Skip to main content

 

ถึงเวลาเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนใต้?
 
ดร. รุ่ง แก้วแดง
ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง

 
            ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ อีกไม่กี่วันก็จะครบ ๗ ปีแล้ว สำหรับคนที่อยู่นอกพื้นที่คงรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ไม่ยาวนาน ตรงข้ามกับคนในพื้นที่ซึ่งต้องประสบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนที่เคยรู้จัก บาดเจ็บล้มตายอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นรายวัน จนหลายคนทนไม่ไหวต้องอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมีทั้งบาดเจ็บและล้มตายจำนวนนับหมื่นคน มีเด็กกำพร้าจำนวนหลายหมื่นคน มีความรู้สึกว่าเหตุการณ์รุนแรงขึ้นตรงข้ามกับข้อมูลของรัฐ
            ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความสัมพันธ์กับการที่อเมริกาบุกอีรักโดยให้กองทัพไทยไปร่วมรบด้วย มีทหารจากกองพันพัฒนาที่ 4ไปร่วมด้วย และเสียชีวิตนำกลับมาจัดพิธีศพที่พัทลุง เพื่อนทหารทั้งกองพันไปร่วมงานเกือบหมดค่าย ผู้ก่อการร้ายได้โอกาสจึงเข้าปล้นค่าย ฆ่าทหารเวรซึ่งมีไม่กี่คน ยึดอาวุธไป 400 กว่ากระบอก จุดเริ่มต้นความรุนแรงของชายแดนใต้เกิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กองทัพสหรัฐอเมริกาที่บุกประเทศอิรัก ส่งทหารจำนวนมหาศาลเข้าไปยึดครองและใช้อาวุธร้ายแรงทำร้ายคนอิรักเกือบทุกเมือง คนตายไปเป็นแสน แต่ความสำเร็จที่ทำได้น่าจะมีเพียงประการเดียว คือ จับและลงโทษอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ถึงแม้ว่าจะใช้ความพยายามทุ่มเททั้งกำลังคน ทรัพยากร และงบประมาณมหาศาล สหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถเอาชนะและยึดครองอิรักได้  ตรงกันข้ามกองทัพสหรัฐได้สูญเสียชีวิตทหารอเมริกันไปในสงครามอิรักเป็นจำนวนมาก
มาถึงวันนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่ออิรัก คือ ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้ประกาศถอนทหาร นำอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากประเทศอิรัก  เหลือไว้เป็นที่ปรึกษาไม่ใช่รบเอง พร้อมกับได้บอกคนอเมริกาว่าเป็นสงครามที่ไม่มีใครชนะ และบอกอีกว่า กำลังทหารไม่ใช้พลังอำนาจเพียงอย่างเดียวที่ปกป้องพันธมิตรได้ ซึ่งผมชอบมาก รัฐบาลไทยน่าจะได้ศึกษาและนำมาใช้กับประเทศไทยบ้าง
            ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งรัฐบาลก็ใช้นโยบายในการแก้ปัญหาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาในเวียดนามและอิรัก คือ ใช้กำลังทางทหารเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น การเมืองนำการทหาร ยึดแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงใช้วิธีการทหารนำ เกือบจะเรียกได้ว่าใช้อำนาจทางการทหารแบบเบ็ดเสร็จทุกอย่าง ผู้รับผิดชอบระดับสูงของรัฐบาลไทยและทหารมักพูดเสมอว่า “เดินมาถูกทางแล้ว” แต่คนภาคใต้ไม่มีใครเชื่อ เพราะพอพูดจบคืนนั้นหรือวันรุ่งขึ้นจะต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายทุกครั้ง
            ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นโอกาสดีของรัฐบาลไทยที่จะเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้   เพราะมีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบสงครามชายแดนใต้ตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ ๔ ผอ. กอ. รมน. และตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติจึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ลดภาระและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำซากสูญเสียมากมาย แต่ยังไม่รู้ว่ารบกับใคร
            นโยบายสำคัญที่ควรจะเปลี่ยน คือ  
ประการที่หนึ่ง  เปลี่ยนเจตคติและความรู้สึกของข้าราชการที่ลงไปปฏิบัติงานในชายแดนภาคใต้ต่อพี่น้องมุสลิมเสียใหม่ ว่าเขาคือคนไทย เหมือนคนไทยภาคอื่น ๆ เขาอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้ายทุกคน คนชายแดนใต้ก็มีคนดีอยู่เป็นจำนวนมาก การแก้ปัญหาโดยมีเจตคติที่มองว่าทุกคนเป็นคนร้ายได้นำไปสู่การปฏิบัติการที่รุนแรงมาหลายครั้งแล้ว เช่น กรณีมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ที่กระทำต่อเยาวชนจากซูโซะ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และกรณีตากใบ จังหวัดนราธิวาส จึงกลายเป็นบาดแผลที่ใหญ่และลึกจนยากแก่การรักษาเยียวยา 
ประการที่สอง ส่งเสริมให้คนในชายแดนใต้เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน ของเขาเองเพราะจากรายงานวิจัยพบว่า ชุมชนใดที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นมีความสามัคคีเข้มแข็งเอาใจใส่ ชุมชนนั้นจะเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถึงแม้ว่าจะเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่การที่ทหารเข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในชุมชน ทำให้ความรู้สึกรับผิดชอบต่อชุมชนของตนเองลดลง เพราะมองว่าทหารมีเงินเดือน มีอาวุธยุทโธปกรณ์ และเป็นหน้าที่ของทหาร เมื่อประชาชนไม่ได้ช่วยดูแลชุมชนผู้ก่อการร้ายจึงเข้ามาลอบทำร้ายทหารและประชาชน  
            ประการที่สาม เพิ่มบทบาทของเยาวชนในการแก้ปัญหาชุมชน เยาวชนเป็นคนกลุ่มใหญ่ของชายแดนภาคใต้ แต่ขาดโอกาสทางการศึกษา  ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เข้ามารับผิดชอบ มีบทบาทในการแก้ปัญหาชุมชนของตัวเอง หลายคนมองว่าเยาวชนคือกลุ่มที่มีปัญหา ทั้งเรื่องยาเสพติดและการก่อการร้าย จึงไม่ไว้วางใจเยาวชน ในเรื่องยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องจริง ส่วนเรื่องการก่อการร้ายมีจำนวนไม่มาก แต่ที่เยาวชนไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการเพราะทางราชการไม่สามารถดูแลความปลอดภัยให้กับเขาได้
            จากประสบการณ์ของมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่เป็นคนดี รักท้องถิ่น รักชุมชน อยากมีงานทำ อยากประกอบอาชีพ อยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในชุมชน ดังนั้น หากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้เยาวชนเหล่านี้เข้ามามีบทบาทเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้ง เรียนรู้เรื่องการบริหาร การจัดการ ส่งเสริมให้เขาประกอบอาชีพ โดยจัดตั้งกลุ่มในลักษณะวิสาหกิจชุมชนทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลังที่มีประโยชน์และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มาก
            ประการที่สี่ เน้นการใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเยาวชน การสร้างความรักความเข้าใจของคนในชุมชนจะต้องมีกิจกรรมให้คนในชุมชนได้ทำร่วมกัน ซึ่งไม่มีกิจกรรมใดที่คนรู้จักและเข้าใจมากเท่ากับกิจกรรมวัฒนธรรมของชายแดนใต้ เช่น การร้องเพลงอนาซิด และการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ ศิละ ดิเกฮูลู มโนห์รา และกลองยาว เป็นต้น  แต่ต้องทำเป็นกลุ่มคณะใหญ่ที่คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมาก ๆ ถึงกลุ่มละ ๕๐-๖๐ คน เพราะการที่มาทำร่วมกันมาก ๆ ย่อมนำไปสู่การรวมพลังที่แข็งแกร่งพอที่จะแก้ปัญหาของชุมชนได้ โดยไม่ต้องแสดงพลังโดยการเดินแถว ถือป้าย ซึ่งได้ประโยชน์น้อยมากๆ
            ประการที่ห้า ปรับระบบการเรียนรู้ของคนในชุมชน เพราะคนในชุมชนชายแดนใต้มีการศึกษาน้อยไม่ชอบเรียนหนังสือ การเรียนในรูปแบบการศึกษาในระบบและนอกระบบโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งได้ประโยชน์น้อยมาก ต้องเอาปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้ง โดยนำการศึกษาเพื่ออาชีพเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการทำงาน เป็นศึกษาที่ยึดคนและชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดส่วนราชการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            เมื่อคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้นแล้ว ค่อย ๆ ลดบทบาทของทหารและทางราชการลง เปลี่ยนจากผู้ปฏิบัติการมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ เช่นเดียวกับนโยบายต่ออิรักของประธานาธิบดีบารัค โอบามา  เพื่อคืนสันติสุขกลับสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องทำอย่างจริงใจและต่อเนื่องจะเป็นพระคุณอย่างยิ่งสำหรับคนชายแดนภาคใต้
            นับเป็นโอกาสดียิ่งของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะทบทวนนโยบายเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เสียใหม่ ให้การเมืองนำการทหาร จริงๆไม่ใช่พูดหลอกๆ ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อีก -๓ - ๔ปีทุกอย่างจะดีขึ้น ลูกหลานของคนไทยจากทุกภาคของประเทศที่ต้องมาตายใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะน้อยลง ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเช่นปัจจุบัน ท่านจะเป็นผู้นำคนแรกที่ริเริ่มการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกต้องและถูกทิศทางสร้างมิติใหม่ในการสร้างสันติสุขให้กับประเทศไทย
 
--------------------------------------------------------