Skip to main content

วันที่ฉันไปซื้อของที่ร้านเฮนเบเกอรี่ ก่อนที่จะเกิดคาร์บอมบ์  มีทหารเดินเข้ามาในร้าน 2-3 คน   ขณะที่ลูกค้าคนอื่นๆ ถอดรองเท้าไว้หน้าร้านและเดินเข้าไปซื้อของ  แต่ทหารสามารถใส่รองเท้าบู้ทเดินเข้าไปซื้อของได้  ไม่มีใครว่าอะไร    ฉันนึกอยู่ในใจว่า ทำไม่ถึงไม่ถอดรองเท้าเหมือนคนอื่น  ถ้ารู้ว่าจะมาซื้อของ ก็ไม่ต้องใส่ชุดทหารมา จะได้ใส่รองเท้าคู่อื่นได้  ลูกค้าคนอื่นก็จะได้ไม่กลัวที่มีทหารมาเดินซื้อของในร้านด้วย   คิดกระทั่งว่า หนีงานมาซื้อของหรือเปล่า    ...แล้วฉันก็นึกได้และเข้าใจเองว่า ทหารคงถอดรองเท้าบู้ทลำบาก เลยได้รับอนุญาตจาก เจ้าของร้าน และคนซื้อของคนอื่นๆ (หรือเปล่าไม่ทราบ)  ให้ใส่รองเท้าเข้ามาเลือกซื้อของในร้านได้  

เป็นเพราะเรายอมรับกันได้ จึงไม่มีปัญหา  เป็นการยอมรับกันได้ โดยเข้าใจและไม่ต้องบอกกล่าว  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการถอดรองเท้าในช่วงเวลา 10 นาทีในการซื้อของล่ะ  ถ้าเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ เช่น วัฒนธรรมการใช้ชีวิต หรือวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน  จะต้องบอกกล่าว หรือคุยกันก่อนหรือเปล่า

ตามที่ฉันเล่าให้ฟังว่า ฉันทำงานกับทหารอยู่ช่วงหนึ่ง  ฉันอยากจะเล่าสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการทำงานกับทหารในช่วงสั้นๆ  นั้น

ในปี 2548  ทุกกระทรวงจะต้องมีโครงการที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของรัฐบาลในสมัยนั้น   หน่วยงานของฉันมีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ จึงเป็นหน่วยประสานงานของกระทรวง

หลังจากที่ติดต่อทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง  กับทหารคนที่ประสานงานกับฉันเรื่องโครงการที่หน่วยงานฉันจะลงไปดำเนินการ ระหว่างที่พูดโทรศัพท์ครั้งที่ 3  ทหารพูดกับฉันขึ้นว่า  "ทำไมคุณถึงเรื่องมากแบบนี้  ถ้ายังไม่พร้อม ก็ไม่ต้องทำ"  ฉันนิ่งไปครู่หนึ่ง  พร้อมๆกับนึกว่า ทหารคนนี้เป็นญาติสนิทคนไหนของฉัน ถึงได้รู้ว่า "ฉันเรื่องมาก" จากการพูดโทรศัพท์กันเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น  และ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหน้า  ฉันจึงตอบทหารคนนั้นไปว่า  "ได้ค่ะ ถ้าอย่างงั้น ดิฉันจะโทรศัพท์ไปเรียนท่านรองแม่ทัพ...ฉันบอกชื่อ-นามสกุลเต็มยศ... ที่บอกให้ดิฉันประสานกับคุณทหารให้เอาโครงการมาลงที่นี่ว่า ...ยศ-ชื่อ-นามสกุลของคุณทหาร... บอกว่า ดิฉันเรื่องมาก ถ้าดิฉันยังไม่พร้อมจะทำโครงการ ก็ไม่ต้องทำ"   และก็ถึงคราวที่ทหารคนนั้นอึ้งไปบ้าง    และฉันก็ทำอย่างที่ฉันบอกไว้จริงๆ

