Skip to main content

ไร้ส.ว.มุสลิมใต้นั่งสภาสูง หวั่นกั้นเวทีสภาพุ่งรุงแรง

 12 เม.ย. 54 ก่อนสงกรานต์ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ชิ่งประกาศผลการแต่งตั้งส.ว.สรรหา 73 คน เพื่อให้กระแสของการสาดน้ำสงกรานต์กลบกระแสวิจารณ์ถึงบุคคลที่เข้าไปนั่งในสภาในนามส.ว.สรรหา รวมทั้งกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ก็อดเดินเข้าไปนั่งสภาสูง เพื่อชงนโยบายดับไฟใต้ นักรัฐศาสตร์ใต้ชี้รัฐปิดกั้นเวทีทางการเมืองกลุ่มเคลื่อนไหวมุ่งใช้รุนแรงเพิ่ม

      เมื่อวันที่ 12 เม.ย.54 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงข่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 34/2554 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติให้ประกาศผลการสรรหาและแจ้งประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อทราบและประกาศผลการสรรหาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 73 คน

      มุสลิม 22 รายชื่อจากทั่วประเทศที่ลงสมัครส.ว.สรรหา ที่ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ 2 คน ภาควิชาชีพ 2 คน ภาควิชาการ 2 คน ภาคเอกชน 5 คน และภาคส่วนอื่นๆอีก 11 คน ไม่มีผู้แทนที่มาจากคนมุสลิมแม้แต่คนเดียว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดที่ผลการสรรหาออกมาเป็นเช่นนี้ และจะส่งผลต่อการวางนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

      นายแวดือราแม มะมิงจิ อดีตส.ว.สรรหา จ.ปัตตานี มูลนิธิเพื่อการศึกษาโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องการสรรหานี้เราไม่อยากให้เกิดการขยายความ เพราะว่าส่วนตัวแล้วก็ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า แต่สำหรับผู้ที่เป็นมุสลิมทั่วประเทศย่อมไม่ค่อยสบายใจ ในกระบวนการสรรหาในครั้งนี้ เนื่องจากมีการคาดหวังว่าน่าจะมีมุสลิมที่มีสิทธิประมาณ 5 ท่านที่สามารถเข้าไปอยู่ในสภาได้เพื่อเป็นตัวแทนแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ และในกระบวนการคัดสรรทำให้เกิดความเข้าใจว่าไม่มีการให้เกียรติแก่มุสลิม

                    นายแวดือราแม มะมิงจิ

      ในส่วนที่ไม่มีส.ว.สรรหาโดยเฉพาะมุสลิมในพื้นที่ไม่อยู่ในสภาในสมัยนี้แล้ว นายแวดือราแม กล่าวว่า คงจะต้องฝากประเด็นในการพัฒนาหรือประเด็นต่างๆในการแก้ไขปัญหาให้แก่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งที่ยังอยู่ในสภา ที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้มีส.ว.ที่เป็นมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดๆละคน และคงจะต้องเข้าไปพูดคุยกับ ส.ส. ในพื้นที่อีกด้วย
นายแวดือราแมกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทั้งส.ส. และส.ว. ในพื้นที่ชายแดนใต้ คิดว่าในสิ่งที่เราได้ทำไปแล้วอยากให้ทุกคนได้สานต่อไป และอยากให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ หากว่ามีนโยบายของรัฐส่วนใดที่ไม่กระทบต่อหลักศาสนายินดีที่จะให้ความร่วมมือ

      นายสิทธิชัย บือแนสะเตง มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ผู้ลงสมัครส.ว.สรรหา จากจังหวัดยะลา กล่าวถึงผลที่เกิดต่อการแก้ปัญหาใต้ว่า การคัดสรรส.ว.ในครั้งนี้มันมีผลในการแก้ปัญหาจังหวัดภาคใต้ ซึ่งไม่มีใครเป็นตัวแทนของคนมุสลิมในพื้นที่ไปนั่งในตำแหน่งดังกล่าว ทั้งๆที่มีผู้มีความรู้ความสามารถ เสียดายที่เรามีผู้ที่มีความเข้าใจในปัญหาของสามจังหวัดภาคใต้ ส่วนของการแก้ไขปัญหาหลังจากนี้จะเป็นการแก้ปัญหาไปวันๆ โดยไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาวแต่อย่างใด หากดูเช่นนี้เหมือนกับว่าไม่อยากที่จะแก้ปัญหา หรือไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ทั้งที่บอกว่าการเมืองนำการทหาร ซึ่งนับว่าการแต่งตั้งส.ว.ในครั้งนี้ เป็นการสร้างระบบอำมาตย์ในรัฐสภาซึ่งมีการล็อคตัวบุคคลอย่างชัดเจน โดยไม่ได้มองตัวมุสลิมแม้แต่คนเดียวให้สามารถเข้าไปนั่งในสภาได้ เมื่อรัฐบาลพยายามปิดกั้นมุสลิมในพื้นที่ไม่ให้เข้าไปนั่งในสภา แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนสามจังหวัดและคนมุสลิม

      อยากให้มีการเลือกบุคคลในพื้นที่ที่มีความเข้าใจในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ให้เป็นปากเป็นเสียงแทนคนในพื้นที่ในสภาได้ เพราะว่ากฎหมายที่จะผ่านไปในสภาที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นคนที่เข้าใจในปัญหาสามจังหวัดและเป็นมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ หากว่ามีการเสนอกฎหมายที่ขัดกับบริบทของสามจังหวัด ใครจะเป็นผู้พูด ใครจะมาดูแลเรื่องนี้ ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ในระยะยาวได้

      ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กล่าวถึงการแต่งตั้งส.ว.สรรหาว่า การแต่งตั้งส.ว.สรรหา 73 คน ในครั้งนี้มีความหมายทางด้านการเมืองที่ชัดเจนในการนำเอาไปเป็นฐานอำนาจของทหารและฝ่ายอำนาจเก่า ที่จะต่อสู้กับความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลาง ระหว่างเสื้อแดง ทหาร อำนาจเก่าและพรรคประชาธิปัตย์ นี้เป็นความขัดแย้งที่เป็นหัวใจของประเด็นทางการเมือง

          รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

      การแต่งตั้งส.ว.ครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงประเด็นความเป็นตัวแทน ประเด็นในเชิงนโยบายในระยะยาวมากเท่ากับประเด็นของการต่อสู้เพื่ออำนาจหรือว่ารักษาสถานภาพเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งนี้การที่ไม่มีตัวแทนของมุสลิม หรือว่าตัวแทนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ไขปัญหา จึงกลายเป็นปัญหาที่สำคัญว่าส.ว. ชุดนี้ไม่สามารถที่จะเป็นพื้นที่ในการแก้ปัญหาในทางนโยบายด้านอื่นๆของสังคมไทยได้ นอกเสียจากเป็นฐานอำนาจของฝ่ายที่มีอำนาจในการต่อสู้ทางการเมืองนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง และรัฐบาลละเลยนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเรื่องของส่วนอื่นๆที่มีความขัดแย้ง

      ศรีสมภพ วิเคราะห์ถึงพื้นที่การแสดงออกของคนในพื้นที่ว่า เมื่อพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกกฎหมายถูกปิดกั้น กลายเป็นการกดดันให้กลุ่มที่ไม่มีโอกาสจะได้แสดงออกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมุสลิมหรือว่ากลุ่มที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงกลับหันไปใช้วิธีอื่นๆ เช่น การใช้ความรุนแรง หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาโดยสันติ เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดที่รัฐควรที่จะให้ความสนใจ

      สำหรับสถิติผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ในครั้งนี้มีจำนวน 671 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 586 คน เพศหญิง จำนวน 85 คน คิดเป็นสัดส่วนเพศหญิงร้อยละ 12.6 จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการสรรหา ซึ่งปรากฏว่าเพศหญิง ได้รับการคัดเลือกในการสรรหาครั้งนี้มีจำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 ซึ่งสูงกว่าร้อยละของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาที่เป็นเพศหญิง และในการสรรหาครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับการสรรหาอายุมากสุดคืออายุ 75 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยสุดคือ 46 ปี มีจำนวน 3 คน นอกจากนี้สัดส่วนที่น่าสนใจของการสรรหา ส.ว.ในครั้งนี้คือสัดส่วนของผู้ด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งมีการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเพียง 2 คน ปรากฏว่าได้รับการสรรหา 1 คน สำหรับวุฒิการศึกษาของผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. สรรหา แบ่งเป็น วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 17 คน ปริญญาโท จำนวน 47 คน ปริญญาเอก จำนวน 9 คน อนึ่ง ส.ว. สรรหาชุดใหม่นี้มีอดีตข้าราชการตำรวจ 6 คน อดีตข้าราชการทหาร 11 คน อดีตข้าราชการพลเรือน 18 คน และนักกฎหมาย 11 คน รวมอยู่ด้วย ทั้งประกอบบุคคลที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งและอยู่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย

      ดร.สุทธิพล เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาในครั้งนี้ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ ส.ว.ทั้งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม ความมั่นคง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การปกครอง การต่างประเทศ การเงินการคลัง การเกษตร เศรษฐกิจและสังคม การประมง อุตสาหกรรม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ สื่อสารมวลชน แรงงาน สังคมสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ ศาสนา และการกีฬา