บริหารยังไม่ลงตัว” เขาพูดในฐานะที่ไม่มีข้อมูล เพราะขณะนั้นผู้บริหาร ก็มีครบแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ เพราะยังคงสงสัย ว่าเหตุใดถึงได้เปิดโรงเรียน ทั้งที่คดีต่าง ๆ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

มีอยู่ครั้งหนึ่งนายทหารท่านหนึ่งมาถามเหมือนไม่ไว้ใจว่า “มีใบอนุญาตโรงเรียนหรือเปล่า?..”  “มีเด็กมาเรียนไหม?...” “แล้วเด็กที่มาเรียนเป็นศิษย์เก่า หรือเด็กใหม่?...” “ครูจบปริญญาตรีหรือเปล่า?...”

รอให้คำถามร่ายยาวทั้งหมดจบลง ฉันรีบไปหยิบใบอนุญาตยื่นให้เขาดู ยื่นรายชื่อ และที่อยู่ของเด็กนักเรียนจำนวน 160 คน ให้เขาดู  หลังจากนั้นหลายวันเจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมอีกเลย

แต่แล้วเดือนถัดมาก็มีทหารจากหน่วยฉก.นราธิวาสได้มาขอข้อมูลรายละเอียดของบุคลากรในโรงเรียน โดยมีคำถามตั้งแต่ ชื่อ ที่อยู่ ชื่อของพ่อแม่ และของลูกๆ ว่าเรียนที่ไหนบ้าง ขับรถสีอะไร อยู่ที่ไหน แต่พวกเราก็เข้าใจว่านั่นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ต้องรับรู้ ทางเราก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มาพูดคุยเรื่องเหตุการณ์วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ซึ่งตรงกับวันเอกราชของประเทศมาเลเซีย แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปักธงมาเลเซียทั่วพื้นที่สามจังหวัดกว่า 400 จุด และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็พูดเหมือนทางโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ให้เลิกพฤติกรรมเหล่านี้เสียเถิด หันกลับมาพัฒนาบ้านเมืองของตัวเองดีกว่า” 

แต่ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 30 สิงหาคม 2555 มีนักข่าวจาก ThaiPBS มาถ่ายทำข่าวที่โรงเรียนและเมื่อมีเหตุการณ์การชักธงมาเลเซียทั่วสามจังหวัดนั้นก็มีภาพของโรงเรียนประกอบด้วยทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ถึงแม้ว่านักข่าวไม่ได้บอกว่า ทางโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่การใส่ภาพประกอบในข่าวนี้ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ

  นอกจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้มาเยี่ยมแล้ว ก็ยังมีองค์กรภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเยี่ยม ถามทุกข์สุข  แต่เป็นการให้กำลังใจมากกว่า 

ดูเหมือนว่าปัญหาและอุปสรรคมันหนักมาก แต่ด้วยความศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺ และฉันคิดเสมอว่า นี่คือบททดสอบจากพระเจ้า ส่วนเรื่องคดีที่ฉันกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ฉันก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของฉันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ฉันต้องขอบคุณบุคคลสำคัญๆหลายคน  จากหน่วยงานรัฐที่รักความเป็นธรรม และมาให้การต่อศาลในฐานะพยานฝ่ายจำเลยที่เป็นประโยชน์มาก มีทั้งคุณสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกอ.รมน.ด้วย ทำให้ฉันได้เห็นว่าคนจากหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

การได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครั้งที่สอง และได้รับใบอนุญาตโรงเรียนนี้ ชีวิตการทำงานของฉันก็ไม่ได้มีความสุข เพราะตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ฉันไม่ได้ต้องการ ทำให้ฉันรู้สึกลำบากใจ และบางครั้งฉันก็คิดอยากจะลาออกจากตำแหน่งนี้ด้วยซ้ำ เพื่อไปหางานอื่นทำ แต่ในใจฉันคิดว่าต้องอดทน และรับผิดชอบกับตำแหน่งนี้ให้ดีที่สุด

  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการงานของฉันไม่ได้ราบรื่น แต่ชีวิตครอบครัวของฉันก็มีความสุข ฉันได้แต่งงานก่อนโรงเรียนได้รับอนุญาตเปิดทำการเรียนการสอน 3 เดือน ทำให้ฉันมีคู่คิด มีที่พึ่ง และมีคนให้กำลังใจ และทำให้ฉันเป็นคนที่อดทนมากขึ้น และเป็นคนที่นิ่งมากขึ้น ทำอะไรก็พยายามคิดให้รอบคอบ จากที่เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน ใช้ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นความรักในครอบครัวก็ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจฉันให้ลุกขึ้นสู้ต่อไปบนพื้นฐานของหลักศาสนา เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม

ความเป็นธรรมที่ฉันสู้ คือสู้เพื่อให้เด็กในชุมชนได้เรียนหนังสือในทางของเขา!!

.............................
 

3 คดีสำคัญรัฐพยายามจัดการ “อิสลามบูรพา”

          คดีแรกคือ คดีอาญา มีผู้บริหารโรงเรียนสามคน ได้แก่ 1. นายซอมะ หะมะ 2.นายอูเซ็ง ปุโรง และ 3. นางสาวซูใบดะห์ ดอเลาะ เป็นจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหา “เป็นผู้ได้รับอนุญาต ผู้จัดการครูใหญ่หรือครู ใช้หรือยอมให้ผู้อื่น ใช้สถานที่หรือบริเวณโรงเรียนทำการสอนหรืออบรมเพื่อสนับสนุนซึ่งลัทธิที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือทำการอื่นใดขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน” และทั้งสามอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและกำลังรอพิพากษา วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ที่ศาลนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

         คดีที่สองคือ คดีแพ่ง  เป็นการ “ไต่สวนยกเลิกมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์” สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งถอนใบอนุญาตการก่อตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพา ซึ่งออกให้แก่มูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าตรวจค้นภายในบริเวณโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 โดยพบอาวุธปืน วัตถุระเบิด รวมทั้งอุปกรณ์การประกอบวัตถุระเบิด และจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 7 คน โดยจะเริ่มสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ธันวาคม 2555 เจ้าของมูลนิธิตกเป็นจำเลยคดีนี้ ซึ่งก็คือ ซูไบดะห์ ดอเลาะ

         คดีที่สาม คดียึดทรัพย์ ต้นเดือนกันยายน 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ความผิด มูลฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ที่ตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพา) แต่ปัจจุบันคดีกำลังถูกส่งให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินต่อไป โดยมีซูไบดะห์ ดอเลาะ ประธานมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์หรือโรงเรียนอิสลามบูรพา กับพวกเป็นจำเลย

          อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าคดียึดทรัพย์นี้ มาหลังจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) พยายามผลักดันให้ทางเขตพื้นที่การศึกษาอนุมัติให้ 'ปอเนาะสะสะปอม' หรือ 'โรงเรียนอิสลามบูรพา' เปิดทำการเรียนการสอนได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 หลังจากที่ถูกสั่งปิดนานถึง 4 ปี

          นางซูใบดะห์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนถูกสั่งปิดก็เคยถูกค้นหลายครั้งและก็ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงเป็นอย่างดี เป็นไปได้ว่าโรงเรียนอิสลามบูรพาถูกจับตามองจากทางการ เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้มีอุซตาสที่จบจากประเทศอินโดนีเซียหลายคน อีกทั้งใน 'เหตุการณ์ตากใบ' ก็มีนักเรียนและอุซตาสรวม 12 คน เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยจำนวนหนึ่ง ทั้งยังเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดกลางเพียงแห่งเดียว ที่ยังให้เด็กนักเรียนเด็กมาพักประจำแบบปอเนาะดั้งเดิม ในขณะที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ก็มาจากเขต อ.ตากใบ และ อ.เมือง เป็นหลัก จึงไม่แปลกที่ทางโรงเรียนจะถูกเพ่งเล็ง

ที่มา: รอมฎอน ปันจอร์, “ลมหายใจ 'อิสลามบูรพา' หลังภารกิจบุกค้น จับกุม และสั่งปิดโรงเรียน”, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 31 กรกฎาคม 2550.

 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี 

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา