Skip to main content
 "ข้ออ้างว่า การโจมตีเหล่านั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่เหตุผลที่สร้างความชอบธรรมในการทำร้ายพลเรือน วิธีการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ เป็นวิธีการที่ผิดกฏหมาย และผิดศีลธรรมในทุกเงื่อนไข"
 

 

(นิวยอร์ก, 8 กรกฎาคม 2551) - กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะต้องยุติการใช้พลเรือนเป็นเป้าของความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า "กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายพลเรือนอย่างเหี้ยมโหดอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงอำนาจของตนเอง และทำลายความน่าเชื่อถือของทางการไทย"

"ข้ออ้างว่า การโจมตีเหล่านั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่เหตุผลที่สร้างความชอบธรรมในการทำร้ายพลเรือน วิธีการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ เป็นวิธีการที่ผิดกฏหมาย และผิดศีลธรรมในทุกเงื่อนไข"

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยิงรถรับส่งนักเรียน บนถนนสายยาบี-ท่ากุโบร์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทำให้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บสามคน (และอาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิตสองคน) ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดปัตตานีได้ก่อเหตุทำร้ายพลเรือนในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก ทุ่งยางแดง ยะรัง และสายบุรีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโต้การที่เจ้าหน้าที่รัฐเปิดยุทธการเชิงรุก และมีการจับกุมสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบระดับแกนนำ เช่น นายอับดุลเลาะ สะแต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ฆ่านายขัน สังข์ทอง อายุ 55 ปี ที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยสภาพของนายขันมีบาดแผลถูกยิง ตัดศรีษะ และเผา รวมทั้งยังถูกตอกตะปูที่มือสองข้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจพบศีรษะของนายขันถูกวางอยู่บนหัวสะพานข้ามลำคลองห่างออกไปราว 50 เมตร ทั้งนี้ ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยพุทธถูกสังหาร และตัดศรีษะไปแล้วกว่า 20 คน

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รับข้อมูลจากทางการไทยว่า นายขันเป็นเหยื่อรายล่าสุดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสังกัดของนายมะแอ อภิบาลแบ ซึ่งก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ และพลเรือนในเขตพื้นที่อำเภอบันนังสตา เพื่อล้างแค้นที่นายมะเซ็ง อภิบาลแบ และสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอีกห้าคนถูกสังหารในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน

ส่วนที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ทำร้ายพลเรือนอย่างเหี้ยมโหด โดยภายหลังจากที่นายอับดุลเล๊าะ  ดาอีซอ ซึ่งเป็นน้องชายของนายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ พร้อมพวกอีกสองคนถูกสังหารในการปะทะกับเจ้าหน้าที่เมือวันที่ 28 พฤษภาคมนั้นก็เกิดความรุนแรงในพื้นทีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การสังหารร้อยตำรวจตรี สมคิด ทับทิมศรี อายุ 44 ปี รองสารวัตรตำบลอาซ่อง ซึ่งถูกยิง และเผาต่อหน้าประชาชนจำนวนมากเมือวันที่ 9 มิถุนายน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายวีระ เหมือนจันทร์ อายุ 54 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมาแฮ ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยิงเสียชีวิต ซึ่งทำให้โรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอรามันกว่า 50 แห่งต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาของคนมุสลิมที่เป็นสายข่าวให้กับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสามคน และบาดเจ็บอีกสี่คน

เหตุการณ์ที่อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกทหารทำร้ายร่างกาย และทรมานจนเสียชีวิตขณะที่ถูกสอบสวน และควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 39 อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคมนั้น ได้กลายเป็นข้ออ้างที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการทำร้ายพลเรือนในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นางวรรณา สี่ส่วน อายุ 27 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านหลังจากส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทิ้งจดหมายไว้ข้างศพเป็นภาษาไทยว่า "มึงฆ่าคนมลายู กูฆ่าคนไทยพุทธ" เอาไว้ด้วย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้บุกขึ้นบนรถไฟสายสุไหงโกลก-ยะลา ขณะกำลังวิ่งระหว่างสถานีรถไฟกาแด๊ะ-มะรือโบ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยได้จ่อยิงพนักงานรถไฟ และเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟคนไทยพุทธเสียชีวิตรวมสี่ศพ   

