Skip to main content

Abdulloh Wanahmad : Awan Book

ความรุนแรงระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นสัญญาณแห่งการประกาศสงครามกองโจรอย่างเต็มรูปแบบของกลุ่มติดอาวุธที่ขนานนามตัวเองว่า “กลุ่มต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี” จากการยึดครองของนักล่าอาณานิคมสยามที่ยาวนานกว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่เมืองปาตานีถูกสยามตีแตกอย่างราบคาบชนิดมิอยากให้เหลือร่องรอยมรดกของเมืองที่เคยยิ่งใหญ่มาหลายร้อยปีให้หลงเหลืออยู่เลย ถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองและทำการปล้นสิ่งของและอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารของปาตานีอย่างปืนใหญ่ ที่เป็นดั่งเคี้ยวเล็บประดับบารมีและเป็นที่น่าเกรงข่ามของศัตรูอย่างสยามประเทศมาโดยตลอด

ถึงแม้ว่าเราทั้งหลายจะได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีอย่างลึกซึ้งเพียงใด ไม่ว่าจะโดยจากคำบอกเล่าก็ตามแม้กระทั่งจากตำราวิจัยของบรรดานักวิจัยนักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย แต่มันมิอาจเทียบเท่าได้กับความรู้สึกที่ป่นเข้ามาในจิตสำนึกแห่งความรัก ที่มีความหวงแหนต่อชนชาติของตนเอง

และแน่นอนเมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่จะต้องมีอยู่ในเนื้อหาและถือเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำก็คือ บาดแผลแห่งความปวดร้าว ความข่มขื่น ความเจ็บปวด ที่ซึมซับเข้ามาในทุกอณูความรู้สึกที่ไหลผ่านเข้าไปในเส้นเลือด

เฉกเช่นเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเองมิอาจที่จะพรรณนาถึงฉากในแต่ละเหตุการณ์ได้ และในขณะเดียวกันมันเป็นสิทธิของผู้อ่านทุกท่าน ที่จะจินตนาการเอาเองเท่าที่แต่ละปัจเจกชนจะจินตนาการไปถึง ดั่งเช่นเหตุการณ์ที่บันทึกโดยพ่อค้าชาวดัตช์คนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงความโหดร้ายทารุณของกองทัพสยาม ที่ได้กระทำต่อชนชาวเมืองมลายูปาตานีในอดีต ครั้นที่กองทัพสยามได้เข้ามายึดครองเมืองปาตานีใหม่ๆ

ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ถึงเหตุการณ์ที่กองทัพสยามได้ทำการรวบรวมชาวมลายูปาตานีทั้งชายและหญิง และบังคับให้นอนอยู่กับพื้น และกองทัพสยามได้ใช้ช้างเดินเหยียบบนร่างของพวกเค้าจนไม่มีลมหายใจ ถือเป็นการฆาตกรรมที่ซาดิสต์มาก ซึ่งในบันทึกของเขาได้กล่าวอย่างสั้นๆ ว่า “เขาไม่เคยพบเห็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้มาก่อน ที่นักล่าอาณานิคมเขากระทำกัน!”

ผู้เขียนมิได้ต้องการที่จะเติมเชื้อไฟแห่งความรู้สึกเช่นนี้ให้ลุกโชนขึ้นท่ามความร้อนแรงของสถานการณ์แต่อย่างใดไม่ เพียงแต่ต้องการที่จะนำเสนอถึงความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ ที่สังคมมลายูปาตานีต้องประสบมาโดยตลอด นับตั้งแต่วินาทีแรกที่อธิปไตยของรัฐปาตานีได้ล่มสลายลง เพียงแต่แตกต่างกันที่ช่วงเวลาและยุคสมัยก็เท่านั้นเอง

หลายเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกับชาวมลายูปาตานี ที่ต่างวาระต่างเวลาและต่างเงื่อนไข ซึ่งถึงแม้นว่าทุกเหตุการณ์จะมีความแตกต่างกันในเรื่องเงื่อนไขปัจจัยและเหตุผล แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ผู้กระทำคือชาวสยาม(รัฐไทย)ผู้ที่ถูกกระทำก็คือชาวมลายู(พลเมืองปาตานี)

นี่คือความจริงที่เรามิอาจปฏิเสธได้เลยในส่วนนี้ ถึงแม้ว่ารัฐเองนั้น ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รัฐจะพยายามอธิบายเหตุและผลเพื่อความชอบธรรมของรัฐเองมาโดยตลอด อย่างเช่น กรณีของโศกนาฏกรรมตากใบ ที่ใครจะไปรู้ว่า ผลสุดท้ายของการตัดสินกลายเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ! ซึ่งมันย้อนแย้งกับความเป็นจริงอย่างมาก ถึงแม้ว่าหลักฐานค่อนข้างชัดเจนแต่รัฐย่อมถือไพ่เหนือกว่า ถึงแม้ว่าหลักฐานทางกายภาพและพฤติกรรมจะส่อถึงความประมาทในการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่สุดท้ายมันก็แค่กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างผู้มีอำนาจก็เท่านั้นเอง

ความรุนแรงที่ยึดเยื้อยาวนานย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียและความเพลี่ยงพล้ำของคู่ต่อสู้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และสิ่งหนึ่งที่รัฐมักจะใช้ก็คือมาตรการการเอาชนะคู่ต่อสู้ ที่รัฐได้ให้คำนิยามต่างๆ นานา ที่ต่างยุคต่างสมัย ต่างนิยามเช่นกัน เช่น ขจก.(ขบวนการโจรก่อการร้าย) ขบด.(ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) จกร.(โจรก่อการร้าย) โจกกระจอก และแม้กระทั่งผู้ก่อความไม่สงบ ที่เสมือนเป็นการลดบทบาทของคู่ต่อสู้ลง ที่กลายเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ(ไร้อุดมการณ์)โดยปริยาย และอื่นๆ

เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน สิ่งหนึ่งที่รัฐมิอาจละเลยได้ก็คือยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อต้องการที่จะสยบกองกำลังติดอาวุธของขบวนการต่อสู้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการป้องปรามก็ยังดี

แต่ด้วยจำนวนกองกำลังของรัฐที่มีความจำนวนมากถึงเรือนหมื่นเรือนแสน ย่อมมีบ้างที่ทำตัวแหกกฎของทหาร ที่กระทำการโดยพลการหรือจงใจ ที่ได้สร้างความปั่นป่วนให้สถานการณ์ดูร้อนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อสงครามมีความยึดเยื้อ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธมิได้ก็คือ การใช้มาตรการตอบโต้นอกกฎหมายของอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างประปรายและเป็นเหตุการณ์ปกติของภูมิประเทศที่อยู่ในความไม่ปกติอย่างเช่นปาตานี
การกระทำการอันโหดร้ายต่อเป้าหมายอ่อน ต่อเด็ก สตรี คนชรา หรือต่อผู้ที่ตกอยู่ในการติดตามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่ไม่มีพยานหลักฐานเอาผิดทางกฎหมายได้ มักจะลงเอยด้วยคมกระสุนที่มาจากทิศที่มืดเสียส่วนใหญ่

ผู้เขียนมิได้ต้องการใส่ร้ายผู้ใด เพียงแต่นำเสนอถึงความเป็นจริงที่กำลังเป็นไป ที่กำลังปรากฏในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”ปาตานี”

การลอบทำร้ายผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคง ผู้ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล และที่ถูกศาลยกฟ้องไปแล้วนั้น ถือเป็นไพ่ใบสุดท้ายในบรรดาไพ่ทั้งหลายของผู้ที่มีอำนาจจะเลือกใช้ในบ้านเมืองที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ปรกติ หรือ “สงครามประชาชน” ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ทว่าการกระทำดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาได้จริงฤา?


การกระทำดังกล่าวสามารถสร้างสันติภาพปาตานีในระยะยาวได้ฤา?

เพราะหากสันติภาพปาตานียังริบหรี่และยังอีกไกล นั่นหมายถึงเหล่าทหารจากทุกภาคของประเทศไทย จะต้องมานอนกอดปืนและกลับพร้อมกับธงชาติอีกกี่ราย ถึงแม้การสละชีพของเหล่าทหารจักเป็นที่เชิดชูของกองทัพ ได้รับการปูมบำเหน็จเลื่อนขั้นจากตันสังกัดก็ตาม แต่ความปวดร้าวของผู้ที่อยู่ข้างหลังมิอาจที่จะอธิบายให้เข้าใจในความรู้สึกของมันได้

หากรัฐเองเป็นผู้เลือกใช้ยุทธวิธีนอกระบบเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ที่ใช้ยุทธวิธีสงครามนอกระบบ รัฐเองอาจจะเจอกับความพ่ายแพ้ในที่สุด ในเมื่อรัฐเองมีกลไกเครื่องมือในการตรวจสอบผู้กระทำผิด มีกระบวนกฎหมาย ที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” มันก็เพียงพอแล้วสำหรับการตรวจสอบความผิดตามอำนาจหน้าที่ของรัฐ

การเลือกใช้วิธีการไพ่ใบสุดท้ายเพื่อกำจัดบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย มิได้เป็นการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไม่ ตรงกันข้ามมันเป็นการเติมเชื้อเพลิงเพื่อให้ลุกโชนเร่าร้อนตลอดไป และทุกความเจ็บปวดที่บังเกิดขึ้นบนผืนโลกใบนี้มักจะถูกบันทึกและจดจำโดยผู้ที่อยู่ข้างหลังอย่างแน่นอน ถึงแม้เหตุการณ์มันจะผ่านพ้นหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่สำหรับสังคมที่อยู่ข้างหลังมิเคยลืมเลย และไม่เคยคิดแม้ที่จะลืม!