Skip to main content

 

เสียงชายขอบ 'ตะโกน'ถึงผู้ใหญ่

วิภาวี จุฬามณี 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุไว้ชัดเจนว่าประชาชนชาวไทยทุกคนไม่ว่ามีเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ถูกผู้ที่ "เสียงดังกว่า" เอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ขณะที่พวกเขาเสียงนั้นกลับเบาเสียจนไม่มีใครสนใจฟัง

เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค โครงการ "เปลี่ยนพื้นที่ตะโกน" จึงเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิเอเชีย และกองทุนพัฒนาประชาธิปไตยแห่งสหประชาชาติ 

ยุพา ภูสาหัส เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย เล่าให้เราฟังถึงที่มาของโครงการว่า เป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนชายขอบ ซึ่งในที่นี่หมายถึง ชายขอบในเชิงภูมิศาสตร์ ชายขอบในเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ชาติพันธุ์ และชายขอบของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการใช้ทรัพยากร 

หลังจากทำงานส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนร่วมกับเยาวชนกลุ่มนี้ มา 2 ปี ยุพาได้รับเสียงสะท้อนจากเยาวชนว่า พวกเขาพูดถึงปัญหาในพื้นที่กันมามากมาย แต่ดูเหมือนไม่มีใครได้ยิน จึงอยากมีพื้นที่ที่จะมาพูดเรื่องนี้เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงประชุมร่วมกัน โดยถามเยาวชนว่า อยากจะตะโกนอะไร อยากจะตะโกนให้ใครฟัง และคิดว่าตะโกนอย่างไรจึงจะมีพลัง เมื่อได้คำตอบแล้ว โครงการนี้ก็เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

"น้องๆ เขาบอกว่า อยากจะมาพูดสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญในสายตาของเขา และอยากบอกเล่าวิถีชีวิตที่เขาเป็น ให้คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนสร้างปัญหา หรือคนที่ควรจะแก้ปัญหาได้แต่ไม่ทำ ได้รับฟัง รวมถึงอยากจะพูดกับสื่อมวลชน และผู้นำเยาวชนในเขตเมืองด้วย โดยรูปแบบที่เขาเสนอมีทั้งการรณรงค์สาธารณะ การเสวนา และการพบปะนัก การเมือง"

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา โครง การจึงนำเยาวชนในเครือข่ายเยาวชนชายขอบหญิง-ชาย 4 ภาค 200 คน เป็นตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ มาบอกเล่าปัญหาในพื้นที่ให้เจ้าหน้า ที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟัง โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนขึ้นที่สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า กรุงเทพฯ ในช่วงเช้า จากนั้นตัวแทนเยาวชน 40 คน เดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา 

ปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยแบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือการอำนวยความยุติธรรม และการศึกษา ที่เน้นไปที่ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเด็นธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน โดยเยาวชนจะบอกเล่าปัญหา ซักถามข้อข้องใจจาก ส.ว. ส.ส. และเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่พวกเขาอยากให้เป็น 

ทรงวุฒิ แลเชอะ เยาวชนอาข่า จ.เชียงใหม่ บอกว่า ปัญหาในพื้นที่คือการจัดการทรัพยากรที่ดิน เพราะวิถีทำกินของพี่น้องชนเผ่าอาศัยอยู่กับป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ต่อมารัฐกลับประกาศว่า ที่ทำกินของพวกเขาซ้อนทับอยู่ในเขตป่าสงวน เขตอุทยาน ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดี และถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน จากเดิมที่เคยทำไร่หมุนเวียน มีการเว้นช่วงให้ต้นไม้เติบโต กฎหมายก็ไม่อนุญาต ทำให้ชาวบ้านหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว ความยั่งยืนของผืนป่าก็สูญหายไป

"สิ่งที่เราต้องการเสนอคือ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ให้คนอยู่ในป่า แต่จะทำอย่างไรให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาเรามักถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุก เราก็อยากพิสูจน์ตัวเอง โดยให้รัฐบาลทำแนวเขตพื้นที่ใช้สอยให้ชัดเจน และให้ชุมชนบริหารจัดการเอง ส่วนป่าโดยรอบชุมชนจะดูแลให้"

"อีกทั้งรัฐบาลต้องรับรองสิทธิ์ว่า พื้นที่ไหนใครดูแล จะได้ไม่มีข้อครหาภายหลังว่าไม่มีเอกสารครอบครอง ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ตอนนี้รัฐบาลเสนอเรื่องโฉนดชุมชนมาแล้ว แต่คิดว่าแค่ร่างระเบียบสำนักนายกฯ ยังไม่พอ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เขาจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่"

ทรงวุฒิ ยังมองว่า การที่มีโครงการเปลี่ยนพื้นที่ตะโกนเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ได้มาแสดงความคิดเห็นต่อคณะผู้บริหาร ได้มายื่นหนังสือต่อนายกฯ โดยตรง ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนชายขอบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามเสนอปัญหาของตัวเองอยู่แล้ว แต่กลับถูกพูดถึงในระดับพื้นที่เท่านั้น และไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ครั้งนี้สามารถเข้าถึงคนระดับบนได้ แม้แต่นายกฯ เองก็ได้มารับรู้ว่า มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ

ขณะที่ กริยา มูซอ หรือ "อะลี" ตัวแทนเยาวชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนของพวกเขาในขณะนี้ คือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะทุกวันนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งประกาศ พ.ร.ก.ฉุก เฉิน และกฎอัยการศึก ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ข้อเสนอคือ อยากให้บังคับใช้กฎหมายพิเศษแค่ในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ไม่ใช่เหมารวมหมดทั้ง 3 จังหวัด เพราะในบางพื้นที่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร แต่ประชา ชนก็ต้องถูกคุกคามสิทธิ

"ตอนแรกที่มาวันนี้ เราคาดหวังกับฝ่ายบริหารค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายก็มีแค่ ส.ส.ปัตตานีคนเดียวที่ค่อนข้างเข้าใจเรา ส่วนคนอื่นเขาตอบไม่ตรงประเด็น ตอนนี้พวกเราหมดหวังมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร เราอยากให้การเมืองแทรก แซงการทหารภายในพื้นที่บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักการเมืองต่างคนต่างมีพรรคของตัวเอง เอาการเมืองไปแข่งกันเอง เอานโยบายพรรคมาตอบโจทย์คนในพื้นที่ไม่ได้"

แม้จะผิดหวังจากการพูดคุยในวันนี้ แต่อะลียืนยันว่า จะยังเดินหน้าต่อสู้เพื่อความสงบสุขในบ้านเกิดของเขาต่อไป

ในเมื่อตะโกนออกไปแล้ว แต่ผู้มีอำนาจยังไม่เข้าใจ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร แล้วหันมาลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวพวกเขาเอง

เพราะถ้าจะหวังพึ่งผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว บางทีตะโกนไปก็ไม่ได้อะไรกลับมา หรือว่าเสียงของพวกเขายังไม่ดังพอ 

หน้า 5