Skip to main content
เขียนโดย : Anwar Ismail
28/2/2014
บันทึก / พิมพ์ : Romlah
 

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาและกรุณาเสมอ

ครบรอบปีโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยที่นำโดย สมช. กับ ตัวแทนขบวนการแนวร่วมปลดแอกกู้ชาติปาตานี BRN เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 56  สัญญาณสันติภาพเริ่มฉายแสงฟิล์มหนังแห่งความหวังถูกฉาย  ผนังที่ขรุขระภาพที่เห็นจึงไม่ชัด  และฉายได้ไม่กี่ตอน นักแสดงกลับไม่เล่นไปตามบทที่ผู้กำกับได้วางพล็อตเรื่องไว้ หนังเรื่องนี้จึงจบแบบไม่จบ  ฉากการพูดคุยยังไม่จบบริบูรณ์  แต่สถานการณ์จริงในพื้นที่ยังคงรักษาระดับการก่อเหตุอยู่เกือบทุกวัน  การเสียชีวิต บาดเจ็บ การสูญเสีย ยังคงเกิดขึ้นจริง

สมช. และ ผู้อำนวยความสะดวก ยังพยายามควานหาตัวแทนขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี หลังจากที่ตัวแทน BRN ออกแถลงยืนยันว่าตราบใดที่ 5 ข้อเสนอ ยังไม่ถูกนำมาพิจารณาเป็นรูปธรรม ตราบนั้นโต๊ะเจรจาจะไม่มีการเดินทางต่อ ด้วยหลายปัจจัยมิใช่เพียงแค่ สมช. หรือคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ไม่ยอมรับข้อเสนอนำไปพิจารณา  การเป็นตัวแทนของรัฐไทยก็ไม่มีความชัดเจน ผนวกกับเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่อยู่ในสภาพผู้ถูกล่า เพื่อให้หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  การออกมานำของนายสุเทพ ในนาม กปปส. ก็ไม่ใช่เพื่ออื่นใด ข้ออ้างต่างๆที่กล่าวถึงความชั่วร้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ก็เพื่อเคลียร์พื้นที่ทางการเมืองให้พรรคที่เคยอยู่ยงคงกระพัน คู่สยามประเทศอย่างประชาธิปัตย์ สามารถยืนอย่างตระหง่านบนพื้นแผ่นดินสยามอีกครั้ง

แต่นายกหญิงยังคงต่อสู้ตามคำบัญชาการจากแดนไกล  กำนันเทพก็นำทัพมวลมหาชนตามคำสั่ง อำนาจที่อยู่เหนือกว่าเอื้อม คนเชื้อชาติเดียวกันรบราฆ่าฟันกันเพื่อสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ยอมรับการเป็นผู้นำประเทศอีกฝ่าย  ไม่ยอมรับในกฎบัญญัติกฎหมายสูงสุด ที่ร่างโดยตัวแทนราษฎร  เมื่อชนชาติที่มีสายเลือดเดียวกันไม่ยอมรับในการนำของคนชาติเดียวกัน  ไม่ยอมรับในกฎหมายของบ้านเมืองตนเอง  นับประสาอะไรที่ชนเชื้อชาติ ต่างสายเลือด อย่างชาวเมอลายูปาตานีจะไปยอมรับในการปกครองของชนชาติพันธุ์อย่างสยาม

ท่ามกลางความขัดแย้งของชนชาติเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนชาติเมอลายูปาตานีกับชนชาติสยาม ก็เดินหน้าต่อโดยไร้การเหลียวแลจากส่วนกลาง  หมุดหมายของการต่อสู้ในปาตานีแสดงออกอย่างชัดเจนในทางการเมือง คือ เมอลายูปาตานี ปกครอง เมอลายูปาตานี ที่มีกฎหมาย ภาษา วัฒนธรรม  ตลอดจนนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร โดยชนชาวเมอลายูปาตานี

แม้ว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในทางการเมืองแก่ชนชาวเมอลายู แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแล้ว  ตัวบุคคลที่เรียกตัวแทนประชาชน หรือ นักการเมือง ไม่สามารถเสนอความประสงค์จริงจากพื้นที่ และไม่มีข้อมูลเท็จจริง  10 ปี แห่งการสูญเสีย ไม่ได้สร้างให้พวกเขาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง  รวมทั้งวัฒนธรรมการเมืองไทยเอง ก็ไม่ได้เอื้อต่อการพูดประเด็นของปาตานีในสภาอันทรงเกียรติ

เมื่อการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชน  การแสดงอย่างสันติย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย แต่การแสดงออกกลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐผู้ปกครอง  ทางออกของการเรียกร้องสิทธิถูกแสดงให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ อักษร ป้ายผ้า และความรุนแรง คราบเลือด และความตาย การชักนำให้เข้าร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปลดแอกปาตานีโดยขบวนการต่างๆ ไม่ว่า BRN PULO ย่อมไม่เกิดผล หากในอดีตคำว่า เมอลายู และ ปาตานี  ถูกนำให้มีค่า มีตัวตน มีพื้นที่ชัดเจน ตามที่ชาวเมอลายูปาตานีต้องการ

7 ข้อเรียกร้องในสมัยฮัจญีสุหลง  ข้อเสนอแนะจาก กอส. ตลอดจน 5 ข้อเสนอ จากฝ่ายผู้เห็นต่างบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ  การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในทุกยุคทุกสมัยต้องแลกกับการสูญเสีย  ประสบการณ์การจากอดีต  การต่อสู้ในทางการเมืองด้วยสันติไม่เกิดประโยชน์  นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ชาติพันธุ์เมอลายูปาตานีรุ่นหลังจากข้อเรียกร้องของฮัจญีสุหลงต้องแสดงออกทางการเมืองโดยทางกายภาพ และ พลภาพ

ภายใต้ชื่อปาตานี สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของการเมืองการปกครองในแต่ละยุคของการผันเปลี่ยนภายหลังปี 1786 [พ.ศ.2329] ปีที่สยามสามารถกรีฑาทัพตีปาตานีแตก และเผาราชวังไพลิน มัสยิดกรือเซะ และอำนาจตลอดจนการเปลี่ยนชื่อเรียกจากอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ แบ่งแยกแล้วปกครอง กลายเป็นมณฑล หัวเมือง และจังหวัด ปัตตานีภายใต้ความหมายและความเข้าใจบริบทปัจจุบัน  มีอาณาเขตเพียงแค่จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการที่ได้รับใช้รัฐสยามส่วนกลาง แม้ว่าชื่อปาตานี ฟาตอนีดารุสสลาม ปัตตานี ยะลา นราธิวาส หรืออื่นใดก็ตามแต่  การเรียกร้องในสิทธิทางการเมืองของคนในพื้นที่ ห้วงช่วงที่ความรุนแรงคืออำนาจต่อรอง ชื่อที่เราจะใช้ขับเคลื่อนต่อไป จนกว่า สิทธิเสรีภาพทางการเมือง สิทธิความเป็นเจ้าของ อัตลักษณ์ของ “ปาตานี” จะหวนคืนในมือของคนชาวปาตานี