Skip to main content

“สื่อสังคม” หรือเรียกกันติดปากว่า “โซเซียลมีเดีย” (Social Media) เป็นการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมยุคใหม่ ที่แต่เดิมนั้นผู้คนมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารระหว่างกันด้วยการเห็นหน้าค่าตากัน อาจอยู่ในละแวกเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน บ้างก็นัดพบกันตามร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ต่างๆ บ้างก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มสมาคมของคนที่คิดหรืออยู่ในวิชาชีพเดียวกันเดียวกัน

 

แม้จะมีโทรศัพท์เข้ามาเป็นตัวกลางก็ยังมีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันอยู่ แต่ปัจจุบันมนุษย์สามารถสร้างและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยไม่ต้องเห็นตัวเป็นๆ เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะมี “สื่อ” เป็นพื้นที่กลางเพื่อให้ผู้คนจำนวนมากที่สนใจสิ่งคล้ายคลึงกัน มารวมกลุ่มกันเพื่อสร้าง (Create) แบ่งปัน (Share) หรือแลกเปลี่ยน (Exchange) ความคิดเห็น ความรู้สึก และข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน โดยไม่ต้องพบกันจริงๆ เหมือนที่เคยเป็นมา จึงเรียกสื่อดังกล่าวว่า “สื่อสังคม”

 

สื่อสังคมมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ICTs ที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่เรียกว่าระบบอินเทอร์เน็ต (Internet) จึงเป็นที่มาของคำว่า “สื่อสังคมออนไลน์” ระบบนี้มีคุณลักษณะสำคัญ คือ เชื่อมโยงกับผู้ใช้ทั่วโลก (Linkage) มีแนวโน้มเข้าถึงประชาชนมากขึ้น (Reach) โดยเฉพาะการพ่วงเข้ากับโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง สามารถใช้ได้บ่อยตามต้องการ (Frequency) ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน (Usability) มีความรวดเร็วทันทีทันใด (Immediacy) และสามารถเก็บบันทึกได้ หรือภาษาวิชาการเรียกว่า “ความยั่งยืน” (Permanence)

 

ด้วยศักยภาพดังกล่าว จึงทำให้การใช้สื่อสังคมแพร่หลายมากขึ้น จากการสำรวจของ Nielsen Media Research เมื่อ พ.ศ.2555 พบว่า เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้บ่อยที่สุด คือ เว็บไซต์ประเภทสื่อสังคม และผู้ใช้ส่วนใหญ่อุทิศเวลาไปกับการท่องเว็บไซต์ประเภทสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าเว็บไซต์ประเภทอื่น เฉพาะสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้สื่อสังคมผ่านคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 37% นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 ชาวอเมริกันใช้เวลากับสื่อสังคมรวมกันทั้งสิ้น 88 พันล้านนาที เดือนเดียวกันปีถัดเพิ่มขึ้นเป็น 121 พันล้านนาที

 

ความจริงแล้วสื่อสังคมมีหลายประเภท แต่ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ สื่อสังคมประเภทเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Networking เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท โซเชียล อิงค์ จำกัด เปิดเผยผลสำรวจการใช้สื่อสังคมของคนไทย พบว่า ผู้ที่ครองแชมป์ยังเป็นเฟซบุ๊ก มีจำนวน 28 ล้านบัญชีรายชื่อ สูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 53% โดยพื้นที่ที่ใช้งานมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 55%  หรือราว 15.4 ล้านบัญชีรายชื่อ รองลงมาคือ เชียงใหม่ ชลบุรี และนครราชสีมา ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น  คือ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และมหาสารคาม

 

  อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก มีจำนวนเกิน 1 พันล้านคนแล้ว หันมาดูสถิติผู้ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ในประเทศไทยกันบ้าง พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์เพียง 4.5 ล้านบัญชีรายชื่อ เป็นอันดับที่ 17 ของโลก ขณะที่อินสตาแกรม (Instagram) มีจำนวนผู้ใช้งานในไทยราว 1.5 ล้านบัญชีรายชื่อ

 

ด้านหัวหน้าฝ่ายงานขายและปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย เปิดเผยเมื่อปีที่แล้วว่า ยอดผู้ใช้ไลน์ทั่วโลกมี 300 ล้านบัญชีรายชื่อแล้ว แม้ว่าจะเปิดตัวไปเพียง 19 เดือน เร็วกว่าทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กที่ต้องใช้เวลานานถึง 49 เดือน และ 58 เดือนตามลำดับ กว่าจะมีบัญชีผู้ใช้จำนวน 300 ล้านคนดังกล่าว ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ใช้ในประเทศไทย 28 ล้านบัญชีรายชื่อ เป็นรองก็เพียงประเทศญี่ปุ่น งานนี้ “มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก” ได้ยินคงหนาวๆ ไม่น้อย เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนที่พอๆ กับจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยนั่นเอง

 

ส่วนทิศทางในอนาคต เราจะมีเครื่องมืออะไรใหม่ออกมาให้ได้เล่นอีก คงยากที่จะคาดเดาพอสมควร แต่ที่แน่ๆ ดูสถิติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวแล้ว คนไทยเราไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ

 

หมายเหตุ

ข้อมูลประกอบการเขียน ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์วิกิพีเดีย เพียงค้นหาคำว่า “Social Media”