Skip to main content

 กลุ่มซูวารอ ปัตตานี 

“ขออยู่กับความถูกต้อง ฝ่ายรัฐผมก็ไม่อยู่เพราะเขามาทำงานเอาหน้าเอาตำแหน่งไม่นานเขาก็ต้องกลับไป ส่วนกลุ่มขบวนการก็ไม่ต้องการอยู่ ความถูกต้องเท่านั้นที่ผมขออยู่ ตอนนี้การอยู่ร่วมในพื้นที่ ก็ขอแค่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ใครจะทำอะไรก็ไม่สนใจ แต่ต้องทำและเป็นไปในทิศทางของความถูกต้อง ถ้าเมื่อใดทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่เก็บไว้เหมือนกัน ญาติก็ต้องว่าไปตามกฎหมายเพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย ประชาชนด้วยกันไม่สามารถชี้ขาดว่า ใครผิดหรือใครถูก” อส.หนุ่มวัย 35 แห่งบ้านควนลาแม อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีฟันธงเปรี้ยงถึงจุดยืนของตัวเอง ท่ามกลางความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางออกอย่าง ‘นครปัตตานี’ ที่หลายคนเพรียกหา

 

บ้านควนลาแม  เป็นหมู่บ้านขนาดกลางตั้งอยู่ในเขตของ ตำบล นาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มีประชากรประมาณ 100 กว่าครัวเรือนเป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมู่บ้าน    ในอดีตและปัจจุบันของบ้านควนลาแมแม้จะอยู่ห่างจากตัวอำเภอไม่มากนักแต่ก็ถูกจัดให้เป็นเขตพื้นที่สีแดงที่อำนาจรัฐเข้าไม่ค่อยถึง

ควนลาแมยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการใต้ดินมาโดยตลอด มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลอบวางเพลิง เผาโรงเรียน มีการเผาตู้โทรศัพท์ และตามมาด้วยการเผายางตามถนนและมีการโปรยตะปูเรือใบเกือบทุกครั้งเมื่อมีรถของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามา   เผาไม้ที่กั้นจุดตรวจของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน( ชรบ.) เมื่อใครทำงานเป็นฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการก็จะมีบุคคลลึกลับเอาข้าวสาร ไข่ไก่ กระสุนปืน ใส่ถุงมาวางไว้หน้าบ้านเป็นสัญญาณเตือนอยู่เสมอ

 

นอกจากนั้นคนร้ายยังกราดยิงใส่บ้านผู้ใหญ่บ้าน  เมื่อคืนวันเสาร์ ที่ 16 ธ.ค 2549  ฝ่ายผู้ใหญ่ปลอดภัยส่วนเจ้าหน้าที่  ตาย 2 ศพ ต่อมาไม่นาน รถยนต์ของผู้ใหญ่บ้านคนเดิมพร้อมลูกน้องก็ถูกลอบวางระเบิดบริเวณ ม.4 บ้านบาซาเอ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กระทั่งล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่กองกำลังผสมบุกเข้าปิดล้อมบ้านเลขที่ 192 หมู่ 5 บ้านพรุจูด  ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก่อนจะตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายจนเสียชีวิตพร้อมกัน 6 ศพ หลังจากเหตุการณ์นั้นปัญหาความรุนแรงและการสร้างสถานการณ์ก็หายไปจากพื้นที่ และชาวบ้านยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ผู้สื่อข่าวในกลุ่มซูวารอ ปัตตานีได้เดินทางเข้าไปสู่หมู่บ้านควนลาแม และมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนและฟังแง่คิดของอาสาสมัคร(อส.)หนุ่มวัย 35 ปีรายหนึ่งแห่งบ้านควนลาแมเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้น และสภาวะการณ์ทั่วไปของหมู่บ้านควนลาแม

“ทุกวันนี้ปัญหาที่หนักอกมากไม่ใช่เรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนแต่เป็นเรื่องยาเสพติดที่มีผลประโยชน์กับคนหลายกลุ่ม มันซับซ้อนยิ่งกว่าปัญหาความไม่สงบอีก” อส.หนุ่มคนดังกล่าวบอกกับเรา

