Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3:

Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

ที่ผ่านมา มีการพูดถึงกระแส “Islamophobia” หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม ว่ากำลังขยายตัวมากขึ้นในสังคมอเมริกันและยุโรป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะต่อต้านอิสลาม ในทางกลับกันก็มีหลายกลุ่มหลายคนที่ออกมาแสดงพลังปกป้องอิสลามและคนมุสลิมผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งคนคริสเตียน ยิว ฮินดู หรือเอทิสต์ทั่วไป โดยพยายามเรียกร้องให้แยกอิสลามออกจากการก่อการร้าย หรือไม่ให้เหมารวมมุสลิมทุกคนเป็นพวกนิยมความรุนแรง มองว่ามุสลิมเองก็ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการก่อการร้าย เพียงแต่กระแสเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอมากนักในสื่อหลัก

นอกจากนี้อเมริกันส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในหลักเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และความหลากหลายในพหุสังคม คนเหล่านี้ที่ผ่านมาคือเป็นพลังเงียบ แต่แล้วนโยบายชาตินิยมขวาจัดของทรัมป์โดยเฉพาะต่อชนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพชาวมุสลิม ได้ค่อย ๆ ปลุกพลังเงียบให้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ ๆ จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทรัมป์ออกคำสั่งแบนการเข้าประเทศของพลเมืองมุสลิมและผู้ลี้ภัยตามที่หาเสียงไว้ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายจุดกระแสให้คนอเมริกันออกมาประท้วงและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวมุสลิมในอเมริกา มีการชูป้ายข้อความต่าง ๆ นานาที่เป็นการให้กำลังใจมุสลิม ความพยายามจะปกป้องเพื่อนบ้านมุสลิมทั้งที่เป็นมุสลิมอเมริกันและเชื้อสายอื่น ๆ การชูป้ายยินดีต้อนรับผู้อพยพ

คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าสังคมอเมริกันเริ่มไม่ปลอดภัยแล้วสำหรับคนมุสลิม จึงเริ่มออกมาแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเขาโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา เห็นได้ในหลายกรณีมีการร่วมกลุ่มกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ยืนเคียงข้างชาวมุสลิม รวมทั้งดูแลความปลอดภัยให้ด้วย เช่น หลังจากที่เกิดปัญหาผู้ตกค้างที่สนามบิน ปรากฏว่าที่สนามบินนานาชาติเดนเวอร์ มีคนอเมริกันจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มกันตั้งป้อมเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารมุสลิมที่กำลังทำการละหมาดในบริเวณสนามบิน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณี เช่น หลังเกิดเหตุวางเพลิงศูนย์อิสลามวิคตอเรียซึ่งเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเมืองแท็กซัส ปรากฏว่ามีผู้คนอเมริกันช่วยกันบริจาคออนไลน์แล้วเกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลาแค่ 2 วัน และที่น่าประทับใจไปกว่านั้นคือการแสดงน้ำใจของชาวยิวในบริเวณนั้นที่เห็นว่ามุสลิมขาดสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน จึงยื่นกุญแจโบสถ์ยิวให้ใช้ไปพลางก่อน

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือที่ศูนย์อิสลามในเมืองมิซซูรี ปรากฎว่ามีคนอเมริกันทั่วไปแหเอาช่อดอกไม้ไปวางไว้บริเวณโดยรอบ พร้อมเขียนข้อความให้กำลังใจชาวมุสลิมที่ถูกทรัมป์กีดกันไม่ให้เข้าประเทศ

ที่เมืองบอสตัน มีรายงานข่าวจากสำนักข่าว RT ว่าได้มีการปล่อยเสียงอะซาน (เสียงเรียกร้องไปสู่การทำละหมาด) ออกมาจากโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง ทั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงการประท้วงคำสั่งของทรัมป์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้คนที่มาชุมนุมกันในบริเวณนั้นก็เห็นด้วยกับการตอบโต้ของโบสถ์ด้วยวิธีนี้

ก่อนหน้านี้บุคคลสำคัญ ๆ ของสหรัฐหลายคน ก็เคยออกมาแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมุสลิม เช่น นางเมดิลีน อัลไบร์ท อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ออกมาบอกว่าหากทรัมป์ดำเนินมาตรการขึ้นทะเบียนมุสลิมในอเมริกา เธอซึ่งเติบโตมาแบบคาทอลิกและมีบรรพบุรุษเชื้อสายยิว ก็พร้อมจะขึ้นทะเบียนเป็นมุสลิม เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอเมริกันมุสลิม

กรณีของนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก นายนายบิล เดอ บลาซิโอ ที่ได้ปราศัยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ที่สหภาพคูเปอร์ (Cooper Union) ว่า “ในฐานะนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เขาสัญญาจะเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อปกป้องชาวนิวยอร์ก หากมุสลิมถูกจัดให้ต้องขึ้นทะเบียน เขาก็จะใช้ช่องทางของกฎหมายหมาย (ท้องถิ่น) ที่มีอยู่เพื่อสกัดมาตรการนี้ ถ้ารัฐบาลกลางจะใช้ให้ตำรวจของเราไปพรากครอบครัวผู้อพยพออกจากกัน เราจะไม่ทำ..... ถ้ายิวหรือมุสลิม หรือคนที่เป็น LGBT หรือชุมชนใดก็ตามที่ตกเป็นเหยื่อและถูกทำร้าย เราจะจับคนที่ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ นี่คือนิวยอร์ก ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปนับจากวันเลือกตั้ง เราก็ยังเป็นนิวยอร์กของเราอยู่เสมอ”

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เกิดปรากฏการณ์แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมุสลิม ในแคนนาดาหลังเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดในเมืองคิวเบก ผู้คนในแคนนาดาหลากเชื้อชาติหลายศาสนาจำนวนมากต่างออกมาร่วมแสดงพลังจุดเทียนเพื่อแสดงความเสียใจและไว้อาลัยกับเหตุการณ์นี้ นำโดยนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มากล่าวเสียความเสียใจต่อหน้าชาวแคนนาดา ทรูโดระบุว่าเหตุการณ์เป็น “การก่อการร้ายต่อชาวมุสลิม” ทั้งนี้ ทรูโด ประกาศตัวพร้อมรับผู้ลี้ภัยที่ถูกทรัมป์แบน และประกาศว่าแคนนาดาจะยืนเคียงข้างมุสลิมตลอดไป ในฝรั่งเศลก็ไว้อาลัยกับเหตุการณ์ณ์นี้ด้วยเช่นกันด้วยการดับไฟหอไอเฟล

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของกระแสการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวมุสลิมหลังทรัมป์ใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารดังที่กล่าวมา หากมองในแง่ดี อย่างน้อยทรัมป์ก็ไม่ได้ปลุกกระแสแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้นำสหรัฐที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “solidarity with Muslims” หรือการแสดงพลังแห่งความเป็นอันเดียวกันกับมุสลิมของชาวตะวันตกอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำคนไหนของสหรัฐเคยทำมาก่อน

 

อ่านตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม