Skip to main content

Abdulloh Wanahmad; AwanBook

หนึ่งทศวรรษได้ผ่านพ้นกับความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน ณ ปาตานี ที่ได้สร้างความสูญเสียอย่างมากมายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นชาวพุทธและมุสลิม ถึงแม้วันเวลาที่ผ่านมาความพยายามของภาครัฐในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน จะบรรลุผลในระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่ทว่าความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศแห่งสันติให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ดูเหมือนจะยังคงมืดบอดไม่มีแสงสว่างแห่งความหวังเอาเสียเลย

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ดูเหมือนค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อนภายในตัวของมันเกินกว่าอำนาจรัฐจะรับมือไหว ถึงแม้กลไกของรัฐที่มีอยู่จะยังคงทำหน้าที่ตามระเบียบการเพื่อรักษาเสถียรภาพแห่งรัฐ ก็ยังไม่สามารถที่จะยับยั้งเอาชนะการตอบโต้ของฝ่ายที่ดำเนินการต่อสู้กับอำนาจแห่งผู้ปกครองที่พยายามจะสร้างความเป็นปึกแผ่นแห่งรัฐชาติได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตล้วนมีความสำคัญและเกี่ยวโยงกับความจริงที่ปะทุขึ้นในปัจจุบันอย่างแยกมิออก ไม่ว่าเราจะย้อนกลับไปยังปีหรือยุคใด ก็ล้วนมีแต่บันทึกแห่งความสูญเสียที่กลายเป็นจุดด่างให้กับการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

ทุกความขัดแย้งมักจะถูกบันทึกด้วยความสูญเสียมากกว่าผลพลอยได้ของผลลัพธ์แห่งความขัดแย้งนั้นๆ ถึงแม้ว่าฝ่ายที่ได้รับชัยชนะก็ตามก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา แต่นั่นมันก็เป็นได้แค่ความภาคภูมิของผู้ที่อยู่เบื้องหลังแห่งอนาคตหาได้เป็นความภูมิใจของผู้ที่ต้องแบกอาวุธเข้าป่าอาบแดดอาบฝนใช้ชีวิตอยู่แต่ในป่าแต่อย่างใดไม่

กว่าสองร้อยปีมาแล้วที่ความรุนแรงที่ปาตานียังคงหวีดร้องร่ายรำตามความเจ็บปวดที่ได้ประสบในยุคนั้นๆ แต่ทว่าในช่วงเวลาสิบปีให้หลังนี้ ความรุนแรงกลับเป็นสิ่งประจักษ์ให้สังคมได้เห็นถึงความโหดร้ายแห่งสงครามอันเนื่องมาจากที่สังคมได้รับความอยุติธรรมที่ผู้ปกครองได้ปฏิบัติต่อพี่น้องผู้ร่วมเชื้อชาติและศาสนาเดียวกัน

ความสูญเสียที่ปาตานีในระลอกใหม่ได้พ้นไปแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ นับจากเหตุการณ์การปล้นปืนที่ค่ายทหาร จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2004 และกำลังเข้าสู่ทศวรรษใหม่ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทำนายได้ว่า ต่อจากนี้ไปความรุนแรงจะยกระดับทางการทหารหรือการลดลงของเหตุการณ์หรือไม่ ไม่ว่าฝ่ายที่ถืออาวุธอยู่ในมือจะสังกัดฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้เรียกร้องเอกราชปาตานี ล้วนทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากเบื้องบนทั้งสิ้น จะอย่างไรก็แล้วแต่ตัวแปรสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งที่มีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์และเอกราชเหนือดินแดนคือเป้าหมาย จะต้องลงเอยด้วยแนวทางทางการเมืองเท่านั้น จะโดยวิธีการใดนั้นก็แล้วแต่ความมุ่งมั่นและชาญฉลาดของแต่ละฝ่าย ที่จะเลือกใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับฝ่ายที่กำลังมุ่งมั่นพายเรือแห่งอุดมการณ์เพื่อให้ถึงฟากฝั่งได้อย่างสำเร็จ

หลังจากทศวรรษแรกได้ผ่านไป ดูเหมือนความสูญเสียจะยังคงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และวิธีการที่มีการพัฒนาตามแต่ละยุคสมัยแห่งความรู้ทางเทคโนโลยีที่มนุษย์สามารถที่จะเข้าถึงได้ แต่สำหรับประชาชนโดยรวมแล้ว สิบปีท่ามกลางความรุนแรงเชิงสงครามรูปแบบใหม่และความกดขี่นั้น มันค่อนข้างที่จะยืดเยื้อยาวนาน แต่สำหรับนักต่อสู้ที่มีชาติ ศักดิ์ศรี และผืนแผ่นดินเป็นเดิมพันแล้ว สิบปีที่ผ่านพ้นอาจเป็นเพียงการริเริ่มของการเดินทางที่ยาวไกล ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีใครสามารอธิบายและวิเคราะห์ได้ นอกจากวันเวลาแห่งอนาคต

