Skip to main content

 

หมายเหตุ:  “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …... 

 

 แม่ผู้ตามหาความเป็นธรรม

คำนึง  ชำนาญกิจ

ชีวิตปกติของฉันเป็นแม่ค้าขายอาหารอยู่ที่ถนนโรงอ่าง สามีเป็นคนรับเหมาประปา มีลูกสองคน คนโตอายุ 22 ปีทำงานเป็นคนขับรถขนขยะในตลาดโต้รุ่งของสาธารณสุข ทำงานช่วง 5 โมงเย็นถึงสองทุ่มครึ่ง ส่วนลูกคนเล็กยังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 อายุก็ 11 ปี 7 เดือน บ้านของฉันมีลักษณะเป็นบ้านสองชั้นข้างหน้าโล่งเปิดเป็นร้านขายอาหาร ทุกวันฉันจะขายข้าวหมก ขายข้าวเหนียว ขายโจ๊ก ก๋วยเตี๋ยวน้ำชากาแฟ ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง ฐานะก็พอใช้ได้ ครอบครัวไม่ได้เดือดร้อนอะไร ถึงแม้ว่าสามีจะเป็นโรคหอบ ฉันก็พอที่จะเก็บเงินเพื่อเตรียมสร้างบ้านใหม่วางแผนจะขยายร้านให้กว้างขึ้น ดูดีขึ้น 

             แต่ทุกอย่างก็มาจบลง 

             ….............................

             คืนวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง สามีกำลังจะกินยาขยายหลอดลม ส่วนลูกคนเล็กหลังจากทำการบ้านเสร็จ ก็ขึ้นนอนอยู่ชั้นบน ฉันก็อยู่ชั้นบน ส่วนลูกคนโตกำลังนั่งกินกาแฟบนกระท่อมริมน้ำหลังบ้าน เพราะเพึ่งกลับมาจากทำงาน จู่ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ30 คน โดยอาศัยกฏอัยการศึกเข้าปิดล้อมบ้านของฉัน (เลขที่ 103/1 ถ.โรงอ่าง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี)

             เหตุการณ์ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำทุกวันนี้ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเรียก เคาะประตูบ้านให้เปิด จะขอตรวจค้น เพราะมีคนแจ้งว่าบ้านขายของหลังนี้ มีสิ่งผิดกฏหมาย ฉันก็ถามเขาว่า คุณจะมาตรวจค้นบ้านเลขที่เท่าไหร่ เจ้าของบ้านชื่ออะไร เขาก็บอกว่าบ้านหลังนี้หล่ะบ้านขายของ ตำรวจก็บอก เปิดประตูก็แล้วกัน ฉันก็ถามคุณมีหมายค้นหรือเปล่า เพราะมันยามวิกาลแล้ว พอถามไปอย่างนั้นตำรวจก็มองหน้า ฉันหันไปเห็นทหารอยู่รอบนอก ก็คิดและรู้ทันทีว่า เขาคงอาศัยกฏอัยการศึก เราไม่สามารถขัดขืนได้ ก็เปิดประตูให้เข้าตรวจค้น 

             สองชั่วโมงผ่านไป ประมาณ 5 ทุ่มกว่า เจ้าหน้าที่ผู้นำเข้าตรวจค้น บอกกับลูกน้องว่า เอาบัตรประชาชนเจ้าของบ้านให้ลงชื่อรับทราบ ตรวจค้นแล้ว ไม่มีสิ่งผิดกฏหมาย สามีฉัน เขาก็นั่งอยู่หน้าบ้านไม่ได้ลุกขึ้นไปไหน เขาก็ลงชื่อรับทราบ ส่วนฉันกับลูกก็ยืนอยู่หลังบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารยังเคลื่อนไหวอยู่ ยังคงปักหลักอยู่หน้าบ้าน 

