Skip to main content

บทเรียนไม่ได้มีไว้ท่องจำ  

 

วันที่ 12 สิงหาคม 2557

 

ฉันเดินทางไปที่ Universiti Sains Malaysia (USM) บนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อเรียนรู้กรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งซึ่งเกิดที่ มินดาเนา ศรีลังกา และมาเลเซีย รวมถึงการฝึกเป็น " Trainer " เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง ตามหลักสูตร TOT (Training-of-Trainers ) การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง ของวิทยาลัยประชาชน (People's College)  เหตุที่ต้องดั้นด้นเดินทางข้ามเขตแดนประเทศไทยไปเรียนไกลถึงปีนัง เพราะผู้สอน Prof. Zam หรือ Prof.Dr.Kamarulzaman Askandar ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปสอนถึงที่ประเทศไทย และเมื่อผู้สอนไม่สะดวก ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้สอนด้วยการเดินทางมาหาผู้สอนเอง แน่นอนว่าหากผู้สอนไม่สำคัญมากพอเราคงไม่พยายามถึงขนาดนี้ และนอกจากเราจะได้เรียนในห้องเรียนแล้ว เรายังไม่มีโอกาสพบปะพี่น้องของเราในนามองค์กร Amani ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็กๆที่ใส่ใจปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ปาตานีและคอยให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดโดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและได้รับเกียรติเข้าพบปะและฟังโอวาทจากดาโต๊ะมุฟตีของรัฐปีนังซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานมุฟตีของประเทศมาเลเซียอีกด้วย

 

วันที่ 13 สิงหาคม 2557

 

วันแรก Prof. Zam ให้พวกเราทำแบบทดสอบเพื่อประเมินว่าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยอย่างไรในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อให้เข้าใจตัวเองก่อน และหลังจากนั้นจึงเริ่มเรียนเรื่องแรกคือ กรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่มินดาเนา ในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มินดาเนามีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งบทเรียนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวกระบวนการสันติภาพที่เริ่มมานาน และในปี ค.ศ.2001 ได้มีข้อตกลงให้หยุดยิงและวางอาวุธ ในกระบวนการสันติภาพมีความพยายามจากหลายๆฝ่ายทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงความคิดเพื่อผลักดันให้เกิดร่างข้อเสนอ Draft ng Bangsamoro Basic Law จาก MILF เพื่อนำสู่การพิจารณาในสภาของรัฐบาลฟิลิปปินส์ แต่ล่าสุดผู้เขียนยังไม่ทราบผลของความพยายามของคนบังซาโมโรอย่างแน่ชัดว่าสำเร็จในระดับใดแล้ว แต่วันนี้สิ่งที่พวกเขาทำมาทั้งหมดย่อมไม่สูญเปล่า เราสามารถเรียนรู้วิธีการสร้างเครือข่าย สามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของพวกเขาเพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ของเราซ้ำรอยเดิมจากเขาได้ และจากที่ฟังเรื่องราวของมินดาเนาทั้งหมดฉันสนใจการจัดตั้งองค์กร IMT (International Monitoring Team ) มากที่สุด องค์กรนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เพราะการสู้รบของทหารรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกองกำลังต่อต้านรัฐ (MNLF/MILF) สร้างผลกระทบต่อประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และองค์กรนี้เองที่ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้นและความรุนแรงก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด องค์กรนี้เป็นความร่วมมือของรัฐบาลหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย บรูไน ลิเบีย ญี่ปุ่น ซึ่งหน้าที่ขององค์กรนี้คือการตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มินดาเนาว่าเป็นฝีมือของใครและทำรายงานสรุปเป็นหลักฐานเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุระมัดระวังตัวในการก่อเหตุมากขึ้นและผลประโยชน์จึงตกที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยปริยาย

หากนำโมเดลนี้มาใช้ที่ปาตานี หรือ สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเหมือนกันหรือเปล่า?

 

วันที่ 14 สิงหาคม 2557

 

วันที่สองในห้องเรียน พวกเราเรียนเรื่องกรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างคนทมิฬ (Tamil) กับ คนสิงหล (Shinghalis) ปัจจุบันความขัดแย้งนั้นนับว่าสิ้นสุดแล้วและนับกันว่าเป็นการยุติความขัดแย้งที่ได้ผลลัพธ์เป็น "สันติภาพเชิงลบ" เพราะเป็นการทำให้ยุติโดยใช้กำลังกำราบอีกฝ่ายให้ราบคาบแบบถอนราก ถอนโคน

