Skip to main content
 
ร.อ.ท.พ.พลเดช  ศรีสุข
โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ จังหวัดน่าน

 

สวัสดีครับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก่อนอื่นผมคงต้องขอบอกทุกๆ ท่านที่ได้อ่านบทความต่อไปนี้ว่า ผมเขียนบทความนี้นั้นไม่ได้อยากจะเป็นวีรบุรุษอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้อยากดังด้วย ผมมันก็แค่หมอฟันคนหนึ่งที่ไปเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ แต่ก็มานั่งคิดอยู่ว่าเหตุการณ์ที่พบมานั้นอาจจะบอกถึงอะไรๆ ที่สำคัญ และสามารถสร้างความเข้าใจในพวกเรากันเองได้ดีขึ้นก็เลยมาเล่าสู่กันฟัง

ทุกๆ คนเคยสงสัยบ้างไหมครับ ว่าทำไมเราจึงต้องมีหมอฟันที่เป็นทหาร  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเคยคิดผิดมาตลอดว่ามีไว้เป็นส่วนเติมเต็มในโรงพยาบาล เมื่อมาทำงานแล้วก็ยังคงคิดอย่างนั้นอยู่ จนผมได้มีโอกาสลงไปปฏิบัติราชการสนามกับหน่วยเฉพาะกิจ กรมแพทย์ทหารบกส่วนหน้า (ฉก.พบ.สน.) ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป

ตอนนั้นผมได้รับการติดต่อจากกองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก ให้ไปปฏิบัติราชการสนามกับหน่วยเฉพาะกิจ กรมแพทย์ทหารบกส่วนหน้า (ฉก.พบ.สน.) โดยเป็นการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็น การตรวจรักษาโรค การให้บริการทางทันตกรรม การให้สุขศึกษา และปฏิบัติการจิตวิทยา ในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในหน่วยของเรานั้นก็จัดว่าใหญ่พอสมควร มีแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล (ตอนหลังมีเภสัชกรด้วย) และเจ้าหน้าที่หลายท่าน มีรถเอ็กซ์เรย์ รถทันตกรรมเคลื่อนที่ รถพยาบาล เป็นขบวนยาวเลยทีเดียว เราซึ่งเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ไปสนธิกำลังกันที่ดอนเมืองก่อนที่จะขึ้นเครื่องการบินไทยไปที่หาดใหญ่  และเข้าพักกันที่ โรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์ 2 คืน ก่อนที่จะเดินทางไปเริ่มภารกิจแรกที่จังหวัดนราธิวาส

เราไปถึงนราธิวาสตอนเย็นของวันก่อนที่จะเริ่มงาน เข้าพักที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในส่วนที่จัดไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่มาอารักขา ซึ่งเป็นพี่ๆ ที่มาจาก กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เรื่องอาหารการกินก็โอเค บรรยากาศดีสุดๆ เพราะติดทะเลเลย เราได้รับการชี้แจงถึงภารกิจและการเตรียมตัวทุกอย่างในการทำงาน คืนนั้นหลังจากกินข้าวเย็นแล้วทุกคนก็รีบนอน

เช้าวันรุ่งขึ้น เราได้รับข่าวก่อนออกทำงานว่าเมื่อคืนมีการเผาโรงเรียนพร้อมกันร้อยกว่าจุดในพื้นที่สามจังหวัดนี้ เรากังวลบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ค่อยเครียดเพราะไม่เคยมีการโจมตีชุดแพทย์เคลื่อนที่มาก่อน แปดนาฬิกาผมไปขึ้นรถในชุดพร้อมรบผมจำได้ว่าผมใส่หมวกเหล็ก สายโยงเป้ วิทยุ ปืนพก กระเป๋ากระสุนปืน มีดสนาม และกระเป๋ายังชีพ (เพียงคนเดียว) ท่านผู้อำนวยการชุดมองแล้วคงรู้สึกขำไม่น้อยถึงขนาดแซวว่า ไม่ต้องแต่งตัวเหมือนจะไปอิรักขนาดนั้นก็ได้ ผมก็เลยตอบไปว่า ไม่เป็นไรหรอกครับพี่ รู้สึกฮึกเหิมดี ขบวนเราเริ่มออกเดินทางไป อำเภอเจาะไอร้อง ผมนั่งฟัง MP 3 ไปเรื่อยๆ มีรถฮัมวี่ติดปืนกลนำหน้าเราอยู่ รถตู้ที่ผมนั่งเป็นคันที่สอง ระหว่างนั้นพี่ๆท่านอื่นๆ (ที่เรียกพี่ๆ เพราะในชุดนั้นผมเป็นน้องเล็กสุด ตอนนั้นเป็นร้อยโท พี่ๆ เขามีแต่นายพัน) ก็คุยกันไป อำกันไป หัวเราะกันไป เสียงในรถก็ค่อนข้างเฮฮาปาร์ตี้พอสมควร

กรึ้มมมมมม !!!! เสียงดังสนั่นหวั่นไหวพร้อมกลุ่มควันสีขาวที่เกิดจากระเบิดทีเอ็นที่ 15 ปอนด์ พุ่งออกจากเสาไฟฟ้าข้างถนนมาปะทะรถเรา ผมเห็นมันแบบจะจะๆ มันอึ้ง บอกไม่ถูก ทุกคนในรถที่คุยหัวเราะกันอยู่ดีๆ เงียบเป็นเป่าสาก  เหมือนเครื่องเล่นดีวีดีที่กด stopเลย ทำอะไรไม่ถูก เงียบกันอยู่ 5 วินาที นายสิบประจำรถตะโกน  " หมอครับ ! หมอบ! " ทุกคนหมอบทันที ส่วนผมเองหมอบลงไปเอาหัวแนบพื้นรถแต่ตัวอยู่บนที่นั่ง ผมหยิบปืนพกออกมา กลัวมันยิงซ้ำชิบเป๋ง เพราะตอนนั้นรถเราหยุดนิ่ง อยู่ท่านั้นประมาณ 5 นาที นายสิบคนเดิมตะโกนบอกว่าให้ลงจากรถ ทุกคนรีบลงไปตามลำดับ ผมลงไปก็พอดีชนกับจ่าแกเข้าหัวทิ่มเลย กลิ้งตกลงไปในหัวคันนาข้างๆด้านตรงข้ามกับจุดระเบิด

ผมเห็นพี่ๆ ท่านอื่น คลานต่ำลงมาในทุ่งนาเช่นเดียวกัน และก็มานอนหมอบอยู่ข้างๆ ผม ผมนอนหมอบหยิบปืนเล็งไปข้างหน้ากะว่าเห็นอะไรมั่วๆ มาล่ะก็กะซัดไม่เลี้ยงแน่  ตอนนั้นสติเกือบหลุดเหมือนกัน เห็นทหารมาจากไหนก็ไม่รู้เต็มไปหมด  เล็งอยู่ประมาณ 10 นาทีได้มั้ง มีคนตะโกนบอกให้ขึ้นรถ ผมก็วิ่งขึ้นไปก่อนเพราะผมอยู่ในสุด ขึ้นไปนอนท่าเดิมอีกนานพอควร  พอรถแล่นไปถึงจุดปลอดภัยก็ถึงโรงเรียนปอเนาะที่จะไปออกหน่วยพอดี

พอไปถึงเราก็ทำงานกันโดยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีคนมาหา มาเยี่ยมให้กำลังใจเยอะแยะ แม้ว่าเราเพิ่งผ่านบรรยากาศระทึกมาหยกๆ แต่เราก็รู้สึกเซ็งอารมณ์มากกว่าโดนระเบิดซะอีก เพราะอะไร? เรามีคนไข้ที่มารอถอนฟันเยอะมาก เป็นเด็กนักเรียนปอเนาะที่นั่นน่ะแหละ ขอโทษ! ให้ตายเถอะ ฟันผุทุกซี่ พอจะถอนก็เลือกไม่ถูกเลย เพราะฟันที่จะต้องถอนมันมีเกือบทั้งปาก อะไรมันจะเยินได้ขนาดนี้ ผมถามน้องผู้หญิงคนหนึ่งว่า

" ทำไมหนูไม่ไปหาหมอฟันบ้างล่ะคะ ? "

" หนูไม่รู้จะเดินทางไปถึงหรือเปล่าน่ะค่ะ "

" แล้วหนูกินผักผลไม้บ้างไหมเนี่ย "

" อยากกินค่ะ ถ้ามันมีนะ "

" อ้าว ! แล้วปกติพวกหนูกินอะไรล่ะลูก "

" อาหารหลักก็มาม่ากับไข่ ของหวานก็มีแค่ลูกอมเท่านั้น "

          นี่คือสภาพชีวิตของคนที่อยู่ในประเทศที่คิดว่าจะเป็นครัวของโลก อนาถจริงๆ เด็กพวกนี้ได้รับสารอาหารไม่ครบตามที่ควรจะต้องได้รับ เขามาจากครอบครัวที่ยากจน ถึงได้มาอยู่ปอเนาะ เพราะเด็กที่รวยกว่าก็จะเดินทางไปกลับ  แต่เด็กที่จนต้องอาศัยการดูแลเลี้ยงชีพจากปอเนาะทั้งสิ้น สภาพหอพักก็ไม่ค่อยดี เคยเห็นเพิงกรรมกรไหมครับ หลังจากวันนั้นผมไปออกหน่วยอีกหลายที่ๆ ที่ได้เห็นมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ บางที่ที่เห็นนั้น น้ำจะราดส้วมยังไม่มี เด็กป่วยกันเยอะ ทั้งโรคกระเพาะ โรคผิวหนัง อยู่ในสภาวะเครียดทั้งหมด ผมเคยคิดว่า ถ้าเป็นผมบ้างและมีใครมาชักชวนไปทำอะไรเพื่อชีวิตที่ดีกว่านี้ ผมก็อาจจะทำก็ได้

" ในภาวะนั้น ความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร มันมีแต่ความหิวกับความอิ่ม ความสบายกับความป่วย  ความร้อนกับความหนาวเท่านั้น....พอมองภาพออกแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมปัญหาจึงเรื้อรังมากที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้.... "

ทุกๆ ท่านก็พอจะมองออกแล้วใช่ไหมครับว่าเรามีหมอทหารเอาไว้ทำไมนอกจากการเอาไว้รักษาชีวิตกำลังพลในสนามรบ หลักการของแพทย์ทหารที่ต่างจากพลเรือนก็คือ จะนำการรักษาที่ดีที่สุด ไปสู่จุดที่แย่ที่สุด นั่นหมายถึงว่าเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินและประชาชนถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่นกรณีการเกิดภัยธรรมชาติ หรือกรณีอย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัญหานอกเหนือจากการขาดแพทย์แล้วยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงการรักษาที่ยากลำบาก เนื่องมาจากความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และประชาชน จึงได้ทราบว่า ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้การดูแลทางการแพทย์ และการป้องกันโรคนั้นทำไม่ได้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐของประชาชนลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ทหารที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงอันนี้ ในการที่จะบุกเข้าไปหาประชาชนที่เดือดร้อนก่อน เมื่อการแพทย์ของพลเรือนไม่สามารถเข้าถึงได้ และเมื่อสามารถเชื่อมต่อได้แล้วก็จะส่งต่อให้แพทย์พลเรือนต่อไป

ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้นั้น เกิดมาจากการที่เรายังไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างแพทย์พลเรือนและแพทย์ทหารได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราจะพบได้ว่าแม้ทางแพทย์ทหารจะเข้าไปแผ้วถางทางไว้แล้วก็ตาม แต่การที่จะสนับสนุนคุ้มกันแพทย์พลเรือนที่จะเข้าไปสานงานต่อนั้นยังไม่เกิดขึ้นและได้ผลจริง ความร่วมมือจึงมักจะไปอยู่แค่การช่วยเหลือทางการรักษา เช่นการช่วยเหลือทางสิ่งของ หรือการช่วยเหลือทางผู้เชี่ยวชาญทางการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัด แต่บริบททางการแพทย์ในชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนที่ใกล้ชิดที่สุดยังไม่ดีขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ประชาชนจะรู้สึกไม่เป็นธรรมและคิดว่าถูกทอดทิ้ง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐที่ผมว่าไว้มันก็จะเลวลง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง

ความร่วมมือกันระหว่างแพทย์ทหารและพลเรือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น มันเคยเกิดขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ตอนที่ผมลงไปตอนนั้นน่ะแหละ ในสัปดาห์ที่สอง อาจารย์นายแพทย์ยุทธ  โพธารามิก ได้ยกขบวน พอ.สว. มารวมตะลุยกับเรา และยังมีอาจารย์ศิริชัย ชูประวัติ พี่พิกุลแห่งโรงพยาบาลรถไฟ  กับพี่นก  กนกรัตน์ เทโวขัติ (หมอนก บิ๊ก บราเธอร์) มาด้วย ทริปช่วงนราธิวาสของเราเลยสนุกขึ้นเป็นกอง ไม่มีใครกลัวตายกันเลย ลุยแหลกทุกที่  เรียกได้เลยว่าพี่ๆ  พอ.สว. คณะนั้นคือเพื่อนตายสหายศึกได้เหมือนกัน ภาพความร่วมมือนั้น แม้จะไม่กี่วัน แต่มันก็สุดยอดจริงๆ ผมอยากให้มันเกิดขึ้นอีก แต่ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะต้องอาศัยการร่วมมือที่จริงจังจากทุกส่วน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ต้องมาจากรัฐบาล กองทัพ และองค์กรแพทย์ทุกภาคส่วนร่วมกันจึงจะได้ผลชัดเจน

นอกจากนี้มีอีกข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับกันว่า การแพทย์ นั้นสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันอย่างได้ผลดีมาก เพราะการแพทย์นั้นเป็นสากล ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิการเมือง เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะทันตแพทย์ซึ่งมีผลมากในการสร้างความเข้าใจและความรู้สึกอันดี เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชน ต้องการมาก เป็นการรักษาที่เห็นผลชัดเจน และสามารถทำได้ผลดีกว่าในการออกหน่วยมากกว่าการแพทย์สาขาอื่น ทันตแพทย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทางการแพทย์ในการที่จะเป็นผู้เชื่อมความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน รวมถึงประชาชนกับประชาชนเองด้วย เราจะสังเกตได้ว่า คำถามที่เราเจอบ่อยที่สุดเวลาออกหน่วยคือ หมอฟันมาไหม ?  หมออะไรมาก็ช่าง แต่หมอฟันมาหรือเปล่า ? แล้วเวลาที่เราถอนฟันนอกจากคนไข้แล้วก็ยังมีกองเชียร์อีกเพียบ รอยยิ้มมันเยอะ แล้วมันถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราทันตแพทย์ทุกคนจะภูมิใจในความสำคัญของวิชาชีพและช่วยกันทำอะไรเพื่อชาติบ้าง

สุดท้ายนี้ผมคงจะลาไปก่อนและหวังว่าเรา ทุกคนคงจะได้มาร่วมรบกันอีกเมื่อชาติต้องการ และแนวคิดที่ผมเสนอไว้คงจะมีใครเอาไปคิดต่อบ้าง  ผมขอขอบคุณเพื่อนตายสหายศึกทุกท่านที่ได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา  รวมทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกท่านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาสซึ่งค่อนข้างประทับใจและได้สัมผัสมากที่สุดนั้น สักวันผมจะกลับไปที่นั่นอีก

ถ้าใครสงสัยว่าชื่อเรื่องนี้มันเกี่ยวอะไรกับเนื้อหาในเรื่องไม่มีอะไรมากหรอกครับ ชื่อต้นไม้ทั้งสามชนิดนั้น ตราบที่ผมยังหายใจอยู่ไม่ว่าผมจะเห็นมันที่ใด ผมจะนึกถึงการไปนราธิวาสครั้งนั้นทันที เพราะ  หมากแดง มีอยู่เฉพาะที่นั่น ย่านดาโอ๊ะ ใบไม้สีทองก็มีแค่เฉพาะที่นั่น ส่วนต้นหลิว แม้จะไม่มีเฉพาะที่นั่น แต่เป็นชื่อเดียวกับหมอคนหนึ่งที่ผมประทับใจกับความเสียสละและรักบ้านเกิดของเธอ

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้คัดจาก ‘วารสารโรงพยาบาลชุมชน' ซึ่งจัดทำเป็นราย 2 เดือนโดย ชมรมแพทย์ ทันตะภูธร เภสัชชนบท พยาบาลชุมชน ฯลฯ (นพ.สุภัทร-บรรณาธิการ)