Skip to main content

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข


'สีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ': ฉันเป็นพยานให้สามี

สีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ
อัสรา รัฐการัณย์
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ

 

            เพียงแค่กระจกหนาแผ่นใหญ่เท่านั้นที่กั้นระหว่างเรา แม้จะไม่ได้สัมผัสกัน การได้ยินเสียงผ่านโทรศัพท์ก็ทำให้หัวใจพองโตและอิ่มเอิบแล้ว ฉันและลูกๆ เดินทางมาเป็นพันกิโลเพื่อให้ได้พบสามี เมื่อมาถึงหน้าเรือนจำบางขวาง ใจฉันสั่นสะท้านมือเย็นเฉียบ เมื่อมองไปยังกำแพงคุกที่สูงใหญ่และกว้าง ฉันบีบมือลูกพร้อมกับคิดในใจว่า นี่หรือ? สถานที่ที่พลัดพรากสามีที่รักไปจากฉัน และพ่อที่รักไปจากลูกๆ

            ..........................

            ท่ามกลางเสียงฝนตกหนัก ฟ้าผ่า ลมพัดแรง บ้านไม้หลังเล็กและเก่า หลังคาสังกะสี ที่เต็มไปด้วยรูรั่ว ลูกๆ ทั้ง  5 คนต่างวิ่งหาถัง กะละมังให้วุ่นวาย เพื่อมารองรับน้ำฝนที่ตกลงมา รูใหญ่บ้าง รูเล็กบ้าง แล้วยังมีฝนที่สาดลงมาทางผนังบ้านอีก ฉันแทบจะไม่ได้นอนเลยทั้งคืน ตู้ที่ใส่หมวกกะปิเยาะหลายใบที่สามีเย็บยังไม่เสร็จ ถูกฝนสาดเกือบหมด 

            เปรี้ยง! เสียงฟ้าผ่าดังลั่น ลูกๆ ต่างวิ่งมากอดฉัน ลูกคนเล็กวัย 5 ขวบ(ในช่วงนั้น) กอดฉันแน่น แล้วร้องไห้ด้วยความกลัว ฉันสอนลูกให้นึกถึงและกล่าวนามพระเจ้า ลาเฮาลาวะลากูวะตะอิลลา บิลลาฮฺ (ไม่มีกำลังและพลังใดๆ นอกจากด้วยกำลังและพลังจากอัลลอฮ์) ฉันเองก็เกือบจะตกใจด้วยเหมือนกันกับการสั่นกลัวที่เกิดขึ้นของลูก คิดในใจว่า มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนด ฉันนึกเสมอว่า ถ้าสามียังอยู่ที่บ้าน ฉันและลูกๆ คงไม่เป็นแบบนี้ คงไม่ต้องถูกแดด ถูกฝน  เพราะสามีคงจะซ่อมแซมหลังคาไม่ให้รั่ว

             ทุกวันนี้ พอฉันหลับตานึกถึงภาพความหลังในอดีต รู้สึกอยากจะร้องไห้ เพราะที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นชีวิตที่สุดจะระทด ช่วงชีวิตที่ฉันกับสามีอยู่ร่วมกันมาเกือบ 20 ปี ก็เหมือนกับครอบครัวคนทั่วไป แต่ที่แตกต่างกันก็คือการทำงาน เพราะการทำงานของเรามักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร อาจเป็นบททดสอบหรือเปล่า เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน

             บททดสอบ ที่ทำให้เราต้องซอบัร (อดทน) หรือเปล่า นี่คือคำถามแรกในวันที่เราแต่งงานกัน เมื่อปี 2536 จำได้ว่าที่เมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ฝนไม่ค่อยตก แต่พอถึงวันแต่งงานของเรา วันนั้นฝนตกหนัก ฟ้าผ่า ลมพัดแรง น้ำเกือบจะท่วมที่มัสยิดฮารอม ฉันกับสามีแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่เมกกะด้วยกัน 4 ปี มีลูก 2 คน สามีเย็บหมวกกะปิเยาะ สำหรับผู้ชายสวมใส่ตอนละหมาด ส่วนฉันเป็นคนเย็บส่วนหัวกับส่วนข้าง หรือที่เรียกว่าตาโป๊ะกับยีดาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นหมวกกะปิเยาะที่สมบูรณ์ ส่วนที่ผู้หญิงทำได้ฉันก็จะทำ ช่วงแรกที่ฉันเย็บหมวกกะปิเยาะใหม่ๆ ฉันมักถูกสามีดุว่าเย็บไม่ตรง เบี้ยวบ้าง เพราะสามีฉันเป็นคนประณีตมาก หมวกที่ออกมาจึงมีลวดลายและรูปทรงที่สวยงาม 

            ที่เมกกะ เขาทำงานกันในห้อง สามีฉันทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้ได้หมวกหลายโกดี บางครั้งแข่งกับเพื่อนๆ เพราะอยากได้เงินเยอะ 1 โกดี 20 ใบ ช่วงนั้นขายได้เงิน 1,500 บาท สามีขายเอง เขาไม่ให้เพื่อนขายเพราะเพื่อนขายราคาต่ำ ตอนนั้นเราสองคนสนุกกับการทำงานมาก เริ่มตั้งแต่เช้าหยุดละหมาดซุฮรี (ประมาณบ่ายโมง) กินข้าวเสร็จก็ขึ้นเย็บต่อจนถึงละหมาดอีซา(ประมาณ 2 ทุ่ม) ทำแบบนี้เป็นประจำ แต่พอถึงวันศุกร์ซึ่งเป็นวันหยุด สามีก็ไปเรียนกีตาบ(หนังสือเรียนศาสนาอิสลาม)กับโต๊ะครูคนไทยที่อยู่ที่นั่น 

            จนวันหนึ่งสามีรู้สึกอยากกลับบ้าน แต่ฉันยังไม่อยากกลับ สุดท้ายเราจึงต้องยอมขายจักร 2 คัน เพื่อให้มีเงินกลับบ้าน พอถึงวันใกล้จะกลับ อะไรที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ! เงินในกระเป๋าเสื้อที่สามีใส่อยู่ได้หายไป สองหมื่นบาท แล้วยังถูกเถ้าแก่อาหรับโกงเงินไม่ให้ตามที่สัญญาอีก 

            พอได้กลับบ้านฝ่ายแม่ฉันกับแม่สามีไม่ถูกคอกัน ฝ่ายฉัน แม่บอกว่าฉันซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องต้องอยู่กับแม่ แม่จะได้พึ่งพา ช่วงนั้นฉันคิดอะไรไม่ออกเหมือนกันก็เลยตามแม่กลับบ้านก่อน แม่สามีก็ไม่ยอมอยากให้ฉันอยู่กับเขา ช่วงนั้นฉันกับสามีเราจึงต้องแยกกันอยู่ ฉันอยู่บ้านฉันที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ส่วนสามีอยู่บ้านเขาที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ลูก 2 คนแรก ก็อยู่กับเขานานเป็นเดือน

            อยู่มาวันหนึ่งสามีได้หอบลูกมาหาฉัน มาขอมาอัฟ(ขอโทษ) แม่ของฉันและทุกคน ครอบครัวเราจึงได้กลับมาอยู่ด้วยกัน แต่อยู่บ้านได้ 1 ปี เราคิดอยากไปเมกกะอีก ตอนนั้นฉันท้องลูกคนที่ 4 ได้ 7 เดือน ลูกคนที่ 4 จึงไปคลอดที่เมกกะ ที่นั่นเราได้ซื้อจักรเย็บอีก แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ถูกจับ เพราะเราเป็นคนต่างด้าวที่ไปอย่างผิดกฎหมาย ถูกจำคุกอยู่ที่นครญิดดะห์ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นกงสุลไทยที่นั่นได้จัดส่งพวกเราที่ไปอย่างคนต่างด้าวกลับเมืองไทยหมด

            ช่วงที่เรากลับจากเมกกะใหม่ๆ ตอนนั้นเรามีลูก 4 คน ไม่มีงานทำ จึงพาลูกๆ ไปรับจ้างกรีดยาง ที่บ้านหาดทราย ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เราอยู่ท่ามกลางหุบเขาล้อมรอบ ไม่มีใครเลยที่อาศัยอยู่ที่นั่น นอกจากครอบครัวของเรา เช้าๆ ได้ยินแต่เสียงนก และเสียงน้ำไหลจากลำธาร อยู่ที่นั่นได้ประมาณ 1 ปี ก็ต้องออกมา สาเหตุเพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคายางตกต่ำ ขายได้กิโลกรัมละ 25 บาทเท่านั้น 

            ฉันและครอบครัวจึงกลับมาอยู่ที่บ้านควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านเดิมของสามี มีเถ้าแก่เย็บหมวกกะปิเยาะมาให้จักรเย็บ เพื่อให้เรารับจ้างเย็บหมวกกะปิเยาะให้เขา และยังมีเถ้าแก่ที่มาจ้างให้ปักดอกบนผ้าตัดเสื้อผู้หญิง เถ้าแก่บอกว่าสามีฉันปักดอก ลวดลายสวย ประณีต เป็นลวดลายที่ไม่เคยมีใครทำได้ ยิ่งใกล้วันฮารีรายอ เถ้าแก่มักจะมาจ้างให้ทำเป็นจำนวนมาก ฉันเห็นสามีของฉันตั้งใจปักดอกบนผ้าทุกชิ้นอย่างมีสติและใจเย็น ไม่อย่างนั้น ดอกที่ออกมาก็จะไม่สวย จนทุกวันนี้ แบบปักดอกที่สามีฉันเคยเย็บ และลายบนหมวกกะปิเยาะ เถ้าแก่ยังเก็บเป็นตัวอย่างอยู่เลย

           เย็บหมวกกะปิเยาะให้เถ้าแก่ได้สักพักหนึ่ง เราจึงอยากจะลงทุนด้วยตัวเอง ช่วงนั้นลงทุนประมาณเกือบหนึ่งหมื่นบาท ซื้อทั้งผ้า ทั้งไหม มาเย็บ เย็บหมวกไม่ได้หลับไม่ได้นอน เย็บเสร็จก็ฝากให้เพื่อนไปขายที่เมกกะ ประมาณ 20 โกดี ถ้าเราขายได้ก็ตกเป็นเงิน 20,000 บาท 

            แต่พอเพื่อนกลับมาเขาบอกว่า หมวกมันราคาตก ให้เงินกลับมาแค่ 9,000 บาทเท่านั้น สามีก็ปรึกษากับฉันว่าเราจะทำอย่างไรดี เพราะเราเริ่มท้อกับการเย็บหมวกกะปิเยาะแล้ว จึงคิดว่าจะทิ้งตรงนั้นแล้ว ไม่เอาแล้ว 

            สามีฉันมีรถเก่าๆ คันหนึ่ง วันหนึ่งมีเพื่อนมาบอกว่า พรุ่งนี้เช้าช่วยขับรถพาคนไปถางป่าให้หน่อย ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เหมารถเก๋งเธอไป 4-5 คน ให้สามีฉันเป็นคนขับ ปกติสามีไม่เคยที่ว่าจะเสียน้ำใจกับคนที่มาขอความช่วยเหลือ เขาก็ตอบตกลง อะไรที่ช่วยเหลือได้ เขาก็ช่วยเหลือตลอด เพื่อนบ้านชวนไปกินเหนียว งานแต่งงาน หรือไปที่ไหน เขาไม่เคยคิดถึงเรื่องเงินเลย บางคนเหมารถไปไม่ให้เงินก็มี เด็กๆ ข้างบ้านเวลาสามีฉันสตาร์ทรถที่ไร ก็จะมาถามว่าบาบอจะไปไหน ปกติสามีชอบพาเด็กๆ นั่งรถเที่ยวตลอด ไปตลาดข้างๆ หมู่บ้าน หรือพานั่งรถเล่นเต็มคันรถ ไม่จำกัดว่าลูกใคร

            วันพุธที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่สามีฉันรับจ้างด้วยเงิน 400 บาท เพื่อไปถางป่าที่บันนังสตาตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อสามีออกจากบ้านได้ไม่นาน ก็มีเพื่อนบ้านมาบอกฉันว่า สามีของฉันอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สภอ.แม่ลาน ฉันกับลูกตกใจ ทำอะไรไม่ถูก หลังจากนั้นฉันออกตามหาสามีอยู่หลายที่   3 วันผ่านไป ฉันพบสามีอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร  มีแผลจากการถูกของมีคมที่ไหล่ เลือดยังคงไหลไม่หยุด เขาถูกใส่กุญแจที่ข้อมือผูกไว้กับเตียง อยู่ที่นั่นได้ประมาณ 25 วัน กรมราชทัณฑ์ปัตตานี ก็รับไปอยู่ที่เรือนจำปัตตานี โดยที่บาดแผลยังไม่ทันหาย อยู่ที่เรือนจำปัตตานี 2 ปีขึ้นศาลหลายครั้ง สามีฉันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

            28 เมษายน 2547 ทุกคนจำ “เหตุการณ์กรือเซะ” ได้ แต่วันเดียวกันนี้มีเหตุการณ์โจมตีหน่วยงานราชการเกิดขึ้นพร้อมกัน 9 จุด ในพื้นที่สามจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพี่น้องชาวมุสลิมตายเป็นจำนวนมาก ทุกคนลืมไปแล้ว เพราะสามีฉันรอดชีวิตคนเดียว ในเหตุการณ์สภ.อ.แม่ลาน เพราะเขารู้ว่ารับจ้างเพื่อนขับรถเท่านั้น วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลชั้นต้นปัตตานีพิพากษาตัดสินประหารชีวิต เขาจึงถูกส่งต่อไปที่เรือนจำจังหวัดสงขลา อยู่ที่นั่นอีกประมาณ 4 เดือน ก็ถูกส่งต่อไปที่เรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 2 เดือน และหลังจากนั้นสามีฉันก็ถูกส่งไปที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ จนถึงทุกวันนี้ 

           ฉันอยู่กับสามีมาเป็นเวลา 20 กว่าปี เขาเป็นคนไม่พูดโกหก ไม่ชอบนินทา ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียนใคร ใครจะทำยังไงกับเขา เขาก็คิดว่าเป็นบททดสอบของอัลลอฮ์ “ทุกสิ่งทุกอย่างอัลลอฮ์เป็นผู้กำหนด” เป็นประโยคที่เขาพร่ำสอนฉันอยู่เสมอ....

            เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ฉันต้องหารายได้ รับจ้างกรีดยางเพื่อเลี้ยงดูลูก ฉันวิตกกังวลเรื่องอนาคตของลูก และยังกังวลห่วงใยสามีที่ถูกขัง

             ระหว่างสามีถูกดำเนินคดีอยู่ ถูกเป็นผู้ต้องหา ครอบครัวเราถูกบอกว่าเป็นแนวร่วม ไม่มีใครอยากมาอยุ่ง สำหรับเงินเยียวยานั้น ทางครอบครัวเราไม่คิดอยู่แล้วว่าจะได้ ผ่านไปไม่กี่เดือนอาจารย์โซรยา จามจุรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคุณโสภณ สุภาพงษ์ ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในตอนนั้นมาเยี่ยม มาให้กำลังใจ และให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆ 

             เมื่อสามีต้องย้ายไปอยู่ที่เรือนจำบางขวาง แค่ขอให้ได้พาครอบครัวของเรา ไปเยี่ยมก็พอแล้ว ครอบครัวของฉันเป็นครอบครัวที่ยากจน ถ้าเราจะไปเยี่ยมโดยตามลำพังครอบครัวเราคงไม่มีโอกาสไป เพราะไม่มีค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ โชคดีที่มีองค์การกาชาดสากล หรือ ICRC มาเยี่ยมบ้านถามทุกข์สุขของเรา เขาเลยจัดพาครอบครัวของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำไปเยี่ยม รู้สึกดีใจมากๆ เลยที่ยังมีองค์กรระหว่างประเทศมาเยี่ยมบ้าน พาไปเยี่ยมที่เรือนจำ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนชาวต่างชาติ ช่วยดูแลพวกเรา ซาบซึ้งมาก รู้สึกว่าพวกเรายังมีคนคอยดูแลเราอยู่ ไม่ทอดทิ้งกัน เขาจะพาไปเยี่ยมปีละครั้ง ก็ยังดีที่ได้ไปทุกครั้ง แค่ได้ไปดูหน้ายกมือเอาโทรศัพท์มาพูด ถามทุกข์สุข ก็ดีใจแล้ว สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสอย่างครอบครัวเรา 

            เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 สมาชิกในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม 45 คน เข้าร่วมพบปะสานเสวนากับ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และคณะทำงานของท่าน ที่หอประชุม ศอ.บต. จ.ยะลา ซึ่งช่วงนั้นท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ครั้งที่มีโอกาสสานเสวนากับท่าน ฉันจึงได้เสนอให้ทางศอ.บต.พาครอบครัวของผู้ต้องขังไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำต่างๆ เพราะมันเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง และเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของท่านด้วย 

           ฉันบอกท่านว่า “อยากให้ภาครัฐช่วยให้เราได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขัง อยากให้มีค่าเดินทาง ช่วงที่ผ่านมาไปกับกาชาดสากล คนไทยทำไมต้องให้คนต่างชาติมาช่วย ถ้าไม่มีกาชาดสากล พวกเราคงไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยม เพราะไม่มีทุนที่จะไป เพราะแต่ละคนมีทั้งพ่อแม่ ภรรยา และมีลูกๆ หลายคน  คนที่เป็นภรรยาต้องแบกรับภาระทั้งหมด ต้องส่งเสียค่าเล่าเรียนลูก ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว  รู้สึกลำบากจริงๆ จะท้อแต่ท้อไม่ได้ ต้องต่อสู้ อยากให้ท่านดูแลเราด้วย ช่วงที่ผ่านมากาชาดสากลให้ไปแค่ 3 คน แต่เรามีลูก 5 คน บางปีลูกบางคนไม่ได้ไปเยี่ยม อยากฝากทางศอ.บต.ด้วย”

           ท่านทวีรับปากว่าจะติดตามเรื่องให้ และจะช่วยเหลือให้ญาติของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ต้องขัง และหลังจากนั้นไม่นาน ท่านเลขาธิการศอ.บต. พร้อมคณะ ก็ได้ไปเยี่ยมฉันที่บ้านควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ 

           ปี 2555 จึงเป็นปีแรก ที่ ศอ.บต.พาครอบครัวผู้ต้องขังไปเยี่ยมผู้ต้องขัง ให้ครอบครัวละ 4 คน ให้ความสะดวกทุกอย่าง ที่พัก ค่าเดินทาง อาหาร และยังมอบของให้แก่ผู้ต้องขัง มีเสื้อผ้า  ผ้าโสร่ง  ซาญาดะห์(ผ้าปูละหมาด) และหมวกกะปิเยาะ รวมทั้งยังให้ผ้าละหมาดผู้หญิงแก่ภรรยาของผู้ต้องขังอีกด้วย 

           และเมื่อต้นเดือนกันยายน ปี 2555 นับเป็นปีที่โชคดีอีก มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ทูลกระหม่อมหญิงฯ ได้ช่วยเหลือให้ญาติของผู้ต้องขังได้ไปเยี่ยมอีกเช่นกัน  แต่ไปได้ครอบครัวละ 2 คนเท่านั้น อายุระหว่าง 25-40 ปี ฉันจึงไปกับรอปีอ๊ะ น้องสาวของสามี 

            ที่ผ่านมา ไปเยี่ยม ต้องโทรศัพท์คุย ได้เห็นสามีผ่านกระจก ไม่ได้สัมผัส แต่เมื่อไปกับมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ และศอ.บต. ได้เข้าไปเยี่ยมเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ได้เข้าไปข้างใน ได้สัมผัสจับมือ ได้สลาม ได้ขอมาอัฟ(ขอโทษ)  ได้สวมกอดกัน วันนั้นไปใกล้วันฮารีรายอ จึงทำข้าวต้มมัด ไปกินด้วยกัน 

            ความเป็นอยู่ของสามีที่ฉันเห็น และการไถ่ถามทุกข์สุขสามีเล่าว่า เรือนจำบางขวางมีอาหารที่ฮาลาล ส่วนด้านการแต่งกาย โชคดีที่ปีนี้ สามีของฉันได้แต่งกายตามหลักการของศาสนา คือชายมุสลิม ห้ามให้บุคคลอื่นเห็นตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า สามีฉันได้ใส่กางเกงที่ปิดเข่า เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเราเป็นมุสลิม เราต้องละหมาด ต้องถือศีลอด ต้องแต่งกายถูกต้องตามหลักการ และทุกปีจะมีผู้ใจบุญบริจาคอินทผลัมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำไว้ทานตอนละศีลอด  

            เรื่องละหมาดไม่มีปัญหา และถ้าใครจะเรียนอัลกุรอาน หรือเรียนกีตาบ สามีของฉันช่วยสอนให้ เพราะเขาพอมีความรู้ด้านนี้ พอที่จะสอนได้ ใครจะเรียนกศน. ก็มีอาจารย์มาสอนให้ แต่สามีฉันไม่ได้เรียน เพราะไม่ถนัด ถ้าใครเจ็บไข้ได้ป่วย มีหมอมารักษา ให้ยากิน มีหมอมาตลอด เป็นบริการที่ดี 

            ช่วงไปเยี่ยมแรกๆ ไม่ค่อยได้รับความสะดวกเท่าไร แต่ปัจจุบันนี้ ทางเรือนจำเริ่มให้ความสนใจกับญาติของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงมากขึ้น คือให้การต้อนรับอย่างดี ให้คำปรึกษา ต้อนรับพูดคุยกับเด็กๆ อย่างดี ถามว่ามาจากไหน เป็นลูกใคร พ่อชื่ออะไร ถามหมดทุกข์สุข ความเป็นมาเป็นอย่างไรเขาถามหมด 

            พอสามีรู้ว่าฉันมีโอกาสได้เขียนเรื่องเล่าเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือให้คนอื่นๆ ได้อ่าน เขาฝากมาบอกว่า อยากให้มีการละหมาดวันศุกร์ในเรือนจำ เพราะเป็นข้อบังคับของศาสนาอิสลาม ที่ต้องให้ชายที่บรรลุนิติภาวะ ไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดทุกวันศุกร์ แต่การอยู่ในเรือนจำ หากชายผู้ต้องขังมุสลิมได้ละหมาดร่วมกันก็เพียงพอแล้ว ทุกคนที่อยู่ในเรือนจำจะได้พบปะพูดคุยกัน รวมทั้งจะได้ขออภัยซึ่งกันและกัน

             ถึงแม้สามียังไม่ได้รับอิสรภาพ แต่เขายังยึดหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด 

             ที่สามีของฉันสู้มาถึงทุกวันนี้ เพราะเขาไม่ผิด มีคนแนะนำให้เขารับสารภาพ เขาบอกไม่เอา ในเมื่อเขาไม่ได้ทำ เขาเพียงแค่รับจ้างขับรถโดยที่ไม่รู้ว่าผู้เหมารถจะไปก่อเหตุ สามีฉันจึงขอสู้คดีจนถึงที่สุด

             แง่มุมสอนให้เรารู้ว่า ถ้าเราทำอะไรในสิ่งที่ไม่ผิด เราก็อย่าไปเกรงกลัวต่ออุปสรรคข้างหน้า ต้องต่อสู้อดทนกับเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าความยุติธรรมมีจริง สักวันหนึ่งเราคงประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราตั้งใจไว้ 

             ทุกวันนี้ฉันยังคงตื่นแต่เช้า ออกไปกรีดยาง ทำงานหนักเพื่อให้มีเงินดูแลลูกๆ ตอนนี้ฉันส่งลูกๆ ไปเรียนประจำเป็นโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ และอีก 2 คนสุดท้ายอยู่ในการดูแลของมูลนิธิอัลเกาษัร ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดูแลให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจน ทุกครั้งที่ลูกกลับมาจากโรงเรียนประจำ ต้องถามหาว่าเมื่อไหร่บาบอ(พ่อ)จะกลับมา จนบางครั้ง ฉันแอบร้องไห้ น้ำตาไหลจากแก้ม เหมือนดั่งถูกมีดกรีด 

             หลายครั้งที่ฉันไปเยี่ยมสามี เขามักจะถามฉันว่า ถ้าเธออยากจะขอแต่งงานใหม่ เขาก็ไม่ว่าอะไรนะ ฉันก็บอกกลับไปว่า “อัลลอฮ์ขีดเส้นให้เราเป็นแบบนี้แล้ว ก็ขอให้อัลลอฮ์เป็นผู้กำหนดตั้งแต่ต้นจนจบ” 

             วันที่ 30 กันยายน 2551 ศาลอุทธรณ์ ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นคือให้ประหารชีวิต 

             ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ศาลฎีกา ตัดสินลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต 

             ทุกวันนี้ ฉันได้แค่ขอพร ขอดุอา จากอัลลอฮ์ ขอให้มีอีมาน(ศรัทธา) มีอายุยืนยาว เพื่อที่เราจะได้กลับมาอยู่ด้วยกัน พ่อแม่ลูก.

000000000000000000000000000

พลังส่งกลับจากเธอ | สู่ฉัน
ฉันชื่อ.....อัสรา รัฐการัณย์

           ฉันชอบประโยคของคุณแจง - 'ฐิตินบ โกมลนิมิ' ที่บอกว่า “เรื่องเล่าของเพื่อนเป็นพื้นที่การเรียนรู้” ฉันจึงไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่คนต้นเรื่อง 2 คนในฐานะพี่เลี้ยงต้องดูแล แต่อีก 10 กว่าเรื่องที่ได้อ่านและพูดคุยกันระหว่างเขียนต้นฉบับ ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ได้มากมาย หลายคำให้การ หลายเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้  แม้ได้คุยและรู้จักพวกเธอมาเป็นเวลาหลายปี บางคนตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ ปี 2547

          วันเวลาผ่านไป ทำให้เธอเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวด ความทุกข์ยากลำบาก โดยที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ แล้วลุกขึ้นมาทำงานช่วยเหลือเยียวยาตนเอง สังคม และผู้สูญเสียรายใหม่ๆ หลายคนสามารถทำงานเป็นนักสื่อสาร บอกเล่าพูดคุยเรื่องราวของตัวเองและชุมชน ผ่านรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ และวันนี้เสียงเหล่านี้ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร กลั่นกรองมาจากหัวใจของผู้หญิงที่เป็นแม่ เป็นภรรยา และเป็นลูกสาว 

          ฉันเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงหน้านี้แล้ว คุณจะได้ทั้งกำลังใจ แรงบันดาลใจ พลังใจ เป็นยาบำรุงในการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคที่คุณกำลังเจออยู่ได้ เหมือนกับฉันที่ได้รับ และมองเห็นถึงพลัง พลังแห่งความอดทน พลังแห่งการให้อภัย และพลังที่จะต้องก้าวเดินต่อไป เพื่ออนาคตของลูกๆ ลูกที่พระเจ้าส่งมาเป็นของขวัญให้เราต้องดูแล และโอบอุ้มให้เขาประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า 

          ฉันมีโอกาสได้เขียนเรื่องของพี่สม โกไศยกานนท์และช่วยเป็นพี่เลี้ยงตรวจทานเรื่องของสีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ สีตีนอร์หญิงวัยกลางคน อายุ 40 ปีเราสองคนอายุไล่เลี่ยกันห่างกันไม่ถึงเดือน ฉันรู้จักสีตีนอร์มา 5 ปีแล้ว ยิ้มหวานๆ คำพูดน้อยคำ แต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวลเสมอของเธอ สร้างความประทับใจทุกครั้งที่ได้เจอ ฉันดีใจที่สีตีนอร์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของเธอออกมาเป็นตัวอักษรให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกๆ อีก 5 คนกำลังเผชิญอะไร ทั้งที่สามีของเธอยังมีชีวิตอยู่ในฐานะ “นักโทษทางการเมือง” มีศาลมีคำพิพากษาลงโทษให้ถึงตาย ฉันเห็นแววตาและความจริงจังของเธอกับความตั้งใจเขียนคำให้การนี้มาก แม้บางคำเธอจะสะกดไม่ค่อยถูกต้อง ฉันจึงเหมือนเป็นครูสอนภาษาไทยให้เธอด้วย 

          วันแรกที่เราอบรมการเขียนเรื่องเล่า คุณแจงให้ความรู้และพูดถึงพลังของเรื่องเล่าว่าสำคัญอย่างไร ต่อมาให้แต่ละคนที่เป็นคนต้นเรื่องได้คิดและเขียน ฉันช่วยแนะนำสีตีนอร์จนเธอเขียนไปได้ 2 หน้ากระดาษ ก็ขอตัวไปละหมาดประมาณครึ่งชั่วโมง พอกลับเข้ามาเธอสามารถเขียนเรื่องราวของเธอได้อีก 2 หน้ากระดาษ แม้จะผ่านการอบรมมาเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้น ฉันดีใจมาก เพราะสีตีนอร์เป็นคนที่พูดคุยไม่เก่งนัก วันนี้ตัวอักษรของเธอ จะช่วยทำให้ผู้คนได้รู้จักตัวตนของเธอและรู้จักครอบครัวเธอมากขึ้น 

          ขณะที่พี่สมเป็นคนเสียงดัง แต่เธอมักจะมีคำแนะนำดีๆ มาถ่ายทอดและเล่าให้ฟังเสมอ การได้ช่วยทำหนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันได้รู้จักพี่สมมากขึ้น ได้เรียนรู้ความเข้มแข็งของพี่สม ชีวิตที่พลิกผันตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงวัยที่เป็นคุณย่า พี่สมผ่านอะไรมากมาย แล้วเธอก็ลุกขึ้นได้ทุกครั้ง 

          คุณผู้อ่านที่รัก หากวันนี้เรายังคงถามหาสันติภาพ พลังจาก 30 กว่าชีวิต ที่ร่วมกันทำหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ และแรงผลักให้ทุกท่าน ลุกขึ้นพูด ส่งเสียง สื่อสาร หรือช่วยกันออกแบบว่าสันติภาพแบบไหนที่เราต้องการ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะเราต่างอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นที่ชายแดนใต้

0000000000000000000000000

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา