Skip to main content

Abdulloh Wanahmad : AwanBook

วันที่ 4 มกราคม 2557 ถือเป็นวันครบรอบสิบปีของการปะทุขึ้นของความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ นับตั้งแต่ที่อธิปไตยของปาตานีได้ล่มสลายลงเมื่อปี คศ. 1786 (พ.ศ. 2329) หรือประมาณ 228 ปีที่แล้ว ที่ความขัดแย้งระหว่างสยามประเทศกับรัฐปาตานี ที่ต่อมากลายฐานะเป็นผู้ที่ถูกปกครองภายหลังจากพ่ายแพ้ต่อการรุกรานของสยามประเทศ ที่ก่อนหน้านั้นถือเป็นคู่สงครามมาโดยตลอดระหว่างคนสยามกับคนมลายูที่มีความเป็นอัติลักษณ์ทางเชื้อชาติ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ความรุนแรงเชิงต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพได้ปะทุขึ้นมาระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างมีนัยยะและวิวัฒนาการของเหตุการณ์อย่างชัดเจน ตามแต่ละยุคสมัย นับจากสมัยที่โลกอยู่ในความมืดมิดแห่งข้อมูลข่าวสาร จนกระทั่งสู่ยุคแห่งโลกาภิวัตน์

ปฏิเสธมิได้ว่า ทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนโลกสาเหตุหลักย่อมมาจากปัจจัยทางการเมืองอำนาจและการปกครอง ตลอดจนอำนาจในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งทางทะเลและป่าเขา นับประสาอะไรกับความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากการเสียอธิปไตยของประเทศที่เคยมีความเป็นอิสระมาก่อนอย่างรัฐปาตานี ที่เคยยิ่งใหญ่มาตั้งแต่อดีต นับตั้งแต่รัฐปาตานีถูกสถาปนาขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีการค้นพบมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปัญหาปาตานีกลายเป็นปัญหาโลกแตก ที่ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะลงเอยอย่างไร ในขณะเดียวกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการปะทุขึ้นของความเกลียดชังที่ออกมาในรูปแบบของความรุนแรง ก็มีปริมาณทวีคูณตามจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง

ความแตกต่างของสถานการณ์นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ย่อมมีความต่างอย่างเห็นได้ชัด เฉกเช่นในสมัยก่อนวิธีการสื่อสารระหว่างกัน ต้องอาศัยระยะเวลาในการติดต่อกันพอสมควร ไม่ว่าระหว่างผู้นำกับฝ่ายที่อยู่ข้างล่างหรือระหว่างสมาชิก แม้กระทั่งการเดินทางแต่ละครั้งก็ย่อมมีความล่าช้า ซึ่งจะเทียบมิได้กับปัจจุบัน ที่มีความรวดเร็วฉับพลันในการสั่งการและการเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่นั่นมิใช่ว่าเป็นอุปสรรคหรือปัญหาให้กับฝ่ายที่จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐไม่เลยแม้แต่น้อย แต่กลับกันเทคโนโลยีหรือ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่มีอยู่ ส่งผลให้การปฏิบัติการของกลุ่มขบวนการในแต่ละครั้งก็ย่อมเพิ่มขีดความสามารถเป็นเงาตามตัว ทั้งอนุภาพและศักยภาพของการต่อสู้โจมตีในแต่ละครั้งกลับมีความรุนแรงและแยบยลมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ในด้านของการปฏิบัติการเท่านั้น แต่ทางข้อมูลข่าวสารก็เช่นกัน กลับมีความรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ เหตุเกิดเพียงไม่กี่นาที แต่สามารถรับรู้ได้เพียงไม่กี่นาที่หลังจากเกิดเหตุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่งบอกให้สังคมได้รู้ว่า สังคมที่มีความขัดแย้งย่อมมีการพัฒนาการไปตามลำดับตามแต่ละยุคสมัย ยิ่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยี มีความก้าวหน้าสักเพียงใด การต่อสู้และวิธีการก็ย่อมมีการพัฒนาไปตามลำดับมากขึ้นโดยปริยาย ยากที่รัฐจะหามาตรการควบคุม เพื่อให้อยู่ในอาณัติของกฎหมายและครอบคลุมทุกอณูมิติได้

“ปัญหาภาคใต้เหมือนโคลนติดล้อ ล้อหมุนไปทางไหนโคลนก็ไปทางนั้น” เป็นคำกล่าวของท่าน สนั่น ขจรประศาสน์ ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้เขียนยังจำได้ดี ถึงแม้ข้อความดังกล่าว จะเคยผ่านตามาแล้วเกือบยี่สิบปี แต่ดูเหมือนว่าประโยคสั้นๆ ดังกล่าว เหมือนเป็นการอธิบายเหตุการณ์ทางภาคใต้(ปาตานี)ภายในตัว ในเรื่องของการพัฒนาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือขจก.(ชื่อเรียกขบวนการในสมัยที่ท่านสนั่น ขจรประศาสน์เป็น รมว.มหาดไทย) ตามแต่ละยุคสมัย

แม้กระทั่ง “โจรกระจอก” ก็เคยถูกเอามาเป็นวาทกรรมทางการเมืองด้วยซ้ำในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่สุดท้ายนำมาซึ่งการยุบหน่วยงานของรัฐอย่าง ศอ.บต.กับ พตท.43 ที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในเมื่อ สถานการณ์ความรุนแรงในสมัยนั้น ถูกมองเป็นเพียงการกระทำของโจรกระจอก กลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ฯ ซึ่งในทางความหมายและความรู้สึกแล้ว มันเป็นการสะท้อนถึงความดูถูกดูแคลนของผู้นำที่มีต่อกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์เพื่อปลดแอกปาตานีจากอาณัติการยึดครองของรัฐไทย

จนกระทั่งความรุนแรงได้แผ่ขยายไปสู่ชุมชน เมือง ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกับอดีตอย่างสิ้นเชิง ที่จะจำกัดขอบเขตเพียงเขตป่าเขา หรือจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เดินไปไม่ถึงเท่านั้น และเป็นการส่งสาสน์ไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะทางการเมืองที่แสดงออกผ่านยุทธวิธีทางการทหาร โดยผ่านการปฏิบัติการในแต่ละครั้ง ด้วยการโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่อยู่รอบนอกของตัวเมือง และเริ่มมีการปล้นอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะเปิดปฏิบัติการณ์เหยียบถ้ำเสือด้วยการยึดค่ายปล้นปืนในค่ายทหารที่อำเภอเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ไม่เคยกิดขึ้นที่ใดในโลก! และมิรู้ว่าอาวุธสงครามของรัฐที่ตกไปอยู่ในมือของขบวนการไปแล้วนั้นทั้งหมดมีจำนวนเท่าไหร่?

ผู้เขียนเพียงต้องการอยากจะให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของการต่อสู้ของขบวนการเพื่อปลดปล่อยปาตานีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งทางด้านการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ การเมือง และตลอดจนยุทธวิธีของการต่อสู้ทางการทหาร โดยอาศัยการติดตามข่าวสารและค้นคว้าจากงานเขียนของหลายๆ ฝ่าย มาเชื่อมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่เขียนโดยฝ่ายความมั่นคงเอง แม้กระทั่งบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริบทและวาทกรรมในภาคใต้

เพียงเพื่อต้องการทิ้งคำถามว่า เหตุใดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีของรัฐที่ผ่านมาแล้วหลายชั่วอายุคนกลับมีแต่ความล้มเหลว? ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อย เหตุใดปัญหาภาคใต้มิสามารถแก้ไขด้วยวิธีการใช้กำลังได้? และเหตุใดรัฐมิสามารถกำจัดแนวคิดอุดมการณ์รัฐปาตานีให้หมดไปจากความคิดของคนมลายูปาตานีได้? นี่คือเป็นเพียงคำถามที่ยังคงโลดแล่นในมโนสำนึกของคนมลายูและชาวไทยทั่วประเทศ

ผ่านมาแล้วหนึ่งทศวรรษสำหรับความรุนแรงระลอกใหม่ที่ปาตานี ที่มีรูปแบบกึ่งกองโจรและกึ่งสงคราม และชีวิตของคนได้หายไปท่ามความขัดแย้งนี้หลายพันคน โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยได้อย่างไรและโดยวิธีการใด ถึงแม้ในช่วงหลังจะเริ่มมีความหวังอยู่บ้างกับการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพปาตานีที่มาเลเซียที่ได้เริ่มเมื่อต้นปี 56 ที่แล้ว แต่แล้วก็ต้องคว้าน้ำเหลวในที่สุด ถึงแม้เรื่องพรรค์นั้นถือเป็นเรื่องปกติของการพูดคุย แต่ปฐมบทที่เป็นสาเหตุของการก่อเกิดการเจรจาในครั้งนี้ต่างหากที่ไม่ปกติ ก็เลยเป็นเรื่องปกติที่การเจรจาที่ไม่ปรกติจะเกิดการล่มจนได้ในที่สุด

ปัญหาปาตานีจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ท่ามความสูญเสียของผู้คนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ฝ่ายรัฐไม่ยอมรับให้คนภายนอกเข้ามาไกล่เกลี่ยในฐานะตัวกลางได้ และฝ่ายขบวนการไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างที่ตั้งไว้ ปัญหาปาตานีก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดเมื่อเชื่อวันและสันติภาพก็จะยิ่งไกล ยิ่งไกล และยิ่งไกล