อส.ตรี มูฮัมมัด ดือราแม วัย 35 ปี อส.หมู่บ้านควนลาแมของอำเภอโคกโพธ์ จังหวัดปัตตานี  หรือชาวบ้านรู้จักกันในนาม อส.มะ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบปัจจุบันแม้สถิติของจำนวนเหตุจะลดลง แต่ในความรู้สึกของชาวบ้าน 6 ปีที่ผ่านมาปัญหาความรุนแรง ‘เป็นอะไรที่ไม่มีขึ้นไม่มีลง’ เพราะทุกวันนี้ยังคงมีเหตุรายวันเกิดขึ้นทุกวัน มากบ้างน้อยบ้างแต่ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าปัญหาความไม่สงบยังมีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในความรู้สึกของผม ปัญหาความรู้สึกของคนในพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างเด่นชัดและตาสว่างมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ ที่เจ้าหน้าที่ปะทะกับคนร้าย นานกว่า 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญคนร้ายเสียชีวิต 6 ศพ มีนายอาหามะดือราแม หะยีมะ หรือ ปะดอ ที่ได้ออกจากพื้นที่นานแล้วแต่ก็ยังคงมีการส่งพวกเข้ามาข่มขู่พี่น้องในพื้นที่ 2.นายอับดุลเลาะ โตะลาเละ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และเป็นลูกน้องของปะดอ  3.นายซาการียา ยาแม เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และเป็นลูกน้องของปะดอ 4.นายฮัมดี มะแอ 5.นายมะสะปรี คาเร็ง  และ 6.นายนารูดิง ดอมะ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไป ชาวบ้านหลายคนเริ่มเข้าใจปัญหามากขึ้น

“หลายคนยอมกลับตัวเป็นคนดีในสังคม ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ จากเมื่อก่อนเคยเป็นคนปิดกั้นตัวเอง เพราะในพื้นที่นี้ เมื่อก่อน มีปะดอเป็นแกนนำหลักที่ปลุกระดมและข่มขู่ชาวบ้าน เมื่อเขาจากไป อะไรก็เริ่มดีขึ้นและเป็นไปในทางที่ถูกต้อง แต่หลังจากนี้จะมีใครขึ้นมาแทนนั้นก็ไม่อาจตอบได้ก็ต้องรอดูกันต่อไปเพราะไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะหายไปจากพื้นที่ ตราบใดที่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา” อส.มะให้ความเห็น

จากการพูดคุยเห็นได้ชัดว่าเขามองปัญหาความไม่สงบในภาคใต้เป็นเรื่องผลประโยชน์ เขายังบอกว่าผลประโยชน์มีมากมายหลายระดับทั้งเรื่องยาเสพติด ซึ่งเดินทางจากภาคเหนือลงมาภาคใต้ได้ทั้งหมด และนักการเมืองในพื้นที่ก็จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีกลุ่มขบวนการหนุนหลังอยู่ แต่เขาออกตัวว่าไม่อาจพูดได้

“พูดแล้วจนมุมแน่นอน ใครบ้างที่จะกล้าไปยุ่ง มันมาแรงยิ่งกว่าเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีก แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูด แต่สุดท้ายปัญหาก็ตกอยู่กับชาวบ้าน”

ในฐานะคนของรัฐที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านเขาบอกว่า  เวลานี้ชาวบ้านไม่ต้องการอะไรมาก ใครจะแย่งชิงอะไรก็ตามเขาไม่สน ขอแค่สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ก็พอ ปัญหาจะมีหรือจะจบก็ไม่มีความสำคัญต่อพวกเขาอีกแล้ว เพราะชาวบ้านบอบช้ำกับสิ่งที่รัฐทำมามากแล้ว ทั้งเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นและงบประมาณที่เทลงมา ชาวบ้านตกเป็นผู้รับเคราะห์มาตลอด

“อย่างงบประมาณที่เทลงมา เคยไหมที่จะมีการตรวจสอบ เงินที่ส่งลงมาเข้ากระเป๋าใคร กางเกงใครไม่มีการตรวจสอบเลย เช่น งบ SML ที่ อ.โคกโพธิ์ จากอำเภอถึงผู้นำท้องถิ่นเชื่อว่าไม่มีการตรวจสอบเพราะถ้ามีการตรวจสอบแน่นอน งบ SML จะต้องหยุดไม่มีการอนุมัติต่อ และจะไม่มี หนึ่งหรือสองเท่าที่เห็นกลุ่มผู้นำกินกันพุงกาง” อส.มะแสดงความเห็น และว่า

 

“ขออยู่กับความถูกต้อง ฝ่ายรัฐผมก็ไม่อยู่เพราะเขามาทำงานเอาหน้าเอาตำแหน่งไม่นานเขาก็ต้องกลับไป ส่วนกลุ่มขบวนการก็ไม่ต้องการอยู่ ความถูกต้องเท่านั้นที่ผมขออยู่ ตอนนี้การอยู่ร่วมในพื้นที่ ก็ขอแค่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ใครจะทำอะไรก็ไม่สนใจ แต่ต้องทำและเป็นไปในทิศทางของความถูกต้อง ถ้าเมื่อใดทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่เก็บไว้เหมือนกัน ญาติก็ต้องว่าไปตามกฎหมายเพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย ประชาชนด้วยกันไม่สามารถชี้ขาดว่า ใครผิดหรือใครถูก”