เรื่องราวในประเทศศรีลังกามีอยู่ว่า ประเทศศรีลังกามีหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากและอาศัยอยู่ อาทิ ชาวสิงหล ชาวทมิฬ ชาวอาหรับ ชาวอินเดีย  ชาวมลายู  ชาวเบอร์เกอร์(ฮอลันดา) ทั้งที่เข้ามาเนื่องจากทำมาค้าขายและถูกนำเข้ามาเพื่อใช้แรงงาน แต่ชนชาติที่นับว่าเป็น "เจ้าที่" คือ ชาวสิงหลและเป็นชนชาติที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดคือมีจำนวน 70 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด และชาวทมิฬมีมากเป็นอันดับ 2 แต่ก็มีเพียง 12 % เท่านั้น  ความขัดแย้งเริ่มจากประเทศอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคมและยึดประเทศศรีลังกาไว้ในอาณัติแล้วนำชนชาวทมิฬเข้ามาใช้งานและให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่ชาวทมิฬมากกว่าชาวสิงหลซึ่งเป็นเจ้าที่เสียอีก และเมื่อประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี 1948  ประเทศศรีลังกาต้องยืนด้วยลำแข้ง ตัวเองและพวกเขาเลือกระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประเทศศรีลังกาจึงมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้นำประเทศ และผลที่ได้คือผู้นำประเทศ เป็นชาวสิงหล และทุกอย่างก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ชาวทมิฬมีความเป็นอยู่ที่ตกต่ำลงเรื่อยๆพร้อมๆกับความกดดันที่ชาวทมิฬต้องเก็บกดเรื่อยๆจนวันหนึ่งก็ปะทุกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธ ชื่อว่า LTTE : Liberation Tigers Tamil Eelam  กลุ่ม LTTE ใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักและพวกเขาต้องการแบ่งแยกประเทศศรีลังกาเป็นสองส่วน เพื่อปกครองกันเองในพื้นที่ที่คนทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น   ก่อนการปราบปรามจะเกิดขึ้นมีความพยายามจากหลายฝ่ายให้เกิดการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ(เชิงบวก)เพื่อป้องกันการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงแต่ไม่สำเร็จ และสุดท้ายทั้งสองฝ่ายเลือกแก้ปัญหาด้วยการเข่นฆ่ากันและเกิดสันติภาพ (เชิงลบ) เพราะรัฐบาลสามารถกำจัด LTTE อย่างราบคาบจนถึงปัจจุบัน เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ศรีลังกานั้น บทบาทการแก้ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลศรีลังกาและกลุ่ม LTTE เท่านั้นโดยทั้งสองฝ่ายพยายามไม่ให้ประชาชน หรือองค์กรภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ถึงกระนั้นก่อนที่รัฐบาลศรีลังกาจะปรามปรามกลุ่ม LTTE ก็ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมทั้งจากภายในและต่างประเทศพยายามทำงานกับประชาชนชาวศรีลังกาอยู่บ้าง แม้ว่าจะอันตรายและต้องทำงานอย่างยากลำบากก็ตาม วิทยากรเล่าว่าหากมีองค์กรใดที่ทำท่าว่าจะเข้าข้างรัฐบาลก็จะถูกฝ่าย LTTE จับตามอง ตรงข้ามหากมีองค์กรใดทำท่าว่าจะเข้าข้าง LTTE ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่พอใจเช่นกัน จึงเป็นเรื่องยากที่ทั้งสองฝ่ายจะสานสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสันติภาพเชิงบวกร่วมกันเพราะทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้คนอื่นมาข้องเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

 

บทเรียนจากศรีลังกาสอนว่า....ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ปาตานีทุกๆฝ่ายควรตระหนักถึงความจำเป็นในการทำให้ภาคประชาสังคมปาตานีเข้มแข็ง เป็นเอกภาพทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงและเพื่อให้เกิดสันติภาพเชิงบวกซึ่งเป็นสันติภาพที่ยั่งยืนในอนาคต

แต่ไม่แน่ใจว่าบทเรียนจากศรีลังกาจะสำคัญเพียงพอที่หลายๆฝ่ายจะนำมาไตร่ตรองหรือไม่???

 

 

และกรณีศึกษาเรื่องสุดท้ายคือ ประเทศมาเลเซีย โดยมีวิทยากรชาวมาเลเซียเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัญหาความขัดแย้งซึ่งซ่อนอยู่ในสังคมมาเลเซีย ตามความสนใจของฉันแล้ว ฉันสนใจตรงที่ประเทศมาเลเซียพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่า ถึงแม้จะมีหลากหลายเผ่าพันธุ์อยู่ในประเทศเดียวกันก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่อีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่ามาเลเซียสร้างข้อจำกัดให้ตัวเองต้องพยายามปกปิดเรื่องราวความขัดแย้งที่รุนแรงไว้ให้สนิทที่สุด ถึงขนาดว่า ในการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งในมาเลเซียของวิทยากรชาวมาเลเซียนั้นไม่มีประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับกองกำลังสุลต่านซูลู ซึ่งเป็นข่าวดังไปไกลถึงประเทศไทย และเมื่อเราถามถึงประเด็นนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากจนถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม โดยห้ามไม่ให้ประชาชนพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะเป็นการป้องกันการขยายความขัดแย้ง หรืออาจจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนการปัดฝุ่นไว้ใต้พรม ถ้าฝุ่นมันถูกทำให้ย่อยสลายกลายเป็นอากาศได้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่ามาเลเซียจะจัดการต่อไปเช่นไร

