Skip to main content

ตอนที่ ๕

เจ็ดปี...ยังไม่พอ

 

                               มีคนบอกผมว่าสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ชอบนำเสนอผลลัพธ์ของความขัดแย้งและความรุนแรง แต่ไม่ชอบนำเสนอสาเหตุหรือต้นเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง ผมอยากจะเถียงแทนแต่ไม่รู้จะเอาอะไรมาเถียง

                              การปล้นปืนในค่ายทหารและคาร์บอมบ้านพักตำรวจเป็นการสื่อสารอย่างชัดเจนที่สุดสัญญาณหนึ่งของฝ่ายกลุ่มขบวนการ ที่ต้องการสะท้อนการปฏิเสธนโยบายของรัฐที่ลังเลและเต็มไปด้วยความโง่แกมหยิ่ง แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจำนวนน้อยครั้งแต่ละครั้งกลับมีดีกรีระดับความเข้มข้นชนิดที่เรียกว่าคุณภาพคับแก้ว การปล้นปืนในค่ายทหาร ท่ามกลางสายตาทหารที่มองตาปริบๆต่อสู้ขัดขืนอะไรไม่ได้  คาร์บอมบ้านพักตำรวจก็ทำต่อหน้าต่อตาตำรวจเห็นหน้าเห็นตากันจะๆจอดรถบรรทุกระเบิดแล้ววิ่งไปขึ้นจักรยานยนต์ท่ามกลางสายตาตำรวจที่มองตาปริบๆเช่นกัน นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ครับท่านผู้นำประเทศไทย

                               ท่านผู้นำฝ่ายขบวนการ ท่านอาจดูประสบความสำเร็จในการสร้างความรุนแรง สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความตื่นตะหนกหวาดกลัวให้กับผู้เคราะห์ร้ายที่เป็น ประชาชน ทหาร ตำรวจและข้าราชการ แต่ก็เป็นเพียงชั้นผู้น้อยในพื้นที่เท่านั้นครับ ระดับผู้นำประเทศเขาไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ หากทางฝ่ายขบวนการต้องการให้ปัตตานีเป็นเอกราช ด้วยการใช้ความรุนแรงอย่างเดียว ก็จะเหมือนคนที่เอาหัวไปวิ่งชนกับกำแพงอย่างเก่งก็ทำให้กำแพงเปื้อนเลือด ไม่ใช่ระดับผู้นำประเทศบางคนของรัฐไทยเก่ง แต่เขากำลังสนุกกับงบประมาณที่ทุ่มลงไป ทหารเขาเรียกเกณฑ์ได้เพิ่มทุกปี แต่ท่านสร้างคนมายี่สิบปี ปะทะบาดเจ็บล้มตายหนีหมายจับออกนอกประเทศกลับไม่ได้ปีละกี่คนเคยจดบันทึกบ้างใหม ท่านบอกกับญาติวีรชนของขบวนการได้ใหม ว่าการตายของเขาทำให้ท่านและขบวนการใกล้จะประสบความสำเร็จที่ต้องการให้ปัตตานีเป็นเอกราช แค่ไหน ต้องการวีรชนมาเสียสละอีกเท่าไหร่ จึงจะพอเพียงที่จะได้รับชัยชนะจนทำให้ผู้นำประเทศของรัฐไทยยินยอมให้ ปัตตานีเป็นเอกราช

                              ลองมาดูวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในต่างประเทศ เช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน มีประชากรเป็นพันล้าน มีพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ใครไม่เห็นด้วยมาประท้วง เขาเอารถถังบดทีเดียวสี่พันคนเรียบ เผด็จการขนาดนั้น เขายังให้มีเขตปกครองพิเศษซินเกียง เพื่อให้คนท้องถิ่นขึ้นมาปกครองตนเอง มีอัตลักษณ์มีป้ายบอกทางที่เป็นภาษาอุยกรูที่ไม่ใช่จีนฮั่น แต่มีข้อตกลงว่าผู้นำเขตปกครองพิเศษซินเกียงสามารถเป็นชาวอุยกรูได้แต่ต้องเป็นคนที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น เพราะเป็นปัญหาเรื่องการเมืองมิใช่ปัญหาเรื่องการทหาร จึงแก้ด้วยวิธีทางการเมือง ด้วยการกระจายอำนาจ ก็ไม่เห็นว่าเขาจะเสียหน้าเสียตาหรือเสียดินแดนแต่อย่างใดปัจจุบันกลับเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกด้วยซ้ำไป ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ที่ถือว่าเป็นเมืองผู้ดีที่แสนจะหยิ่งยโส ปกครองไปแล้วทั่วโลก รบจนไม่มีใครอยากรบด้วย มีกองทัพเรือที่ดีที่สุดในโลก มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่หลายประเทศนำไปลอกเลียนแบบรวมทั้งประเทศไทย วันหนึ่งต้องไปขัดแย้งกับคนไอริชที่มีเพียงแค่หนึ่งล้านหกแสนคน

(ใก้ลเคียงกับประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่รบด้วยการทหารอย่างไรอังกฤษก็ไม่มีทางชนะขบวนการไอร์อาร์เอก็ไม่มีทางชนะสู้กันมาสามสิบปี สุดท้ายแล้วไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะมีแต่ความสูญเสียของทั้งคู่ เลยค่อยๆคุยกัน จนนำไปสู่การเจรจาหยุดยิง ยุติการใช้ความรุนแรง มาเป็นการใช้การเมืองแบบเพาเวอร์แชร์ริ่ง หรือการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วม ขบวนการไอร์อาร์เอ ก็ไม่ได้ชนะด้วยการทหาร แต่ชนะด้วยการสามารถมีส่วนร่วมทางเมืองการปกครอง ด้วยการมีพรรคชิมเฟนเป็นตัวแทนของขบวนการไอร์อาร์เอเข้าไปนั่งในสภา มีข้อตกลงร่วมกันจนทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งในเชื้อชาติ ให้ความขัดแย้งยังคงมีอยู่แต่เปลี่ยนวิธีแก้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ทุกวันนี้ไม่เคยได้ข่าวว่ามีเสียงปืนที่ไอร์แลนด์เหนืออีกเลย

                         ผมเชื่อว่าท่านผู้มีอำนาจของรัฐไทยและท่านผู้นำฝ่ายขบวนการ ถ้ารู้จักค่อยๆคิดนอกกรอบ จากเดิมที่เน้นการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง มาเป็นแนวทางสันติวิธี แล้วพิจารณาว่าอย่างไหนมีโอกาสสำเร็จและเป็นไปได้มากกว่ากันแบบไม่ใครแพ้ใครชนะฝ่ายเดียว แต่เอาแบบชนะทั้งคู่ ดูประวัติศาสตร์ชาติอื่นแล้วลองย้อนมองตน นับประสบการณ์เจ็ดปีหลังปล้นปืนค่ายปิเหลงทั้งคู่ยังไม่พอ หรือต้องรอให้ผ่านไปสามสิบปีอย่างประเทศอื่นแล้วค่อยมาคุยกัน...