Skip to main content

 

ปักหมุด: เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2557 องค์การอ๊อกแฟม ประเทศไทย  มอบ รางวัลสตรีต้นแบบ" (Women Across Barriers) ในฐานะสตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจ และร่วมสร้างสรรค์สันติภาพอันยิ่งใหญ่ในชุมชน 10 คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเธอผู้นี้คือหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว 


'กัลยา โสพาศรี': หัวใจไม่ยอมแพ้

ภาพประกอบโดย: คัทรียา จารุทวี

 

              กัลยา โสพาศรี กับลูกชาย 4 คน ต้องผจญความทุกข์ยาก หลักจากเธอต้องสูญเสียสามีไปกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ 5 ปีก่อน เธอได้รับเงินเยียวยาแต่ก็ไม่พอเพียงสำหรับเลี้ยงชีวิต แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ "ฉันรู้ว่าจะต้องทำอะไรอีกสักอย่าง นอกจากงานประจำที่โรงงานไม้ยาง โชคดีที่ได้เจอผู้เพาะเห็ดรายหนึ่ง เขาสอนวิธีเพาะเห็ดให้ แถวนี้ถ้าไม่ใช่พืชผลการเกษตรก็จะขายไม่ออก เพราะคนส่วนมากเป็นมุสลิม ไม่สามารถรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา"

             เธอทำงานสองอย่างพร้อมกัน จนเก็บเงินได้มากพอสำหรับซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง "ฉันต้องการทำให้มั่นใจว่า ต่อไปลูกๆ ของฉันจะไม่ตกระกำลำบาก มีทุนสำรองในการสร้างชีวิตที่ดีต่อไป"

             .............................

             'ส้ม' – กัลยา โสพาศรี หญิงสาวจากหนองบัวลำภู ย้ายตามครบครัวมาทำมาหากินที่จ.ยะลา ตั้งแต่อยู่ประถม 4 และได้แต่งงานกับ 'สมพาล สุวรรณกูด' ที่เข้ามาปักหลักปักฐานทำมาหากินที่จ.ยะลาเช่นเดียวกัน จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 สามีถูกยิงเสียชีวิตขณะออกไปรับจ้างขนไม้ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยตำรวจพบศพในวันต่อมา

              ส้มและครอบครัว ต้องกลายเป็นหนึ่งใน “ผู้สูญเสีย” จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาชีพเสมียนในโรงงานไม้ มีรายได้เพียงวันละ 200 บาท ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกทั้ง 4 คนและดูแลพ่อแม่ด้วย หากวันใดไม่ทำงานก็จะไม่มีรายได้ในส่วนนี้ "ความสูญเสีย" ที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เธอได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นเดียวกับผู้สูญเสียอื่นๆ เดือนละ 4,500 บาท ด้วยการเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ซึ่งทุกๆเย็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์หลังจากเลิกงานที่โรงไม้แล้ว ส้มจะไปรับลูกๆ และพากันไปทำความสะอาดพร้อมกัน

             เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้เลือกเช่นนี้ เธอก็ยังมีความสุขกับกับลูกชายทั้ง 4 คน ที่เธอรักและหวงแหนมากที่สุด แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกด้วยตนเองเพียงลำพัง แต่เมื่อได้เห็นหน้าพลพรรคตัวยุ่ง 4 คนนี้แล้วกลับสร้างพลังให้เธอพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป

             ส้มได้รับทุนประกอบอาชีพ 5,000 บาท จากการส่งโครงการขอทุนประกอบอาชีพมาที่มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) โดยผ่านนักจิตวิทยาโรงพยาบาลศูนย์ยะลา "ความตั้งใจแรกจะนำเงินทุนนี้ ทำบ่อเลี้ยงปลาดุก แต่พอปรึกษาครอบครัว ปรึกษาพ่อแม่และคนรู้จัก ก็เห็นว่าเลี้ยงปลาดุกต้นทุนสูงมาก และยังมีค่าอาหารปลาที่ราคาสูงขึ้นทุกวัน ที่จะเป็นอุปรสรรคมากคือ เรายังอาศัยบ้านพักของโรงงานที่ให้สวัสิดการกับเธอเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นคนสูญเสียจากเหตุการณ์"

            ส้มจึงเปลี่ยนใจจากความตั้งใจเดิมแบ่งเงินมาซื้ออุปกรณ์ทำขนมโดนัท จำนวน 3,000 บาท และเป็นความเหมาะเจาะลงตัวมากที่ดีมาก เพราะพึ่งผ่านอบรมการทำขนมโดยให้ลูกนำไปขายที่โรงเรียน เพื่อๆ และครูที่โรงเรียนก็ช่วยกันอุดหนุน แต่ด้วยวัฒนธรรมการกินอาหารของคนในพื้นที่ ช่วงหลังทำขนมจึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

