Skip to main content

อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด (AwanBook)
บทบาทและความท้าทายใหม่ของสื่อภาษามลายูในชายแดนใต้ท่ามกลางความรุนแรง

บทบาทของสื่อทางเลือกหรือสื่อท้องถิ่น ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่นำเสนอประเด็นต่างๆ ทั้งความบันเทิง เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของสังคมภายในตัว

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนากับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ยังคงประสบกับความไม่แน่นอนของสื่อท้องถิ่นที่เป็นในรูปแบบของประชาชนในพื้นที่ปรารถนา ไม่ว่าจะโดยสื่อมลายูที่ใช้ตัวเขียนยาวีหรือว่ารูมี

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ที่เกิดและโตที่นี่ยังไม่เคยได้เห็นสื่อสิ่งพิมพ์ของภาษามลายู ทำหน้าที่ในฐานะเป็นสื่อกลางให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้เสพอ่านอย่างที่ควรจะเป็น แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีเลย เพียงแต่ว่าไม่เคยมีสื่อสิ่งพิมพ์มลายูรายใดที่สามารถยืนอยู่ได้นานเท่าที่ควร อย่างน้อยเป็นแค่การลองของเพียงไม่กี่ระยะ จากนั้นก็ต้องปิดตายลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ

ในพื้นที่ภาคใต้เอง เท่าที่ได้ถูกบันทึกโดยสังคมมลายูถึงการเคยมีอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารก็คือ นิตยสารอาซาน นิตยสารอาซาน ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนเชาวัลล์ ฮ.ศ. 1392 ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นผลผลิตของกลุ่มปัญญาชนชาวมลายูในพื้นที่ ด้วยจิตที่มุ่งมั่นเพื่อให้สังคมปาตานีได้มีนิตยสารสักเล่มหนึ่งที่เป็นของคนปาตานีและเพื่อคนปาตานีเอง ถึงแม้ว่าคุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับนิตยสารมลายูฉบับอื่นที่วางขายในประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ซึ่งในช่วงดังกล่าว สังคมปาตานีกำลังตกอยู่ในสภาวะของความกดดันหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองที่ยิ่งนับวันดูเหมือนว่าจะทวีความเข้มข้น และอยู่ในสภาวะที่ถูกบีบคั้นโดยผ่านนโยบายของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง

การกำเนิดขึ้นของนิตยสารดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองและด้านสังคมในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (เพื่อความอยู่รอดทางวัฒนธรรม) ของชนชาติที่กำลังอยู่ในสภาวะระส่ำระส่ายในขณะนั้น

ประชาชนในยุคดังกล่าวถูกบังคับให้ใช้ชีวิตตามความต้องการของผู้นำตามที่ได้ระบุไว้ในร่างนโยบายของชาติ ที่มีลักษณะบีบบังคับเพื่อผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทุกเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตถูกกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐโดยสิ้นเชิง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียวและหนึ่งวัฒนธรรม ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องปฏิบัติตามที่ผู้นำประเทศได้กำหนดไว้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของชาวมลายูปาตานี แม้กระทั่งในเรื่องศาสนาก็ถูกลิดรอนสิทธิอยู่บ่อยครั้ง หรือเกือบจะทุกกรณี

ขณะที่พื้นที่สื่อที่จะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมมลายูปาตานีในขณะนั้นกลับไม่มีเลย แม้กระทั่งฉบับเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือแม้แต่รายปี

หลังจากการเงียบหายไปของอาซาน สื่อมลายูประเภทดังกล่าวก็ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณชนอีกเลย จนกระทั่งมาประมาณปี พ.ศ. 2547 ปรากฏว่าได้มีสื่อประเภทรายปักษ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ฟาญัร(fajar)อันหมายถึงแสงแห่งรุ่งอรุณ โดยปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ได้รวมตัวกันในฐานะกลุ่มปัญญาชนที่ต้องการเห็นสื่อสิ่งพิมพ์ได้โลดแล่นในแวดวงสังคมมลายูอีกครั้ง เพื่อเป็นการมุ่งพัฒนาทางด้านสติปัญญาและความนึกคิดของคนมลายู โดยเป้าหมายหลักในการเผยแพร่ ณ ขณะนั้นส่วนใหญ่จะแพร่กระจายไปยังสถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งปรากฏว่าถูกตอบรับได้ดีเท่าพอสมควร และในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใหม่ๆ ทำให้สื่อดังกล่าวถูกจับตามองจากหน่วยงานในพื้นที่มาโดยตลอด กอปรกับกลุ่มอุสตาซเองในช่วงนั้นมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมเสียส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งในคณะทำงานนั้นได้ปลีกตัวเองออกห่างจากกิจกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มลายู ไปทีละคนสองคน ทำให้สุดท้ายต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่ได้ออกสู่สาธารณชนเพียงไม่ถึงสิบฉบับ

ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานด้านสื่อมลายูต้องพบกับอุปสรรคก็คือ ความหวาดระแวงของหน่วยงานด้านความมั่นคงต่อนักเคลื่อนไหว ที่พยามจะพิทักษ์ตนเองผ่านอัตลักษณ์แห่งอักษร ทำให้งานกิจกรรมดังกล่าวเสมือนเป็นการปฏิปักษ์ต่อรัฐอย่างหนึ่ง ที่ถูกเพ่งมองในฐานะกลุ่มคนที่มีความคิดสุดโต่ง หัวรุนแรง และชาตินิยมมลายูสูง

และล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 สื่อมลายูยาวีก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งท่ามกลางความรุนแรงของความขัดแย้งทั้งความคิดและบริบททางการเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมปาตานี ซึ่งในครั้งนี้โดยใช้ชื่อว่า ซีนารัน ซึ่งเป็นสื่อมลายูฉบับฝึกทักษะภายในตัวและเป็นการชูอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่อีกด้วยหลังจากที่ต้องลาหายตายจากสังคมมลายูกันมานาน และตามมาด้วยวารสาร บีจานอปาตานี ที่นำเสนอความเคลื่อนไหวภาคการเมืองของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้กับประชาชนในระดับรากหญ้าโดยใช้ตัวเขียนยาวีในการนำเสนอ

หวังว่าการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้จะไม่ตายเหมือนครั้งอดีตที่เคยผ่าน หากภาครัฐเองไม่ได้หวั่นวิตกและคิดเกินเลยความเป็นจริงว่า จะเป็นเครื่องมือที่จะบั่นทอนทำลายความมั่นคงของประเทศ และหากสื่อมลายูได้มีพื้นที่เท่าที่ควร คงจะเป็นการดีมากกว่าผลร้ายสำหรับรัฐเองในการแก้ไขความรุนแรงที่เรื้อรังมานาน แทนที่จะต้องมานั่งหวาดระแวงจ้องมองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต