Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ

         

          สิ้นท้ายปลายปีด้วยตารางกิจกรรมอัดแน่นของบรรดาภาคประชาสังคม ที่เข้าร่วมกิจกรรมเสริมศักยภาพ สร้างความมั่นใจในการเดินหน้าเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมิติใหม่ ที่ไม่ปล่อยให้คู่ขัดแย้งหลักในการชี้ขาดปลายทางสันติภาพได้โดยลำพังอีกต่อไป แต่ปีนี้ดูท่าทางอะไรๆจะพัฒนาไปไกลกว่าที่ผ่านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศมีให้เห็นมากขึ้น ทั้งงานด้านวิชาการและอื่นๆมากมาย

          เช่นเดียวกันกับกิจกรรมที่มีหนังสือเชิญระบุตำแหน่งนัดพบไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก เดินทางด้วยเครื่องบินประมาณ 5 ชั่วโมง เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีประสบการณ์ในการลุกขึ้นต่อสู้กับสภาพสงครามทั้งเปิดตัวและซ่อนรูปมาหลายปี อย่างประเทศอินโดนีเซียและประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับประเทศนี้คือ ประธานาธิบดีจอมคอรัปชันอย่างซูฮาโต ถูกพลังนักศึกษาและประชาชนโค่นล้มไม่เป็นท่ามาแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1998

          การอบรมนี้ มีชื่อเต็มว่า “building network and Increasing Skills Having Perspective of Conflict Transformation and Human rights” ระหว่าง 18-22 December 2012 จัดที่โรงแรม Alia Cikini Hotel, Jl. Cikini Raya 32, 10330, Jakarta Indonesia

องค์กรภาคประชาสังคมจากปาตานีที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ หรือDeep South Watch(DSW) 2. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ หรือDeep South Women Association For Peace (Deep Peace) 3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ Cross Culture foundation(CrCF) 4.ศูนย์ทนายความมุสลิม Muslim Attorney Center (MAC) 5. Wartani 6. หรือสมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา Youth Development For Peace Academy (YDA) 7.ศูนย์ผู้ช่วยทนายความ หรือ Southern Paralegal Advocacy Network (SPAN) 8. ศูนย์ตาดีกา ห้าจังหวัดชายแดนใต้ Perkasa 9. วิทยาลัยประชาชน People College และยังมีInterns จากกิจกรรม Internship program ระหว่าง LBH Jakarta กับองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ด้วย อีก 5 คน

องค์กรที่จัดการอบรมในครั้งนี้ ชื่อว่า LBH Jakarta ถ้าอ่านออกเสียงตามสำเนียงของคนที่นั้น คือ แอล เบ ฮา ไม่ใช่ แอล บี เอท อย่างที่คนไทยออกเสียงกัน ชื่อเต็มขององค์กรนี้เป็นภาษาอินโดนีเซีย ชื่อว่า Lambaga Bantuan Hukum หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ Legal Aid Institute ซึ่งองค์กรใหญ่อยู่ที่จาการ์ต้า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย

เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลัง รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงความโหดร้ายที่ประธานาธิบดีคนนี้ได้กระทำต่อผู้คิดต่างจากเขา โดยการละเมิดสิทธิขั้นรายแรง ทำให้ก่อเกิดกลุ่มที่จับเรื่องกฎหมายและกลไกสิทธิมนุษยชนและโปรโมทความเป็นประชาธิปไตย เพื่อมัดตัวประธานาธิบดีให้เป็นที่ประจักษ์ และทำให้ช่วงหนึ่งอินโดนีเซียน พูดคำว่า HAM Ku แปลว่า “สิทธิของฉัน” กลายเป็นคำติดปาก ซึ่งองค์กรหนึ่งในนั้นที่เป็นแกนหลักสำคัญ ถึงขั้นได้ชื่อว่าเป็น “Locomotive” หรือหัวขบวนของกลุ่มประท้วงดังกล่าว คือ องค์กรนี้นั้นเอง

          การอบรมเป็นไปอย่างเข้มข้น 3 วัน กับสามเนื้อหาหนัก Conflict ,Human rights and Advocacy และจบด้วย Political Consolidation หรือแปลเป็นไทยคือการผนึกกำลังทางการเมือง