นายแบรด อดัมส์ กล่าวว่า "กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะต้องทบทวนวิธีการที่พวกตนนำมาใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดชั่วร้ายแล้ว ยังเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งในหมู่คนมุสลิมด้วย"

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ประนามการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งละเมิดกฏหมายเกี่ยวกับการสู้รบ และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง หลักการสำคัญของกฏหมายเกี่ยวกับการสู้รบ คือ การแยกแยะความแตกต่างระหว่างเป้าหมายพลเรือน และเป้าหมายทางทหาร การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอ้างความชอบธรรมในการทำร้ายพลเรือนคนไทยพุทธ เพราะคนไทยพุทธทั้งหมดเป็นศัตรูของพวกตน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพลเรือนนั้น เป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายระหว่างประเทศ ส่วนการอ้างการตีความศาสนาอิสลามอย่างรุนแรงสุดโต่งมาสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายพลเรือนนั้นก็เป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายระหว่างประเทศเช่นกัน กฏหมายระหว่างประเทศระบุไว้อย่างชัดเจนว่า วิธีการที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้ขณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย เช่น การโจมตีเป้าหมายพลเรือนเพื่อล้างแค้นตอบโต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ การสังหารหมู่พลเรือน การทำร้ายศพ และการโจมตีที่มุ่งเป้าเจาะจงไปที่พลเรือน

ถึงแม้กลุ่มนักสู้เพื่อเอกราชปาตานี (Pejuang Kemerdekaan Patani) ซี่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต จะได้รับความสูญเสียอย่างหนักจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ยังคงสามารถปฏิบัติการ และรักษาฐานอำนาจในเขตหมู่บ้านต่างๆ หลายร้อยแห่ง โดยอาศัยประเด็นการละเมิดกฏหมาย และสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมาใช้เป็นข้ออ้างสนับสนุนการใช้ความรุนแรง และการสร้างความหวาดกลัว

ทั้งนี้ สถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งรวบรวมโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาจนถึงปัจจุบัน มีตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,150 ราย โดยหากนับเฉพาะในช่วงหกเดือนแรกของปี 2551 เกิดเหตุรุนแรงขึ้นทั้งหมด 563 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 302 รายและบาดเจ็บ 517 ราย  

นายแบรด อดัมส์ กล่าวว่า "กองกำลังทั้งฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และฝ่ายรัฐนั้นไม่ได้สนใจที่จะเคารพสิทธิของประชาชนเท่าที่ควร" "ขณะนี้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นเหยื่อที่ติดอยู่ในกับดักของความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ" 

กองทัพบกอาจจะพยายามปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา ผู้บังคับบัญชาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทหารที่กระทำผิด

(นิวยอร์ก, 3 กรกฎาคม 2551) - กองทัพบกควรเปิดเผยข้อมูล และหลักฐานที่มีความสำคัญต่อการไต่สวนของศาลในกรณีการทรมาน และการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง

อิหม่ามยะผา อายุ 56 ปี ถูกทหารทรมาน และสังหารระหว่างการสอบสวน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2551 ที่ฐานของหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่แรงกดดันจากภายใน และภายนอกประเทศ ต่อผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งรับปากที่จะลงโทษผู้ที่กระทำผิด และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้   

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่า การไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผาถูกขัดขวาง เนื่องจากกองทัพบกไม่ให้ความร่วมมือ ในการไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พันตรีวิชาญ ภู่ทอง รักษาการรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 เบิกความสรุปว่า ระบุว่าไม่ได้ตนเองอยู่ในเหตุการณ์ โดยในวันที่ 19-20 มีนาคม เพียงแต่เห็นผู้ถูกควบคุมตัวหลายคน ถูกนำตัวมาที่ฐานของหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ที่วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่เห็นว่า ผู้ถูกควบคุมตัวมีอาการบาดเจ็บ และไม่ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้ถูกควบคุมตัวคนใด รวมทั้งยังจำไม่ได้ และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ที่รักษากุญแจรถที่ใช้ควบคุมตัวคนเหล่านั้น ส่วนบันทึกที่ระบุว่า ใครทำหน้าที่ดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายไปแล้ว อนึ่ง ถึงแม้ตนจะมีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนผู้ที่ถูกควบคุมตัว แต่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น ไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่คนใดที่จะสอบสวนอิหม่ามยะผา นอกจากนี้ พันตรีวิชาญ ยังเบิกความว่า ตนเองเป็นทหารจากกองพันทหารม้าที่ 18 (กรมทหารม้าที่ 3 กองพลทหารม้าที่ 1) จังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะนี้ถูกย้ายกลับไปจังหวัดเพชรบูรณ์ก่อนกำหนด ทั้งที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่จนถึงเดือนกันยายน 2551 ปัจจุบันไม่ได้ถูกสอบสวนทางวินัย และไม่ถูกเรียกสอบสวนแต่อย่างใด

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า "กรณีของอิหม่ามยะผาเป็นบททดสอบที่สำคัญว่า กองทัพบกจะสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้หรือไม่" "ความน่าเชื่อถือของพลเอกอนุพงษ์ ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะยินยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงต่อไป หรือจะมีการนำตัวฆาตกรมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม?"   

คำเบิกความของนายแพทย์ศุภวิทย์ ภักดีโชติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลรือ สรุปถึงการชันสูตรพลิกศพอิหม่ามยะผาว่า พบรอยช้ำ และบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเอง ลักษณะของรอยช้ำ และบาดแผลแตกต่างกันออกไป ซึ่งเกิดจากการกระทำร้ายร่างกายหลายครั้ง และเกิดการกระทบจากของแข็ง จนทำให้ซี่โครงหักหลายซี่ ทั้งด้านหน้าขวา หน้าด้านซ้าย และด้านหลังซ้าย โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ซี่โครงที่หักนั้นไปทิ่มเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ยังพบรอยถลอกตื้นที่ด้านหลัง ซึ่งจะเกิดจากการถูกลากตัวไปบนพื้นที่แข็ง และขรุขระ

ลูกชายของอิหม่ามยะผา ซึ่งเห็นเหตุการณ์ว่า เกิดอะไรขึ้นกับอิหม่ามยะผาที่ฐานของหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 เล่าให้องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ฟังว่า  

"ทหารเอาตัวพ่อผมไปครั้งแรกตอนเวลาประมาณสองทุ่ม วันที่ 20 มีนาคม พ่อถูกเอาตัวไปที่บริเวณด้านหลังของห้องพยายาลในค่าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรถที่ใช้ขังผม และคนอื่นๆ จอดอยู่ ผมได้ยินทุกอย่างว่า ทหารพวกนั้นทำอะไรกับพ่อบ้าง ผมได้ยินเสียงพ่อถูกต่อย ถูกเตะ ผมได้ยินเสียงพ่อร้องด้วยความเจ็บปวด พ่อถูกเอาตัวไปประมาณสองชั่วโมง ผมโกรธมากที่ช่วยอะไรพ่อไม่ได้เลย ตอนที่ทหารเอาตัวพ่อกลับมา ผมเห็นทหารเตะพ่อแรงมากหลายครั้งมาตลอดทางจนถึงรถที่ขังพวกเรา พอพ่อล้มลงก็ถูกเตะซ้ำ พ่อเกือบจะยืนไม่ไหวแล้วตอนที่ทหารบังคับให้พ่อลุกขึ้น ทหารพวกนั้นหัวเราะไปด้วยตอนที่เตะพ่อผม"