            ส้มจึงหันมาเอาดีด้านการเพาะเห็ด ซึ่งเป็นอาชีพที่สนใจมานานแล้ว ได้เข้าไปเรียนรู้การเพาะเห็ดโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนกับเจ้าของโรงเพาะเห็ดใจดีท่านหนึ่ง ลงทุนด้วยเงินที่เหลือ 2,000 บาท ลงมือผสมและทำการเพาะเชื้อเห็ดร่วมกันกับลูกๆ จำนวน 1,000 ก้อน โดยใช้มุมเล็กๆในห้องพักสวัสดิการจากเจ้าของโรงไม้เพื่อเป็นพื้นที่เพาะเห็ดและใช้เวลาว่างช่วงพักกลางวันมาเขี่ยเชื้อเห็ด การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เห็ดของส้มออกดอกดี ดอกสวย ขาดได้หมดทุกวัน บางวันไม่เพียงพอกับกับจำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อ อาชีพการเพาะเห็ดทำให้ส้มมีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถเพิ่มจำนวนก้อนเห็ดเป็น 2,000 ก้อน และสามารถนำมาสร้างโรงเรือนเล็กๆขยายพื้นที่เพาะเห็ดได้อีกหลังหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของโรงไม้ให้ที่ว่างๆข้างบ้านพักสร้างโรงเรือน โดยมีพ่อเป็นคนสร้างโรงเรือนให้ และเพื่อนรอบข้างที่เห็นความตั้งใจนำไวนิลที่ไม่ใช้แล้วมาทำเป็นฝากั้นให้ด้วย 

            รายได้จากการเพาะเห็ดเหล่านี้ เพื่อหวังว่าจะเป็นทุนการศึกษาให้ลูกในอนาคต ส้มมักพูดอยู่เสมอ "เราทำทุกอย่างด้วยกันกับลูก ให้เขาเกิดความรักความสามัคคี เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้ความยากลำบากและรู้คุณค่าของเงิน ว่ากว่าจะได้เงินมา เราต้องขยัน"

            ทุกวันนี้ส้มมีความสุขกับครอบครัวเล็กๆ และโรงเพาะเห็ด ที่นอกจากจะสร้างรายได้ให้ครอบครัวของเธอแล้วยังสร้างความสุข ความผูกพันที่ก่อตัวขึ้นมาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน หากถามถึง 5,000 บาทที่ได้ เธอบอกว่า "ภูมิใจที่อย่างน้อยแหล่งทุนเห็นความสำคัญและความลำบากของเรา ลำบากที่ต้องเลี้ยงดูลูก 4 คนเพียงลำพัง และขอขอบคุณหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและให้โอกาส"

             ความตั้งใจของส้มในอนาคต คือ การได้แบ่งปันความรู้เรื่องการเพาะเห็ดให้กับคนที่สนใจและมีรายได้น้อยได้เข้ามาเรียนรู้ เหมือนที่เคยได้รับโอกาสมา

             ปัจจุบัน ส้มกำลังศึกษาระดับมัธยมปลาย ที่การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และยังรับจ้างเป็นเสมียนโรงไม้ที่เดิม เธอยังรักษาฐานที่มั่นเป็นลูกจ้างรายวันวันละ 200 บาทเหมือนเดิม เพราะกลัวจะมีปัญหากับนายจ้างและเพื่อนๆที่ทำงาน เพราะเธอต้องไปประชุมเยียวยาบ่อยครั้ง และทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลทำความสะอาดที่ว่าการอำเภอเมืองยะลาหลังเลิกงานด้วย

             สำหรับการเพาะเห็ด เคยได้หยุดไปประมาณ 5 เดือน เพราะความน้อยใจที่พ่อแม่ย้ายกลับไปที่บ้านเกิดถิ่นอีสาน เธอยังต้องอยู่เพียงลำพังกับลูกทั้งสี่คนในพื้นที่ความรุนแรงแห่งนี้ ทั้งยังมีอาการปวดหลังจึงหยุดรักษาตัว หลังจากรักษาตัวหายดีแล้วจึงกลับมาเพาะเห็ดอีกครั้ง เพราะการเพาะเห็ดทำให้ครอบครัวของส้มมีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความสามัคคีในครอบครัวได้ดีอีกด้วย

              เธอจึงเป็นผู้หญิงต้นแบบของผู้สูญเสียที่ยืนให้ได้ด้วยตนเองและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป.

00000000000000000000000

ที่มา:
คัทลียา จารุทวี, "หัวใจไม่ยอมแพ้", หนังสือภาพพลังสันติภาพ ผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนใต้ (From Peace to Power), กรุงเทพฯ: 2556, หน้า 53.

มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.), "5,000 บาท...ให้อะไรมากกว่าทุนอาชีพ", "สานฝัน เยียวยา สมานฉันท์": จดหมายข่าวศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความมไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.), หน้า 8-9

 รู้จักเธอ 10 สตรีต้นแบบ...