Skip to main content
สามารถ ทองเฝือ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้นำเสนอได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาคประจำปี 2550 (ภาคใต้) วันที่ 28-29 กันยายน 2550 ณ โรงแรมราชมังคลาพาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
 
บทนำ
 
             หากพิจารณาจากกระแสสังคมการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีสาธารณะเพื่ออภิปราย แสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำตามข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นความเดือนร้อนต่างๆ จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เรามักจะได้ยินคำว่า “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยมากขึ้น ในปัจจุบันนักวิชาการบางท่านได้อธิบายว่า การเมืองภาคประชาชนเป็นหน่อความคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่ผู้คนให้นิยาม ความหมาย ตามฐานอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง ท่าทีหรือความโน้มเอียงในการมองบริบทและปัญหาสังคมการเมืองซึ่งนำมาสู่ก้าวย่างแนวทางการถากถางเส้นทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป[1]
 
ในขณะที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุลกล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนไม่ใช่การชุมนุมประท้วงขืนต้านอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว และไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่นักวิชาการท่านนี้ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า โดยทฤษฎีแล้วการเมืองภาคประชาชนคือการเมืองแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งการเคลื่อนไหวของสาธารณชนทั่วไปในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายหรือกิจการสาธารณะ และการเคลื่อนไหวของประชาชนเฉพาะกลุ่มเพื่อแสดงสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง หรือเพื่อยับยั้งการกระทำของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิพื้นฐานในระบอบการเมืองเปิด[2]
 
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีผู้นิยามและให้ความหมายเอาไว้มากมาย แต่คำนิยามดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันมากนัก จะต่างกันเพียงจุดเน้นที่แตกต่างกันออกไปเพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เน้นที่ความเป็นพลเมือง ชัยอนันต์ สมุทวาณิชเน้นที่ความสัมพันธ์รัฐกับประชาชน น.พ. ประเวศ วะสีเน้นที่ความเป็นชุมชน ขณะที่ธีรยุทธ บุญมีเน้นความเข้มแข็งของสังคม[3] อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคำจำกัดความหรือนิยามทั้งหมดที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า การเมืองภาคประชาชนคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเรียกร้องสิทธิ ความถูกต้องหรือสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างมีจิตสำนึกในของประชาชนในชุมชนหรือในสังคมของพวกเขาให้มีความเข้มแข็งตามวิถีแห่งการดำรงชีวิตของพวกเขานั้นเอง
 
            สำหรับบทความชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเสนอทรรศนะบางประการจากหลักธรรมคำสอนหรือบทบัญญัติของศาสนาอิสลามที่ว่าด้วย สิทธิของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง สิทธิพลเมืองและบทบาทของภาคประชาชนมุสลิมในระบบสังคมอิสลาม และพิจารณาวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ของสภาพสังคมในปัจจุบันว่า บทบาทของภาคประชาชนมุสลิมเป็นไปในลักษณะอย่างไรพร้อมกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 

สังคมอิสลามกับทฤษฎีการเมืองและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

 

 
            อิสลามมาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ อัส-สิลมฺ” แปลว่า “สันติภาพ” “การนอบน้อมและการยอมจำนน” ในด้านนิรุกติศาสตร์ อิสลามจึงมีความหมายว่า “การยอมจำนนตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะได้บรรลุถึงความสงบสุข”[4] ในฐานะศาสนา อิสลามยืนหยัดต่อความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวและต่อบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาท่านสุดท้ายคือมูฮัมหมัด
 
ดังนั้น คำว่า “อิสลาม” จึงหมายถึงการศรัทธาและยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรมและขันติธรรม อิสลามได้ให้เกียรติแก่มนุษย์ คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกแบกภาระให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์โดยที่อัลลอฮฺได้ทรงสร้างสรรค์สิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด อัลลอฮฺจึงได้บัญญัติให้แก่มนุษย์ยึดเป็นแนวปฏิบัติ พระองค์ได้ประทานคัมภีร์อัลกุรอานเพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตและได้ส่งศาสนทูตเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษย์ในการนำคำสอนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ ซึ่งบทบัญญัติและคำสอนของอิสลามล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การคุ้มครองศาสนา การคุ้มครองชีวิต การคุ้มครองสติปัญญา การคุ้มครองศักดิ์ศรี และการคุ้มครองทรัพย์สิน เป็นต้น
 
นอกจากนี้แล้วเนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานจะเป็นการเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าของตนเอง คุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมีอยู่ของมนุษย์ เส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จพร้อมทั้งจุดหมายปลายทางในชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติและอิสลามเป็นศาสนาของมนุษยชาติโดยแท้จริงนั้นเอง
 
            การที่อัลลอฮฺได้มอบให้อิสลามเป็นศาสนาของมนุษยชาตินั้น มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้[5]
 
1.    เพื่อนำมนุษยชาติไปสู่แนวทางแห่งความดีมีสันติสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
 
2.    เพื่อปรับปรุงและขัดเกลาอุปนิสัยของมนุษย์ให้ปราศจากความชั่วร้ายต่างๆ มุ่งให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมอันดี มีหลักยึดมั่นที่ถูกต้องด้วยเหตุผลและสามารถแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
 
3.    เพื่อทำให้มนุษยชาติมีหลักยึดมั่นที่มั่นคง ไม่งมงาย และเคารพสักการะต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น
 
4.    เพื่อให้มนุษยชาติมีความเป็นอยู่อย่างเสรีอย่างแท้จริง
 
5.    มุ่งส่งเสริมหลักมนุษยธรรมให้มีขึ้นในสังคมของมนุษยชาติ ฝึกจิตใจให้มีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
 
            สำหรับแหล่งที่มาของหลักการอิสลามนั้น นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา ได้จัดแบ่งแหล่งที่มาของหลักการอิสลามออกเป็น 4 แหล่งที่มาด้วยกันดังนี้[6]
 
1.    อัลกุรอาน คือคำของอัลลอฮฺที่พระองค์ได้ประทานลงมายังศาสดามูฮัมหมัด เพื่อชักนำมนุษยชาติออกจากความมืดสู่แสงสว่าง และคือข้อความที่ถูกบันทึกลงในแผ่นบันทึกต่างๆ อัลกรุอานคือแหล่งที่มาและเป็นที่อ้างอิงของข้อกำหนดต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นสังคมเราจะต้องกลับไปสู่อัลกุรอานก่อนอื่นใดเพื่อค้นหาข้อบัญญัติของปัญหานั้นๆ เมื่อเราพบจะต้องยึดเอามาปฏิบัติโดยไม่ต้องสู่สิ่งอื่นใด
 
2.    อัลฮาดิษ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่รายงานมาจากท่านศาสดามูฮัมหมัด ทั้งที่เป็นการกระทำหรือคำพูดหรือการยอมรับ (เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ซุนนะฮฺ[7])
 
3.    อิจมาอฺ คือหมายถึงนักวิชาการมุสลิมที่เป็นมุจตะฮิจ (คือผู้ที่มีความรู้ความสามารถวิเคราะห์หาข้อกำหนดจากตัวบทอัลกุรอานและซุนนะฮฺได้เอง) ทั้งหมดจากอุมมะฮฺ (ประชาชาติ) ของท่านศาสดาในยุคใดยุคหนึ่งได้มีความเห็นพ้องต้องกันในข้อกำหนดใดๆ ของศาสนา เมื่อนักวิชาการเหล่านั้นมีความเห็นพ้องต้องกันต้องกันแล้ว ความเห็นพ้องต้องกันของพวกเขาถือว่าเป็นอิจมาอฺ และการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ (วาญิบ) หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ในอัลฮาดิษหนึ่งว่า “นักวิชาการ (อุลามาอฺ) มุสลิม นั้นไม่มีมติกันในความหลงผิด ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันจึงถือว่าเป็นสัจจะ”[8]
 
4.    กิยาส คือการนำเอาเรื่องที่ไม่มีข้อกำหนดของศาสนาไปเปรียบเทียบกับอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีตัวบทระบุชัดถึงข้อกำหนดของมัน และที่นำไปเปรียบเทียบก็เพราะมีเหตุผลอย่างเดียวกัน และหลักกิยาสนี้เราจะใช้อ้างอิงได้ก็ต่อเมื่อไม่พบข้อกำหนดในอัลกุรอาน ในอัลฮาดิษหรือซุนนะฮฺและในอิจมาอฺ
 
            สำหรับคุณลักษณะพิเศษของสังคมอิสลามนั้น ในทรรศนะของซัยยิด กุฏบ์ มีความเห็นว่า การดำเนินกิจการทุกอย่างของสังคมจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น มีการนำเอาระบบแห่งการดำเนินชีวิตของอิสลามมาใช้ในสังคมนั้น[9] หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า สังคมอิสลามที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้น จะต้องเป็นสังคมที่ใช้อัลกุรอานและซุนนะฮฺเป็นระบบวิถีชีวิตของสังคม อย่างไรก็ตาม เรามักที่จะมีความเข้าใจที่คลานเคลื่อนอยู่บ่อยครั้งว่า สังคมอิสลามกับสังคมมุสลิมนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกัน ในความคิดเห็นของผู้เขียนไม่ได้มองเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแต่อาจจะไม่ได้นำเอาหลักการหรือหลักธรรมคำสอนตามทรรศนะของซัยยิด กุฏบ์ที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้นนำมาใช้ในสังคมของพวกเขาก็ได้ แต่ถ้าเป็นสังคมอิสลามที่แท้จริงแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า คือสังคมที่ชาวมุสลิมในสังคมนั้นๆ ได้ปฏิบัติตนอันเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮฺอย่างจริงจังเหมือนดั่งที่ซัยยิด กุฏบ์ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น จึงสามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นสังคมอิสลามอย่างแท้จริงได้
 
กล่าวโดยสรุปคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าทุกๆ สังคมมุสลิมย่อมที่จะเป็นสังคมอิสลามได้ จนกว่าสังคมนั้นจะมีการนำเอาระบบแห่งการดำเนินชีวิตของอิสลามมาใช้ในสังคมนั้นเสียก่อน จึงจะสามารถเรียกว่าเป็นสังคมอิสลามได้ 
 
อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ อิสลามได้บูรณาการมนุษย์เข้ากับพระผู้เป็นเจ้า ได้ปลุกสติสำนึกใหม่ขึ้นในตัวเขาเพื่อจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาทุกอย่างของชีวิต ปัจเจกบุคคล สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ชาติและระหว่างชาติ ในความสมัครใจที่จะยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า อิสลามมิได้แบ่งชีวิตออกเป็นอาณาจักรแห่งจิตใจและทางโลก อิสลามทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์มีด้านจิตวิญญาณด้วย และสร้างขบวนการสังคมขึ้นเพื่อบูรณะชีวิตของมนุษย์ในแนวทางของหลักการที่วิวรณ์โดยพระผู้เป็นเจ้า อิสลามมีความมุ่งหมายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงชีวิตและสร้างมนุษย์ใหม่และสังคมใหม่ขึ้นซึ่งจะต้องยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าและสวัสดิการของมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงมิใช่ศาสนาในความหมายที่จำกัดแต่มันเป็นประมวลชีวิตที่สมบูรณ์และเป็นปัจจัยแห่งการก่อให้เกิดวัฒนธรรม และลักษณะจำเพาะของอิสลามก็คือการเติบโตจากพื้นฐานของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ
 
หากพิจาณาหลักการของอิสลามที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิแล้วนั้น ตามหลักทฤษฎีการเมืองอิสลาม หลักการแรกพื้นฐานที่สุดของอิสลามก็คือ มนุษยชาตินั้นทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวมจะต้องละเว้นสิทธิทุกอย่างในความเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าที่จะถือตนเป็นใหญ่ ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ และใช้อำนาจต่อมนุษย์อื่นๆ อัลกุรอานกล่าวว่า “ประชาชนถามว่า สิทธิ อำนาจ มีอยู่ในเราบ้างไหม จงตอบว่า “สิทธิ อำนาจทั้งปวงเป็นของพระเจ้าแต่องค์เดียว”[10] ตามทฤษฎีนี้ก็คือ อธิปไตยเป็นของพระผู้เป็นเจ้าคืออัลลอฮฺ อัลลอฮฺเป็นผู้บัญญัติกฏเกณฑ์ต่างๆ ไม่มีมนุษย์ใดแม้แต่ท่านศาสดาจะมีสิทธิออกคำสั่งผู้อื่นด้วยสิทธิของตนเองให้ทำตามประสงค์
 
ดังนั้น สิ่งที่แตกต่างระหว่างระบอบอิสลามกับประชาธิปไตยตะวันตก กล่าวคือในขณะที่ประชาธิปไตยตะวันตกนั้นถือว่าประชาชนเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของกฎหมาย แต่อิสลามถือว่าเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคืออัลลอฮฺเท่านั้น และได้วางหลักการต่างๆ อย่างสมบูรณ์ผ่านคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดามูฮัมหมัด ดังนั้นเสรีภาพในทรรศนะของอิสลามจึงได้รับการประกันจากองค์อัลลอฮฺไม่ใช่จากมนุษย์ด้วยกันเอง เพื่อพิทักษ์ความเสมอภาคและความยุติธรรม โดยที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของมนุษย์ด้วยกันเอง
 
จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อบุล อะลา เมาดูดี ได้ในทรรศนะในงานเขียนของเขา “ทฤษฎีการเมืองของอิสลาม”[11] ว่า เป็นเรื่องที่เหมาะกว่าสำหรับองค์กรทางการเมืองของอิสลามคือ “อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งถูกเรียกขานว่า “เทวาธิปไตย” แต่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าของอิสลามแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเทวาธิปไตยซึ่งยุโรปได้มีประสบการณ์อันขมขื่นมาแล้ว ซึ่งชนชั้นผู้เป็นพระถูกกันออกจากประชาชนอื่นอย่างเข้มงวด โดยผู้เป็นพระได้แสดงอำนาจเหนือกว่าอย่างไม่ยับยั้ง และบังคับใช้กฎหมายซึ่งตนเองสร้างขึ้นเองโดยใช้นามของพระผู้เป็นเจ้าบังหน้า ดังนั้นในที่สุดก็บังคับความเป็นพระเจ้าและความเป็นเจ้าของตนเองลงไปเหนือสามัญชน ระบบดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเรื่องของมารร้ายมากกว่าจะเป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ที่ตรงข้ามกับระบบนี้คือระบบอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าที่สถาปนาโดยอิสลาม ระบบนี้มิได้ปกครองโดยชนชั้นศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่สร้างขึ้นเพื่อชุมชนมุสลิมทั้งหมดรวมทั้งผู้มีตำแหน่งและคนต่ำต้อย ประชาชนมุสลิมทั้งหมดบริหารรัฐตามคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าและการปฏิบัติตนของศาสดาของพระองค์
 
การบริหารภายใต้ระบบการเมืองนี้ประกอบไปด้วยเจตนารมณ์ของมุสลิมผู้ซึ่งมีสิทธิที่จะยกเลิกเรื่องของการบริหารทั้งหมดและปัญหาทั้งหมดซึ่งมิได้มีอยู่ในชารีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม) อย่างชัดเจนก็จะแก้ไขได้โดยการลงความเห็นในหมู่มุสลิม ชาวมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถและมีคุณสมบัติที่จะออกความคิดเห็นได้ดีในเรื่องกฎหมายอิสลาม (ชารีอะฮฺ) ก็มีสิทธิที่จะตีความกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้า – อธิปไตย ในความรู้สึกที่ว่าคำบัญชาใช้อย่างเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้าหรือศาสดาของพระองค์มีอยู่แล้ว ไม่มีผู้นำมุสลิมคนใดหรือสถาบันนิติบัญญัติใด หรือนักวิชาการทางศาสนาคนใดจะทำการตัดสินได้อย่างอิสระและแม้แต่เมื่อมุสลิมในโลกมารวมกันก็ไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่มีอยู่ได้
 
อนึ่ง ในประเด็นดังกล่าวนี้ ท่านอบุล อะลา เมาดูดียังได้ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามพร้อมกับให้คำอธิบายว่า ทำไมการกำหนดและวงจำกัดได้วางไว้กับอำนาจอธิปไตยของประชาชนในอิสลาม และอะไรคือลักษณะพื้นฐานของการกำหนดขอบเขตและการวงจำกัดเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าในลักษณะนี้พระผู้เป็นเจ้าได้ริบเสรีภาพทางความคิดและสติปัญญาของมนุษย์ไปเสีย แทนที่จะปกป้องมันไว้กระนั้นหรือ ซึ่งนักคิดผู้นี้ได้ให้คำตอบก็คือว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สงวนสิทธิ์ในการนิติบัญญัติเอาไว้เป็นของพระองค์ โดยมิใช่ว่าพระองค์จะพรากเอาสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ไป หากแต่ปกปักรักษาเสรีภาพนั้นไว้ต่างหาก วัตถุประสงค์ของพระองค์ก็คือการรักษามนุษย์ไว้จากการหลงทางและการพาตัวเองไปสู่ความหายนะ
 
            อย่างไรก็ตาม ในหนังสือชื่อ Freedom to Express Opinion to Islam เขียนโดย เชค อับดุสสลาม อัลบาสุนี ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วศาสนาอิสลามได้ส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องสิทธิของการมีเสรีภาพในการแสดงออก อิสลามมีระบบที่ประกันการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจสรุปให้เห็นได้ดังนี้[12]
 
·        ห้ามไม่ให้มีการข่มขู่ การคุมขัง ทรมานทำร้าย หรือการลงโทษด้วยวิธีการใดๆ ต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยชอบด้วยกฎหมาย
 
·        ชุมชนมุสลิมจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะสนับสนุนและปกป้องมุสลิมที่แสดงความคิดเห็นต่างๆ ตราบที่มันเป็นไปเพื่อความถูกต้องและเหมาะสม
 
·        มุสลิมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องรัฐหากมีการถูกกดขี่ใดๆ เกิดขึ้น โดยที่ระบบการศาลตัดสินจะต้องมีความเป็นอิสระแยกออกจากเจ้าหน้าที่อื่นๆ แม้กระทั้งแยกออกจากผู้ปกครอง
 
·        อิสลามไม่ยอมรับการถูกยัดเยียดด้วยความคิดเห็นหนึ่งความคิดเห็นใด ในขณะที่มีความคิดเห็นอื่นที่อาจจะมีความเป็นไปได้เช่นนั้น
 
·        มุสลิมจะต้องยอมรับและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ โดยปราศจากการระแวงสงสัยถึงการกระทำและความจริงใจของผู้อื่น
 
·        อิสลามรับประกันความง่ายดายในการเข้าถึงผู้ปกครองและการแสดงความคิดเห็นต่อผู้ปกครอง
 
·        อิสลามส่งเสริมและให้รางวัลแก่มุสลิมที่พูดความจริงเพื่อธำรงความยุติธรรม และให้ข้อแนะนำที่ดีต่อผู้อื่น
 
มุสลิม (ภาคประชาชน) กับการเมือง
           
ฮามิด เอนนาเยตได้อธิบายเอาไว้ว่า อิสลามยึดถือหลักของความเสมอภาคและหลักแห่งนิติธรรม ท้ายที่สุดอิสลามได้อาศัยหลักการที่เรียกว่า ชูรอ” (หลักการว่าด้วยการหารือ) และ “อิจมาอฺ” (หลักการว่าด้วยความเห็นพ้องต้องกันของปราชญ์มุสลิม) เพื่อบรรลุข้อที่ว่า รัฐบาลต้องไม่ปกครองโดยอาศัยเฉพาะกฎหมายบัญญัติเท่านั้น หากแต่ความคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้อยู่ภายใต้การปกครองเป็นสำคัญ ทั้งนี้ระบบการเมืองแบบอิสลามจึงถูกระบุว่าเป็นระบบการเมืองของสังคมที่มีตำแหน่งแห่งที่เฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างออกไปจากการยอมรับของโลกตะวันตกสมัยใหม่ และสามารถจะตัดสินผลความสำเร็จได้ด้วยเนื้อหาและความหมายเฉพาะตัวเท่านั้น[13]
 
นอกจากนี้แล้วบรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ต่างไม่ได้กำหนดถึงรูปแบบปกครอง และไม่ได้อรรถาธิบายถึงแนวทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญใดๆ ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเมืองแบบอิสลามจึงเป็นได้หลายรูปแบบวิธี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยต่างๆ จะเลือกสรรเอามาตามสมควรแก่คณะตน เพียงทว่าอัลกุรอานและซุนนะฮฺได้ให้เค้าโครงที่ชัดเจนของแบบแผนทางการเมือง ซึ่งสามารถทำให้บรรลุได้ทุกสถานการณ์ มุสลิมส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันว่าระบบการเมืองแบบอิสลามจะวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่าง[14]
 
1.    หลักการ “เตาฮีด” ซึ่งเป็นหลักเอกภาพและการเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวของอัลลอฮฺ
 
2.    ชารีอะฮฺ (Shari’ah) กฎหมายอิสลามตามหลักการแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮฺ
 
3.    การสถาปนาความยุติธรรม เสรีภาพ สิทธิที่จะกระทำการภายใต้การเชื่อฟังต่อหลักการชารีอะฮฺ
 
4.    ชูรอ (Shura) หรือหลักการปรึกษาหารือ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอำนาจทางการเมืองนี้ก็คือ หลักการอุมมะห์ อันเป็นระเบียบทางสังคมแบบอิสลาม
 
ในเมื่ออิสลามถือว่าพระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุด ประเด็นคำถามตามมาก็คือ ใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระองค์ เนื่องจากพระองค์อยู่เหนือสรรพสิ่งทุกอย่าง จึงไม่อาจใช้อำนาจสูงสุดได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องมีตัวแทนทำหน้าที่แทนพระองค์ สำหรับอิสลาม (รัฐอิสลาม) ถือว่ารัฐบาลเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ประทานลงมาเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อสร้างความสงบสุขและรักษาสิทธิผลประโยชน์ให้กับมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยมนุษย์เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย แต่ในอิสลามพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานแนวทางของกฎหมายลงมา (ชารีอะฮฺ) ผ่านทางท่านศาสดา ตามระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลจะปฏิบัติไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่อิสลามรัฐบาลและประชาชนทั้งหมดต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ
 
            จะเห็นได้ว่า ในการบริหารหรือปกครองของผู้นำอิสลามที่ถือว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้า (เคาะลีฟะฮฺ) นั้น จะต้องนำหลักการที่สำคัญคือหลักการ “ชารีอะฮฺ” อันว่าด้วย “ชูรอ” ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการให้ปราชญ์มุสลิมมาปรึกษาหารือร่วมกันในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นและจะต้องตัดสินความที่วางอยู่พื้นฐานแห่งความยุติธรรมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจปกครองที่อยุติธรรมขึ้นในทางการเมือง ดังที่เอนนาเยต กล่าวว่า แท้จริงแล้วอิสลามแสดงความเดียดฉันท์ต่ออำนาจกดขี่โดยบุคคลหรือคณะผู้ปกครองใดๆ เช่นเดียวกับการที่ประชาธิปไตยปฏิเสธในอำนาจเผด็จการนั้นเอง[15]
 
ดังนั้น อาจกล่าว ณ ที่นี้ได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบอบการปกครองแบบอิสลามแตกต่างจากระบอบการปกครองแบบอื่นก็เพราะระบอบอิสลามนี้นั้นมิได้ถูกผลิตจากมันสมองของมนุษย์ แต่มันถูกออกแบบขึ้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ระบอบนี้จึงเป็นระบอบการปกครองบริสุทธิ์
 
หลักการอิสลามกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมุสลิม : การเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง
 
            ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าอำนาจอธิปไตยในอิสลามนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ที่มีความแตกต่างไปจากระบบประชาธิปไตยตะวันตกที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของอัลลอฮฺโดยมีรัฐบาลหรือผู้ปกครองเป็นตัวแทนของพระองค์ (เคาะลีฟะฮฺ) ในการใช้อำนาจอธิปไตยของพระองค์ แต่รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจเหล่านั้นเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเองด้วยการอ้างความชอบธรรม (อำนาจในการปกครอง) ที่มาจากพระเจ้า ดังนั้นอิสลามจึงเปิดโอกาสให้กับประชาชนมุสลิมสามารถที่จะตรวจสอบการกระทำของผู้นำหรือผู้ปกครองได้เช่นกันและถือว่าการเรียกร้องไปสู่การกระทำความดีเป็นสิทธิและหน้าที่ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ซึ่งสิทธิในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ปกครองในอิสลาม ในเรื่องนี้ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้กล่าวถึงในอัลฮาดิษ (พระวจนะของท่านศาสดา) ว่า “ผู้ใดเห็นใครประพฤติผิด ก็จงเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนด้วยมือ (หมายถึงอำนาจถ้ามี) หากไม่สามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (ตักเตือนคัดค้าน) หากไม่สามารถอีกก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงออกห่างหรือเกลียดความผิดนั้น) การปฏิบัติเช่นนี้ (ในกรณีที่สาม) ย่อมถือว่าเป็นผู้มีอิหม่านหรือความศรัทธาที่อ่อนแอที่สุด”[16]
 
            ในประประวัติศาสตร์อิสลาม ได้ปรากฎถึงการเข้าไปมีส่วนในการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองโดยประชาชนชาวมุสลิม แม้ว่าชาวมุสลิมคนนั้นจะเป็นประชาชนคนธรรมดาสามัญก็สามารถที่จะเข้าไปตักเตือนว่ากล่าวหรือคัดค้าน ตรวจสอบในสิ่งที่ผู้ปกครองได้กระทำโดยไม่ถูกต้องหรือผิดหลักการศาสนา เหมือนดั่งที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้กล่าวไว้ว่า (อัลฮาดิษ) “ศาสนานั้นคือการตักเตือนกัน”[17]
 
สำหรับหลักการสำคัญในการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครอง ประชาชนชาวมุสลิมจะต้องยึดหลักการพื้นฐานของชารีอะฮฺ ที่ว่า ชารีอะฮฺของอัลลอฮฺเป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างให้มนุษย์มีการตื่นตัวอยู่เสมอในการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบผู้ปกครองจะเป็นไปเพื่อการสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้องจึงเป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ซึ่งหากเราพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า การตรวจสอบ คัดค้านหรือตักเตือนผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ปกครองบ้านเมืองในทรรศนะอิสลามนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างสังคมแห่งคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมส่วนรวมนั้นดีขึ้น มิใช่เพื่อตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น มีนัยสำคัญว่า นี่แหละคือบทบาทของภาคประชาชนตามหลักการอิสลามที่ถูกต้องอย่างแท้จริง  
 
            ในโลกปัจจุบัน เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นถือได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก ซึ่งหลักปรัชญาพื้นฐานของประชาธิปไตยคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ในระบอบนี้นั้นอำนาจการออกกฎหมายที่สมบูรณ์ชนิดนี้ อำนาจในการตัดสินค่านิยมและบรรทัดฐานของพฤติกรรมวางอยู่ในมือของประชาชน การออกกฎหมายคือสิทธิพิเศษของพวกเขาและการออกกฎหมายนั้นจะต้องตอบสนองอารมณ์และภาวะแห่งความคิดเห็นของพวกเขาด้วยหากว่ากฎหมายฉบับใดที่เป็นความต้องการของมวลชนไม่ว่ามันจะไม่ดีแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่ามันจะออกมาจากทรรศนะทางด้านศาสนาและศีลธรรมก็ตาม มันก็จะต้องมีขั้นตอนที่กำหนดไว้ในหนังสือทางหลักนิติศาสตร์ หากว่าประชาชนไม่ชอบกฎหมายใดๆ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขไม่ว่ามันจะยุติธรรมหรือถูกต้องอย่างไรแค่ไหนก็ตาม มันก็จะถูกลบหรือฉีกกฎหมายฉบับนั้นทิ้งอย่างไม่รีรอ กรณีเช่นนี้ ไม่ใช่ของอิสลาม อิสลามมิได้เอามาจากประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว
 
แต่คำถามมีอยู่ว่า แล้วประชาชนมุสลิมที่พักนักอาศัยอยู่ในประเทศที่มีประชาธิปไตยล่ะ? จะทำเช่นใด จะกระทำผิดต่อหลักการอิสลามที่ได้บัญญัติเอาไว้กระนั้นหรือ
 
ในกรณีเช่นนี้ การที่ประชาชนชาวมุสลิมไม่มีสิทธิเลือกระบอบการเมืองการปกครองแบบอิสลามได้ กรณีนี้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาสนาอนุโลม เช่น มุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมุสลิมก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองตามความเหมาะสม ตราบเท่าที่กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักบัญญัติอิสลาม
 
อนึ่ง สำหรับผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะเป็นผู้เลือกตั้งหรือผู้ที่จะถูกเลือกตั้ง มีอุดมการณ์อิสลามจึงตั้งใจมีส่วนร่วมในระบอบนี้ โดยจะเลือกหรือรับตำแหน่งเพื่อรับใช้อิสลามและสังคมมุสลิมนั้น มีนักปราชญ์มุสลิมหลายๆ ท่านได้ให้คำชี้ขาดว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด (ตั้งระบอบประชาธิปไตยให้เป็นคู่เคียงกับอัลลอฮฺ) ตราบใดที่ประชาชนมุสลิมผู้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นพยายามหลีกเลี่ยงจากข้อห้ามต่างๆ ที่มีอยู่ในระบอบประชาธิปไตย และพยายามนำเสนอเรียกร้องสู่คุณงามความดีของอิสลาม และคัดค้านความชั่วที่ขัดกับหลักการอิสลาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมของภาคประชาชนมุสลิมต้องสนับสนุนเขาหรือกลุ่มคณะนั้นๆ ให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อที่จะให้บุคคลหรือกลุ่มมุสลิมนั้นมีโอกาสนำหลักการอิสลามเข้าไปขจัดปัญหาต่างๆ ในชาติบ้านเมือง
 
บทส่งท้าย
 
            จากสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น อาจมองเห็นได้ว่า สิ่งที่ได้นำมาเสนอในบทความสั้นชิ้นนี้นั้น เป็นเพียงเชิงแนวคิด ทฤษฎี หลักการต่างๆ ที่เป็นข้อบทบัญญัติทางศาสนาอิสลามในการที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมุสลิมนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ถูกต้อง สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามในการที่จะให้ชาวมุสลิมเข้าไปมีบทบาท เรียกร้อง สิทธิ ความชอบธรรม ตามความถูกต้องที่ได้ระบุไว้ตามหลักการของอิสลามในการทำหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีหรือภาคประชาชนที่ดีของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผ่านมา การเรียกร้อง สิทธิอันพึ่งมี พึ่งได้ ของประชาชน เราจะเห็นว่ามักจะใช้ความรุนแรงในการประท้วง คัดค้าน ต่อต้านรัฐ หรือไม่ก็ใช้คำพูดวาจาด่าทอที่หยาบคายอย่างรุนแรงออกมาสู่สาธารณะชน อาจจะเพื่อให้เกิดความสะใจ มันส์ในอารมณ์หรือเพียงเพื่อที่จะทำการปลุกระดมมวลชนให้คล้อยตาม
 
แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบของการเจรจาตกลงกันเพื่อหาข้อยุติของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นๆ อยู่ดี ซึ่งเป็นวิธีการแบบสันติวิธีที่สอดคล้องกับหลักการ คำสอนและความหมายของอิสลาม เพราะอิสลามคือความสงบสุข สันติสุขและสันติภาพ อิสลามไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาหรือข้อเรียกร้องสิทธิใดๆ จากผู้ปกครองหรือรัฐบาลโดยวิธีการใช้ความรุนแรง หากเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงมักจะเห็นภาพของกลุ่มชาวมุสลิมในภูมิภาคส่วนต่างๆ ของโลกนิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ชุมนุมประท้วงหรือเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของพวกเขาโดยวิธีการที่รุนแรง คำตอบที่แท้จริงก็คือ พวกเขาเป็นมุสลิมก็จริงแต่พวกเขาไม่ใช้หลักธรรมแห่งอิสลามมาใช้หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า พวกเขาเป็นมุสลิมแต่ไม่มีอิสลามนั้นเอง อิสลามไม่ได้ห้ามการปฏิวัติ ชุมนุมประท้วงของภาคประชาชน ซึ่งภาคประชาชนชาวมุสลิมสามารถกระทำได้โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีเจตนาเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ และไม่ใช้ความรุนแรง มิเช่นนั้นแล้วจะถือว่ากลุ่มคณะบุคคลหรือองค์กรภาคประชาชนเหล่านั้นได้กระทำการที่ผิดต่อหลักการคำสอนของอิสลาม
 
 
แหล่งอ้างอิง
 
คุรชีด อะห์มัด, อิสลาม ความหมายและคำสอน, จรัญ มะลูลีม (แปล), กรุงเทพฯ : สำนักพิม์อิสลามิค อะเคเดมี, 2541
 
ซัยยิด กุฏบ์, หนทางสู่หลักชัย, บรรจง บินกาซัน (แปล), กรุงเทพฯ : อัล-ญิฮาด, 2524
 
จรัญ มะลูลีม, เอเชียตะวันตกศึกษา : ภาพรวมทางสังคมศาตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541
 
ดลมานรรจ์ บากา และ แวอูเซ็ง มะแดเฮาะ, อิสลามศึกษาเบื้องต้น, ปัตตานี : วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2536
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง. มุมมองภาคประชาชน : การเมืองภาคประชาชน จะก้าวกันไปอย่างไร, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 มีนาคม 2551
 
สามชาย ศรีสันต์, การเมืองภาคประชาชน: แนวทางการใช้สิทธิความเป็นคนไทย, กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูลและวิชาการ พรรคชาติพัฒนา, 2545
 
สุชาติ เศรษฐมาลินี, ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2550
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไทย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548
 
อรุณ บุญชม, อัลฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) เล่มที่ 1, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม, 2536
 
อับดุลราชิด โมเต็น, หลักอิสลามกับประชาธิปไตย: ประชาธิปไตยในนัยยะการพัฒนา ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม, นิพนธ์ โซะเฮงและปริญญา นวลเปียน (แปล) บทความในเวปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
 
อัลกุรอาน อัลฮาดิษ ศาสนประวัติ ตัจวิด : แบบเรียนศาสนาประถมศึกษา, กรุงเทพฯ: สมาคมคุรุสัมพันธ์, 2525
 


[1] ประภาส ปิ่นตบแต่ง. มุมมองภาคประชาชน การเมืองภาคประชาชนจะก้าวไปอย่างไร,ใน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์19 มีนาคม 2551 http://www.bangkokbiznews.com/2008/03/19/WW12_1208_news.php?newsid=240008 
 
[2] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไทย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548 หน้า 144
 
[3]สามชาย ศรีสันต์, การเมืองภาคประชาชน: แนวทางการใช้สิทธิความเป็นคนไทย, กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลและวิชาการ พรรคชาติพัฒนา, 2545 หน้า 13
 
[4] จรัญ มะลูลีม, เอเชียตะวันตกศึกษา : ภาพรวมทางสังคมศาตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541, หน้า 49
 
[5] ดลมานรรจ์ บากา และ แวอูเซ็ง มะแดเฮาะ, อิสลามศึกษาเบื้องต้น, ปัตตานี : วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2536, หน้า 3
 
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 3
 
[7] ซุนนะฮฺ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด ทั้งที่เป็นคำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่าน
 
[8] อรุณ บุญชม, อัลฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) เล่มที่ 1, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม, 2536 หน้า 12
 
[9] ซัยยิด กุฏบ์, หนทางสู่หลักชัย, บรรจง บินกาซัน (แปล), กรุงเทพฯ : อัล-ญิฮาด, 2524, หน้า 117-120
 
[10] อัลกุรอาน, 111 : 64
 
[11] อ้างใน คุรชีด อะห์มัด, อิสลาม ความหมายและคำสอน, จรัญ มะลูลีม (แปล), กรุงเทพฯ : สำนักพิม์อิสลามิค อะเคเดมี, 2541 หน้า 209 - 210
 
[12] อ้างใน สุชาติ เศรษฐมาลินี, ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2550 หน้า 17 – 18
 
[13] อ้างถึงใน อับดุลราชิด โมเต็น, หลักอิสลามกับประชาธิปไตย: ประชาธิปไตยในนัยยะการพัฒนา ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม อ้างใน นิพนธ์ โซะเฮง และ ปริญญา นวลเปียน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ใน http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9650.html
 
[14] เรื่องเดียวกัน
 
[15] เรื่องเดียวกัน
 
[16] อ้างใน อัลกุรอาน อัลฮาดิษ ศาสนประวัติ ตัจวิด : แบบเรียนศาสนาประถมศึกษา, กรุงเทพฯ : สมาคมคุรุสัมพันธ์, 2525 หน้า 24
 
[17] เรื่องเดียวกัน หน้า 24