Skip to main content

 

การเดินทางมาไทยของ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอที่จะดับไฟ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หมายกำหนดการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย กับดาโต๊ะซารีนาจิบ ราซัค เยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 9 ธ.ค. มีนัยน่าสนใจอย่างยิ่ง นอกเหนือจากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 50 ปีนับแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลมาเลเซียเดินทางเยือนพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด และอีกประเด็นคือบริบทแวดล้อมที่นำมาซึ่งการตัดสินใจของผู้นำทั้งสองประเทศ

หากพิจารณาบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ซึ่งส่งผลต่อการเมืองภายในของแต่ละประเทศแล้ว อาจทำให้กล่าวได้ว่า ชายแดนภาคใต้ของไทย มิใช่แค่พื้นที่ความรุนแรงที่ส่งผลให้มีคนเจ็บตายแล้วหลายพันคน แต่พื้นที่แห่งนี้ยังส่งผลทางการเมืองต่อหลายฝ่ายและหลายระดับ การเดินทางเยือนพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลพรรคอัมโนของมาเลเซีย ซึ่งยังห่างไกลเกินไปกว่าที่จะสรุปว่าเป็นความแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับมาเลเซียเพื่อจะร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

ก่อนหน้านี้ สมัยนายอับดุลเลาะห์ อาหมัดบาดาวี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อพ.ศ. 2549 หน่วยงานระดับปฏิบัติของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งกลไกประสานงานเพื่อการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยโดยใช้รหัสว่า Task Force 2010 โดยจุดยืนของรัฐบาลมาเลเซียเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหาของไทยใน 3 ด้าน คือการศึกษา การจ้างงาน และการประกอบการ

ที่ผ่านมาการดำเนินการของมาเลเซียคืบหน้าไปอย่างมาก ทั้งการรับนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในมาเลเซีย การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซียแห่งที่ 2 ที่บ้านบูเก๊ะตา ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งการก่อสร้างจากฝั่งมาเลเซียเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ฝ่ายไทยเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2550 ไม่เพียงแต่ความร่วมมือในการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ แต่ความล่าช้าของฝ่ายไทย ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมาก อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่ผ่านมา

ความล้มเหลวของ Task Force 2010 ทำให้กลไกนี้จะต้องปิดฉากลงภายในสิ้นปีนี้ แต่หากพิจารณาถึงการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังเสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่สภา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ คือ "จัดให้มีสำนักบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้" ก็แสดงให้เห็นชัดว่ากลไกซึ่งหน่วยงานปฏิบัติได้ก่อตั้งไว้นี้ จะต้องยุบตัวเองไป เพื่อที่กลไกซึ่งรัฐบาลริเริ่มขึ้นมาใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน

แม้รัฐบาลประชาธิปัตย์จะให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้ "การเมืองนำการทหาร"ซึ่งเห็นได้จากสิ่งที่ดำเนินการมาตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ ทั้งการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือครม.ใต้ การวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในกรอบระยะเวลา 3 ปี ใช้งบกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ก็ไม่สามารถลดความรุนแรงลงได้ ในฐานะพรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่ หากไม่อาจแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งในระยะหลังการเมืองในพื้นที่เริ่มเคลื่อนไหวในหลายระดับ ทั้งการที่วาดะห์ สส.มุสลิมที่เคยมีบทบาทอย่างสูงในพื้นที่ ย้ายเข้าสังกัดพรรคมาตุภูมิ ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายทหารมุสลิม อดีตผู้บัญชาการทหารบก ถูกจัดวางไว้ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค กลุ่มวาดะห์ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างหนัก นอกเหนือจากแกนนำพรรคลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยังมีการเสนอร่างพ.ร.บ.บริหารชายแดนภาคใต้ประกบกับร่างของรัฐบาล สอดรับกับการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย จุดพลุ "นครปัตตานี"เขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญก็ส่งผลต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์หนักหนาพอสมควร

ขณะที่มาเลเซีย พรรคอัมโนของดาโต๊ะซารีนาจิบ ราซัค ก็เผชิญกับแรงกดดันจากการเมืองภายในไม่น้อย เพราะแม้จะกุมอำนาจรัฐ แต่พื้นที่ซึ่งติดชายแดนไทยเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคปาส พรรคฝ่ายค้านที่ทรงอิทธิพลในมาเลเซีย การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียเมื่อปี2551 ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของพรรคอัมโนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนที่นั่งสส. ที่เสียให้กับพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ฐานความนิยมของพรรคปาสในพื้นที่ภาคเหนือมาเลเซีย ยังคงเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง

ผลกระทบด้านคะแนนนิยมของพรรคอัมโน ส่งผลให้ดาโต๊ะซารีอับดุลเลาะห์ อาหมัดบาดาวี นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอัมโนต้องลาออกจากทั้งสองตำแหน่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ภายในมาเลเซียเองก็กำลังเผชิญปัญหาความแตกแยกทางเชื้อชาติ จากนโยบาย"บูมีปุตรา"หรือภูมิบุตร ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ประชาชนเชื้อสายมลายู

ดังนั้น ในฐานะผู้นำใหม่ในสถานการณ์ล่อแหลม ไม่แปลกที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัคจะช่วงชิงทุกความนิยมให้เป็นของตัวเอง การเดินทางเยือนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับประชาชนในพื้นที่รัฐภาคเหนือทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์ จึงมีประโยชน์ไม่น้อยกับเขา

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เขายังเคยแสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเสนอให้เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนมาเลเซียในพื้นที่รัฐภาคเหนือติดชายแดนไทยพูดถึงมาตลอด เมื่อเห็นถึงความเหลื่อมล้ำการพัฒนาระหว่างพื้นที่ไทยและมาเลเซียที่อยู่ติดกัน

เขตปกครองพิเศษ แม้เสมือนหนามตำใจของรัฐไทย แต่หากพิจารณาเสียงสะท้อนจากสื่อมาเลเซีย โดยเฉพาะประเด็นที่สำนักข่าวเบอร์นามาถามต่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเห็นได้ว่าเป็นประเด็นที่สื่อมาเลเซียให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะฉะนั้นเพียงก้าวแรกของการสานสัมพันธ์กับไทย นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ได้ใจประชาชนมาเลเซียไปมากโข

สำหรับประเทศไทยโอกาสที่จะได้จากการที่สองผู้นำลงพื้นที่ก็สำคัญยิ่ง อย่างน้อยในฐานะประเทศมุสลิมที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะสถานะของมาเลเซียที่เพิ่งผ่านพ้นการเป็นประธานที่ประชุมอิสลามโลก หรือโอไอซีมาเลเซีย ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยจะใช้อ้างอิงให้ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกได้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

ต้องไม่ลืมว่า แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากคะแนนนิยมที่ลดลง แต่พรรคอัมโนก็ครองอำนาจในมาเลเซียมาโดยตลอด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่อาจวางใจได้เลยว่า หากเกิดการพลิกเปลี่ยนทางการเมือง จะกลับมาครองอำนาจได้อีกหรือไม่

อย่าลืมว่ามาเลเซียระมัดระวังท่าทีในการให้ความร่วมมือกับไทยพอสมควร เพราะนอกเหนือในประเด็นการศึกษา การส่งเสริมอาชีพและการลงทุนแล้ว มาเลเซียยังไม่แสดงท่าทีในประเด็นอื่นๆ หลังหารือกับนายอภิสิทธิ์วานนี้ นายกรัฐมนตรีนาจิบยังยืนยันหนักแน่นว่ามาเลเซียไม่ได้ช่วยไทยแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เพราะถือเป็นปัญหาภายในของไทย

ดังนั้น แม้กำหนดการเยือนพื้นที่ของผู้นำไทยและมาเลเซียจะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในอนาคต แต่ก็น้อยกว่าโอกาส ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอัมโนต่างก็ได้รับ