Skip to main content

 

 

 

 

 

อย่างที่น้องฉันเขียนไว้ใน  “ความทรงจำที่ถูกเผาผลาญ”

 

                7 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงได้สร้างความทรงจำอันเจ็บปวดให้คน 3 จังหวัดอย่างถ้วนหน้า ถึงวันนี้ แทบจะไม่เหลือใครที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนี้แล้ว ”

  

                และวันนี้  เมื่อ“บ้านเรา” ถูกเพิ่มเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ ฉันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ฉันโกรธใครหรือเปล่า ที่ทำให้บ้านเก่าของฉันถูกไฟไหม้หมดไม่มีเหลือ

 

                หลังจากที่ทบทวน และตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองหลายครั้ง  รวมถึง นึกย้อนไปถึงครั้งแรกที่รู้ว่า บ้านเก่าถูกไฟไหม้หมดแล้ว  ฉันพบว่า  ฉันไม่มีความรู้สึกโกรธใคร  เมื่อถามต่อว่า ทำไมถึงไม่โกรธ  ฉันยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแบบฟันธงให้กับตัวเอง  หรือใครที่จะตั้งคำถามนี้กับฉัน 

 

                ถ้าตอบแบบ “พื้นๆ”  เป็น “รูปธรรม”  ก็เป็นเพราะ ฉันไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง  บ้านเก่านั้น ไม่มีใครในครอบครัวอยู่แล้ว  เป็นบ้านให้เช่า    

 

                แต่นั่น  ก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลที่อยู่ ”ลึก” ลงไปในแง่มุมของ “นามธรรม” ถึง “ความรู้สึก” ที่สูญเสียไป  เพราะมี “ใคร” เป็นผู้กระทำ

 

                ป้าฉันเล่าให้ฟังว่า พี่ไก่...ร้านเฮนเบเกอรี่ บอกว่า “ก็ไม่ได้โกรธใคร  เราอยู่ด้วยกันแบบพี่น้องตลอดมา  อยากจะขอให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย”

 

                แม่ฉัน ที่ได้เจอและพูดคุยกับ “ผู้ได้รับผลกระทบ” และ “ผู้สูญเสีย” อีก 12 บ้านที่ถูกไฟไหม้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์  ก็ไม่เคยบอกว่า มีใครกล่าวโทษ “ใคร” ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้              

 

                เพื่อนคนหนึ่ง ได้อ่านเรื่องที่ฉันเขียนถึงบ้านเก่า  เธอโทรศัพท์มาหาฉัน  หลังจากที่ผลัดกันเล่าเรื่อง  ...เรื่องที่ฉันรู้ทางโทรศัพท์   กับเรื่องที่เธอเห็นเหตุการณ์จริง...   เธอบอกฉันว่า  “ครั้งที่แล้วโดนพวกเขา  ครั้งนี้โดนพวกเรา”   

 

                ฉันถามน้องว่า  โกรธใครไหมในเหตุการณ์นี้   น้องฉันตอบว่า  ไม่ได้โกรธใคร                 

 

                ส่วนฉัน  ที่ไม่ได้นึกโกรธใคร  แต่ยังไม่มีคำอธิบาย  ก็มานึกว่า  จะเป็นเพราะอย่างนี้ไหม  

 

                ที่ “เรา”  ไม่โกรธ “ใคร” ที่กระทำเหตุการณ์นี้  เพราะ  เรารู้ว่า ที่ผ่านมา "ผู้ที่ได้รับผลกระทบ" หรือ "ผู้สูญเสีย" ไม่ใช่มีแต่เฉพาะ คนไทย คนจีน หรือ คนมุสลิม  ทุกคนล้วนแต่เคยเป็น "ผู้ได้รับผลกระทบ" หรือ "ผู้สูญเสีย" ด้วยกันทั้งสิ้น  ผลัดกันเป็นคราวๆ ไป

 

                หรือ เป็นเพราะ เรายังมีเพื่อนทั้งคนไทย คนจีน คนมุสลิม ที่ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยังไปมาหาสู่กัน  ค้าขายด้วยกันจนถึงทุกวันนี้  เรารู้ว่า เพื่อนเราไม่น่าจะทำกับเรา

 

                หรือ  จะเป็นเพราะว่า จากข่าวเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า   เรามักจะพบการรายงานข่าวที่ว่า “ผู้ก่อการร้ายได้หลบหนีไปทันทีที่เกิดเหตุการณ์  ไม่สามารถตามจับตัวได้”  หรือ  “เป็นที่น่าเสียดายว่า ภาพจากกล้องวงจรปิด เห็นหน้าผู้ต้องสงสัยไม่ชัดเจน”    

               

               จากหัวข้อข่าว คดีความ 3 จังหวัดใต้ พุ่ง 72,731 คดี  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4247  

 

                “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2547-31 มีนาคม 2553 มีคดีอาญาเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 72,731 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคงจำนวน 7,439 คดี หรือร้อยละ 10.23 ในจำนวน 7,439 คดีนี้เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,751 คดี หรือร้อยละ 23.54 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 1,227 คดี หรือร้อยละ 16.49 และไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 5,081 คดี หรือร้อยละ 76.46”

 

                 "ขณะที่ผลคดีถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำนวน 238 คดี ปรากฏว่าศาลตัดสินลงโทษ 135 คดี ผู้กระทำผิด 216 คน ตัดสินยกฟ้อง 103 คดี ผู้กระทำผิด 224 คน แต่ผลคดีในชั้นอุทธรณ์ได้เริ่มทยอยมีคำพิพากษาออกมา ในขณะนี้มีจำนวน 30 คดี โดยศาล ชั้นต้นตัดสินลงโทษ 22 คดี ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องมีเพียง 8 คดี หรือร้อยละ 27 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษยืนตามศาลชั้นต้น”

 

                “สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกามีเพียงคดีเดียว ได้แก่ คดีลอบวางระเบิดบริเวณ หน้าห้างพิธาน จังหวัดปัตตานี ที่ทำให้ตำรวจ 2 นายที่เก็บกู้วัตถุระเบิดเสียชีวิต ซึ่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาลงโทษ แต่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษายกฟ้อง”

 

                 หรือ  จะเป็นเพราะว่า  เราชาชินกับ “เหตุการณ์รุนแรงเป็นปกติ” เช่นนี้ไปแล้ว  โดยไม่รู้ว่า “ใคร” ทำ เราก็เลยไม่รู้ว่าจะโกรธ “ใคร”