“ โปรแกรมนี้ เป็นโปรแกรมเพื่อการพัฒนาเครือข่ายระหว่าง LBH กับภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นคำพูดที่พอสรุปจับใจความได้ว่า ทำไมต้องเข้าร่วมโครงการนี้ ที่นี่ ซึ่งเป็นคำพูดกล่าวต้อนรับจาก Febi Yonesta, S.H. Director ของLBH Jakarta ในวันแรกที่ผู้เข้าร่วมได้มารวมตัวกันที่ห้องประชุม

การชี้แจงในบทเรียนทั้งสามส่วนได้เริ่มต้น พร้อมชี้แจงว่าใครจะมาเป็นวิทยากร แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ข้อตกลงในการใช้ภาษาหลักในการอบรม

semua bisa cakap melayu kan ,,,bahasa apa kita kan bicara?”

(ทุกคนพูดภาษามลายูได้ใช่ไม...เราจะสนทนาด้วยภาษาอะไรดีครับ?)

เสียงส่วนใหญ่ตอบว่า “Melayu” และวิทยากรก็ตอบ “Ok”

แต่ปัญหาคือ คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และคุณสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูเลย ต้องการล่ามเป็นภาษาอังกฤษ และผู้เข้าอบรมส่วนใหญ๋ที่บอกว่า เข้าใจภาษามลายู เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถเข้าใจภาษาอินโดได้ทั้งหมด เพราะมีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ และพวกเราไม่ค่อยเข้าใจภาษาอังกฤษ จึงต้องมีการตกลงเรื่องภาษาอีกครั้งหนึ่ง

“เดี่ยวให้วิทยากรพูดเป็นภาษามลายูเป็นหลัก แล้วให้ใครที่เข้าใจมากที่สุดแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง” กลายเป็นห้องที่ต้องใช้การสื่อสารมากกว่าสองภาษาโดยปริยาย เพราะฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของพวกเราจะกลายเป็นการแปลจากภาษาที่หนึ่งเป็นภาษาที่สองและการสรุปรวบว่า เนื้อหาที่วิทยากรกำลังอธิบายแปลว่าอะไร

“อาจจะเป็นเพราะประเทศไทย ไม่คุ้นกับเรื่องนี้เลยต้องอธิบายกันเยอะหน่อยนะครับวิทยากร” มีผู้เข้าอบรมแลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับวิทยากร เพื่อให้เข้าใจว่า ทำไมต้องคุยกันระหว่างการอบรมบ่อยนัก และดูจะเมามันมากกว่า ที่ฟังวิทยากรเล่าเสียอีก โดยเฉพาะเรื่องเข้าใจยากอย่างการวิเคราะห์ข้ออ่อนของกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศ และการใช้กลไกสิทธิแห่งสหประชาชาติ ที่รองรับสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเดิมอยู่แล้ว จึงต้องถกเถียงหนักเป็นพิเศษ

 

Session 1 Conflict โดย Boedi Widjarjo โดยจากการเรียนภาคนี้ จะอธิบายครอบคลุมประเด็นของความขัดแย้งดังนี้ 1. Why we should resolve conflict /ทำไมต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง? 2. How is conflict anatomy/สรีระของความขัดแย้งเป็นอย่างไร? 3.How to handle and resolve conflict/ จะรับมือและแก้ปัญหากับความขัดแย้งอย่างไร?

“จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความขัดแย้งคืออะไร”

