Skip to main content
สังคมหลงทาง
ผู้เขียนตั้งใจที่จะเขียนคอลัมน์ของตนเองว่า “ ใต้ถุนจินตนาการ ” เปรียบเสมือนเสนอมุมมองที่แตกต่างภายใต้ ใต้ถุนของจินตนาการที่สังคมวาดฝัน ว่าเราซุกซ่อน ไม่อยากให้ประจักษ์ต่อสาธารณชนหรือมีอะไรหลงเหลือใต้ถุนเหล่านั้น หรืออาจเปรียบเสมือนใต้ถุนบ้านของคนสมัยเก่าในพื้นที่ ที่ด้านบนพื้นบ้านอาจจะพักสบาย หากแต่น้อยครั้งที่เราจะสำรวจอย่างละเอียด และตระหนักว่ามีอะไรอยู่ภายใต้ใต้ถุนเหล่านั้นบ้าง
ผู้เขียนยังเริ่มด้วยหัวข้อว่า “สังคมหลงทาง” มาใช้เปรียบเทียบสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาวะที่เต็มไปด้วยหลากหลายจินตนาการของการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสังคมอันนำไปสู่สันติสุขตามแบบฉบับ ท่ามกลางหลากหลายบทบาทของตัวละครต่างๆที่แสดง
หลากหลายความเป็นไปของพื้นที่ไฟสงครามแห่งนี้ ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมาได้ผ่านสู่สายตาสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศเรื่อยมา ทั้งสุขสันต์สันติของมวลชน คนธรรมดา หรือระคนเศร้าปนน้ำตา อาลัย อาวรณ์ ของญาติมิตรผู้สูญเสีย ทั้งประชาชนบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในทางกลับกันการเสียชีวิตของฝ่ายผู้ก่อการเอง ดูเหมือนจะไร้ซึ่งการแสดงความรู้สึกเสียใจใดๆต่อการจากไปของพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ หรือคุณธรรมของมโนสำนึก นอกเสียจากการสาปส่งของประชาชนและญาติมิตรของผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของผู้ก่อการเหล่านี้
                เจ็ดปีผ่านไป ดูเหมือนปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังคงทรงตัว หรือที่นักข่าวในพื้นที่ให้คำจำกัดความว่า “ เหตุการณ์ปกติ ” อันหมายถึง สถานการณ์การก่อความรุนแรงในพื้นที่ยังคงเป็นปกติทั่วไป ไม่มาก ไม่น้อย พอประมาณจนเหมือนกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและชินชาว่า ธรรมดาทั่วไป หลากหลายนโยบายหรือวิธีการแก้ปัญหาถูกนำมาใช้ ทั้งการเมืองนำการทหาร ยุบหน่วยเก่า ตั้งหน่วยงานใหม่ สารพัดหน่วยงาน แต่ก็ไม่มีท่าทีว่า สถานการณ์จะลดลงจนนำไปสู่สันติสุขที่หลายๆฝ่ายตามหา กระทั่งเรื่องราวประเด็นใหม่ๆถูกจุดขึ้นในพื้นที่ อย่าง การปกครองพิเศษ ที่ดูหลายๆฝ่ายจินตนาการว่าจะสามารถแก้ปัญหาพื้นที่ได้อย่างแน่นอน ผ่านการยืนยันของนักวิชาการ ประชาสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ที่ต่างขานรับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วการปกครองพิเศษ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ หากแต่เป็นสิ่งที่พูดกันมายาวนานนับตั้งแต่สมัย ฮัจญ์จีสุหลง โต๊ะมีนา ในข้อเสนอเก้าข้อของท่านต่อรัฐไทย หากแต่รัฐมองว่านั้นคือการเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐจนนำไปสู่ความสูญเสียอย่างที่หลายๆท่านได้ทราบ
                หากชั่วขณะที่หลายฝ่ายกำลังลุ่มหลงกับการปกครองพิเศษในฐานะยาขนานใหม่ที่กำลังสร้างภาพจินตนาการการสร้างสังคมแห่งสันติตามที่ตนเองวาดฝันนั้น ทว่าสิ่งเล็กๆธรรมดากำลังท้าทายการดำรงอยู่ของคนในสังคมแห่งนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในการหาคำตอบความเป็นไปของสังคม ว่ากำลังหลงลืมอะไรบางอย่าง หรือกำลังหลงทางในการตอบสนองความเป็นจริงที่เป็นไปของพื้นที่แห่งนี้
