Skip to main content

Abdulloh Wanahmad; AwanBook

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงต้องพบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอีกกี่นาน ถึงแม้โลกแห่งยุคสมัยจะก้าวล้ำสู่ความเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีเพียงปลายนิ้วมือกดก็ตาม แต่ความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และบูรณภาพแห่งอำนาจเหนือดินแดน ยังคงดำเนินอยู่ในหลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านพ้นไปก่อนหน้านี้ ประชาคมโลกต่างมีความปีติยินดีกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างอาเจะฮ์ ที่สามารถลงเอยได้อย่างรวดเร็วเกินที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักสันติวิธีรวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ต่างไม่อยากจะเชื่อด้วยซ้ำว่าเหตุใด วิกฤติความรุนแรงทางอาวุธที่อาเจะฮ์ถึงสิ้นสุดลงได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่เป้าหมายของนักต่อสู้ของขบวนการอาเจะฮ์เสรีนั้น ได้ระบุไว้อย่างขัดเจนก็ตามนั่นก็คือ การได้มาซึ่งความเป็นอิสระ(เอกราช)เท่านั้น อย่างที่ได้ป่าวประกาศไว้ในการจัดตั้งชื่อของขบวนการก็คือ Gerakan Aceh Merdeka: GAM หรือแปลเป็นไทยก็คือ อาเจะฮ์เสรี

และเมื่อห้วงเวลาของปีที่แล้ว(2557) ข่าวคราวเกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงเพื่อสันติภาพก็ได้เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลกลางสามารถจัดพิธีการลงนามข้อตกลงเพื่อสันติภาพกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยชาวมุสลิมโมโร ถึงแม้ว่าในรายละเอียดเชิงลึก จะยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างก็ตาม โดยเฉพาะในบรรดาของกลุ่มขบวนการต่อสู้เอง ที่ยังมีข้อขัดแย้งระหว่างกัน ในมติเกี่ยวกับการลงนามดังกล่าว เพราะบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่สามารถยุติการสู้รบด้วยอาวุธที่ยาวนานได้อีกระดับหนึ่ง เพราะหากปราศจากกระบานการสันติภาพแล้ว ไม่รู้ว่าสุดท้ายจุดจบความขัดแย้งนี้จะต้องลงเอยกันอย่างไร อย่างน้อยสามารถลดจำนวนการเสียชีวิตลงของประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้อีกระดับหนึ่ง

ส่วนวิกฤติปัญหาปาตานีทางตอนใต้ของไทย ถือเป็นปัญหาใหม่สำหรับประเทศสมาชิกในภูมิภาคแห่งนี้ ที่จะสามารถรับรู้ถึงข่าวคราวเกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชนชาวมลายูมุสลิม อันมีอัติลักษณ์ฉพาะเป็นของตนเอง ที่ได้เริ่มปะทุขึ้นมาเมื่อปี (2547) ซึ่งเป็นปีที่สังคมภายนอกต่างเกิดคำถามขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนชาวมลายูทางภาคใต้ของใต้ เพราะก่อนหน้านี้หลายสิบปี สังคมภายนอกมิอาจรับรู้ถึงข่าวคราวเกี่ยวกับความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์เหมือนในยุคปัจจุบัน

อาจเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนการสื่อสารค่อนข้างมีขีดจำกัด ไม่เหมือนในยุคปัจจุบันกอปรกับความรุนแรงเริ่มมีการพัฒนาขึ้น ควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต่อสู้ก็เป็นได้ที่มีการพัฒนาตามกระแสและความเจริญของโลกแห่งสมัย

อย่างไรก็ตามเพียงแค่หนึ่งทศวรรษนับจากวันเสียงปืนแตก ซึ่งเป็นการเรียกขานตามบทวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลไทยก็ได้ลงทุนอย่างขนานใหญ่ในการเปิดตัวและนั่งโต๊ะร่วมคุยกับกลุ่มบุคคลที่รัฐเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อย่างน้อยก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างหนึ่งเพื่อให้สังคมได้รู้ว่า ท้ายสุดแล้วปลายกระบอกปืนนั้นมิสามารถแก้ปัญหาได้จริง นอกจากด้วยแนวทางที่ศานติและสันติเท่านั้น

แต่จะว่าไปแล้วเมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพได้ถูกขับเคลื่อนเพียงไม่นาน อุปสรรคก็ผุดขึ้นมาติดๆ จนต้องติดตามนาทีต่อนาทีเลยที่เดียว แต่ที่ตกเป็นฝ่ายเสียหมากในจังหวะก้าวคงจะเป็นฝ่ายรัฐไทยมากกว่าฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะมีความเหนือกว่าทุกด้าน เมื่อเทียบกับสถานะและความสามารถ ที่ต้องเสียเวลาตอบคำถามทั้งต่อสังคม ผู้สื่อข่าวและฝ่ายค้าน มากกว่าที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการพูดคุยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแต่อย่างใดไม่

ปี 2547 เสมือนเป็นปีของการส่งไม้ต่อระหว่างปาตานีกับอาเจะฮ์ กล่าวคือในปีดังกล่าวอาเจะฮ์กำลังอยู่ในช่วงของการหาทางออกให้กับปัญหาการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มกัมกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อให้บรรลุสันติภาพโดยเร็วที่สุด แต่ถึงกระนั้นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ก็ไม่สามารถมองเห็นได้อยู่ดี เพราะถึงแม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะพยายามเสนอข้อต่อรองทางอำนาจอย่างไร แต่ชาวอาเจะฮ์ก็ยังยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า เอกราชเท่านั้นคือคำตอบ

และเมื่อปลายปีของปีดังกล่าว อาเจะฮ์ต้องประสบกับบททดสอบอันยิ่งใหญ่ ที่ได้คร่าชีวิตของชาวอาเจะฮ์ไปหลายแสนคน ซึ่งคนอาเจะฮ์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า นั่นคือเป็นสัญญาณเตือนจากพระเจ้าที่มีต่อประเทศอินโดนีเซียและอาเจะฮ์ ที่กำลังรบราฆ่าฟันระหว่างกันมุสลิมด้วยกันเอง

ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่นานอาเจะฮ์ก็สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ในขณะที่บรรดากลุ่มติดอาวุธหรือฝ่ายทหารของกัมนั้น ถึงกับไม่เชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยของอดีตกองกำลังที่เคยยึดมั่นถวายชีพเสียสละเวลา ความสุข เลือดเนื้อ เพื่อมาตุภูมิ ต่างตกอยู่ในสภาพหมดอาลัยตายยาก เพียงเพราะความพลิกผันจากความเปลี่ยนแปลงข้างในของกัมเอง ที่มีช่องโหว่เปิดช่องให้กับแกนนำสามารถกระทำการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของกัมเองก็ว่าได้ ที่อำนาจนั้นอยู่กับคนๆ เดียว แต่ในเมื่อผู้นำเกิดล้มป่วยลง ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพราะขบวนการกัมเองอาจไม่มีธรรมนูญปฏิบัติในการจัดการและบริหารภายในได้อย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ภายหลังจากที่ท่านผู้นำสูงสุดของฝ่ายกัมได้ตกอยู่ในอาการเจ็บป่วย ทำให้บรรดาผู้นำแถวหนเหรือแกนหลัก ต่างออกมาเสนอความคิดเห็นของตน ทำให้กัมได้สูญเสียบารมีแห่งอำนาจในการตัดสินใจอย่างที่เคยมี และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การบรรลุสันติภาพระหว่างอาเจะฮ์กับอินโดนีเซียได้เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนของสมาชิกกัมเอง โดยเฉพาะอย่างฝ่ายกองกำลัง ที่พวกเค้าคาดมิถึงว่าอุดมการณ์ที่พวกเขาวาดฝันไว้นั้น จะถูกแลกด้วยสิ่งของบางอย่างและด้วยการตัดสินใจของใครบางคน

แต่ถ้ามองดูความสำนึกทางการเมืองแล้ว ชาวอาเจะฮ์จะมีความตื่นตัวอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิการได้รับผลประโยชน์ทรัพยากรเหนือดินแดนอาเจะฮ์ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ประเด็นการเมือง การกำหนดชะตากกรมของตนเอง บวกกับการพยายามที่จะอนุรักษ์สถาบันการปกครองโบราณ(การมีอยู่ของกษัตริย์) ที่เคยมีอยู่ในดินแดนอาเจะฮ์

บรรยากาศแห่งประชาธิปไตยคือกุญแจสำคัญที่จะไขความขัดแย้งได้

สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะสร้างสันติภาพในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ที่จะสามารถหาทางออกด้วยวิธีแห่งสันติได้ เพราะในระบอบการปกครองแห่งประชาธิปไตย ประชาชนสามารถมีส่วนรวมได้อย่างเต็มที่ ในการแสดงออก เพื่อต่างฝ่ายต่างระดมความคิดเห็นและแนวทางที่เอื้อต่อการ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

แต่หากว่าในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังคงมีความเปราะบาง ไร้หลักประกันแห่งรัฐที่จะค้ำจุนอำนาจที่มาจากประชาชนได้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้บรรลุผลในเร็ววันนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้ว่า จะสามารถดำเนินไปในทิศทางใดหรือจะสามารถต่อยอดกระบวนการสันติภาพได้หรือไม่

ถึงแม้ในประเทศไทย บรรยากาศบ้านเมืองจะอยู่สภาวะวิกฤติแห่งความขัดแย้ง หลังจากที่เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาเพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของทั้งสองขั้วการเมือง แต่นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่(โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ยังหวังว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในขณะนี้ จะผ่านพ้นไปด้วยดี และสามารถสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่หยุดชะงักลง เพราะสิ่งที่จะสามารถตอบโจทย์ของการสร้างสันติภาพปาตานีได้นั้น ก็คือความเข้มแข็งและความมีเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะอย่างน้อยความมั่นคงแห่งรัฐที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นหลักประกันให้กับกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ได้ว่า จะไม่ประสบกับความล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา เพราะจำนวนของผู้เสียชีวิต ทั้งพุทธ มุสลิม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต่างบาดเจ็บล้มตายกันมากพอแล้ว