Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8)

America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

นัยของนโยบาย America First ที่ที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลกระทบต่อโลกและต่อไทยในหลายมิติ แต่จะขอยกมาเฉพาะประเด็นหลักที่คิดว่าสำคัญที่สุด ดังนี้

การแบ่งแยกทางสังคม: สังคมอเมริกัน สังคมโลก และสังคมระหว่างประเทศ

ครั้งหนึ่ง Patrick J. Kennedy อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า “การก่อการร้ายคือสงครามจิตวิทยาแบบหนึ่งที่ผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาขณะนี้อาจสะท้อนบางอย่างที่ชี้ว่าการก่อการร้ายกำลังเข้าใกล้เป้าหมายของพวกเขามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงด้วยการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่สะท้อนการแบ่งแยกทางสังคม เช่น การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนแม็กซิโก การเหยียดเพศ เชื้อชาติศาสนา โดยเฉพาะมาตรการต่อมุสลิมทั้ง ห้ามมุสลิมเข้าประเทศ (ช่วงหาเสียงบอกว่าจะแบนโดยเด็ดขาด หลังรับตำแหน่งใช้คำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเลือกแบน7 ประเทศ แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะศาลสูงสุดสั่งระงับ) การขึ้นทะเบียนมุสลิมในประเทศ อีกทั้งในช่วงหาเสียงจะเน้นการเหมารวมอิสลามเป็นพวกหัวรุนแรง มีการใช้คำว่า Radical Islam บ่อยมาก (เยอะเย้ยโอบาม่าว่าไม่กล้าที่จะใช้คำนี้ตรง ๆ ) เคยพูดว่า “ผมคิดว่าอิสลามเกลียดพวกเรา” ความคิดและนโยบายของทรัมป์ในลักษณะนี้ยิ่งกระตุ้นกระแสอิสลาโมโฟเบียหรือความเกลียดกลัวอิสลามมากขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แม้จะด้วยกับหลาย ๆ ปัจจัย แต่ในด้านหนึ่งถูกนำไปตีความสนับสนุนพฤติกรรมต่อต้านมุสลิมอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปรากฏว่ามีอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมเพิ่มสูงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นกรณีการเผามัสยิดในรัฐเท็กซัส การยิงอิหม่ามเชื้อสายบังคลาเทศในนครนิวยอร์ก เป็นต้น อีกทั้งยังมีการแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ การทำร้ายร่างกายและด่าทอหรือท่าทีคุกคามด้วยถ้อยคำแสดงความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติศาสนา เช่นกรณีที่มีชายหนุ่มอเมริกันคลุ่มคลั่งผู้หนึ่งระเบิดอารมณ์ใส่ครอบครัวชาวมุสลิมที่กำลังพักผ่อนหย่อนใจอยู่บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัสเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชายคนนี้ทั้งตีอกชกตัวและเอามือไปเขย่าอวัยวะเพศของตัวเองพร้อม ๆ กับก่นด่าครอบครัวนั้นด้วยความรู้สึกเครียดแค้นชิงชังสุดหัวใจ ข่มขู่ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์จะหยุดพวกแก....ไอซิสไม่ได้มีความหมายอะไรกับข้าเลย (แปลอย่างสุภาพที่สุดนะครับ) ....กฎหมายชะรีอะห์ของแกมันแย่...และจะไม่สามารถหยุดยั้งความเป็นคริสเตียนของข้าได้หรอก..... ประเทศของข้ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แล้วจะยิ่งใหญ่อย่างนี้ตลอดไป (ขณะที่พูดประโยคนี้จะตีอกตัวเองอย่างแรงด้วยกัมปั้นทั้งสองข้าง และตะโกนสุดเสียงด้วยสีหน้าเคร่งเครียด)”

จากเหตุการณ์นี้หากมองผิวเผินก็อาจจะเป็นเพียงแค่ชายคุ้มคลั่งที่ระเบิดอารมณ์ความเกลียดชังตามกระแสอิสลาโมโฟเบียทั่วไป แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าชายอเมริกันคนนี้และสังคมส่วนหนึ่งคือเหยื่อของสงครามจิตวิทยาของผู้ก่อการร้ายและการเมืองขวาจัดที่ขายความหวาดกลัวเกลียดชังมาอย่างต่อเนื่อง ชายคนนี้เป็นภาพสะท้อนของผลผลิตที่ชัดเจนที่สุดของสังคมการเมืองอเมริกันในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาตินิยม การเหยียดเชื้อชาติและศาสนา การเหมารวมกลุ่มก่อการร้ายกับมุสลิมทั่วไป คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า เขาเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่า “ใครหรืออะไรทำให้เขาเป็นแบบนี้ ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัมป์คือส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมอเมริกันให้เป็นไปในทิศทางเช่นนี้

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่เมือง Portland รัฐ Oregon ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2017 ที่นายริคกี้ เบสต์อดีตทหารผ่านศึกและเพื่อนของเขานายทาลีซิน มีซ เข้าช่วยเหลือหญิงวัยรุ่นมุสลิม 2 คน ที่กำลังถูกนาย เจเรอมี คริสตเตียน ด่าทอและข่มขู่ให้ลงจากรถไฟซึ่งจอดเทียบสถานีฮอลลีวูดทรานซิตอ นายคริสเตียนตะโกนเสียงดังว่า “มุสลิมทุกคนต้องตาย” พร้อมกับใช้มีดข่มขู่หญิงมุสลิมดังกล่าว แต่พลเมืองดีทั้ง 2 คน พยายามเข้าช่วยเหลือจนถูกนายคริสเตียนใช้มีดกระหน่ำแทงอย่างบ้าคลั่ง รายหนึ่งเสียชีวิตคาที่อีกรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง และน้ำใจของวีรบุรุษชาวคริสเตียนที่ต่อต้านการเหยียดศาสนา กรณีนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญมาก โดยสภาส่งเสริมความสัมพันธ์อเมริกันได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ แถลงต่อต้านแนวโน้มการเกลียดกลัวอิสลามที่กำลังเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตัวเขาเองมีส่วนแผ่ขยายความเกลียดชังให้รุนแรงขึ้นด้วยการใช้คำพูดและนโยบายต่อต้านอิสลามในด้านต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของปรากฏการณ์ทรัมป์เอฟเฟคท์ (Trump effect) ที่กำลังแบ่งแยกสังคมอเมริกันอย่างร้ายแรง ความรุนแรงความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติศาสนากำลังคืบคลานเข้าแทนที่คุณค่าของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนที่สังคมอเมริกายึดถือมายาวนาน

แต่ที่น่าจับตาคือ ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างในลักษณะของ Americanization หรือทำให้เป็นเหมือนอเมริกา การแบ่งแยกทางสังคมกำลังขยายตัวไปสู่งสังคมโลกและสังคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวขึ้นมาของพวกแนวคิดขวาจัดในยุโรปหลายประเทศ หรือกรณี Brexit การเลือกตั้งในหลายประเทศเช่นฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ในเอเชียใต้ก็ปรากฎกระแสต่อต้านอิสลามมาขึ้นโดยเฉพาะในอินเดียและศรีลังกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เห็นชัดและเปิดเผยที่สุดก็กรณีของพม่าหรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม ดังนั้น นัยหนึ่งของนโยบาย America First ที่สำคัญมาก ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและโลกมุสลิมรวมทั้งสังคมไทยคือการแบ่งแยกทางสังคม คำถามคือวันนี้สังคมไทยมียุทธศาสตร์อย่างไรในการรับมือกับปัญหาระดับโลกแบบนี้ซึ่งจะไปโยงกับปัญหาการก่อการร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การขยายความขัดแย้งและสงครามตัวแทนในโลกมุสลิม

แม้ทรัมป์จะแสดงความอคติกับอิสลามและโลกมุสลิมในระหว่างหาเสียง หลังรับตำแหน่งก็ได้ออกคำสั่งพิเศษแบน 7 ประเทศมุสลิม จนทำให้ดูเหมือนว่าทรัมป์จะไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศมุสลิมอีกต่อไป แต่การที่ทรัมป์เลือกเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศแรกระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค. 2560 ย่อมสะท้อนทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯได้อย่างดี (ตามด้วยการเยือนอิสราเอล และอิตาลี เป็นการเยือนศูนย์กลางศาสนาใหญ่ของโลกทั้ง อิสลาม ยูดาย และคริสต์) ในการเยือนครั้งนี้ ทรัมป์ยังได้ร่วมประชุมพิเศษกับกลุ่มผู้นำประเทศอาหรับอิสลามกว่า 55 ประเทศ เป็นการประชุมนัดพิเศษที่ทางการซาอุดิอาระเบียจัดขึ้น

นอกจากได้ขายอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบียเป็นจำนวนเงินมหาศาลแล้ว ทรัมป์ยังได้ฟื้นสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมระดับหนึ่ง การเลือกเยือนซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศแรกก็ถือเป็นการส่งสัญญาณของประธานาธิบดีทรัมป์ไปยังประเทศมุสลิมเพื่อลบล้างท่าทีในอดีต ส่วนการจัดประชุมของซาอุดิอาระเบียก็เสมือนการทอดสะพานแห่งความสัมพันธ์กันใหม่ ในขณะที่ผู้นำที่มาร่วมประชุมก็เท่ากับยังให้ความสำคัญกับบทบาทของสหรัฐฯ และให้โอกาสในการทบทวนนโยบาย America First ของทรัมป์

การประชุมครั้งนี้ ในด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นการฟื้นสัมพันธ์กับโลกมุสลิมหรือเป็นการส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับประเทศมุสลิมต่าง ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งหากมองจากคำพูดของทรัมป์หรือสาส์นที่ทรัมป์พยายามสื่อถึงบรรดาประเทศมุสลิมก็จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของสงครามและความขัดแย้ง โดยเฉพาะสงครามตัวแทนของมหาอำนาจในและนอกภูมิภาค

ในสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้นำกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งหลาย ทรัมป์ตอกย้ำและให้ความสำคัญมากในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือความร่วมมือต่อต้านแนวคิดสุดโต่งและการปราบปรามการก่อการร้าย ทรัมป์พูดว่า “การก่อการร้ายได้แพร่ไปทั่วโลก แต่หนทางสู่สันติภาพต้องเริ่มจากที่นี้ บนดินแดนอันเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ..... อนาคตจะดีขึ้นได้หากประเทศของพวกท่านช่วยกันขับไล่กลุ่มก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง ขับไล่พวกเขาออกไป ขับไล่พวกเขาออกไปจากศาสนสถานของท่าน ขับไล่พวกเขาออกไปจากชุมชนของท่าน ขับไล่พวกเขาออกไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของท่าน และขับไล่พวกเขาออกไปจากโลกนี้” ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ ทรัมป์ค่อนข้างระมัดระวังคำพูดมาก โดยพยายามไม่พูดคำว่า Radical Islam หรือการเหมารวมอิสลามกับแนวคิดความรุนแรงเหมือนเช่นเคย โดยคำพูดตอนหนึ่งระบุว่า “ สงครามกับลัทธิก่อการร้ายเป็นการต่อสู้ระหว่าง ความดีกับความชั่ว ไม่ใช่ระหว่างอารยธรรมที่ต่างกัน สหรัฐฯพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับตะวันออกกลางและหวังว่าจะได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย”

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องเชื่องโยงกันคือการพาดพิงถึงอิหร่าน โดยทรัมป์พยายามชี้ให้เห็นว่าอิหร่านคือตัวการสนับสนุนการก่อการร้าย ทรัมป์ถึงกับพูดโจมตีอิหร่านว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิหร่านคือผู้ที่ก่อไฟสงครามระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และได้สนับสนุนการก่อการร้ายอีกด้วย.....รัฐบาลอิหร่านมักจะพูดถึงแต่เรื่องการสังหารหมู่ ข่มขู่อิสราเอล ไล่อเมริกาไปตายซะ และสาปแช่งให้ผู้นำหลายชาติที่นั่งอยู่ในห้องนี้ให้พบกับความวิบัติ”

ในทำนองเดียวกัน กษัตริย์ซัลมานก็มีพระราชดำรัสเห็นด้วยกับทรัมป์ โดยกล่าวว่า “อิหร่านเป็นต้นตอของลัทธิก่อการร้ายที่วอชิงตันและริยาดจะต้องร่วมกันต่อต้าน....อิหร่านเปรียบเสมือนปลายหอกของลัทธิก่อการร้ายสากล”

จากทั้งสองประเด็นที่เป็นวาระสำคัญก็พอจะทำให้เห็นภาพว่าทรัมป์ต้องการจัดระบบพันธมิตรในตะวันออกกลางอีกครั้งเพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่อิหร่านเป็นสำคัญ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้ต่างไปจากสงครามตัวแทนที่ดำเนินอยู่ในซีเรีย เยเมน และในที่อื่น ๆ เลย เป็นความขัดแย้งที่มีมหาอำนาจในภูมิภาคและมหาอำนาจโลกเผชิญหน้ากันมาได้สักระยะแล้ว เพียงแต่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจัดทัพใหม่ที่ใหญ่และเหนียวแน่นกว่าเดิมในนามของการต่อสู้กับการก่อการร้าย ที่มีเป้าหมายคือการโค่นระบอบอัสซาดในซีเรียและรัฐบาลชีอะห์ฮูติในเยเมน ที่สำคัญคืออาจนำไปสู่การยกระดับเป็นสงครามตัวแทนระหว่างกลุ่มประเทศมุสลิมซุนนี่ในตะวันออกกลางกับขั้วชีอะห์ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การลดทอนอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค

ทำไมต้องจัดแนวร่วมพันธมิตรครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในการจัดการกับการก่อการร้ายและอิหร่าน ? สหรัฐฯ เห็นแล้วว่าการเข้ามาของรัสเซียคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯและพันธมิตรไม่สามารถสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่านที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลางได้ ในขณะเดียวกันอิหร่านก็พัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของตัวเองขึ้นมาก จนยากที่จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งจะไปก่อสงครามโดยตรงกับอิหร่านเหมือนที่ครั้งหนึ่งอิรักทำสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน แต่หากปล่อยให้อิหร่านพัฒนาขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจและการทหารต่อไปก็ยิ่งจะทำให้อิหร่านแข็งแกร่งขึ้นโดยจะส่งผลต่อดุลอำนาจในภูมิภาคแน่นอน ดังนั้น การจะสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่านและบทบาทของรัสเซียในตะวันออกกลางจึงจำเป็นต้องสร้างระบบพันธมิตรที่เหนียวแน่นกว่าเดิม

จะเห็นได้ว่านอกจากนโยบาย America First จะไม่ได้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว นัยที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลกระทบต่อโลกมุสลิมในระยะยาว เพราะในด้านหนึ่งทรัมป์ได้โหมกระพือกระแสอิสลามโมโฟเบียและการแบ่งแยกทางสังคมอย่างรุนแรงในทุกระดับทั้งสังคมอเมริกัน สังคมโลก และสังคมระหว่างประเทศ ในอีกด้านหนึ่งหันกลับมาแสดงบทบาทผู้นำกลุ่มพันธมิตรในตะวันออกกลางในนามของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศที่มุ่งเป้าไปที่การเล่นงานอิหร่าน เกมของสงครามตัวแทนยังเป็นวาระสำคัญของสมรภูมิในตะวันออกกลางต่อไป

ผลคือโลกมุสลิมอาจต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งในสองมิติหลักคือความขัดแย้งและความเกลียดชังจากภายนอกอันเป็นผลมาจากการแบ่งแยกทางสังคม อีกด้านหนึ่งต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ภายในโลกมุสลิมกันเอง ซึ่งตรงนี้คือนัยที่เปลี่ยนไปของนโยบาย America First ที่จะส่งผลต่อโลกมุสลิม เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของโลกมุสลิมรวมทั้งสังคมทั่วไปคือการตั้งรับกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างมีสติด้วยสันติวิธี

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม