Skip to main content

 

           ผมได้มีโอกาสไปดูงานของศิลปินท่านหนึ่ง ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอยู่มุมหนึ่ง ของจังหวัดปัตตานี  ท่ามกลางพื้นที่ความขัดแย้ง ที่นับวันข่าวออกมาดูประหนึ่งว่า เกิดสงครามกระนั้นหรือ  ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่พลเรือน ตั้งด่านสกัด จุดตรวจ ทุกหมู่บ้านก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันเสียงจากฝ่ายรัฐที่สื่อสารออกมา ดูประหนึ่งว่าเหตุการณ์ได้ลดความรุนแรงลง จากข้อมูลสถิติที่นำมาเสนอผ่านกระบอกเสียงของรัฐเอง  จะอย่างไรก็แล้วแต่สิ่งหนึ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้เลย คือร่องรอย ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตใจที่บอบช้ำของผู้สูญเสีย ทั้งไทยพุธและมุสลิม สิ่งใดที่จะเป็นหนทางหวนคืนสู่สันติภาพในพื้นที่

ผมขอเสนอบทความพิเศษชิ้นหนึ่ง  ซึ่งเป็นงานเขียนจากแง่มุมของอาจารย์สอนศิลปะ ท่ามกลางพื้นที่ความขัดแย้ง 

เปิดตา เปิดใจ ศิลปะทำไม อย่างไรศิลปะ

ปานตา คงพันธุ์

           ภาพวาดลายเส้นชื่อ “จิตสะท้อน” ขนาด 70x90 เซนติเมตร ชิ้นนี้คือบทสะท้อนสภาพความเป็นจริงของผู้คน โดยศิลปินหนุ่มแห่งลุ่มน้ำปัตตานี ซึ่งมีจุดเด่นเป็นใบหน้าของเด็กหญิงที่จ้องมายังคนดู จนชวนให้คาดเดาถึงข้อสงสัยที่ซ่อนอยู่ภายในดวงตาใสคู่นั้น

          ข้าพเจ้า(ผู้เขียน)ได้ตั้งคำถามโดยไม่ได้ตั้งใจกับเจ้าของผลงานว่า ทำไม...ทำไมเด็กหญิง....ทำไมนักเรียน.....ทำไม....ขณะเดียวกันก็จินตนาการไปถึงความรู้สึกของเด็ก ผู้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ..ทำไม...ทำไมเป็นเด็กผู้หญิง....ทำไมเป็นนักเรียน...ทำไม....หรือเป็นหน้าที่ของศิลปะ...หน้าที่ ที่จะต้องสื่อสารว่ามีอะไรเกิดขึ้น....หรือเกิดขึ้นอย่างไร หน้าที่ในการสร้างคำถามหรือนำเสนอคำตอบ เกี่ยวกับความเป็นไปของคนและโลก

          ศิลปะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นมากกว่านำเสนอ ความงามที่สามารถเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำของผู้คน แต่ศิลปะยังเป็นวิธีการในการหาคำตอบที่เป็นความรู้สึก ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายด้วยคำพูดหรือตอบแบบสอบถาม อย่างที่ภาพจิตสะท้อน ได้แสดงความรู้สึกผ่านใบหน้าที่เปี่ยมด้วยความสงสัยและแหงนมอง นิ่ง ตรงมายังผู้ดู ไม่ว่าจะเป็นคุณครู คุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งน่าจะต้องพิจารณา เนื้อหาที่แฝงเร้นอยู่ภายในภาพดังกล่าวว่า....เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้ โรงเรียนนี้ เมืองนี้

         ครูท่านหนึ่งในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ศิลปะสามารถสร้างความรัก ความสวยงามและความเข้าใจที่ดีต่อชีวิตและสังคมได้” ดังนั้นผู้เขียนจึงใคร่ ขอเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำ ศิลปะเข้าไปอยู่ ในพื้นที่ ที่มีการสื่สาร เพื่อลดความขัดแย้ง ขอให้เปิดใจให้ศิลปะได้ทำหน้าที่ โดยเฉพาะในห้องหัวใจของมนุษย์ทุกคน ให้ศิลปะได้ทำหน้าที่สร้างความรัก ความเข้าใจ ดังเช่นผลงาน “จิตสะท้อน” ที่นำเสนอเป็นภาพเด็กผู้หญิงนิ่งรอการรับรู้ความรู้สึก จากผู้ใหญ่อยู่เสมอ

        ท้ายนี้ข้าพเจ้าขอขอบคุณและให้กำลังใจกับผู้ทำหน้าที่ สร้างสรรค์ทุกท่าน โดยเฉพาะครูศิลปะ ครูศิลปินผู้มีพลังใจ พลังกายเต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ขอบคุณศิลปินหนุ่มจากหมู่บ้านดอนรัก จังหวัดปัตตานี  มูฮัมหมัดโตรอยี แวกือจิ ผู้พยายามเปิดตา เพื่อเข้าใจว่าศิลปะทำไม อย่างไรเล่า คือศิลปะ 

         พบกันใหม่เมื่อ......เส้นทางแห่งความงามในชีวิตของผองเรามาบรรจบกันอีกครั้ง 

        ขอขอบคุณ อาจารย์ปานตา คงพันธุ์ ที่เอื้อเฟื้อบทความ และทำให้เราได้ตระหนักว่า ท่ามกลางความรุนแรงของกระแสแห่งอุดมการณ์ ยังมีสิ่งหนึ่งที่คงความสวยงาม นั่นคือศิลปะ