การเริ่มต้นการเรียนภาคนี้ คือการทำความเข้าใจกับความขัดแย้งก่อนว่าคืออะไร

ความรุนแรงทางกายภาพที่เรามองเห็น อาจจะเป็นเสี้ยวหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่ในฐานะนักไกล่เกลี่ยหรือผู้ที่กำลังจะแก้ไขความขัดแย้งต้องหารากเง้าของปัญหาให้เจอเสียก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเรามักจะมองไม่เห็นและเกิดจากปัญหาเล็กๆที่สะสมมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ผู้ที่จะมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้ง ต้องมีการเตรียมความพร้อม มีจุดยืนและมีความมุ่งมั่นชัดเจนว่าจะร่วมแก้ปัญหา โดยต้องมีประเมินก่อนว่า ตัวเองเหมาะสมหรือไม่ในการเข้าร่วมการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น วิเคราะห์ง่ายๆโดยการหาว่าคุณสมบัติใดที่เป็นจุดแข็งที่สุด 5 ประการ เหมาะสมที่จะเข้าเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาหรือไม่ และจุดอ่อนที่อาจจะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ยังเกิดคำถามมากมายถึงคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ใครจะตัดสิน ซึ่งวิธีตรวจสอบว่าใครเหมาะสมคือ การถกเถียงกันภายในกลุ่มนั้นเอง จะทำให้เห็นว่าคุณสมบัติที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนจะได้รับการยอมรับหรือไม่

ในสังคมหนึ่งๆจะสามารถแบ่งประเภทคน ที่เมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง เป็นสามประเภท คือ

  1. Aggressive ใช้วิธีการรุนแรง ก้าวร้าว
  2. Hadapi เผชิญหน้า ด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง พร้อมเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย
  3. Escape หนีปัญหา ไม่อยากเข้าร่วม มองไม่เห็นปัญหา

คนทั้งสามประเภทนี้ จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด แต่คนที่จัดขบวนทางสังคมต้องรู้ว่าจะใช้คนแต่ละประเภทอย่างไร ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกัน เป็นการวางยุทธศาสตร์ประเภทหนึ่ง วิทยากรเรียกยุทธการนี้ว่า “Makan Bubur Panas” แปลว่า ยุทธการกินข้าวต้มร้อน คือต้องค่อยกินตรงขอบๆก่อน ค่อยๆตักกินทีละนิด บริเวณที่ร้อนจะกินทีเดียวไม่ได้ รอให้เย็นก่อนสุดท้ายเป้าหมายคือกินหมดถ้วยเหมือนกัน

ลำดับต่อมาในการเข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง คือการจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิผลมากที่สุด อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนข้อมูล ซึ่งต้องการตรวจสอบข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือมากนอ้อยเพียงใด ข้อมูลที่ล้นเกินไป ต้องแก้ด้วยวิธีการ เรียงลำดับความสำคัญของข้อมูล ที่เราจะเลือกใช้ และอาจจะประสบปัญหาการข้อมูลที่มีซับซ้อนมาก แก้โดยการหาผู้เชียวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลและอธิบายว่าสิ่งที่เราได้มานั้นคืออะไร

ในการคลี่คลายความขัดแย้ง อาจจะยากมากขึ้นหรือง่ายดายมาก ขึ้นอยู่กับการจัดการข้อมูลที่เรามีด้วยส่วนหนึ่ง

เมื่อถึงขั้นการวิเคราะห์ความขัดแย้ง มีหลายเครื่องมือที่สามารถทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดเป็นอย่างไร  และควรจะให้ความสำคัญที่ส่วนใด เพื่อนำสู่การแก้ปัญหา

สิ่งที่มักจะถูกพูดถึงว่าคู่ขัดแย้งต้องการอะไร

  1. อำนาจ
  2. สิทธิ
  3. ความสนใจ/ผลประโยชน์ หรือสิ่งที่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนสองกลุ่มไม่ลงรอยกัน แต่มักจะถูกเก็บไว้อย่างลึก ความต้องการที่แท้จริงมักจะไม่ถูกเปิดเผยออกมาง่ายนัก

แม้กลุ่มที่มาอำนาจเหนือกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ด้วยอำนาจที่ตนมี ณ ขณะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาถูกจัดการไปทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่ทางฝ่ายตรงข้ามสามารถใช้อ้างว่า ตนสามารถเรียกร้องได้ ด้วยเงื่อนไขสิทธิมนุษยชน แต่ท้ายที่สุดการขจัดความขัดแย้งที่อาจจะนำสู่การใช้ความรุนแรง คือ การมุ่งไปที่สิ่งที่เข้าต้องการจริง หรือ Interest นั้นเอง

การวิเคราะห์ความขัดแย้งอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้

  1. ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับ อำนาจ การปกครอง  การจัดสรรอำนาจ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์
  2. ปัญหาเรื่องค่านิยม ที่เกี่ยวข้องกับ ค่านิยมที่มีการต่อสู้กัน(เพศภาวะ,ชนชั้นในสังคม)
  3. ปัญหาด้านข้อมูล อาจจะมีข้อมูลไม่เพียงพอ มีการตีความข้อมูลแตกต่างกัน การเข้าถึงข้อมูลต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน
  4. ปัญหามนุษยสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ อารมณ์ การตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่ตนคิด ขาดการสื่อสาร หรือสื่อสารด้วยข้อมูลไม่ถูกต้อง
  5. ปัญหาใจกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะไม่สามารถเข้าถึงได้ คู่ขัดแย้งมักเลือกที่จะเก็บเป็นความลับไม่เปิดให้อีกฝ่ายทราบ แต่เป็นปัญหาที่ทำให้ความขัดแย้งไม่สามารถคลี่คลายได้ ถ้าไม่สามารถแก้สิ่งนี้ได้

 

เมื่อมาถึง โจทย์ที่โยนมาให้ทางสามจังหวัดคบคิดกันบ้างว่า ถ้าให้เติมรายละเอียดในแต่ละประเภทของปัญหา ในประเด็นที่เราคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง คิดว่า ปัญหาต่างๆเหล่านั้นจะอยู่ตำแหน่งใดของเครื่องมือนี้

ซึ่งพวกเราถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม วิเคราะห์ และนำเสนอ ซึ่งการนำเสนอในครั้งนี้ ได้คำตอบแตกต่างกัน จุดที่น่าสนใจคือ แต่ละกลุ่มคิดว่า ปัญหาใจกลาง หรือ Masalah Kepetingan ของแต่ละกลุ่มคืออะไร

กลุ่มที่ 1 มองว่า ทั้งรัฐไทยและขบวนการติดอาวุธเรียกร้องเอกราช ณ ตอนนี้ กำลังต่อส็เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองและอีกฝ่ายต้องการอำนาจที่ตนสูญเสีย

กลุ่มที่ 2 มองว่าเป็นเรื่องของความหวงแหนชาตินิยมของรัฐไทย และการปกป้องหลักใหญ่ทางชาติพันธุ์ของมลายู

ซึ่งจากกระบวนการทั้งวัน ทำให้เห็นวิธีการมองในฐานะผู้ที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ต้องมีเครื่องมือเพื่อเข้าใจสภาพปัญหาก่อนที่จะลงมือแก้ไข ซึ่งสำคัญที่การยึด interest ของคนเป็นหลัก และการมองที่แก่นของปัญหา เมื่อเรามองปัญหาเป็นก้อนเดียว วิธีการแก้ปัญหาที่เราเลือกก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะบางอย่างได้ ซึ่งบางเรื่องต้องแก้ที่โครงสร้าง บางเรื่องต้องแก้ที่ความสัมพันธ์ทางสังคม และบางเรื่องต้องจัดการที่ข้อมูลก่อน ทำให้เห็นว่า ปัญหาหนึ่งๆต้องเลือกวิธีที่ถูกต้องของแต่ละปัญหาด้วย แต่ที่วิทยากรย้ำหนักหนา คือ การแก้โดยที่ไม่เข้าใจ “root cause of conflict” หรือไม่เข้าใจรากเง้าของปัญหาก่อน ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาแน่นอน และยิ่งทำให้ปัญหาถูกซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก....

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ความขัดแย้งในครั้งนี้ จะคุ้มกับการเดินทางไกลถึงจาการ์ต้า แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งของเมืองประวัติศาสตร์นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งนี้ ยังคงมีบรรยากาศการต่อสู้ที่ยังคุกรุ่นอยู่ แม้สภาพบ้านเมืองจะไม่ได้ดีมากมาย แต่ประชาชนที่นั้น ก็มีคำฮิตติดปากที่แสดงให้เห็นว่า เขามีอำนาจในการต่อรองในตัวเองอยู่นะ