Skip to main content

โรงเรียนตาดีกาดารุล-เอ๊าก๊อฟ หรือ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด ประจำชุมชนชาวบ้านโต๊ะกูแช (ฆอแย) หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่จะเรยกกันว่า โรงเรียนของคนชนชาติมลายู หรือโรงเรียนมลายู (SEKOLAH MELAYU) เปิดเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ การเรียนศาสนาเป็นความรู้ภาคบังคับของชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม 
 

มะนาวาวี ยะโกะ

นักศึกษา Wartani Grassroot Media

Tadika หรือ Sekolah melayu (อ่านว่า ตาดีกา / ซือกอเลาะห์ เมอลายู) ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดดารุล-เอ๊าก๊อฟ บ้านโต๊ะกูแช (ฆอแย) หมู่ที่ 5 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เปิดสอนมาแล้ว 34 ปีโดยใช้เงินทุนจากรายได้ของชุมชนเป็นหลัก      มีบุคลากรทั้งหมด 9 คน ห้องเรียน 7 ห้อง นักเรียน 91 คน

รูปแบบการเรียนการสอนในอดีตจะเน้นวิชาที่เด็กควรรู้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก อาทิเช่น หลักปฏิบัติศาสนาอิสลาม หลักศรัทธา การเขียนและอ่าน โดยมีครูผู้สอนเพียงไม่กี่คน ครูเหล่านั้นมีจิตอาสาอย่างสูง เพราะต้องเสียสละทั้งเวลาและเงินทอง

ปัจจุบันรูปแบบการสอนได้ปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีการนำวิชาและกิจกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ในสังคมโดยเสริมความรู้ในด้านยาเสพติด กีฬาและอื่นๆ หลังเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ทำให้รัฐเริ่มให้ความสนใจโรงเรียนเหล่านี้มากขึ้น มีการเข้ามาดูแล จัดสรรงบประมาณโดยผ่านสำนักงานการศึกษาเอกชนประจำอำเภอธารโตและจัดทำหลักสูตรให้เท่าทันกับโรงเรียนของรัฐ

ปัจจุบันทางโรงเรียนได้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร หน้าที่รับผิดชอบและระบบการเรียนการสอนให้เข้มข้นขึ้น โดยการเชิญผู้ปกครองมาประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

นายมะตอเหะ มะฉุ ประธานศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดดารุล-เอ๊าก๊อฟ บ้านโต๊ะกูแช(ฆอแย) กล่าวว่า “ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้มีการเปิดชั้นเรียนเราเฎาะห์(อนุบาล) รับเด็กอายุตั้งแต่ 4-5 ปี เป็นโครงนำร่องเพื่อการพัฒนาและยกระดับโรงเรียนตาดีกาอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันจะมีโรงเรียนเอกชนที่รับเด็กอายุ 4-5 ปี แต่มีค่าใช้จ่ายสูงผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนไม่มีเงินส่งลูกหลานเรียนได้ ทางเราจึงได้ดำเนินการตรงนี้ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ปกครอง”

นายต่วนโซ๊ะ กาโฮง หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ประจำศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดดารุล-เอ๊าก๊อฟ บ้านโต๊ะกูแช(ฆอแย) กล่าวว่า “จากการที่เราดำเนินการเปิดชั้นเรียนเราเฎาะห์ แรกเริ่มมีผู้ปกครองส่งเด็กมาเรียนแค่ 3 คน ปัจจุบันเด็กมีอยู่ 18 คน เป็นเด็กในหมู่บ้านนี้ทั้งหมด และทางโรงเรียนได้มีโครงการไปเยี่ยมเยียนเด็กที่บ้าน รับฟังปัญหาของเด็กเพื่อนำมาแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายดาโอะ ยะโกะ ผู้ปกครองเด็ก กล่าวว่า “ตั้งแต่โรงเรียนตาดีกาเปิดสอนชั้นเราเฎาะห์ ทำให้เรามีโอกาสเหมือนเค้า หลานก็เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นเริ่มพูดมากเข้าสังคมกับเพื่อนได้ อ่านดุอา(บทสวด ขอพร)เป็น ภูมิใจที่ชุมชนเรามีการจัดทำโครงการนี้

หมายเหตุ: ผลงานของนักศึกษา โครงการอบรมเชิงปฏิบัติงานนักผลิตสื่อเพื่อสันติภาพ รุ่นที่1 (Wartani Grassroot Media - WGM) จัดโดย สำนักสื่อWartani