แม้จะฟันธงเลือกที่ยืนของตนเองอย่างเข้มแข็งว่าอยู่ข้างความถูกต้อง  แต่บางปัญหาก็เกินกำลังที่เขาจะลุกขึ้นต่อสู้ เช่นเรื่องยาเสพติดและผลประโยชน์บางอย่าง อส.หนุ่มบอกว่าเวลาเจอคนในกลุ่มนี้กันก็ทักทายกัน เจอในร้านน้ำชาก็จ่ายเงินค่าน้ำชากัน หลังจากนั้นก็จบไม่มีการพูดถึง

“บอกตรงๆว่าเราอยู่ในพื้นที่ ไม่อยากมีปัญหาหรอก อยากอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีมีปัญหากับใคร แค่นี้ก็พอแล้ว ผมยังมีครอบครัวที่ต้องดูแลอีก” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงของความอ่อนล้า

เจ้าหน้าที่ อส.หนุ่มยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ อส.ในชุมชนของตัวเองว่า ไม่มีอะไรมาก แค่ทำทุกอย่างที่จะสกัดเหตุความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ก็พอ

“ ตอนนี้เราพยายามที่จะเอาความถูกต้องเข้ามาสู่ชุมชน ปัญหาไม่ให้เพิ่ม ทำทุกอย่างไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ก็เพียงพอ เคยมีครั้งหนึ่ง ได้ข่าวมาว่า แกนนำอาร์เคเคกลับมาในพื้นที่ วันนั้นฝนก็ตกหนัก ยอมตากฝนเปียกตลอดทั้งคืนเพื่อที่จะสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของเขาทั้งคืน อะไรก็ยอมทำขอแค่ ความสงบสุขในหมู่บ้านก็พอ อย่างล่าสุด กรณีที่ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปิดล้อมที่ไหนก็จะมีการพูดคุยก่อน เพราะเราคนในพื้นที่ รู้อะไรเป็นอะไร ทุกการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่เราจับตาหมด ก็หมายถึง ใครเป็นแนวร่วมใครเป็นชาวบ้านธรรมดาย่อมรู้ดี ที่ทำอย่างนี้ก็แค่ไม่อยากเพิ่มปัญหา

“อย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปิดล้อมปอเนาะแห่งหนึ่งในพื้นที่ ผมได้ยิน ก็ถามเจ้าหน้าที่ว่า แน่ใจหรือว่ามีคนร้ายตัวจริงอยู่ข้างใน ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าเข้าไปเพราะปอเนาะนี้ ผมรู้ดีว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าเจ้าหน้าที่เข้าไปเพราะแค่สงสัยก็จะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้น ปัญหาก็จะตามมาอีก”

เขาบอกว่ายังมองปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตไม่ออกว่าจะไปสู่ทิศทางไหน เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันเละเทะไปหมดเพราะผลประโยชน์อย่างเดียว หากเป็นเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียวก็ไม่มีทางที่จะมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ส่วนนครปัตตานีที่หลายคนมองว่าคือทางออกของปัญหาดังกล่าว อส.มะ กลับขอมองต่างมุม เขาบอกว่าไม่ใช่ทางออกอย่างแท้จริง แต่จะยิ่งเพิ่มปัญหามากกว่า เพราะเขามองว่า นครปัตตานีคือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้นและไม่อยากให้ผู้ที่มีการศึกษาคล้อยตามอารมณ์ของคำว่า “ผลประโยชน์” และ “นักการเมือง”

“ชาวบ้านธรรมดายังมองและรู้ว่า นครปัตตานีคือผลประโยชน์แน่นอน คนที่มีความรู้ก็ต้องรู้ดี แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ยอมเต้นตามเพราะอะไร” อส.มะกล่าวทิ้งท้ายก่อนคว้าปืนคู่ใจสะพายแล่งบนบ่าไปขึ้นรถจักรยายนต์ ก่อนจะขี่ออกไปทำหน้าที่อส.หมู่บ้านต่อไป

ทิ้งไว้แต่คำถามในใจว่า หากปัญหาความไม่สงบทับซ้อนกับปัญหาของการแย่งชิงผลประโยชน์ในพื้นที่ หรือเรื่องการเมืองท้องถิ่นแยกโยงใยกับขบวนการใต้ดินที่สร้างความรุนแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยมีประชาชนเป็นตัวประกัน อนาคตของพื้นที่ด้ามขวานทองนี้จะเป็นไปในทิศทางใด.