ฉันเล่าเรื่องนี้ให้พี่กับน้องฟัง โดยปกติพี่กับน้องฉัน ก็จะเข้าข้างฉันเสมอ  แต่ครั้งนี้ ทั้ง 2 คน ก็อึ้งไปเช่นกัน  หลังจากนิ่งไปครู่หนึ่ง ก็หัวเราะออกมา ซึ่งจะหัวเราะออกมาทันทีก็คงเกรงใจฉันอยู่  แล้วก็บอกว่า ทหารคนนี้รู้จริง

เมื่อย้อนนึกถึงเรื่องนี้ในวันนี้   ฉันอยากจะขอโทษคุณทหารคนนั้น  และอยากบอกว่าฉันเสียใจที่พูดไปแบบนั้นในวันนั้น  ฉันคง "เรื่องมาก" จริงๆ เพราะทั้ง 2 ครั้งที่ฉันโทรศัพท์ไป  ฉันมีแต่พูดถึงฉันฝ่ายเดียว  ฉันจะเอาโครงการนี้ไปลง  ฉันต้องการนี่  ต้องการนั่น เยอะแยะมากมาย  ฉัน ฉัน ฉัน เต็มไปหมด   ฉันถามคุณทหารเพียงคำเดียวว่า จะให้ทำโครงการนี้ที่ไหน  เมื่อคุณทหารบอกชื่อพื้นที่มา  ฉันถามกลับไปว่า  "จะดีหรือคะ ฟังชื่อดูน่ากลัว  ทำไมถึงเอาพื้นที่นี้ละคะ  มีที่อื่นให้เลือกอีกไหมคะ"   คุณทหารตัดบท บอกว่า  "พื้นที่นี้แหละดีแล้ว ท้าทายดี" 

การพูดโทรศัพท์ทั้ง 3 ครั้ง  ฉันไม่เคยถามเลยว่า จริงๆ แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่นั้นต้องการอะไร  มีอะไรในพื้นที่บ้าง  ถ้าเอาโครงการนี้ไปลงจะดีไหม  ถ้าขออย่างนี้ จะสะดวกกับทางพื้นที่ไหม    และสิ่งที่ฉันขอ บางเรื่องก็เป็นเรื่องปลีกย่อยเกินไปในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  เช่น  ให้มีป้ายผ้าต้อนรับท่านรัฐมนตรี เขียนว่า......    ให้เอาดินส่งมาวิเคราะห์  ให้เตรียมอาหารให้คนมาร่วมโครงการ  ฉันบอกกระทั่งว่าอาหารอะไร  ขนมอะไรและน้ำอะไร   และ ให้...ให้...ให้...  

(ฉันคิดว่า) จึงทำให้ การโทรศัพท์ไปครั้งที่ 3  สร้างความทนไม่ไหวให้กับคุณทหาร  ถึงได้พูดออกมาว่า ฉันเรื่องมาก  จริงๆ  แล้ว  คุณทหารคนนั้น อาจจะอยากบอกฉันอย่างนี้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่พูดกันด้วยซ้ำ

ฉันลืมนึกไปว่า คุณทหารไม่ได้ขอโครงการนี้  เป็นหน่วยงานของฉันเองที่กำหนดว่าจะเอาโครงการนี้ไปลง   คุณทหารไม่ใช่คนที่เคยทำงานกับหน่วยงานฉัน ที่พอจะรู้เรื่องโครงการอยู่บ้าง   คุณทหารมีงานหลักของทหาร  และยังต้องดูแล-ผูกมิตรกับชาวบ้าน  มีงานอื่นๆ อีกมากมายที่สำคัญกว่าต้องทำ    งานของฉัน ก็แค่งานเล็กกระจิ๊ดริด  ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทำไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา  และคุณทหารไม่ใช่เจ้าหน้าที่โครงการ ที่มีหน้าที่มาดูแลเรื่องโครงการ 2 วันของฉันแบบเต็มเวลา

และฉันไม่เคยคิดที่จะถามคุณทหารเลยว่า  จะให้ฉันเรียกคุณทหารว่าอย่างไร   ฉันก็เรียก "คุณทหาร" ตามแบบของฉันไป 

คงจะดีกว่านี้  ถ้าฉัน "คุย" กับคุณทหาร โดยเรียกชื่อที่คุณทหารอยากให้เรียก  ฉันควรจะ  "คุย" เพื่อให้  "รู้เขา รู้เรา"   "คุย" เพื่อให้รู้ว่า ทหารทำงานยังไง  พื้นที่เป็นอย่างไร  มีอะไรในพื้นที่บ้าง คนในพื้นที่ทำงานอะไร  มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร    "คุย" ให้รู้จักกันมากขึ้น  เพื่อที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น   และ  "ถาม" เหมือนถามเพื่อนคนหนึ่งว่า  รู้สึกอย่างไร ที่เป็นคนที่อื่นแต่มาทำงานที่นี่   ลำพังการทำงานต่างถิ่นในสถานการณ์ปกติ  ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่    แต่นี่ เป็นการทำงานในสถานการณ์ไม่ปกติ  ไหนจะต้องปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่างกับวัฒนธรรมเดิมโดยสิ้นเชิง  ทั้งชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงานในภูมิประเทศที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทั้งภาษาพูด อาหารการกิน  ไหนจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยของนาย ของลูกน้อง ของชาวบ้าน และของตัวเอง  ไหนจะต้องหาข้อมูล  ไหนจะเสียขวัญ-กำลังใจเมื่อได้ยินข่าวร้าย และสูญเสียเพื่อนร่วมงาน หรือประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง   และไหนจะคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัวที่อยู่ห่างไกล

และที่สำคัญ ฉันควรจะ "ขอ" คำแนะนำจากคุณทหาร ฟังความเห็นจากคุณทหาร เพราะเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่จริง    ไม่ใช่ "สั่ง" เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ "คนนอก" อย่างฉันต้องการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันสวยหรูของนโยบาย   แต่ไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่อยากได้แต่อย่างใด

...ฉันไม่ได้ทำอย่างที่ว่ามาทั้งหมดเลยซักนิดเดียว...   เป็นเพราะฉันถือว่า หน่วยงานฉันเอาโครงการไปให้พื้นที่ ฉันจึง "สั่ง" ทุกอย่างได้ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าเอาเข้าจริง โครงการก็แค่ "ผักชีโรยหน้า" เท่านั้น    และเป็นเพราะฉันสำคัญผิดว่า ฉันเป็นคนในพื้นที่  ...ฉันเป็นคนในพื้นที่ก็จริง แต่เป็นแค่คนที่เคยอยู่แต่ในเมือง อยู่เพียง 10 กว่าปีในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง  มิหนำซ้ำ ยังไม่เคยไปพื้นที่ที่คุณทหารเลือกมาก่อน  ฉันจะไปรู้ดีกว่าคุณทหารได้อย่างไร

จนสุดท้าย  คุณทหาร ซึ่งน่าจะอดทนได้มากกว่า ดีกว่าพลเรือน  คงจะอดทนถึงขีดสุดแล้ว และ "ปรี๊ด" ขึ้นมาว่า ฉัน "เรื่องมาก" เพราะทนไม่ได้แล้วจริงๆ 

ฉันเอา "ตัวกู - ของกู"  เข้าไปในโลกของคนอื่น   และ "ตัวกู" นั้น ก็ขยายใหญ่เสียจนกระทั่ง มองไม่เห็นคนอื่นเอาซะเลย

ฉันไม่คิดว่าคุณทหารคนนั้นจะได้อ่านเรื่องนี้  ถึงอย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังอยากจะบอกคุณทหาร ยศพันโท  ที่ทำงานในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ปี 2548  ที่เคยคุยกับพลเรือนเรื่องมาก เรื่องทำอิฐบล็อค และยังขนดินมาส่งตามสถานที่ที่ฉันบอก ซึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง หลังจากที่ฉัน"ฟ้อง" นายของคุณทหารไปแล้ว  และสุดท้ายก็ไม่ได้ทำโครงการนี้ในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี  ว่า “ฉันขอโทษ” จริงๆ

วงกลมของฉัน กับวงกลมของคุณทหาร อยู่ไกลกันคนละซีกโลก  (จากเรื่อง “เป็นวงกลมใกล้ๆ กัน” อ่านได้จาก my note)  ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงนั้นได้  ฉันคงจะลดขนาด "ตัวกู" ให้เล็กที่สุด  และ "เรื่องมาก" ให้น้อยที่สุด  เพื่อให้วงกลมของฉัน วงกลมของหน่วยงานฉัน  เข้าใกล้ วงกลมของคุณทหาร วงกลมของพื้นที่ ให้มากขึ้น    เพื่อให้งานที่ทำ เป็นงานที่เกิดประโยชน์จริงๆ  ไม่ใช่งานที่ทำไป "สนอง" นโยบายชั่วครั้งชั่วคราว   และฉันก็จะใช้วิชา "ทักษะวัฒนธรรม" ให้รู้จักคนและวัฒนธรรม ที่ฉันจะทำงานด้วยให้มากที่สุด  ไม่ใช่เพียงเพื่องาน  แต่เพื่อเข้าใจเหตุผล ความเป็นไป และความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้นด้วย

ฉัน "ขอโทษ" เพราะฉัน "เข้าใจ" คุณทหาร ตามเหตุผลและคำอธิบายของฉัน  ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ตรงกับความรู้สึกจริงๆ ของคุณทหาร หรือเปล่า

หากเป็นไปได้  ฉันก็อยากฟังจากคุณทหารเหมือนกันว่า คุณทหารคิดอย่างไร  และจะทำอย่างไรหากย้อนเวลากลับไปได้  ไม่แต่เฉพาะเรื่องฉัน โครงการของหน่วยงานฉัน  และการไม่ถอดรองเท้าเข้าร้านขายของเท่านั้น แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ในพื้นที่ที่ซับซ้อนกว่านี้  เข้าใจยากกว่านี้

ในฐานะคนต่างถิ่นที่มาอยู่ มาทำงาน ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม   คุณทหารเคยได้ "คุย" กับคนในพื้นที่จริงๆ  ที่ไม่ไช่เรื่องงาน  แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึก ความคิดเห็นของชาวบ้าน  ที่อยู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ขึ้น และมีทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้างไหม    คุณทหารเคยคุย  เคยถามชาวบ้านในพื้นที่ในเรื่องเล็กๆ บ้างไหมว่า  ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านหรือเปล่า หรือ จะเอาสุนัขเข้าไปตรวจค้นในบ้านได้ไหม    คุณทหารเคยได้รับการบอกกล่าวในเรื่องเล็กๆเหล่านี้  เพื่อค่อยๆเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนต่างชาติพันธ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ในเรื่องใหญ่เรื่องอื่นๆ มาก่อนหรือเปล่า   และคุณทหารรู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องยากไหม  และทำได้ไหมที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่    ...เพราะนี่เป็นเรื่องการทำงาน  งานที่เกี่ยวข้องกับคน เชื่อมต่อถึงวัฒนธรรม  และเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับ "ที่ทำงาน" ใหม่

ฉันจะไม่ถามหรอกว่า คุณทหารว่าอยากมาทำงานที่นี่หรือไม่  เพราะก็คงได้คำตอบที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าคืออะไร

บางทีมุมมองของคุณทหารที่สะท้อนออกมา  อาจจะทำให้ "เรา" ที่ต่างกันทางความนึกคิดและวัฒนธรรม  จะเข้าใจกันถูกต้องและตรงกัน มากขึ้น