Skip to main content

 Keynote address on "Community Empowerment through Education" by Honorable Dr. Surin Pitsuwan at The 1st AMRON International Conference Entitled "Islamic Education in ASEAN Countries: Change from within through Education" on October2, 2010, at Thaiburi hall, Walailak University.

ภาพเคลื่่อนไหว: ThamTV-ทีวีที่เด็กได้ทำ

เนื้อหาข่าว: สำนักข่าวอามาน

 

ดร.สุรินทร์ชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เตือนอีก 5 ปีตั้งประชาคมอาเซียนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนเกือบครึ่งของภูมิภาคต้องมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ หากล้มเหลวต้องโทษตนเอง อัดกลุ่มทุนอาหรับมุ่งแต่ใช้เงินสร้างวัตถุจนลืมพัฒนาคน

วันนี้ที่(2 ตุลาคม 2553) ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานการประชุมนานาชาติ AMRON ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ ASEAN Muslim Research Organization Network (AMRON) หรือเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียนร่วมกันจัดขึ้น โดยนายสุรินทร์ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาสร้างพลังชุมชน” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาการปรับตัวของสังคมมุสลิมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งใจความตอนหนึ่ง เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า

สังคมมุสลิมอาเซียนในอดีตไม่ค่อยมีปัญหา เพราะไม่มีความขัดแย้งตึงเครียดใดๆ พอมีความรู้ใหม่ ความเจริญและเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นสังคมมุสลิมอาเซียนก็ไม่มีความราบรื่นอีกต่อไป

นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า ดูเหมือนความเจริญและความใหม่เหล่านั้นจะก้าวข้าม(Bypass) สังคมมุสลิมไป เพราะสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ตัวไม่ได้ พอปรับไม่ได้จึงนำไปสู่ความตึงเครียดขัดแย้งต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา อาเจะห์ บอเนียว หมู่เกาะโมลุกู และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันปอเนาะดั้งเดิมในภาคใต้ของประเทศไทยยังใช้กีต๊าบกูนิง (เป็นกีต๊าบเก่าอักษรยาวีที่เขียนขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว  –กองบรรณาธิการ) เรียนกันอยู่ทั่วไป ไม่มีการปรับเนื้อหาให้พัฒนาทันโลกปัจจุบัน และไม่มีการเพิ่มวิชาอื่นเข้าไป ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาไม่มีการปรับตัวและยกระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้พัฒนาก้าวหน้า โดยนายสุรินทร์ยกตัวอย่างตนเองที่เป็นอดีตเด็กปอเนาะ ก้าวขึ้นมาเป็นโต๊ะครู นักการเมือง และปัจจุบันกลายเป็นเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเกิดจากการปรับตัวตลอดเวลา

นายสุรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัยในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันกล่าวอีกว่าโครงการ AMRON มีบทบาทในการทำงานวิจัยเพื่อให้สังคมมุสลิมในภูมิภาคก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิซาซากาว่า จากประเทศญี่ปุ่น(sasakawa peace foundation) เพื่อให้สังคมมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน เมื่อถามว่าทำไมไม่ใช่ทุนอาหรับหรือโลกมุสลิมซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ก็เพราะทุนเหล่านี้สนใจแต่การสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาคนหรือให้งบประมาณสนับสนุนทางด้านการศึกษา สร้างเยาวชน สร้างโรงเรียน

“การมองเพียงมิติของวัตถุจะไม่มีวันรู้ปัญหาที่ลึกลงไปข้างในได้” เลขาธิการอาเซียนกล่าวในตอนหนึ่ง และเขายังยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทับซ้อนกันหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งยาเสพติด การศึกษา และการมองไม่เห็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นการก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก

ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวถึงประเด็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2015 หรืออีก 5ปีข้างหน้าว่า จะมีบทบาทในการสร้างกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นชุมชน(community) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไม่มีกำแพงขวางกั้นคนหนุ่มสาวใน 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนทั้งในการศึกษาและการทำงาน

“แล้วอนาคตของมุสลิมที่มีจำนวน 40-50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในอาเซียนจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีประสิทธิภาพ โดยมุมมองของผมคนมุสลิมที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วมกับประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ผมเตือนแล้วว่าให้สังคมมุสลิมปรับตัว ซึ่งถ้ามันล้มเหลวเราก็ต้องโทษตนเอง” นายสุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย.