Skip to main content

 

                                                      สันติอาสา สักขีพยาน
 
              “บ้านใคร ใครก็รัก บ้านใคร ใครก็ห่วง บ้านเราเราก็รัก บ้านเรา เราก็ห่วง”
บทเพลงที่ขับร้อง ด้วยทำนองคุ้นเคยเพลงนี้ ได้อธิบายทุกรายละเอียดของคนสามจังหวัดเป็นอย่างดี ความรู้สึกหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอนที่ไม่อาจจะพรากได้ แม้ต้องแลกด้วยสิ่งใดก็ไม่อาจจะเทียบคุณค่า ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่แสดงถึงความรักและความหวงแหนบ้านเกิดของลูกหลานวีรสตรีเมืองรามัน ที่เรียกตัวเองว่า “กือเม็ง” มาหลายชั่วอายุคน แม้คนอื่นจะเรียกเขาว่าอย่างไรก็ตาม แต่วันนี้พวกเขาได้ประกาศให้คนอื่นได้รับรู้ว่า พวกเขาคือชาว “กือเม็ง” ไม่ใช่ “กาเม็ง” อีกต่อไป โดยผ่านการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและถูกทาง
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีเฉลิมฉลองการเปลี่ยนป้ายชื่อหมู่บ้านจากบ้านกาเม็งเป็นบ้านกือเม็ง ที่จัดโดย อบต.อาซ่องร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการต่อสู้ของชาวบ้านในครั้งนี้ เป็นบทเรียนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชุมชนที่ชาวบ้านสามารถต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 66
ในวันนั้น ทางชุมชนได้จัดกระบวนแห่เพื่อเรียกขวัญชาวบ้าน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าการที่ชาวบ้านถูกเรียกด้วยชื่ออื่นนั้นเสมือนเสียขวัญ โดยขบวนแห่รับขวัญจะประกอบไปด้วย ขบวนม้าทรงเครื่อง เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับราชวังเมืองรามันในสมัยอดีต ขบวนบายศรี ขบวนเด็กเยาวชนในหมู่บ้าน ขบวนโรงเรียนตาดีกา ที่สร้างสีสันให้งานในครั้งนี้     ขบวนแห่เริ่มขึ้นในช่วงบ่าย โดยช่วงเช้ามีการดุอาอ์ หรือ ขอพรจากพระเจ้าโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และมีการเลี้ยง “ละซอ” อาหารพื้นบ้านที่มีหน้าตาคล้ายขนมจีนของไทยแต่เส้นจะหยาบกว่าและน้ำแกงเผ็ดน้อยกว่า ที่สำคัญงานแห่เรียกขวัญชาวบ้านในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อภาคกลาง โดยมีทีมงานจากรายการ “พันแสงรุ้ง” ของทีวีไทยมาร่วมบันทึกภาพด้วย
ความน่าสนใจของหมู่บ้านนี้คือความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์เมืองรามัน แต่ด้วยความผิดพลาดในช่วงการขอจดชื่อหมู่บ้านในระบบราชการ จากชื่อหมู่บ้าน “กือเม็ง” กลายเป็นกาเม็ง ซึ่งหมายถึง “แพะ” ในภาษามลายู ทำให้เกิดการล้อเลียนของชาวบ้านต่างชุมชนว่าเป็น “พวกแพะ” บ้างก็กล่าวว่าเพราะหมู่บ้านนี้มีแพะอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านกาเม็งก็เป็นได้ แต่เมื่อมารับฟังข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวบ้านบ้านกือเม็งแล้วทำให้ทราบว่า แท้จริงแล้วมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากกว่าแค่เป็นที่อยู่ของแพะจำนวนมากอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง จึงเป็นที่มาของการต่อสู่เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้ถูกต้อง
นายสมาน โดซอมิ ประธานสภาวัฒนธรรมบ้านกือเม็ง เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมประวัติศาสตร์หมู่บ้านเพื่อประกอบคำร้องการขอแก้ไขชื่อหมู่บ้านให้ถูกต้อง แม้ระบบราชการจะยังมีระบบที่ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงได้สะดวก แต่ถึงอย่างไรการเดินเรื่องที่ถูกระเบียบและถูกต้องจะทำให้การเรียกร้องง่ายขึ้น
ทั้งนี้ในขั้นการรวบรวมข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ชุมชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้ประสานระหว่างผู้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วหลายร้อยปีและส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุค่อนข้างมากแล้วในหมู่บ้าน แน่นอนว่าเรื่องราวที่มีการเล่าต่อไม่มีน้ำหนักพอที่ที่จะเป็นหลักฐานประกอบการเรียกร้องได้ แต่ถ้ามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้เรื่องราวกลายข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือโดยทันใด และเป็นสิ่งที่ทำให้การเรียกร้องเป็นทางการและสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ดี ในการสอบถามข้อเท็จจากเจ้าของข้อมูลทำให้ทราบว่า “บ้านกือเม็ง” มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในสมัยเมืองรามันยังรุ่งเรือง ซึ่งผู้ที่มีความสำคัญกับการก่อตั้งหมู่บ้าน “กือเม็ง” มีชื่อว่า แม่นางเกิมบัง(แปลว่า ความเบ่งบาน) ซึ่งนางเป็นผู้มีความสำคัญในทางราชสำนัก โดยมีหน้าที่ดูแลช้าง ม้า วัวควายให้ราชสำนัก และเนื่องจากแผ่นดินที่ราบลุ่มแม่น้ำสายบุรีที่เป็นทีตั้งที่เหมาะสมในครั้งนี้ ทำให้นางเลือกที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการดูแลสัตว์เหล่านั้นและยังเป็นฐานเสบียงให้ราชสำนักอีกด้วย ทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกซ้อมกำลังทหารเมื่อยามใกล้ออกรบอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อเท็จจริงที่ถูกเล่าต่อจากผู้ที่มีส่วนในการเรียกร้องให้ประสบผลสำเร็จ และจากข้อเท็จจริงดังกล่าวยังมีหลักฐานร่วมที่เป็นสุสานของแม่นางเกิมบังอีกด้วย
ความเข้าใจไม่ตรงกันของภาครัฐในช่วงการจดทะเบียนชื่อหมู่บ้าน ทำให้ชื่อหมู่บ้านถูกบันทึกชื่อว่า กาเม็ง ไม่ใช่กือเม็งอย่างที่ประวัติศาสตร์ได้เล่าขานให้ลูกหลานฟัง ผู้นำชุมชนมีการค้านว่าชื่อที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นชื่อที่ไม่ถูกต้อง แต่ด้วยระบบราชการเป็นเรื่องยุ่งยากซ้ำซ้อนมาก การเรียกร้องเพื่อการแก้ไขชื่อให้เป็นกือเม็งอย่างที่ต้องการนั้น เป็นสิ่งที่ลำบาก แต่เมื่อลูกหลานในชุมชนเริ่มมีการศึกษามากขึ้น การเดินเรื่องเริ่มเปลี่ยนวิธี
ในกระบวนการเรียกร้อง ชาวบ้านไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว จากการสอบถามข้อมูลจากผู้มีบทบาทหลักในการเรียกร้อง ได้เล่าให้ฟังว่า “ในช่วงแรกๆที่เริ่มมีแนวคิดที่จะขอเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านนั้น เพราะเด็กๆของเราที่ไปแข่งขันฟุตบอลข้างนอก แล้วถูกล้อเลียนว่าเป็นพวกแพะ กาเม็ง กาเม็ง เด็กก็กลับมาเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังว่าถูกล้อเลียนจึงอยากให้มีการเปลี่ยนชื่อ ประกอบกับเดิมบ้าน “กือเม็ง” เองก็ไม่ได้ชื่อกาเม็งโดยประวัติ จึงคิดว่าน่าจะมีการเดินเรื่องเพื่อขอเปลี่ยนชื่ออย่างจริงจัง
 แต่ช่วงแรกก็คุยกันในบรรดาชาวบ้านอย่างเดียวไม่มีการดำเนินการใดๆ ช่วงหลังเริ่มมีลูกหลานที่เรียนหนังสือสูงขึ้น มีความรู้มากขึ้น ก็เริ่มกล้าที่จะเดินเรื่องอย่างเป็นทางการ ช่วงที่คิดอยู่ว่าจะเดินเรื่องอย่างไรนั้น เป็นช่วงที่เข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เราเลยใช้โอกาสนี้เสนอว่าปัญหาหนึ่งของการเรียกร้องสามจังหวัดคือการที่ชาวบ้านไม่ได้ความเป็นธรรมในหลายๆเรื่อง เช่น ความผิดพลาดของภาครัฐที่เขียนชื่อหมู่บ้านของพวกเขาไม่ถูกกับประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นปมอย่างหนึ่ง เหมือนที่หมู่บ้าน “กือเม็ง” ถูกรัฐตั้งชื่อว่า “กาเม็ง” เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วทางคณะกรรมการก็เห็นด้วย จึงมีการวางแผนว่าจะเรียกร้องกันอย่างไรต่อไป
ประสบการณ์การเรียกร้องเพื่อสิทธิของชุมชนบ้านกือเม็งนั้น ไม่ใช่หมู่บ้านเดียวที่พยายามเรียกร้องต่อสู้เพื่อขอแก้ไขชื่อหมู่บ้าน แต่ด้วยกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้าน “กือเม็ง” เดินมาถูกต้องและถูกทางทำให้การเรียกร้องเป็นผล ชาวบ้านเองได้มีการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการต่อสู้ไว้เบื้องต้นแล้ว รวบรวมข้อเท็จจริงจากคนหลายรุ่นเพื่อยืนยันว่าบ้าน “กือเม็ง” มีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตสมัยเมืองรามัน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการยืนยันจากนักวิชาการและนักวิจัยกัมปง ได้ช่วยในการรวบรวมข้อมูลด้วย
“กือเม็ง” เป็นชื่อของปุตรีเกอมบัง ในสมัยของเจ้าเมืองรามัน สมัยสุลต่านมันโซร์ นางเป็นวีรสตรี ที่มีบทบาทมากในราชวงศ์กษัตริย์สมัยนั้น แล้วมาเสียชีวิตที่นี้ ฝังศพที่นี้ เมื่อฝังที่นี้ก็เลยเรียกที่นี้ว่า บ้านปุตรีเกอมบัง คำว่าเกอมบังเป็นภาษามลายูกลาง เมื่อชาวบ้านเรียกก็เรียก กือเม็ง ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้มีการเรียกร้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 66 ว่าด้วยสิทธิของชุมชน ซึ่งมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นดั่งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนที่นี้” อาจารย์อิสมาแอ เบญจสมิทธ นักวิจัยกัมปงกล่าว
นายซัมซูดิน โดซอมิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาซ่อง หรือ แบดิงของชาวบ้านบ้านกือเม็งนั้น ถือว่าเป็นผู้ปกครองชุมชนที่ให้ความสำคัญกับชื่อที่ถูกต้องของชุมชนจนนำมาสู่การเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อในครั้งนี้ ในช่วงแรกที่ต้องใช้เวลานานเพราะไม่มีการเดินเรื่องอย่างจริงจัง แต่เมื่อครั้งได้ทำวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยลัยมหิดล ร่วมกับ อาจารย์นุกูล ซึ่งเป็นอาจารย์จากมอ.ปัตตานี เมื่อปี 2552 และเมื่อได้เสนอประเด็นนี้ผู้ร่วมวิจัย และคณะกรรมการอื่น ๆ เห็นด้วย จึงเริ่มเดินเรื่อง โดยมีกระบวนการดังนี้
1.       สร้างความเข้าใจชาวบ้าน และสอบถามความคิดเห็นของชุมชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่
2.       สืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของ “ชื่อชุมชน” ที่ต้องการเปลี่ยน จาก กาเม็ง เป็น กือเม็ง
3.     ดำเนินการยื่นเอกสารในระบบราชการ แจ้งต่อผู้นำชุมชน แจ้งเรื่องต่อที่ว่าการอำเภอ ให้เดินเรื่องต่อ แต่ที่สำคัญคือ ชุมชนต้องติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อ
        “ก่อนทางราชการจะอนุมัติ ก็รอหลายเดือน ผมได้ไปถามที่ศอ.บต. ว่าเรื่อง การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน กือเม็ง ตอนนี้อยู่ถึงขั้นไหนแล้ว หลังจากไม่นาน เรื่องของผ่าน”
        จะเห็นได้ว่า การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านนั้นไม่ได้ยุ่งยากมากนัก หากแต่ชุมชนนั้นต้องให้ความร่วมมือกับหลาย ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะ งานวิจัยชุมชน และที่สำคัญ การพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนของตนเองนับว่า สำคัญเป็นอย่างยิ่ง และที่ขาดไม่ได้ ชุมชนจะต้องกระตือรือร้นในการถามไถ่ ความคืบหน้าจากการทำงานของราชการ ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างหนึ่ง
        ฉะนั้น การแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐและชุมชนคงต้องมองปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ซับซ้อนและสามารถแก้ได้ง่าย เหล่านี้นับเป็นวิธีการคลี่คลายปมใหญ่ของปัญหาภาคใต้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว