Skip to main content

ก้าวต่อไปของบีอาร์เอ็นอาจต้องลุ้นกันอีกยาว

Abdulloh Wanahmad:Awan Book

เมื่อเอกราชคือเป้าหมายสูงสุดของบีอาร์เอ็น การปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเป็นได้แค่วาทกรรม ณ ขอบโต๊ะเจรจาเท่านั้น มิอาจเป็นความคาดหวังของชาวปาตานีได้อีกต่อไป และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความขัดแย้งที่ปาตานีอาจยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าที่จะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตข้างหน้า วิกฤติความวุ่นวายที่มีรูปแบบกึ่งสงครามกึ่งกองโจรจะลงเอยอย่างไร

ในขณะเดียวกันเสมือนเป็นการโยนคำถามให้กับบรรดากลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่หรือองค์กรที่ข้องเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพปาตานีทั้งหลาย ทั้งที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์แหล่งทุน และไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์นโยบายของรัฐ พึงมีความสำเหนียกด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีอาจไม่เหมือนกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่อาเจะฮ์ของอินโดนีเซีย หรือมินดาเนาของฟิลิปปินส์ นั่นหมายความว่าวิธีการที่จะคลี่คลายก็อาจมีความต่างกันฉันใดก็ฉันนั้น

หลายฝ่ายต่างออกมานำเสนอมุมมองและบทวิเคราะห์ต่างๆ นานา ถึงความเป็นไปได้ของปัญหาปาตานี ที่ในที่สุดจะต้องลงเอยด้วยการเจรจาก็ตาม ซึ่งมันเป็นหลักสากลที่โลกยอมรับและมีความเป็นไปได้สูงในหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจที่ว่า ถึงแม้ว่าการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากเรื่องเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามหลักสากลภายใต้กฎระเบียบระหว่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยเองยังมิยอมและมิกล้าเสี่ยงด้วยซ้ำ ที่จะก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้น นั่นก็คือการผลักดันให้สังคมภายนอกเข้ามาข้องเกี่ยวในฐานะคนกลางระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก

เมื่อทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายสูงสุดคือเอกราช นั่นหมายถึงการต่อสู้ทางอาวุธจะต้องดำเนินการอีกยาว ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงนั้น ในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันความเข้มแข็งทางการทหารและความความเข้มข้นของปฏิบัติการของกองกำลัง จะไม่สามารถปูทางไปสู่ความสำเร็จได้ แต่มันยังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งศักยภาพขององค์กร และในขณะเดียวกันเป็นการแสดงออกถึงแสนยานุภาพของพัฒนาการของฝ่ายปฏิบัติการอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในการปฏิบัติการแต่ละครั้ง ที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา

แต่ถึงแม้ฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นจะยังคงปักหมุดในด้านใช้กำลังเพื่อผลักดันปัญหาปาตานีไต่เต้าไปยังเวทีนานาชาติ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กรตามภารกิจแห่งอุดมการณ์ที่ฝั่งรากลึกลงไปในจิตใจของผู้ที่เสียสละเพื่อสังคมระดับมหภาค แต่นั่นคงต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้าน ที่นอกเหนือวิธีทางการทหารอีกด้วย เพื่อเป็นตัวชี้วัดทุกก้าวย่างในการต่อสู้ที่บางครั้งจะต้องมีความสอดรับหรือคู่ขนานควบคู่กันไประหว่างปีกการเมืองและปีกการทหาร จึงจะสามารถโบยบินไปสู่เป้าหมายได้อย่างราบรื่น

และสิ่งหนึ่งที่บีอาร์เอ็นต้องทบทวนในการวางหมากรุกเพื่อช่วงชิงชัยชนะทางการเมืองก็คือ จะต้องขับเคลื่อนการเมืองในระดับบน หรือการเมืองระหว่างประเทศให้สามารถเข้าถึงแรงหนุนจากโลกภายนอกให้ได้ เพราะถึงอย่างไรเป้าหมายสูงสุดของบีอาร์เอ็นย่อมไม่มีวันลดลงอย่างแน่นอน และหากทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายที่ลดธงเอกราชลงเสียเอง เพื่อยอมรับการปกครองพิเศษอันเนื่องมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในภายภาคหน้า นั่นหมายความว่าบีอาร์เอ็นกำลังนำความหายนะเข้าสู่องค์กรโดยปริยาย

สำหรับรัฐไทยเองก็คงเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับความจริงที่อาจเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่รัฐไทยกำลังดำเนินการอยู่และกระทำการอย่างพลุ่มพล่ามนั้น อาจต้องเจอกับแรงสะท้อนจนได้ในที่สุด ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามครรลองอย่างที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรก

ในเมื่อการเจรจาเพื่อสันติภาพในทางเปิดมีอายุสั้น ที่ต้องล้มลงอย่างมิเป็นท่า อันเนื่องมาจากสาเหตุและเหตุผลของทั้งสองฝ่าย ที่ติดขัดในเรื่องรายละเอียดของเนื้อหา และบวกกับความแปรปรวนของมรสุมทางการเมืองที่กรุงเทพ ที่ไม่มีความแน่นอนแห่งความเสถียรภาพของรัฐบาลไทย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของฝ่ายบีอาร์เอ็นในความมีเสถียรภาพต่อคณะพูดคุยของรัฐไทยลดลงไปโดยปริยาย เพราะหากขืนสานต่อการพูดคุยท่ามกลางความไม่ปรกติของสภาวการณ์ในการเมืองไทย ถือเป็นการเอาตัวเองไปเสี่ยงกับวาทกรรม “การพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี” ที่ไม่มีหลักประกันของรัฐไทยโดยดุษฎี

มาถึงตอนนี้ ถึงแม้ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ประกาศแขวนโต๊ะเจรจาไปแล้ว แต่ใช่ว่าไม่มีช่องให้กับรัฐไทยหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปเลย แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมอีกด้วย

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็เคยปรารภว่าเขามิได้ปฏิเสธการเจรจาแต่อย่างใด  เพียงแต่มันยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม และถึงแม้บีอาร์เอ็นจะยึดแนวทางทางการทหารในการต่อสู้ แต่ใช่ว่าจะปิดกั้นแนวทางอันสันติเอาเสียเลย เพียงแต่ว่ามันต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือเมื่อเวลานั้นมาถึง

ถือเป็นการบ้านให้กับบรรดาเอ็นจีโอในพื้นที่อีกด้วยที่ต้องทบทวนบทบาทและการก้าวจังหวะขาตัวเอง ที่พยายามที่จะผลักดันปัดฝุ่นโต๊ะที่ถูกทิ้งขว้าง เพื่อให้ดำเนินต่อไป เพียงเพื่อต้องการเห็นการพูดคุยระหว่างคู่กรณีดำเนินไปเรื่อยๆ จนนาทีสุดท้าย โดยลืมนึกถึงแก่นสารขององค์กรที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานและยากลำบากมานักต่อนัก เพราะบางครั้งสันติภาพที่บีอาร์เอ็นปรารถนาอาจไม่ใช่อย่างที่บางองค์กรต้องการ


นึกเสียว่าความขัดแย้งที่ปาตานีมันไม่ใช่ประเด็นที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย จะนำเอามาเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตน ท่ามกลางการบาดเจ็บล้มตาย และการถูกคุมขังของผู้คนในพื้นที่ แต่มันคือความจริงที่เจ็บปวด บางครั้งเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย อาจรู้สึกไม่ถึงในส่วนนั้นอย่างที่พวกเขารู้สึก!