Skip to main content

 

 

รายงานสถานการณ์ การโจมตีโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙
บันทึกเมื่อ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙

 

 

จากการลงพื้นที่  เยี่ยมโรงพยาบาลเจาะไอร้อง พบเจ้าหน้าที่ที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา และพูดคุยกับชาวบ้านเจาะไอร้อง พบว่า                                                                  

๑  กองร้อยทหารพราน   ๔๘๑๖  เจาะไอร้อง ตั้งอยู่ที่พื้นที่นั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕  ก่อน โรงพยาบาล เจาะไอร้อง ซึ่งไปตั้งในปี  ๒๕๓๘   เดิมเจาะไอร้องเป็นกิ่งอำเภอ ใน อำเภอระแงะ   แยกออกมาเป็นอำเภอเจาะไอร้องในปี  ๒๕๓๖  ประกอบด้วย ตำบลมะรือโบ๊ะ  ตำบลจวบ และตำบลบูกิต  จึงมีโครงการสร้าง โรงพยาบาลชุมชนขึ้น  สมัยก่อนประชาชนใช้รถไฟเป็นพาหนะสำคัญในการเดินทาง  โรงพยาบาลเจาะไอร้องอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ประชาชนสามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก    เดิมโรงพยาบาลจะสร้างในตลาด ตำบลจวบ  แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัด  คับแคบ  ปลัดอำเภอสมัยนั้น ( ท่านภานุ  เลขา ศอบต ขณะนี้ ) เป็นผู้เลือกพื้นที่ในการก่อสร้างโรงพยาบาลโดยท่านเอง  ที่ดินของโรงพยาบาลเป็นที่ดินว่างของราชพัสดุ จึงตัดสินใจสร้าง โรงพยาบาลที่พื้นที่นี้  กองร้อยทหารพราน ฯ  ไม่ได้อาศัยโรงพยาบาลเป็นเกราะคุ้มกันอย่างที่เข้าใจกัน

 

 

 

 

 

๒  สถานการณ์ในวันนั้น เกิดขึ้นจากการประมวลข้อมูล โดยสรุปพบว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับ

   ๒.๑ เป็นวันครบรอบ ๔๖ ปี  การก่อตั้ง  BRN  และเพื่อเป็นการส่งเสียงให้เห็นว่า  BRN  ยังไม่เห็นด้วยการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่    บนโต๊ะเจรจายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ 

  ๒.๒ เพื่อเป็นการท้าทายรัฐที่ประกาศให้  เจาะไอร้อง  สุไหงปาดี  บาเจาะ  นาทวี  ยะหา และหนองจิก   เป็นโครงการนำร่อง  “ โครงการประชารัฐร่วมใจ  สร้างอำเภอสันติสุข “  หรือเป็นพื้นที่สันติสุข  (  Safety   Zone ) การโจมตีวันนั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐยังไม่สามารถประกาศว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ สันติสุขได้หาก  BRN ไม่เห็นด้วย และแสดงว่า  BRN  ยังมีอิทธิพลครอบครองอยู่

๒.๓  เพื่อสร้างกระแสสังคม  เช่นเดียวกับกรณีของ “ปอเนาะ ญีฮาดวิทยา “  การเดินผ่านกล้องวงจรปิด ของโรงพยาบาลเป็นความจงใจ เพื่อใช้เครื่องมือของรัฐ ให้เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์การทำงานของ ฝ่ายตรงข้ามรัฐ       

๓  ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม รัฐ เพื่อแสดงศักยภาพ  ผู้กระทำการมีหลายคน ประมาณว่า  ๒๐  คน  หรืออาจมากกว่านั้น   เชื่อได้ว่าเป็นปฎิบัติการ ร่วมของกองกำลังหลายกลุ่ม  ไม่ใช่ปฏิบัติการของกองกำลังกลุ่มเดียว

๔  ผู้ก่อการไม่ได้จงใจโจมตี ทำร้ายโรงพยาบาล  แต่เป้าหมายอยู่ที่  กองร้อยทหารพราน  4816  เจาะไอร้อง   วันนั้นมีการยิงฐาน ตชด เจาะไอร้อง ที่สถานีรถไฟในตอนเช้า  และมีระเบิดที่บ้านยานิง เพื่อให้ กองกำลังไปรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่ถูกโจมตี จึงทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่มากนักใน กองร้อยทหารพราน และสถานีตำรวจ     

๕ การเข้ายึดโรงพยาบาล จึงเพื่อกระทำการโจมตี  กองร้อยทหารพราน  4816   เนื่องจากเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการโจมตี   ด้านหลังโรงพยาบาลติดภูเขา  แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยได้เดินไปถึงบริเวณนั้น เพราะทำงานกันอยู่ส่วนหน้า ฝ่ายตรงข้ามรัฐ จึงสามารถเข้ามาได้ง่าย  รับทราบว่าฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ขึ้นไปตามอาคารหอพักต่างๆ และบ้านพักหลายหลัง เพื่อหาทำเลโจมตี  กองร้อยทหารพราน  4816  และอาคารสุดท้าย ( อาคารแรกจากริมถนน สุดท้ายจากด้านหลัง ) คือทำเลที่ดีที่สุด  ใกล้กับ ฉก ที่สุด และอยู่สูง ยิงกดลง เข้า ฉก  การตอบโต้ของ ฉก ต้องยิงขึ้นสูง   พบร่องรอยอาคารถูกยิงเป็นรอยลูกกระสุน หลายลูก

 

 

 

๖ การเลือกกระทำการในตอนเย็น ประมาณสี่โมงเย็นเป็นเวลาที่หลีกเลี่ยงการสูญเสียที่ไม่จำเป็น   ประชาชนใน โรงพยาบาลมีน้อย และเจ้าหน้าที่ในค่ายก็มีน้อย  ไม่ประสงค์ให้เกิดการสูญเสียชีวิต  

๗  ที่ต้องทำลายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เพื่อตัดการติดต่อ  แต่ไม่มีความเสียหายมากกว่านั้น มากนัก  เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลยังมีขวัญกำลังใจดี  ต้องขอชื่นชม และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง   

๘   วันรุ่งขึ้นมีการระเบิดที่วังศาลา  หมู่ 4  ตำบลจวบ  เป็นไปได้ไหมว่าการโจมตี ทังที่วังศาลา และที่ ปัตตานี ๘ จุดเมื่อคืน วันที่ ๓๐ มีนาคม จะมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ต่อการติดตามกรณี การโจมตีโรงพยาบาลเจาะไอร้อง 

   ความเห็นและข้อเสนอแนะ

๑  การโจมตีของทั้งสองฝ่าย ( รัฐและผู้อยู่ตรงข้ามรัฐ )  ต้องละเว้นพื้นที่อ่อนไหว และพื้นที่สาธารณะอย่างเด็ดขาด    สนับสนุนให้โรงเรียน   โรงพยาบาล   ตลาด  มัสยิด  วัด  เป็นพื้นที่ปลอดภัยสาธารณะของทุกคน

๒  รัฐควรระมัดระวังในการดำเนินการตามนโยบายสันติสุข   เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก  

๓  รัฐควรรับรอง   International  Humanitarian Law  ( IHL ) เพื่อใช้เป็นหลักในการทำงานสันติภาพ  การรับรอง   IHL จะทำให้ทั้งสองฝ่ายระมัดระวังในปฎิบัติการไม่ให้ละเมิดหลักการมนุษยธรรมที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ และต่อเป้าหมายที่อ่อนไหว  เป็นการยกระดับการทำงานสันติภาพของทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดละเมิดจะต้องถูกประณาม

โดย มูลนิธิศักยภาพชุมชน

๓๐  มีนาคม  ๒๕๕๙