อย่างความรุนแรงที่ปาตานีที่ปะทุขึ้นมาเมื่อสิบปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า จะยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างมากก็เป็นได้แค่การมีความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ จากภาครัฐที่พยายามปลอบประโลมผู้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยผ่านโครงการของรัฐต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากดูความพยายามของรัฐแล้วก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่เช่นกัน ที่อย่างน้อยมีความมุ่งมั่นในการที่จะสร้างบรรยากาศเพื่อการแก้ไขปัญหาตามที่ภาครัฐเชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาของความรุนแรงในปัจจุบัน

เมื่อความรุนแรงได้ปะทุขึ้นมาจนยากที่จะควบคุม ภาครัฐเองก็เริ่มมีความตระหนักอยู่แก่ใจว่า ปัญหานี้คงไม่มีวันที่จะแก้ไขได้นอกจากการยับยั้งเฉพาะหน้าก็เท่านั้นเอง! ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่แปลกเลยที่นโยบายที่ลงมาในพื้นที่ล้วนเป็นการทำโครงการเพื่อสร้างภาพและบรรยากาศแห่งความปรองดองระหว่างภาครัฐกับประชาชน มากกว่าที่จะอนุมัติผ่านนโยบายที่เป็นการแก้ไขปัญหาในระดับมหาภาค เช่น การนำเด็กมลายูมุสลิมไปอบรมในระยะเวลาสั้นๆ การไปฝึกอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในอนาคต การส่งเสริมอุปกรณ์ทางด้านการศึกษาให้แก่โรงเรียนเอกชนแต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดอยู่ดี การให้ทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศ ฯล

ถามว่าเหตุใดภาครัฐไม่กำหนดเป็นนโยบายหรือเป็นวาระแห่งชาติ หากว่ารัฐเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงแล้วรัฐเองพยายามที่จะเบี่ยงประเด็นของปัญหาเพื่อให้สังคมเข้าใจว่า เพราะสังคมปาตานีขาดโอกาสและปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่แฝงอยู่ในโครงสร้างแห่งรัฐ

หลายครั้งที่ความรุนแรงได้สร้างความสูญเสียต่อเด็กและสตรี ยิ่งไปกว่านั้นกลายเป็นการตอบโต้ระหว่างคนสองกลุ่มระหว่างพุทธและมุสลิม ซึ่งเหล่าสิ่งนี้มันได้ปรากฏขึ้นมาโดยปริยายในพื้นที่ที่ไม่สามารระบุได้ว่า ใครหรือคือผู้ลั่นไก? หลายพื้นที่กลายเป็นการตอบโต้ระหว่างประชาชนด้วยกันเองที่มีความแตกต่างทางความคิด แทนที่จะเป็นการตอบโต้กับรัฐโดยตรง ซึ่งสิ่งนี้คงจะเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของรัฐด้วยซ้ำ ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร?

สันติภาพปาตานีจะต้องรอคอยกันอีกนาน จนกว่าฝ่ายรัฐจะเลิกใช้วิธีการนอกระบบที่รัฐเองเป็นผู้ออกแบบ ทั้งระบบของความยุติธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการกำหนดรูปแบบการปกครองตามความสอดคล้องของท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ล้วนมีการระบุบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

แต่ดูเหมือนว่าคนของรัฐเองบางกลุ่ม ยังไม่มีความมั่นใจต่อระบบความยุติธรรมของรัฐเองด้วยซ้ำ เพราะบ่อยครั้งรัฐเองมักเลือกใช้วิธีการนอกรูปแบบในการขจัดปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการสะสางผู้ที่อยู่ในข่ายของการเฝ้าระวัง ถึงแม้บุคคลผู้นั้นจะผ่านการพิสูจน์ตามพยานหลักฐานของกฎหมายไปแล้ว แต่สุดท้ายรัฐเองมิยอมเลิกราที่จะเฝ้ามองความเคลื่อนไหว และอาจลงเอยด้วยวิธีการนอกระบบตามเคย ไร้การตรวจสอบเหมือนเช่นทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ณ ปาตานีแห่งนี้