Skip to main content

ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี

 

ในหมู่มวลคนสาธารณสุขกลางพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บทบาทของบุคลากรหรือมาตรฐานการบริการสาธารณสุขอาจไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา แต่ประเด็นสำคัญคือ เหล่าแพทย์ พยาบาลที่ทำงานในพื้นที่เฉพาะซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้าน ศาสนา สังคม วัฒนธรรม ประเพณีเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดประสานกับวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมในท้องถิ่นนั้นๆ

หลายพื้นที่ชาวบ้านยังคงปฏิเสธการเข้ารับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขสมัยใหม่ แต่เลือกที่จะรับการรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม โดยเฉพาะการคลอดบุตรกับโต๊ะบิดันหรือหมอตำแยพื้นบ้าน ด้วยเหตุความไม่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐ การขาดความรู้เรื่องสุขอนามัย และเพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักของศาสนาอิสลาม ดังนั้นหญิงที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จึงนิยมไปฝากครรภ์กับโต๊ะบิดัน

ปัญหาสำคัญของการฝากครรภ์กับโต๊ะบิดันนั้น คือเรื่องของความปลอดภัยในการคลอดบุตร เนื่องจากขาดสุขอนามัยที่ดีและปลอดภัย เป็นเหตุของการเสียชีวิตในมารดาและเด็กทารก โดยส่วนใหญ่จะเกิดการติดเชื้อหรือตกเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาที่มักถูกมองข้ามมาโดยตลอด ดังนั้นจึงมีหลายหน่วยงานพยายามเข้าไปให้ความรู้แก่โต๊ะบิดัน และชาวบ้าน เรื่องของการช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำคลอดอย่างปลอดภัย แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

งานวิจัยของโครงการงานประจำสู่งานวิจัย หรือ R2 R (Routine to Research) เรื่อง โครงการศึกษาและถอดบทเรียนของสถานบริการแม่และเด็กของชาวไทยมุสลิมอำเภอเทพา ของสาฝาเร๊าะ เจะจาโรจน์ และคณะ จึงเป็นตัวอย่างการปรับตัวล่าสุดของสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้พยายามปรับบริการให้เข้ากับบริบทของชุมชนมุสลิมในพื้นที่

"สมัยก่อนระบบสาธารณสุขไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องของศาสนา ความเชื่อของชุมชน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ช่วงหลังในพื้นที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพของแม่และทารกหลังคลอด คือ ตกเลือด เบ่งลูกนาน หลายกรณีทำให้แม่รอดแล้วลูกเสียชีวิต หรือเด็กออกมาพิการ ทางโรงพยาบาลจึงเข้าไปศึกษาระบบการดูแลครรภ์มารดาของชุมชนจากโต๊ะบิดัน"สาฝาเร๊าะ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเทพา จ.สงขลา เล่าถึงที่มาที่ไปของการศึกษาครั้งนี้

เธอบอกอีกว่า เริ่มแรกจะเข้าไปสำรวจจำนวนโต๊ะบิดันในพื้นที่ อ.เทพา จากนั้นก็ดึงเข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องสุขภาวะและชวนเข้ามาทำคลอดร่วมกับโรงพยาบาล เพราะวิธีการทำคลอดแบบโบราณบางขั้นตอนไม่ปลอดภัยสำหรับแม่และเด็ก เช่น การตัดรกกับไม่ไผ่ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น ทางโรงพยาบาลก็เข้าไปให้คำแนะนำเพื่อเปลี่ยนวิธีการให้ถูกสุขลักษณะ แต่บางขั้นตอนที่มีความปลอดภัยอยู่แล้วก็จะปล่อยให้ทำได้ เพื่อไม่ให้ขัดกับวิถีชุมชน

ในขั้นตอนการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ อ.เทพา มีโต๊ะบิดัน 12 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในช่วง 54 - 93 ปี ทั้งหมดใช้วิธีการผดุงครรภ์แบบโบราณ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ โดยได้รับการถ่ายทอดหรือสังเกตจากการติดตามบรรพบุรุษที่เป็นโต๊ะบิดันไปทำคลอด
กลุ่มสองคือ เกิดจากสัญชาตญาณ หรือจิตวิญาณ ซึ่งไม่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากโต๊ะบิดันโดยตรง แต่เกิดจากเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือจากการลองผิดลองถูก

"สมัยก่อนโต๊ะบิดันจะดูแลครรภ์ตั้งแต่เริ่มท้องจนถึงหลังคลอด โดยจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่หญิงที่ตั้งครรภ์ มีการนวดตัว คัดท้อง แต่งท้อง พอใกล้คลอดครอบครัวก็จะไปตามโต๊ะบิดันมาทำคลอดที่บ้าน"

สาฝาเร๊าะ ยอมรับว่า การเข้าไปเรียนรู้วิธีการผดุงครรภ์จากโต๊ะบิดันเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขท้องถิ่นอย่างมาก โดยเห็นได้ชัดจากกรณีศึกษาการนวดกระตุ้นน้ำนมมารดา ซึ่งสามารถนำใช้ควบคู่กับการดูแล มารดาหลังคลอดบุตรอย่างได้ผล

การนวดกระตุ้นน้ำนมโดยโต๊ะบิดันนั้นส่งผลต่อมารดาหลังคลอดบุตรทั้งทางจิตใจ ร่างกาย และสังคม คือด้านร่างกายส่งผลให้น้ำนมไหลดีขึ้น ไม่มีอาการปวดคัดตึงเต้านม และลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายหลังคลอด ด้านจิตใจส่งผลให้มารดาหลังคลอดมีความมั่นใจในการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ ลดความวิตกกังวล คลายความเจ็บปวด ด้านสังคมส่งผลจากการบอกกันปากต่อปาก ทำให้หญิงหลังคลอดบุตรนิยมใช้บริการนวดกระตุ้นน้ำนมเพื่อให้น้ำนมไหลดีขึ้น เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดสายใยรักจากน้ำนมแม่

กระนั้นจึงได้มีการปรับระบบบริการของโรงพยาบาลเทพาด้วยการเข้าไปร่วมผดุงครรภ์กับโต๊ะบิดันในชุมชน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะก่อนคลอด หญิงตั้งครรภ์มีการฝากครรภ์แบบคู่ขนาน เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็จะให้ฝากครรภ์กับโต๊ะบิดัน เพื่อให้ดูแลนวดท้อง แต่งท้อง คัดท้อง และฝากครรภ์ไว้กับสถานบริการของรัฐด้วย เพื่อมารับบริการคลอดบุตรที่โรงพยาบาล

ระยะคลอด จะเปิดโอกาสให้โต๊ะบิดันเข้ามามีส่วนร่วมดูแลหญิงตั้งครรภ์ร่วมกับทางโรงพยาบาล โดยจะช่วยนวดคนไข้ ให้กำลังใจ เพื่อคลายความกังวล และที่สำคัญโต๊ะบิดันจะเป็นผู้ทำพิธีตามหลักศาสนาในห้องคลอดร่วมกับคนในครอบครัวของผู้คลอดด้วย

ระยะหลังคลอด โต๊ะบิดันติดตามดูแลเฉพาะรายที่ฝากครรภ์ไว้ด้วยเท่านั้น โดยเข้าไปให้กำลังใจ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้มารดาและทารกมีสุขภาพดี แข็งแรง ปลอดภัย และจะติดตามไปนวดกระตุ้นน้ำนมหลังคลอดที่บ้าน

"ครอบครัวของผู้ตั้งครรภ์ก็จะมั่นใจได้ว่าการมาฝากครรภ์หรือคลอดลูกที่โรงพยาบาลก็เหมือนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ขัดกับวิถีชีวิต เพราะมีโต๊ะบิดันดูแลเหมือนกัน"

เธอย้ำว่า การปรับระบบบริการสาธารณสุขให้เข้ากับท้องถิ่น ด้วยบริบทวัฒนธรรม ความเชื่อของชุมชน ที่มีต่อโต๊ะบิดันนั้น เท่ากับรัฐมองเห็นคุณค่า และให้การยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำมาองค์ความรู้มาใช้ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ เท่ากับเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในด้านการดูแลสุขภาวะของชาวบ้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีความร่วมมือนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น การดึงโต๊ะบิดันมาร่วมผดุงครรภ์ยังไม่สามารถทำได้ทุกขั้นตอน เพราะชาวบ้านบางคนไม่สะดวกเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล เรื่องนี้ทางโรงพยาบาลก็จะเร่งปรับการบริการเพื่อให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้จะสูญหาย เพราะโต๊ะบิดันส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ และคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจหรือมารับช่วงต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกรงว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหาย ซึ่งจุดนี้ได้คิดไว้ว่าจะมีโครงการถอดองค์ความรู้ชุมชนจากโต๊ะบิดันเพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาล

กระบวนการปรับตัวของระบบการบริการของโรงพยาบาลเทพาคงเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นเข้าไปทำงานเชิงรุกกับชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่นได้.