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2557

 

หลังจากเรียนทฤษฎีแล้วผู้สอนให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกการสร้าง " Roadmap สู่สันติภาพที่ปาตานีในอนาคต "  และนักศึกษากลุ่มที่หนึ่งเห็นความสำคัญของการสร้าง "องค์กรร่มกับยุทธศาสตร์ร่วม" ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมปาตานีผ่านการประชุมหารือ การจัดสัมมนา เพื่อกำหนด     คำนิยามคำว่า "สันติภาพ" และกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน  และหากสามารถทำได้ภาคประชาสังคมจะมีความปลอดภัยและมีพลังในการแก้ปัญหามากขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่มินดาเนา หรือ  บังซาโมโร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีกระบวนการสันติภาพที่ดีที่สุดแล้วเท่าที่เคยมีมาในโลกนี้

และนักศึกษากลุ่มที่สองให้ความสำคัญกับคำว่า "Solidarity" ซึ่งหมายถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และอีกกลุ่มมองการสร้าง Roadmap ตามสภาพความเป็นจริงโดยไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป การนำเสนอของทั้งสามกลุ่มเป็นการฝึกคิดและฝึกแลกเปลี่ยนความคิดของกันและกันที่สนุกสนานและสะท้อนความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพได้อย่างดี

วันสุดท้ายของการเรียนเรามีคำถามจาก Prof. Zam ถามว่า สิ่งสำคัญที่ต้องมีในกระบวนการสร้างสันติภาพคืออะไรบ้าง? พวกเราช่วยกันตอบ ได้คำตอบหลากหลาย และ Prof. Zam สรุปว่า มี 3 สิ่งที่สำคัญ คือ

 

 1. Unitity : Kesatuan ( Track 2 , 3 )  =  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรภาคประชาชนกับประชาชนรากหญ้า

 2. Stratigik : Plan - plan                     =  แผนการดำเนินงาน

 3. Isu - Isu : apa yang belakukan ?   =  ประเด็น / ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ?

 

ข้อคิดจาก Prof. Zam ในวันสุดท้ายการเรียน

                -  จิตสำนึก มาจาก ความรู้

                -  ฐานที่มั่นคง ป้องกันภยันตรายหรือสิ่งมากระทบได้

                -  กระบวนการสันติภาพ(ที่ปาตานี) ได้เริ่มขึ้นแล้ว

                -  ปัญหาคือ พวกเรารู้แต่ไม่ทำ หรือไม่ก็ ทำแต่ไม่จริงจัง (หรือเปล่า?)

                -  กำหนดยุทธศาสตร์ร่วม เพื่อ

                                1. คุ้มครองพลเรือน 

                                2. จัดการทรัพยากร

                                3. รักษาอัตลักษณ์และชาติพันธุ์

                                4. รักษา Budaya ( วัฒนธรรม วิถีความคิด จิตวิญญาณ )

                - วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน : ปัจจุบันรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยสันติภาพแต่เบื้องหลังยังมี

                ความรุนแรงอยู่ แล้วเราจะวิเคราะห์กันอย่างไร ???

                - คำนิยาม " กระบวนการ " คือ ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

                - สามารถทำการเจรจาระหว่างคู่กรณีได้ โดยจะมีหรือไม่มีฝ่ายที่สามก็ได้

                - สิ่งสำคัญในกระบวนการเจรจา คือ ความเป็นเอกภาพของทั้งสองฝ่ายและตัวแทนคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย

               

ความรู้ในห้องเรียนที่ได้รับตลอดสามวันที่อยู่ปีนัง ฉันไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะผู้สอนใช้ภาษามลายูกลางกับภาษาอังกฤษ แม้ว่าฉันก็เป็นคนมลายูที่ใช้ภาษามลายูถิ่นปาตานีเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวันอยู่แล้วและมีผู้แปลในบางช่วงที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด หากคิดเป็นเปอร์เซนต์ ฉันประเมินว่าตัวเองเข้าใจเพียง 50%

 

 

 

วันที่ 16 สิงหาคม 2557

พวกเราเดินทางกลับบ้าน ตอนขาเข้ามาบนเกาะเรานั่งรถข้ามสะพาน แต่ขากลับเราเปลี่ยนบรรยากาศโดยขึ้นเรือแพข้ามฟากขนาดใหญ่แทน ฉันยืนอยู่บนชั้น 2 ของเรือ ซึ่งแล่นออกจากเกาะปีนังมุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหญ่ มองท้องทะเลและท้องฟ้า มองสรรพสิ่งตรงหน้าและขณะเดียวกันก็ครุ่นคิดว่า

 

จะทำอย่างไรได้บ้าง กับบทเรียนที่ได้มา  .......เพราะบทเรียนไม่ได้มีไว้ท่องจำ (เฉยๆ)