             ประมาณ 15 นาที ทหารนายหนึ่งที่ยืนหลังต้นไม้ใหญ่ริมคลอง ก็ตระโกน “นี่อะไรหรือพี่” ทหารที่ถูกเรียกว่า พี่ก็บอก “เอามาดู” ทหารนายนั้นก็หยิบถังสี มาวางใต้กระท่อมแล้วเขาก็เรียก ตำรวจมาดู ตำรวจก็เปิดถุงพลาสติกที่อยู่ในถังสีดู แล้วก็พูดว่า “ใช่เลย” แล้วก็หยิบถังสีใบนั้นมาออกไปบนถนนหน้าบ้าน โดยมีตำรวจ ทหาร สามีและลูกของฉันยืนมุงดู พวกเขาเคาะและแคะของสิ่งนั้นบนถนน หลังจากนั้นประมาณสิบนาที สามีและลูกคนโตก็ถูกใส่กุญแจมือ โดยลูกคนเล็กวิ่งเข้ามาในบ้าน แล้วกอดฉันร้องไห้ตัวสั่นบอกว่า
             “เขาใส่กุญแจมือพ่อกับพี่แล้ว”
             ฉันออกไปหน้าบ้าน ถามพวกเขาว่า “คุณจับเขาข้อหาอะไร?”
             ตำรวจตอบว่า “พี่ไม่รู้หรอกหรือว่า มันเป็นระเบิดแสวงเครื่อง”
             ฉันก็บอกว่า “ถ้าเป็นระเบิดจริงคุณจะกล้าขนาดนี้หรือ ที่หยิบออกมาโดยไม่กลัวอะไรเลย”  
            “โอ๊ะ!!!!! ก๊ะนี้หัวหมอนะ” เจ้าหน้าที่ตำรวจตะคอกใส่ฉัน

             ฉันเงียบพูดไม่ออก ได้แต่คิดในสมองว่า วัตถุนี้มาจากไหน มาได้อย่างไร ใครเป็นคนนำมา เดินกลับเข้ามานั่งในบ้านพร้อมกอดลูกคนเล็กประมาณ 2-3 นาที มีนายตำรวจ ยศพ.ต.อ.มีคำสั่งให้ลูกน้องว่า เอาลูกมันมาให้แม่มันกล่อม พอเอาลูกเข้ามาเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้น ก็บอกว่า
             “มึงยอมรับเสีย กูจะได้ไม่ต้องเอาพ่อมึงไป”
             “พ่อมึงเป็นคนขยันทำงานกูรู้”
              ฉันก็ถามลูกชายคนโตว่า “ของใคร” “หรือใครเอามาฝาก”
              “ถ้ารู้ก็บอก ถ้าของเราก็ยอมรับ”
              ลูกบอกว่า “แม่ ไม่รู้จริงๆ แม่ก็เห็น ผมไปทำงานเพิ่งกลับเข้ามา” 

              หลังจากนั้นเขาก็เอาลูกชายคนโตไปโรงพักก่อน ประมาณ 10 นาทีให้หลัง เขาก็เอาสามีไปอีกคน สามีเข้ามาสั่งฉันว่า “อยู่นะ ดูลูกอีกคนให้ดี พ่อไปก่อน” ฉันทรุดลงนั่งน้ำตาไหล ได้แต่พูดกับตัวเองในใจว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป เราจะช่วยลูกกับสามีอย่างไร ในเมื่อสองคนนี้ เขาไม่ผิด 

               คืนนั้นทั้งคืนฉันไม่นอน ละหมาดฮายัต ดูอาต่ออัลลอฮฺ “ขอให้ส่องแสงสว่างในทางที่จะก้าวเดิน” 

               เช้าขึ้นมาฉันเอาวัวไปผูก แล้วเอาข้าวไปให้สามีกับลูกในห้องขัง ส่วนลูกคนเล็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน

                ฉันและลูกถูกทดสอบจากอัลลอฮฺอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน เพื่อนที่เป็นมุสลิมที่เคยพึ่งพาอาศัยกันมาตลอด เขากลับทำเป็นไม่รู้จักเราไปเสียเลย เหมือนคนแปลกหน้า แม้แต่น้องของพ่อสามี เขาก็ตัดขาดไม่ให้เราไปที่บ้านเขาทันที สายตาผู้คนที่ผ่านไปมาเริ่มมอง ลูกค้าที่เคยเข้าร้านก็เริ่มมองผ่าน ไม่เข้ามาข้องแวะเหมือนก่อน

                ฉันปรึกษาเพื่อนที่เป็นไทยพุทธ เขาพาไปพบกับทนายคนหนึ่งเพื่อว่าจ้างให้ทำคดี ทนายเรียกสองแสน ฉันรับปากโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีเงินอยู่ในบ้านแค่หมื่นกว่าบาท เพราะเพิ่งสร้างบ้านเสร็จประมาณไม่กี่เดือน ทนายบอก “ผมต้องได้รับเงินก่อนหนึ่งแสนถึงจะเริ่มทำงาน”

                ฉันตัดสินใจขายวัวสองตัวที่มีอยู่ ขายเรือที่สามีเอาไว้จับปลาปากอ่าว จำนองรถยนต์ เงินก็ยังไม่พอให้ทนายหนึ่งแสน ก็ไปกู้เงินนอกระบบร้อยละยี่สิบ เอาให้ทนายและขอเช่าโฉนดเพื่อประกันตัวสามีกับลูก ช่วงเวลาที่สับสนนี้ฉันยังคงเปิดร้านขายอาหารเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าลูกค้าจะเข้าร้านน้อยลงเพราะสื่อนำเสนอข่าวออกไปทำให้สายตาทางสังคมพิพากษาก่อนศาลเสียอีก  ฉันจำต้องอดทนเพื่อที่จะเก็บเงินกำไรมาใช้จ่ายส่งให้ลูกอีกคนไปโรงเรียนและใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ทนายทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยื่นที่ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ทนายให้ฉันเป็นคนไปยื่นเอง 

                 วันที่เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศอ.บต. ฉันนุ่งผ้าถุงคลุมฮิญาบใหญ่ปิดข้อมือ สีหน้า เศร้าซึม มือถือเอกสารเข้าไป ได้ยินน้องเจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่โต๊ะหน้า กระซิบกันว่า จะคุยกันรู้เรื่องไหม ฉันไม่ตอบ ทำเป็นไม่ได้ยิน ส่งบัตรประจำตัวประชาชนให้ดู เพราะในบัตรชื่อ นามสกุลยังเป็นไทยพุทธอยู่ ยังไม่เปลี่ยน ให้เขารู้ว่า ฉันเข้าใจภาษาไทย 

                  ช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากนี้ ต้องแบ่งเวลาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและวิ่งวุ่นเพื่อประกันตัวสามีกับลูกคนโต ปรากฎว่าลูกชายคนเล็ก ไปโรงเรียนทุกวันก็จริงแต่ไม่ยอมเข้าห้องเรียน ฉันถามลูกว่า แล้วลูกไปอยู่ไหน ลูกบอกอยู่ในห้องจริยธรรม ฉันรู้ทันทีว่าลูกเริ่มมีปัญหาแล้ว จากเด็กที่เคยเรียนเก่ง เกรด 3 เกรด 4 ตลอด ต่อไปนี้ทุกอย่างคงไม่เหมือนเดิม

                  ฉันพยายามทำหน้าที่ทุกอย่างต่อไปให้ดีที่สุด ไม่นานนัก ชาวบ้านที่โรงอ่างหลายคนที่เป็นไทยพุทธและมุสลิมเอาเงินมาให้ เอาขนมมาให้ทุกอาทิตย์เพื่อให้ฉันพาไปเยี่ยมสามีและลูกในเรือนจำ ฉันยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมทุกหน่วยงาน ส่วนทนายก็ทำหน้าที่บนบัลลังก์ สองเดือนผ่านไป ท่านผู้ว่าจังหวัดปัตตานี ภาณุ อุทัยรัตน์ ก็เช็นต์ให้ประกันตัวสามีในวงเงินห้าแสนบาท แต่ประกันสามีออกมาได้คนเดียว ส่วนลูกต้องคอยก่อนท่านภาณุให้เหตุผลว่า “เจ้าหน้าที่บอกมาขอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน” 

                   พอวันที่ 12 กันยายน 2550 เวลาเกือบสี่เดือน อัยการสั่งไม่ฟ้องสามี แต่สั่งฟ้องลูกชายในวันถัดมาซึ่งตรงกับวันแรกของเดือนถือศีลอด อัลลอฮฺทรงประธานพรให้ฉัน สามารถประกันตัวลูกออกมาได้ เพื่อต่อสู้คดีข้างนอก ในขณะประกันตัวลูกชาย ฉันก็ต้องรับภาระดูแลครอบครัวเองทั้งหมดเพราะทั้งสองพ่อลูกกลายเป็นคนไม่มีงานทำเสียแล้ว

                   ในขณะที่คดียังไม่สิ้นสุด ฉันทำหนังสือยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมทุกหน่วยงานที่กรุงเทพฯ เช่นที่กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดิน สภาทนายความ ส่วนที่ปัตตานี ฉันขอความเป็นธรรมที่ ศูนย์ดำรงธรรม อัยการจังหวัด ผู้ว่าราชการ และแม่ทัพภาค4 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสืบพยานโจทก์หลายครั้งมาก นานเป็นเวลาสองปี

                   จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2552  ฉันต้องพาลูกตามประเด็นไปขึ้นศาลที่จังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น เพราะทหารที่เขาเข้าปิดล้อมเขาย้ายกลับแล้ว เขาไม่ยอมลงมาขึ้นศาลจังหวัดปัตตานี อ้างเรื่องความปลอดภัย ติดราชการเดินทางไกลไม่ได้ ตามกฎหมายใหม่ การพิจารณาคดีและสืบพยานต้องทำเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ตามกฎหมาย ม. 172 วิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องนำจำเลยไป (ถ้าอยู่ในเรือนจำก็ต้องมีการนำตัวไป นั่งรถใส่โซ่ตรวนกันไป) ดังนั้น จำเลยต้องคอยตามประเด็นเพราะมีการฝากประเด็นไปสืบศาลอื่ืนแล้ว เมื่อพยานโจทย์อยู่ในพื้นที่อื่ืน จำเลยอย่างพวกเราก็ต้องคอยตามประเด็นไปทุกที่ กลายเป็นความลำบากยากเข็ญที่ฉันและลูกต้องประสบอย่างยิ่ง

                   ฉันต้องพาลูกชายคนเล็กเดินทางออกจากปัตตานีวันที่ 18 ตุลา เพราะในวันที่ 19 บ่ายต้องขึ้นศาลจังหวัดนครราชสีมา ฉันนั่งรถทัวร์ถึงสถานีขนส่งสายใต้ ที่กรุงเทพฯ ตอนเช้าวันที่ 19 แล้วนั่งแท็กซี่ไปลงหมอชิตต่อรถทัวร์ไปนครราชสีมาอีกทอดหนึ่ง ระหว่างการเดินทางที่ไกลที่สุดในชีวิตของฉัน หาร้านขายข้าวมุสลิมไม่ได้เลย ฉันกับลูกแทบไม่มีทางเลือก ต้องกินขนมปังกับน้ำประทังความหิวไว้ก่อน

                   ความรู้สึกของคนที่เป็นแม่ที่เลี้ยงลูกมาไม่เคยลำบาก มองดูลูกรู้ได้ทันทีว่าลูกหิว ฉันจับมือลูกแล้วบอกว่า “อดทนนะลูกเป็นผู้ชายต้องอดทนให้ได้” 

                   บ่ายโมงของวันที่ 19 ตุลาคม ฉันและลูกนั่งอยู่ในบัลลังก์ศาลจังหวัดนครราชสีมา วันนั้นสืบพยานเสร็จ 6 โมงเย็น  ฉันพาลูกออกจากศาลไปนั่งรถทัวร์ต่อ เพื่อเดินทางไปขอนแก่น จำเป็นต้องพักโรงแรมในตัวเมืองก็ใช้วิธีกินขนมปังกับน้ำเหมือนเดิม เช้าวันที่ 20 ตุลาคม ฉันพาลูกนั่งรถตุ๊กๆ จากโรงแรมไปที่ศาลขอนแก่น เมื่อสืบพยานโจทน์เสร็จหลังเที่ยง ก็ออกจากศาลมาขึ้นรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ ถึงกรุงเทพฯ ตอนสองทุ่มไม่มีรถกลับปัตตานี ก็ต้องเข้าพักโรงแรมอีกคืน รุ่งขึ้นถึงได้กลับปัตตานี กลับมาอยู่บ้านประมาณสองอาทิตย์ก็ขึ้นศาลสืบพยานจำเลย หลังจากนั้น วันที่ 23 มิถุนายน 2553 ศาลปัตตานีนัดฟังคำพิพากษา

                  วันตัดสินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาระบุว่าโจทก์อ้างไม่สมเหตุผล เพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ก่อการร้ายที่จะเอาระเบิดวางไว้ในบริเวณบ้านตัวเอง โดยไม่แอบหรือซุกซ่อนไว้แต่อย่างไร ศาลพิพากษายกฟ้องก็จริง แต่ให้ขังไว้ก่อน ระหว่างอุทธรณ์ฉันก็ประกันลูกต่อ ศาลก็อนุญาตใช้เวลา 5 เดือนที่คอยอุทธรณ์สุดท้ายทางฝ่ายโจทย์ก็ไม่อุทธรณ์ ถือว่าคดีของลูกชายยุติเสียที ฉันก็ไปรับโฉนดคืน

                  แม้ศาลชั้นต้นออกหนังสือรับรองคดีสิ้นสุดให้ แต่ชีวิตของฉันยังต้องดิ้นรนต่อไป เพราะทุกคนในบ้านไม่มีงานทำ ลูกคนที่สองกำลังเรียนอยู่มัธยม 2 ฉันเริ่มลำบากมากขึ้นจากตอนที่ยังไม่ถูกคดี เคยขายไก่ทอดช่วงตอน 6 โมงเช้าถึง 9 โมงวันละ 15 ตัวรวมทั้งน้ำชากาแฟ โจ๊กครบวงจรกลับขายไม่ได้ นั่งตั้งแต่เช้ายันเที่ยงไก่3 ตัวยังขายไม่หมด

                  ย้อนกลับไปช่วงปี 2553 พอฉันทราบว่าต้องตามประเด็น ฉันก็เอาบ้านที่อยู่ที่เป็นร้านขายข้าวนั้นแหละไปจำนองธนาคารสี่แสนบาท เพื่อที่จะเอามาใช้จ่ายและใช้หนี้ที่กู้ไว้ทั้งดอกทั้งต้น แต่พอทุกอย่างถึงที่สุดขายข้าวไม่ได้ ลูกค้าไม่เข้าร้าน ฉันก็ผ่อนหนี้ธนาคารไม่ทัน ค่าใช้จ่ายลูกที่ต้องไปโรงเรียนทุกวัน ฉันก็ไม่มี ผลกระทบที่ฉันได้รับครั้งนี้หนักมาก อาศัยเฉพาะคนในหมู่บ้านที่อยู่เขายังเข้ามาซื้อ แต่จะมาซื้อกันทุกวันเขาก็เบื่อ ฉันอยู่ได้เพราะคนผ่านไปมาเพราะบ้านฉันอยู่ติดถนนใหญ่ มีลูกค้าสัญจรแวะมาบ้าง เมื่อฉันผ่อนธนาคารไม่ทันฉันก็จำเป็นต้องขายบ้านทิ้ง เพราะถ้าปล่อยให้ธนาคารยึดฉันจะไม่เหลืออะไรเลย   

                  ฉันพูดกับลูกที่กำลังเรียนบอกว่าแม่จำเป็นต้องขายบ้าน ลูกหยุดเรียนก่อนได้ไหม แล้วค่อยเรียนต่อกศน. ลูกชายก็ยอม ฉันขายบ้านไปในราคาที่พอเหมาะสม ส่วนเงินที่เหลือก็ไถ่รถคืนออกมา แล้วอีกส่วนที่เหลือก็ไปซื้อที่ดินที่ตำบลปะกาฮารัง จากบ้านเดิมกับที่อยู่ใหม่ห่างกันประมาณสิบกว่ากิโล ที่อยู่ใหม่ที่เข้าไปอยู่เป็น  ชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำการเกษตรเลี้ยงวัว ไม่มีทำเลเหมาะกับการค้าขายเลย ทำให้ฉันต้องเปลี่ยนจากอาชีพแม่ค้าเป็นเกษตรกรปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ ฉันจำเป็นต้องเอาที่ตรงนี้ เพราะมีเงินจำกัด แต่อย่างไรเงินก็ยังไม่พอที่จะจ่ายค่าที่ดินอีกหนึ่งแสน โชคดีเจ้าของที่ดินยอมโอนโฉนดให้ก่อน ฉันก็ต้องเอาโฉนดไปจำนองธนาคารไว้ เพื่อที่จะจ่ายเงินเจ้าของที่ดินให้หมด เพื่อให้มีที่พอซุกหัวนอนกันทั้งครอบครัว ที่ดินที่ฉันอยู่เป็นพื้นที่น้ำท่วมทุกปี ฉันกับครอบครัวก็ต้องอดทน เมื่ออัลลอฮฺทดสอบในความอดทนของเรา แต่จากประสบการณ์ที่ฉันกับครอบครัวได้รับ ทำให้ฉันแข็มแข็งขึ้น

                  ปัจจุบันฉันยังผ่อนธนาคารทุกเดือนๆ สามีก็พอจะมีงานเข้ามาบ้างในการเป็นช่างประปา ลูกๆ ก็ช่วยสามีทำ จะได้ไม่ต้องจ้างลูกน้อง ส่วนลูกคนเล็กก็เรียนกศน. อยู่เพราะเขาชอบเรียน เขาอยากเรียนต่อสูงๆ  แต่ฉันยังหาทุนให้ลูกไม่ได้เพราะตัวฉันเองก็ยังไม่มีงานทำ 

                  ขณะนี้ ฉันมาอยู่ในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม หน้าที่ได้รับมอบหมายคือช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ  และถอดเทปรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่ถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ และเข้าอบรมด้านกฎหมาย เพื่อมาเป็นผู้ช่วยทนาย ทั้งที่ฉันไม่เคยได้เรียนมาด้านกฎหมายเลย แต่อาศัยประสบการณ์จริงที่ต่อสู้มา เดิมฉันจบแค่วุฒิปวส.เท่านั้น แผนกบัญชีการตลาด ที่ผ่านมาก็ยึดอาชีพแม่ค้ามาตลอด ฉันต้องขุดความรู้ที่เก็บไว้ในหม้อข้าวหมอแกงขึ้นมาใหม่ นำกลับมาทบทวนและใช้ความรู้อีกครั้ง

                 ฉันเคยร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลเยียวยาเรื่องอาชีพก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทุกวันนี้ที่ฉันไม่ยอมจบเรื่องราว ยังเรียกร้องส่งเสียงหาความเป็นธรรมในทุกที่ ทุกเวทีที่มีโอกาส ก็เพราะหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน หรือแม้แต่ขององค์กรไหนๆ ก็เน้นดูแลคนที่ได้รับผลกระทบที่เจ็บกับตายจากกความรุนแรง ไม่มีใคร หรือหน่วยงานไหนให้ความสำคัญกับบุคคลและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงเลย ทั้งที่เขาไม่มีความผิด เขาต้องตกเป็นแพะ ไม่มีใครมองเห็นว่าเขาต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ครอบครัวเขาต้องอยู่กันลำบากอย่างไร 

                ทั้งที่คดีทุกอย่างจบไปแล้วแต่ดิฉันเห็นว่าความเป็นธรรมยังไม่ชัดเจน เพราะตอนที่ยังอยู่ในคดี ฉันร้องขอความเป็นธรรมให้ทุกหน่วยงานพิสูจน์ลายนิ้วมือ ผลพิสูจน์จากกระทรวงยุติธรรมตอบรับว่า ผลพิสูจน์ไม่มีลายนิ้วมือแฝงของสองพ่อลูก แต่ฉันคาใจว่าในเมื่อไม่มีลายนิ้วมือสองพ่อลูก แล้วลายนิ้วมือบนวัตถุนั้นเป็นของใคร ทำไมเขาจึงไม่พิสูจน์ออกมาว่าใครเป็นคนทำ ประเด็นนี้คือสิ่งที่ฉันตามหาความเป็นธรรมอยู่จนถึงทุกวันนี้

                ฉันอยากให้ทุกคนได้รู้ การที่จะได้รับความยุติธรรมมานั้นเราต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง และขอต่ออัลลอฮฺ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นอยู่ที่อัลลอฮจะเมตตา ส่วนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเรามีเงินเขาก็จะรักและเมตตาเป็นพี่น้องกับเรา หากเราล้มหรือจนเพื่อนสนิทญาติพี่น้องก็อาจไม่รู้จัก  อัลลอฮเท่านั้นที่ไม่ลืมเราและเมตตาเราตลอดไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรขอให้พี่น้องมุสลิมทุกคนขยันทำอีบาดะห์และขอให้อยู่ในอีหม่าน (อินชาอัลลอฮ).

 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา