Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9) :

สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน

 

บทบาทและจุดยืนของกาตาร์ทำให้กาตาร์กลายเป็นแกะดำในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ทำตัวแตกแถวไม่ฟังพี่ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย เคยถูกซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับร่วมกันกดดันมาแล้วในปี 2014 โดยซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรน ได้เรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกาตาร์ เพราะไม่พอใจที่กาตาร์ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีมุร์ซี

แรงกดดันในครั้งนั้น แม้จะไม่หนักหนาเหมือนรอบนี้ แต่ก็ทำให้กาตาร์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามพอสมควรเพื่อปรับความสัมพันธ์กันใหม่ โดยกาตาร์ยอมพยายามลดบทบาทในการสนับสนุนกลุ่ม MB บีบให้สมาชิกบางส่วนของ MB ออกนอกประเทศและไม่ให้ใช้กาตาร์เคลื่อนไหวทางการเมือง ประเทศต่าง ๆ จึงยอมส่งทูตกลับมา ใช้เวลาถึงแปด 8 กว่าจะเคลียร์กันได้

ในช่วงต้นปี 2016 ที่ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีปัญหากันอย่างรุนแรง กาตาร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับกลุ่มประเทศในแถบอ่าวตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน แต่กระนั่นก็ตาม กาตาร์ก็ยังสานสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ กับอิหร่าน มีการแสดงความยินดีกับโรฮานี ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ยังคงให้การสนับสนุนกลุ่ม MB อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะให้ที่พักพิงกับแกนนำสำคัญ ๆ ของ MB ในขณะที่ Al-Jazeera ก็ยังคงนำเสนอข่าวตามมาตรฐานสากลที่ทำให้หลายประเทศไม่พอใจ

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความแตกร้าวในกลุ่มประเทศ GCC มีสะสมมาอย่างต่อเนื่องเป็นทุนเดิมแล้ว ซาอุดีอาระเบียและอีกหลายประเทศก็คงอยากที่จะเล่นงานกาตาร์เพื่อเป็นการสั่งสอนลงโทษอยู่ไม่น้อย แต่เงื่อนไขและสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยสักเท่าไร เพราะที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียต้องต่อสู้แข่งขันกับอิหร่านในสมรภูมิตัวแทนหลายประเทศอย่างเข้มข้น จึงไม่ต้องการขยายความขัดแย้งภายใน อีกเหตุผลที่สำคัญคือความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในช่วงปลายสมัยของโอบาม่าก็ไม่ค่อยดีนักด้วยกับเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น สหรัฐฯไปเจรจากับอิหร่านจนบรรลุข้อตกลงนิงเคลียร์ร่วมกันจนนำไปสู่การยกเลิกการค่ำบาตรอิหร่าน การที่สหรัฐฯไม่เข้ามาช่วยปฏิบัติการโค่นระบอบอัสซาด ออกกฎหมายเอาผิดกับซาอุดีอาระเบียกรณีเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้น ทำให้ซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมานหันมาดำเนินนโยบายพิงพาตัวเองด้านความมั่นคงในภูมิภาคเพราะไม่มั่นใจในการสนับสนุนของสหรัฐฯอีกต่อไป นโยบายนี้ต้องอาศัยความเป็นเอกภาพในกลุ่มพันธมิตรโดยเฉพาะในกลุ่มอนุทวีปในแถบอ่าว

พอมาในยุคของทรัมป์ แม้จะต่อต้านอิหร่านชัดเจน แต่ก็ไม่ได้แสดงที่ท่าว่าจะสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเดิมในตะวันออกกลาง จนกระทั่งทรัมป์มาเยือนซาอุดีอาระเบียและพบปะผู้นำประเทศอาหรับหลายคนโดยส่งสัญญาณชัดเจนดังที่กล่าวไปแล้ว จนน่าจะทำให้ชาติอาหรับมั่นใจได้ระดับหนึ่งในนโยบายของเขาที่จะสนับสนุนพันธมิตรในตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านอิหร่าน การมาของทรัมป์จึงเป็นการมาตอกย้ำและการจัดระเบียบใหม่ในสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นเพื่อสกัดกั้นอิหร่าน ไม่ใช่การรวมกันแบบหลวม ๆ ที่มีบางประเทศแตกแถวอย่างกรณีกาตาร์

เมื่อชัดเจนเช่นนี้ ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศพันธมิตรในอ่าวฯ จึงเดินหน้าเต็มกำลังในการรวมกลุ่มกันต่อต้านอิหร่าน จึงเป็นเหตุผลว่าต้องกดดันไปพร้อม ๆ กับลงโทษกาตาร์อย่างเด็ดขาด จนนำมาสู่การที่ซาอุฯ บาห์เรน ยูเออี อียิปต์ เยเมน ลิเบีย และมัลดีฟส์ ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์อย่างไม่เหลือเยื่อใย ปิดพรมแดนทั้งทางบกและทางอากาศ ที่สำคัญคือเกิดขึ้นไม่ถึง 10 วันหลังจากที่ทรัมป์เยือนซาอุฯ

นักวิเคราะห์หลายคนมองตรงกันว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่ยกมาเป็นเหตุผลในการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่ากาตาร์สนับสนุนการก่อการร้ายหรือกลุ่ม MB ไอเอส และอัลกออิดะห์ หรือข้อกล่าวหาว่ากาตาร์ร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเมืองกาตีฟ ทางภาคตะวันออกของประเทศซึ่งมีมุสลิมชีอะห์เป็นชนกลุ่มใหญ่ รวมทั้งในประเทศบาห์เรน หรือแม้แต่กรณีที่อ้างว่าสำนักข่าว QNA ของทางการกาตาร์ได้เผยแพร่ความเห็นของกษัตริย์ ตามีม บิน ฮามัด อาลิซานี ที่เป็นการแสดงทัศนะคติเชิงลบต่อประเทศซาอุดีอาระเบีย แม้กาตาร์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และชี้แจ้งมาเว็บไซต์ดังกล่าวถูกแฮก แต่ประเทศอ่าวอาหรับเพื่อนบ้านก็ไม่สนใจและสั่งปิดสื่อกาตาร์หลายสำนัก รวมทั้งปิดสำนักงานอัลจาซีราในประเทศของตัวเองด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มพันธมิตรอาหรับในแถบอ่าวกับกาตาร์สอดคล้องกับวาระสำคัญของทรัมป์ที่มีต่อตะวันออกกลาง ในอีกด้านก็สอดรับกับความต้องการของซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรในลักษณะของการประสานผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกดดันและลงโทษกาตาร์แบบเชือดไก่ให้ลิงดู การต่อต้านอิหร่าน การสกัดกั้นการเติบโตของกลุ่ม MB ตัดการสนับสนุนกลุ่มฮามาสที่ต่อสู่กับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม ซาอุฯอาจจะต้องการเพียงแค่ลงโทษกาตาร์โดยไม่ได้คาดหมายว่าจะตัดความสัมพันธ์กันถาวร สหรัฐฯ ก็เช่นกันเพราะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกาตาร์ มีฐานทัพขนาดใหญ่ของตัวเองอยู่ในประเทศนี้ เพียงแต่ต้องการให้กาตาร์เลือกข้างและมีจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนกับน้อง ๆ รายอื่นในกลุ่ม GCC โดยจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯก็เรียกร้องให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน สหรัฐฯออกโรงเชิญผู้นำกาตาร์มาเยือนเพื่อหารือทางออกร่วมกัน พูดง่ายๆ คือทอดสะพานให้มีทางลง แต่ผลคือกาตาร์ปฏิเสธที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ ซึ่งคงจะรู้สึกเหมือนถูกตบหัวแล้วลูบหลัง

การกดดันและลงโทษที่รุนแรงขนาดนี้ ในอีกด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือกาตาร์ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ตูนิเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุรกีที่ออกมาสนับสนุนกาตาร์เต็มที่ ทั้งแทรกแซงมาตรการคว่ำบาตรและเตรียมขนทหารเข้าคุ้มครองกาตาร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจจะผลักกาตาร์ให้หันไปหารัสเซียอีกด้วย

ความพยายามในการกระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับในการต่อต้านการก่อการร้ายและอิหร่านด้วยวิธีการกดดันหรือลงโทษประเทศที่แตกแถวอย่างกาตาร์ อาจเป็นเป็นนโยบายที่ผิดพลาดหรือเพี้รยงพร้ำของทรัมป์และมหาอำนาจในภูมิภาค เพราะอาจจะบีบให้กาตาร์ตีตัวออกห่าง (แต่ไม่ถึงกับตัดขาด) แล้วไปแสวงหาพันธมิตรนอกกลุ่มเพื่อความอยู่รอดและการสร้างอำนาจต่อรองประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอนุทวีปแห่งนี้

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์