           
"ราวครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น พ่อถูกเอาตัวไปอีกครั้งหนึ่ง ผมได้ยินเสียงพ่อขอร้องทหารว่า อย่าซ้อมพ่ออีก ทหารเอาตัวพ่อมาส่งตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นพ่อเดินเองไม่ไหวแล้ว ต่อมาประมาณ 15 นาที ทหารก็เอาตัวพ่อซ้อมอีกไปจนถึงตีสอง วันที่ 21 มีนาคม ครั้งนี้ที่บริเวณด้านหลังห้องพยาบาลมีไฟสว่าง ผมเห็นว่า เกิดอะไรขึ้นกับพ่อ ผมเห็นทหารสิบกว่าคนรุมซ้อมพ่อ ทั้งเตะ ถีบ ต่อยพ่อ บางคนก็ตีหัวพ่อ พอพ่อล้มลงบนพื้น ทหารคนหนึ่งก็ขึ้นไปยืนบนตัวพ่อ แล้วกระทืบหน้าอกพ่อหลายครั้ง ทหารพวกนั้นรุมซ้อมพ่อไม่หยุดจนถึงตีสอง ทหารเอาตัวพ่อกลับมาที่รถ พ่อเดินไม่ไหว ทหารสองคนจับข้อเท้าพ่อแล้วลากตัวพ่อมา ตอนนั้นพ่อยังมีสติอยู่ พ่อบอกผมว่า พ่อเจ็บมาก ผมพยายามร้องขอความช่วยเหลือ ขอให้ทหารเอาพ่อไปโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครสนใจจะช่วยพ่อผม พ่อผมตายตอนประมาณตีห้าครึ่ง บนรถที่ทหารใช้ขังพวกเรา"

นายแบรด อดัมส์ กล่าวว่า "จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีทหารคนใดถูกดำเนินคดีเลย จากการลักพาตัว ทรมาน หรือการใช้อำนาจนอกกฏหมายสังหารชาวมุสลิมในภาคใต้" "อย่างไรก็ตาม หลักฐานในกรณีของอิหม่ามยะผานั้นชัดเจนมาก จนน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับกองทัพบกที่จะใช้เรื่องนี้พิสูจน์ความจริงใจในการยุติปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด"

การทรมาน และการสังหารอิหม่ามยะผา แสดงให้เห็นถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชาวมุสลิม ซึ่งถูกทหารควบคุมตัว ถึงแม้ทหารทุกคนจะมีคู่มือกำลังพลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งระบุข้อห้ามไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากที่องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์ระบุว่า พวกตนถูกเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจระดับอำเภอ ทั้งทหารในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบ ซึ่งมาสอบสวนพวกตนทรมานแทบจะทันทีที่ถูกควบคุมตัว หลังจากนั้น การทรมานยังเกืดขึ้นเมื่อพวกตนถูกย้ายมาควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีแล้วด้วย

รูปแบบการทรมาน และการปฏิบัติอย่างเลวร้ายที่พบส่วนใหญ่ คือ ตบบ้องหู ต่อย เตะ ถีบ ตีด้วยท่อนไม้ หรือท่อนเหล็ก จับเปลื้องผ้า เอาตัวไปอยู่ในห้องเย็น ช๊อตด้วยไฟฟ้า รัดคอ และใช้ถูงพลาสติกคลุมศรีษะให้หายใจไม่ออก ส่วนวิธีที่รุนแรงมากเท่าที่ปรากฏรายงาน คือ การใช้เข็มแหลมสอดเข้าไปใต้เล็บ หรือแทงที่อวัยวะเพศ

ทนายความ และแพทย์ที่องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์ให้ข้อมูลที่คล้ายคลึงกันสิ่งที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวกล่าว

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์แสดงความกังวลต่อทางการไทยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคดีที่เกี่ยวข้องการการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ทำให้สูญหาย และถูกสังหารในระยะเวลาก่อนที่จะมีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฏอัยการศึกเปิดทางให้ทหารสามารถรควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ถึง 37 วัน โดยไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และกองทัพไทยรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนในทันที, ขอให้มีการให้การรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุม หรือในระหว่างการควบคุมตัว ขอให้ยินยอมให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวสามารถติดต่อทนายความ และสมาชิกครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว และขอให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการทรมาน และการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว   

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้การบังคับบัญชาของพลโทวิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาค 4 ได้เปิดยุทธการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งส่งทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงร้อยละ 50 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แต่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีแนวโน้มที่ความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีกครั้ง

นายแบรด อดัมส์ กล่าวว่า "การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบสามารถหาสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น และมีข้ออ้างในการก่อความรุนแรง" "ทางการไทยมีความรับผิดชอบในการรักษาความสงบ แต่การทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องเคารพมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย"