Skip to main content

color:#333333">ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

            ผมติดตามข่าวกรณีความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคุณอันวาร์ได้สักพักหนึ่ง ด้านหนึ่ง ผมตระหนักว่าพวกเราคงต้องหาหนทางในการเผชิญหน้ากับกรณีเช่นเดียวกันนี้กันให้ได้เพื่อป้องกันอำนาจคุกคามจากรัฐ ทว่า อีกด้านหนึ่ง ผมไม่รู้สึกตกใจหรือแปลกใจกับกรณีของคุณอันวาร์ เพราะข้อสรุปที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ อำนาจทหารไม่เคยเป็นกลาง เราไม่สามารถหาความยุติธรรมและเป็นธรรมจากทหารได้ เนื่องจากกองทัพคือสถาบันที่ถูกผีความไม่มั่นคงตามหลอกหลอน ทหาร จึงเป็นประหนึ่งหมอผี...ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ในภาคสนามจึงมักได้รับข่าวความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเสมอ ทั้งถูกเรียกไปซ้อม ปิดล้อมหมู่บ้าน จับผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ

            แต่เอาเถอะ เรื่องที่ผมสนใจและให้ความสำคัญคือเหตุใด คุณอันวาร์และกรณีใกล้เคียงกันจึงไม่ปรากฏบนสื่อสาธารณะหรือเป็นที่รับรู้โดยรวม และปัญหานี้เกี่ยวพันอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ...

            ต่อเรื่องนี้ ผมคงต้องเริ่มแบบนี้

            ในฐานะ "อดีต" ไทยพุทธ ซึ่งเคยร่ำเรียนมาทางธรรมมาบ้าง ผมชอบไปช่วยเหลืองานศพของเพื่อนบ้าน ญาติมิตร รวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ละแวกบ้าน สิ่งที่ผมชอบที่สุดในงานศพคือช่วงเวลาก่อนเผาศพบนเชิงตะกอน พิธีกรของงานมักรายงานประวัติและคุณงามความดีของผู้เสียชีวิตอย่างหมดจด งานศพจึงเป็นที่รู้กันว่าเรื่องไม่ดีหรือเรื่องเลวๆที่ผู้ตายได้กระทำไว้จะถูกระงับหรือลืมไว้ชั่วคราว คนพุทธทั่วไปเชื่อว่าเพื่อเป็นการให้ผู้ตายจากไปอย่างสันติสุขในขณะที่ "คนเป็น"ก็ไม่ต้องเพิ่มทนทุกข์เพราะต้องมีชีวิตต่อไปท่ามกลางความอับอายระคนกับความโศกเศร้า ตอนเด็กผมชอบช่วงเวลานี้มาก เพราะชอบฟังเรื่องเล่าของผู้ตายและรู้สึกว่าได้รู้จักเค้ามากขึ้น พอโตขึ้นมาหน่อยก็พลันสนใจมากขึ้นเพราะมันทำให้ทราบว่า ความตายคือพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งยวด การเล่าเรื่องความตายมิได้เพียงเป็นการนิยามอัตลักษณ์ใหม่ของผู้ตาย หากเป็นการจัดการความโศกเศร้าและพลังอารมณ์นาชนิดเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง...

            ข่าวเกี่ยวกับความตายในจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะความตายของครูไทยพุทธ ทหาร (ชั้นสัญญาบัตร เป็นสำคัญ) และเจ้าหน้าที่ราชการอื่นๆ จึงถูกบอกเล่าและผลิตซ้ำอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะอย่างดกดื่น นับตั้งแต่ความตายของครูจูหลิงและวีรบุรุษนายทหารต่างๆ ซึ่งล้วนถูกนำเสนอออกมาในฐานะลูก แม่พิมพ์ของชาติ สามีที่ดี ผู้เสียสละ บางท่านเพิ่งแต่งงานแค่สามเดือนแต่ต้องจากครอบครัวไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ผมยอมรับว่าการนำเสนอข่าวแบบนี้ ผมจุกลำคอทุกครั้งด้วยความรู้สึกร่วมแต่ผมร้องไห้ไม่ออกเนื่องเพราะไม่ต้องการให้ความรู้สึกของตัวเองตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่พยายามกลบทับเรื่องเล่าความตายและความอยุติธรรมในเวอร์ชั่นของคนมลายู ในแง่นี้ มันนับเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะสังคมไทยชอบพูดว่า "ตายตาหลับ" แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยมักใช้ประโยชน์จากความตายเสมอ ความตายจึงไม่เคยสันติสุขและไม่เคยมีใครตายตาหลับในสังคมไทย โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรง 

            ยิ่งเล่าข่าวความตายหรือความสูญเสียของรัฐในพื้นที่สื่อ อำนาจการจับกุมผู้บริสุทธิ์และความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ยิ่งมากขึ้น...แน่นอน เราไม่สามารถระงับหรือลดปริมาณและวิธีการเล่าข่าวของรัฐได้ เพราะอย่างน้อย เราก็ควรเคารพความตายที่เกิดขึ้นจริง และเคารพต่อความสูญเสียที่มิอาจทดแทนได้ แต่ปัญหาคือ เหตุใดสังคมไทยโดยกว้างจึงไม่ได้รับข่าวสารอีกด้าน ทั้งในด้านของการรับฟังภาพความสูญเสียและร่วมถกเถียงในอีกมุมมองหนึ่ง ในทางกลับ นักสื่อสารมวลชนที่ตั้งใจนำเสนอข่าวสารจากคนมลายูอย่างคุณอันวาร์ต้องถูกจับกุม ราวกับสังคมไทยต้องการเรื่องเล่าเพียงแค่ชุดเดียว เรื่องราวของคนกลุ่มเดียว และเรื่องราวที่เวียนวนตอกย้ำความโศกเศร้ารวมหมู่แบบชาตินิยมเพื่อต้องการขจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป 

            เรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับกระบวนการสร้างสันติภาพในปตานีและสังคมไทยโดยตรง สันติภาพมิใช่สิ่งสมมติง่ายๆหรือภาพลวงตาพื้นๆอย่าง ความสุข สงบ ร่มเย็น สมานฉันท์ ซึ่งถ้อยคำที่สวยงามพวกนี้ล้วนแฝงนัยทางการเมืองไว้อย่างน่ากลัวมาก อย่างน้อย ประวัติศาสตร์การฆ่าและความรุนแรงของมนุษยชาติก็เป็นที่ประจักษ์ในระดับหนึ่งว่าเกิดขึ้นด้วยการรับความชอบธรรมจากถ้อยคำสวยงามพวกนี้

            สันติภาพคือเครื่องมือและกระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อเป้าหมายทางการเมือง การเจรจาสันติภาพคือกระบวนการช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมและความเป็นธรรม รวมไปถึงภาพจินตนาการสู่อนาคตที่แตกต่างกัน หากเรามองสันติภาพในแง่นี้แล้ว รัฐไทยได้กระทำการล่วงหน้าด้วยการสร้างความหมายมาโดยตลอด สันติภาพของรัฐไทยถูกสร้างขึ้นจากพล๊อตของความสูญเสียและทวงคืนสัญลักษณ์ที่ภักดีต่อความเป็นไทย ความสำเร็จในแง่นี้ก็คือภาพสะท้อนความตายของกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้

            ใช่ หากพวกเราทุกคนต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพให้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ พวกเราต้องเร่งนำเสนอปากคำและช่วยกันบอกเล่าข่าวความสูญเสีย ไม่เป็นธรรม และข่าวความหวังจากพื้นที่ออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะสมรภูมิของการเจรจาสันติภาพมิใช่อยู่บนโต๊ะเพียงอย่างเดียว หากอยู่ในพื้นที่ของการสื่อสารทุกประเภท

            อย่างน้อย เมื่อเวลาผ่านไป 12 ปี "เหยื่ออธรรม" อย่างคุณอันวาร์และคนอื่นๆ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและรู้สึกว่าสันติภาพไม่เคยตายไปจากผู้คนซึ่งแสวงหามันด้วยเลือดเนื้อและชีวิต