Skip to main content
แม้ว่าฉันจะเติบโตขึ้น ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม  ที่มีคนต่างชาติพันธุ์  ทั้งไทยพุทธ  ไทยมุสลิม  และไทยจีน อยู่ด้วยกัน   เพื่อนๆ ของฉัน ของครอบครัวฉัน  ก็ล้วนอยู่ใน 3 กลุ่มนี้ทั้งนั้น  ตลอดเวลาที่ผ่านมา  ฉันไม่เคยรู้สึกถึงความแตกต่าง การแบ่งแยก หรือ เส้นขีดคั่น ระหว่างคนทั้ง 3 ชาติพันธุ์เลย   ทำให้ฉันไม่เคยเข้าใจว่า  มันจะมีรอยแยก รอยบาดหมาง ท่ามกลางคนต่างชาติพันธุ์เหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร
 
 
ส่วนตัวฉันแล้ว
 
“ฉันคุ้นเคยกับคนจีน  เพราะเพื่อนบ้านสมัยเด็กล้วนเป็นคนจีน  พูดภาษาจีนกลาง และจีนอื่นๆ เช่น  แต้จิ๋ว กว้างตุ้ง ไหหลำ  จีนแคะ  บ้านฉันพูดภาษาฮกเกี้ยน    นอกจากภาษาจีน 2 ภาษา และภาษาไทย แล้ว  ผู้ใหญ่ที่บ้านฉันก็ยังพูดภาษามลายูได้อีกด้วย  เรามี “เจ๊ะซอ”  เพื่อนชาวมุสลิมของอาม่าที่อยู่ที่ตำบลท่าสาบ  เจ๊ะซอ มักเอาผลไม้มาฝากที่บ้านบ่อยๆ    มี “กะนิ”  ที่เดินขายไก่กอและ  ไข่มดแดง  ข้าวหลาม  ผ่านหน้าบ้าน  หรือ แม้แต่ “กะนิ" คนสวย ที่มาขายเครื่องประดับให้ถึงบ้าน  ยังมีแม่ชีสุธรรม วัดพุทธภูมิ ที่เข้ามาคุยกับอาม่าเสมอๆ  ที่บ้านฉันมีคนเข้ามาบ้านมากมาย  และเราต้อนรับทุกคนไม่แตกต่างกัน 
 
เมื่อขึ้นชั้นประถม  ฉันเรียนโรงเรียนจีน  มีเพื่อนเป็นลูกหลานคนจีน เรามีชื่อภาษาจีน ชื่อเล่นเพื่อนๆ ก็มาจากภาษาจีน เช่น ชุ่ยหลิน ปิงปิง  รี่รี่  เซี๊ยะ  หลำ เคี้ยง จินหรือจิง  เมื่อขึ้นชั้นมัธยม  ฉันมีเพื่อนหลากหลายขึ้น ทั้งเพื่อนคนไทย และเพื่อนคนมุสลิม   เราเรียนห้องเดียวกัน เล่นด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ไม่เคยเกิดความรู้สึกแตกต่างกันแต่อย่างใด  เพียงแต่เพื่อนมุสลิมไม่กินหมู และต้องละหมาด ก็แค่นั้นเอง นอกนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนคนไทย หรือ เพื่อนคนจีน    สมัยนั้น  นักเรียนยังไม่ต้องมีผ้าคลุมผม  เพื่อนมุสลิมบางคน เช่น จุ๋ม อัญชลี  เพื่อนที่เรียนด้วยกันตอน ม.4  หน้าของเธอออกจะคล้ายคนจีนด้วยซ้ำ “  
 
....จากเรื่อง ขอปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันเกิดขึ้นใน 3 จชต
              
คงเป็นเพราะ ฉันไม่เคยถูก “เลือกปฏิบัติ”  ฉันจึงไม่ทราบว่า การเลือกปฏิบัติ มีอยู่จริงในกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์      
 
เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว   ฉันเคยเข้าไปในธนาคารแห่งหนึ่ง  ระหว่างที่นั่งรอ   ฉันหันไปมองผู้หญิงมุสลิม ท่าทางเป็น “ชาวบ้าน”  ที่ยืนรออยู่มุมหนึ่งของธนาคาร
 
คำคำนี้  ฉันเคยถามเพื่อนคนหนึ่งว่า  แล้วอย่างเราๆ เรียกว่าอะไร  เรียก “ชาวบ้าน” ด้วยหรือเปล่า  เพื่อนฉันบอกว่า  อย่างเราๆ ไม่เรียกว่าชาวบ้าน  เราไม่ใช่ชาวบ้าน    แต่ก็ไม่ได้บอกว่า เรียกว่าอะไร
 
ผู้หญิงมุสลิม“ชาวบ้าน” คนนั้น ยืนรอ โดยไม่มีใครสนใจ  จนกระทั่งเก้าอี้หน้าโต๊ะที่เปิดบัญชีใหม่ทั้งหมดว่างลง  จึงมีเสียงดังขึ้น  “มาทำอะไร”  ผู้หญิงมุสลิม ”ชาวบ้าน” คนนั้น  บอกว่า ”มาทำบัตรกดเงิน”   เสียงเดิมดังขึ้นอีกว่า  “เอ้า นั่งลง กรอกแบบฟอร์ม ”   เธอนั่งอยู่หน้าโต๊ะที่เปิดบัญชี  ด้วยท่าทีเงอะๆ งะๆ   หน้าตาออกอาการงงๆ  มือจับปากกาค้างไว้  ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคาร พูดเสียงห้วนกับเธอว่า  “เขียนหนังสือไม่ได้ เซ็นต์ชื่อไม่ได้ ก็เปิดบัญชีไม่ได้  ทำบัตรเอทีเอ็มไม่ได้“    
 
ผู้ชายที่อยู่ข้างๆเธอ ยื่นบัตรประชาชนไปให้เจ้าหน้าที่    ฉันได้ยินเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบอกว่า “เซ็นต์ชื่อไม่ได้ ก็ปั๊มลายนิ้วมือแทน”  แล้วบอกให้ผู้ชายข้างๆ เธอไปช่วยจัดการ   ฉันไม่ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรต่อไป  เพราะถึงลำดับเรียกของฉันพอดี 
 
นี่เป็นครั้งแรก ที่ฉันเจอเหตุการณ์การ "เลือกปฏิบัติ" ด้วยตาของตัวเอง
 
ตอนนั้น  ฉันคิดแต่เพียงว่า สงสารผู้หญิงมุสลิม ”ชาวบ้าน” คนนั้น  ที่ถูกพนักงานธนาคาร “ข่ม”  และเธอไม่สามารถต่อกรกับพนักงานได้เลย    แต่ทว่าเหตุการณ์นี้   เป็นเหตุการณ์ที่ฉันหยิบยกขึ้นมาทุกครั้ง  เมื่อมีใครถามฉันว่า  จริงหรือ  ที่คนมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติ
 
นี่เป็นการ"ปฏิบัติ" ของธนาคาร ของหน่วยงานเอกชน ที่ลูกค้าทุกคน คือพระเจ้า  คือเจ้านาย  คือคนที่นำกำไรมาให้  แต่ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ 
  
แล้ว...ถ้าเป็นหน่วยงานราชการไทยล่ะ  หน่วยงานที่ผู้รับบริการเกือบทุกคนมีหน้าที่รอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับบริการ และเป็นบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนผู้เสียภาษีพึงได้รับ  ประชาชนที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนของข้าราชการ ผู้มีหน้าที่ให้บริการเหล่านั้นได้รับทุกเดือน    ฉันไม่อยากนึกเลยว่า ผู้รับบริการกลุ่มนี้  จะถูกปฏิบัติอย่างไรเมื่อไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ  
 
ฉันรู้ว่า สถานที่ราชการทุกแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ล้วนแต่มีกลุ่มของคนต่างชาติพันธุ์  ทั้งไทยพุทธ  ไทยมุสลิม  และไทยจีน ทำงานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น    แต่ฉันไม่อาจทราบได้ว่า  ในหน่วยงานราชการนั้น  ระหว่างข้าราชการ และลูกจ้างด้วยกัน  มีการเลือกปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานที่ต่างชาติพันธุ์กันหรือไม่  อย่างไร   มีการวางตัวเป็น "เจ้าคน นายคน" ของคนบางกลุ่ม หรือไม่   และมีวัฒนธรรมองค์การที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ถ่ายทอดไปสู่คนในครอบครัวหรือไม่   เพราะฉันไม่ค่อยได้เข้าไปในสถานที่ราชการ  หรือถ้าต้องไป ก็มักจะเจอคนรู้จัก ได้รับการต้อนรับอย่างดี และใช้เวลาไม่นานนัก  จนไม่สามารถสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในสถานที่ราชการได้
 
น้องฉันเล่าเรื่อง คนไทยพุทธ  ไทยจีน  และไทยมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ฉันฟังอยู่บ่อยๆ   ทั้งเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  ทั้งเรื่องความคิดเห็น  ความรู้สึก นึกคิด  โดยเฉพาะคนไทยมุสลิม  ท่ามกลางบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และจากปัจจัยต่างๆ  ทั้งภายนอกและภายใน    ฉันได้แต่รับฟัง  เพราะรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้  มันอยู่รอบๆ ตัวก็จริง  แต่มันไกลจากตัวฉัน  ฉันไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย  วงกลมของฉันห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้นัก        
    
สำหรับฉันแล้ว  ถึงแม้ว่าหน้าที่การงานบางช่วงของฉันต้องติดต่อ ประสานงานกับคนมุสลิมบ้าง  แต่ฉันก็ “ปฏิบัติ”  กับทุกคน เฉกเช่นเดียวกัน  ไม่ต่างจากที่ฉัน “ปฏิบัติ” กับ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ  เจ้าหน้าที่เทศบาล  เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้าง  และทหาร  
 
ที่บ้านฉัน  เรามักจะพูดกันเอง และบอกกับใครๆ ว่า เราเป็นคนจีน  ลูกคนจีน  หลานคนจีน  แต่ขณะเดียวกัน  เราไม่ชอบให้ใครมาเรียกเราว่า “เจ๊ก”  เพราะสำหรับเราแล้ว  “จีน”  กับ “เจ๊ก”  มีความหมายแตกต่างกัน  ถ้าคนจีน  คือ “อย่างเราๆ”  “เจ๊ก” ก็น่าจะเป็น “ชาวบ้าน”  ที่พูดจาเสียงดัง เอะอะ  โหวกเหวก โวยวาย  ขากถุยไม่เลือกที่       
 
ขณะเดียวกัน  เราก็ไม่ชอบที่จะเป็นคนไทย (แท้)  เพราะ หนึ่ง เราไม่ใช่  เรายังภูมิใจในความเป็นจีนของเรา และ  สอง  เรารู้สึกว่า  คนไทย (แท้) ไม่ขยันเท่าคนจีน   
 
แม้แต่ในบ้านของฉันเอง  เรายังมีเส้นแบ่งระหว่างคนไทย  และคนจีนกันเองเลย   
 
ฉันไม่ได้ติดใจในเรื่องนี้  เพียงแต่ว่า ฉันก็รู้สึกไม่ชอบเหมือนกัน  ถ้าไปเดินในตลาด และมีคนไม่รู้จัก มาเรียกฉันว่า “เจ๊”  แทนที่จะเรียกว่า "พี่"  แม้ว่าหน้าตาของฉัน จะบ่งบอกไปในทางเดียวกันกับสรรพนามที่เรียกก็ตาม  แต่ถ้าคนรู้จักกัน  เรียกชื่อฉันและมีเจ๊นำหน้า  ฉันกลับไม่รู้สึกอะไร
 
จนกระทั่งวันหนึ่ง  ระหว่างที่นั่งกินข้าว กินขนม และพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนๆ  มีเด็กผิวขาว หน้าตาออกแนวตี๋ หมวย 3-4 คน มาวิ่งเล่นใกล้ๆ โต๊ะที่เรานั่ง  เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า  “พวกเด็กลูกคนจีน ในตลาด”  ฉันถึงกับนิ่งไปครู่หนึ่ง  อาจจะไม่มีนัยยะใดๆ แอบแฝงอยู่ในคำพูดนั้น  แต่เป็นครั้งแรก ที่คำว่า “พวกลูกคนจีน”  ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงเส้นแบ่ง  ที่ขีด ฉันและเพื่อน “ลูกคนจีน”  ออกจาก  เพื่อน"ลูกคนไทย"  เพื่อน"ลูกคนมุสลิม"  หรือแม้แต่  เพื่อน"ลูกแขกปาทาน"
 
ทำให้ฉันหวนนึกกลับไปว่า  ที่ผ่านมา ที่ฉันบอกว่า ฉัน “ไม่เลือกปฏิบัติ”  ไม่ว่ากับใคร นั้น  แท้จริงแล้วฉันได้  "ข่ม"  ใคร ผ่านภาษาพูด ภาษากาย  ผ่าน กิริยา วาจา ท่าทาง  น้ำเสียง และคำพูดที่เลือกใช้  ไปบ้างหรือไม่ โดยไม่รู้ตัว
 
เพราะฉันรู้สึก (ไปเอง) ว่า ระหว่างตัวอักษรและคำแต่ละคำ ของคำว่า “พวกลูกคนจีน”  มันแฝงไว้ด้วย การถือเขา-ถือเรา การถือตัว และการแบ่งแยก ที่ “ลูกคนจีน” กลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง  ทั้งๆ ที่เราเป็นเพื่อนกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน มุสลิม หรือปาทาน  และทั้งๆที่ “ลูกคนจีน”  เป็นคำที่ที่บ้านฉันใช้กันอย่างแสนภาคภูมิใจ
 
แค่คำพูดประโยคเดียว  ยังทำให้ฉันรู้สึกได้ขนาดนี้  แล้วคนที่ถูก "เลือกปฏิบัติ"  ทั้งคำพูดและการกระทำ จากคนที่อยู่ด้วยกันในสังคมเดียวกันมานานนับปี    จะรู้สึกอย่างไร
  
และแล้ว....ฉันก็เข้าใจถึงความรู้สึกของคนมลายู  ของคนไทยมุสลิม 
 
เข้าใจดีกว่า  ตอนที่เขียนข้อความด้านล่าง ในเรื่อง ขอปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันเกิดขึ้นใน 3 จชต 
 
"ขณะที่  ความรู้สึกของความไม่แตกต่างระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ถูกทำลายลงไปใกล้หมดสิ้น และเกิด “ความเป็นฉัน” “ความเป็นเธอ” มากขึ้นถึงขีดสุด  ขณะที่ “ความเป็นเรา” น้อยลงจนแทบจะไม่มีเหลือ"   
  
ฉันเล่าเรื่องนี้ให้น้องฟัง  และบอกว่า  “ถ้าไม่เจอด้วยตัวเอง ก็คงไม่รู้”  
  
น้องฉันบอกว่า นี่เป็นสิ่งที่คนมลายูอยากให้ “คนอื่น” ได้รู้บ้าง
 
*****
ขอบคุณความรู้เพิ่มเติมจากบังอายุบ
 
ไทยมุสลิม เป็นคำที่ รัฐเรียก
มลายูมุสลิม หมายถึง คนมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม
มลายู หมายถึง คนมลายูมุสลิม ในความหมายที่คนมักเรียกกันแบบง่ายๆ