ผู้เขียนคงจะไม่กล่าวเอ่ยถึงสาระสำคัญของการปกครองพิเศษในพื้นที่ที่กำลังเป็นประเด็นที่สนใจของทุกฝ่ายในพื้นที่ เพราะดูเหมือนทุกคนจะได้รับข้อมูลมาอย่างเพียงพอ หากแต่จะมุ่งสำรวจภาระและหน้าที่ของสังคมแห่งนี้ว่าหลายๆฝ่ายต่างได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน หรือที่เรากำลังจะเรียกว่าสังคมแห่งนี้กำลังหลงทางและดูเสมือนจะว่ายวนอยู่ในข้อจำกัดที่ตนเองได้สร้างขึ้น
                หากพิจารณาความเป็นจริงในสังคมทุกวันนี้ในพื้นที่ ในสังคมที่เราต่างเรียกขานว่าโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายของสิ่งต่างๆดูรวดเร็ว ฉับไว ทันต่อสถานการณ์ ต่างๆที่เกิดขึ่นในโลก ผ่านทางสื่อสารออนไลน์ต่างๆ การเคลื่อนย้ายของชุดวัฒนธรรมต่างๆที่แทรกซึมไปในทุกอณูสังคมทั้ง วัฒนธรรมตะวันออก เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่โลกอาหรับเอง เป็นสิ่งที่เราดูไม่อาจจะต้านทานการไหลทะลักของสิ่งเหล่านี้ได้ และดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่าในทั่วทุกมุมโลก
                ในพื้นที่เล็กๆริมถนนเจริญประดิษฐ์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “สายมอ” กลุ่มเด็กชาย สวมใส่ชุดนักเรียนของโรงเรียนศาสนา กับหมวกกะปิเยาะห์ใบเก่าๆ สะพายเป๋ใบเล็กๆ กับรถเครื่องที่ปรับแต่งอย่างดี หรือศัพท์วัยรุ่นอาจจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “เด็กแว้น” ต่างขับโชว์เบสิกในเรื่องความเร็วบนท้องถนนแคบๆ พร้อมกับเสียงโห่ ฮ่าของเพื่อนๆที่บ่งบอกนัยยะว่า เมิงเจ๋งว่ะ อย่างไม่เกรงกรัวต่อกฎหมายและอุบัติเหตุ และปราศจากความสำนึกและเนียมอายในชุดที่สวมใส่และสถาบันที่ตนเองศึกษา สิ่งเหล่านี้อาจจะดูไม่แปลกนักหากพวกเขาไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนของโรงเรียนสอนศาสนา สถาบันใด สถาบันหนึ่ง แต่เพราะชุดที่พวกเขาสวมใส่นั้นต่างหากที่ทำให้เราเกิดคำถามว่าเกิดอะไรกับสังคมแห่งนี้ สังคมที่เราภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นระเบียงของเมืองศักสิทธิ์อย่าง “ เมกกะ ”  
                ฝากหนึ่งของมุมถนน เด็กหญิงสวมใส่หิญาบ กำลังหัวเราะกระดี้กระดากับเด็กผู้ชายที่ตนเองซ้อนท้ายมาและพากันเข้าไปในร้านที่ติดป้ายหน้าร้านอย่างใหญ่โต ชัดเจนของตัวอักษรว่า “คาราโอเกะ”
                สองสถานการณ์ที่ได้ยกมา ไม่มีใครสนใจในความเป็นไปของพวกเขามากนักหากมองว่ามันเป็นเรื่องชาชินเสียแล้วในสังคมแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
                ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกตัวอย่างสิ่งเหล่านี้ เพื่อต้องการตั้งคำถามกับสิ่งที่ดูเหมือนหลายฝ่ายจะละเลยและแกล้งทำเป็นไม่ค่อยสนใจ หรือไม่กล้าวิพากษ์ วิจารณ์ ต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพียงเพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของศาสนา เกิดอะไรขึ้นกับเยาวชน คนหนุ่มสาวของพื้นที่แห่งนี้ และเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันที่มีหน้าที่สั่งสอนคนเหล่านี้
 
                ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตและตั้งคำถามกับตนเองในหลายๆเหตุการณ์ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนที่เราถือว่าเป็นอุมมะห์ หรือประชาชาติแห่งความหวังของสังคมอิสลาม ผู้เปรียบเสมือนต้นแบบของประชาคมโลกใบนี้ หลายๆครั้งเราตั้งคำถามไปถึงสถาบันหลักๆต่างๆว่าคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวเหล่านี้ แต่ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไป ไม่ว่าจะในวงน้ำชาหรือ วงสนทนาต่างๆ หลากหลายสายตาที่จับจ้อง ดูเหมือนจะติเตียนและรังเกียจ เดียจ์ฉันท์ว่า ผู้เขียนไม่รักศาสนามั่งละ เป็นคนนอกศาสนาบ้างล่ะ หรือไม่หวังดีและพยายามทำลายศาสนาบ้างล่ะ ทั้งๆที่กำลังเป็นปัญหาหลักและสำคัญของพื้นที่ หลากหลายเหตุผลที่ได้รับทำให้ผู้เขียนเลือกที่จะขีดเขียนลงกระดาษเป็นส่วนใหญ่เพื่อระบายความรู้สึกเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะพูดกับใครก็มักจะโดนเรื่องลักษณะนี้เป็นประจำ และเกือบทุกเวที เหตุผลหลักที่คนเหล่านั้นเลือกจะอธิบายเพื่อรองรับความเป็นไปที่เกิดขึ้น คือ เป็นแผนการของยิวพยายามทำให้มุสลิมอ่อนแอ โลกาภิวัตน์ที่พยายามทำลายอิสลาม หรือเรื่องราวทั้งหมดเป็นเพราะอเมริกาอยู่เบื้องหลัง สิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นเหตุผลที่เลิศเลอในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นมาหลายยุคสมัยไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ประหนึ่งว่าเหตผลเหล่านี้ดูจะทันสมัยตลอดเวลา
                ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งก็ใช่ที่เราจะเราสามารถจะใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่ออธิบายสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมโลกที่ไหลบ่ามาสู่สังคมได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นแผนการบางอย่างของคนเหล่านั้นบ้าง  แต่ความเป็นจริงเราไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นบนความเป็นจริงที่เรามีส่วนทำให้เกิดขึ้น หรือเรียกว่าเราไม่พยายามโทษตนเองว่าเป็นผู้ผิดพลาดและไม่พยายามที่จะย้อนมองเพื่อหาทางแก้ไขหรือติเพื่อให้ดีขึ้น
                ปัญหาเด็กชุดนักเรียนปอเนาะ ซิ่งรถในเขตเมืองจะไม่เกิดขึ้นหากสถาบันที่เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้ต่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เด็กผู้หญิงสวมใส่หิญาบคงไม่เข้าไปมั่วสุ่มร้องเพลงคาราโอเกะหากมีการสอดส่องดูแลจากคนที่เกี่ยวข้องและสถาบันครอบครัว
                สังคมมุสลิมในพื้นที่ในวันนี้ต้องยอมรับว่ากำลังมีปัญหาในเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมหรือจุดยืนของตนเอง กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่รวดเร็วและซับซ้อน สังคมมุสลิมในพื้นที่กลับไม่สามารถตั้งรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออย่างที่ผู้เขียนเรียกว่ากำลังหลงทางและสับสนในจุดยืนของตนเอง จนกระทั่งนำไปสู่ ปรากฏการณ์ข้างตนและความล้มเหลวของสถาบันศาสนาและสถาบันทางสังคมอื่นๆ
                สถาบันทางศาสนาดูจะประสบปัญหากับแปรเปลี่ยนให้เป็นเพียงแค่สถาบันของการนับถือในกรอบของศาสนา หลักคิดเรื่องศาสนาเพียงอย่างเดียวโดยแยกออกจากการรับผิดชอบต่อสังคมในด้านอื่นๆ  ทั้งๆในความเป็นจริง ศาสนาเป็นมากกว่าเรื่องความเชื่อหากแต่ยังคือระบบ ระเบียบการปกครองสังคมที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคแรกเริ่มอิสลาม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หากแต่ในพื้นที่ ศาสนากลับถูกสอนให้เรียนรู้เพียงแค่ความเชื่อ หลักปฎิบัติในการศรัทธา  ปราศจากที่จะสอนให้ศาสนิกรู้จักการแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกับใช้หลักศรัทธา ก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นปัญหาต่างๆเพิ่มมากขึ้นในทางศาสนา ทั้งการท้องก่อนแต่ง ผู้หญิงต่างละทิ้งหิญาบ วิ่งราว ติดยาเสพติด เพียงเพราะสิ่งเหล่านี้ขาดหลักศาสนามาชี้นำสังคม และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การมีโรงเรียนปอเนาะ ไม่ใช่เพียงเพื่อสอนผู้คนและเป็นตัวอย่างของการสร้างบุคคลที่นำสังคมไปสู่สังคมที่ดีอีกต่อไป หากเป็นไปเพื่อธุรกิจครอบครัว กินค่าหัวคิวเด็กที่เข้าเรียนและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ผู้บริหารโรงเรียนกับรถสปอร์ตหรูหรา ห้อมล้อมด้วยบอดีการ์ด ท่ามกลางคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำที่อยู่รายล้อมรั้วโรงเรียน จากโต๊ะครูกับกระท่อมเก่าๆประสิทธิ์ ประสาทวิชาความรู้เพื่อสร้างประชาชาติตนแบบที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกเมื่อ มาเป็นอาศัยอยู่บ้านหลังโต โอ่อ่าและเป็นส่วนตัว ยากนักที่จะเข้าถึง  อุสตะห์ยุคใหม่นั่งแกว่งขาในร้านน้ำชากับนกกรงหัวจุกเสียงดี คงไม่ใช่เรื่องแปลกนักในยุคนี้ เด็กปอเนาะผู้เรียนศาสนา ดูดบุหรี่ในห้องส้วมของโรงเรียนและต้มใบกระท่อมในหอพักดูจะเป็นเรื่องสามัญของสังคมแห่งนี้ ทั้งๆที่คนเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่าประชาชาติผู้ที่จะเป็นต้นแบบของมนุษย์ชาติ เกิดอะไรขึ้นกับต้นแบบเหล่านี้ คือสิ่งที่สังคมแห่งนี้ต้องต้องคำถามและหาคำตอบ
                จะไม่แปลกนักหากสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงระบบการศึกษาและการสร้างคนของพื้นที่กำลังมีปัญหาและสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่เราหลีกเลี่ยงจะวิพากษ์วิจารณ์ความอ่อนแอของสังคมแห่งนี้เอง โรงเรียนศาสนาหรือที่เราเรียกภาษาทางการว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น ไม่ได้ผลิตและสอนนักเรียนให้รู้จักคิดและตั้งคำถาม หากแต่สอนให้เชื่อฟังครูอาจารย์ผู้สอนโดยปราศจากการคิด ปรากฎการณ์มุสลิมมะห์ถอดฮิญาบ จะไม่เกิดขึ้นหากได้รับการสอนให้รู้คุณค่าของการสวมใส่ มากกว่าการสอนและบังคับให้ใส่ ปรากฎการณ์เด็กแว้นชุดปอเนาะจะไม่เกิดขึ้นหาก ได้สอนให้เข้าใจภาระหน้าที่ของมุสลิมที่ดีและภาระหน้าที่ต่อพ่อแม่ อุสตะห์คงไม่แกว่งเท้าร้านน้ำชา นั่งลุ้นนกกรงหัวจุกแข่งขันชิงพัดลม หากเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองต่อความรับผิดชอบต่อสังคม และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สะท้อนความล้มเหลวที่เราปัดความรับผิดชอบ และโทษปัจจัยจากภายนอกแทน
                ปรากฏการณ์เหล่านี้ต่างหากที่เราควรจะเหลียวแลและกลับมามองบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งจินตนาการที่ยังไม่สามารถจับต้องได้  สถาบันทางศาสนาอ่อนแอ และพยายามที่จะปลีกแยกออกจากการรับผิดชอบต่อสังคม ก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นโต๊ะอิหม่ามทะเลาะกับลูกบ้านเพียงเพราะปล่อยวัวกินพืชผักของชาวบ้าน เด็กๆติดยาตามหมู่บ้านโดยไร้ซึ่งการสอดส่องดูแลและตักเตือน สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานที่สำคัญล่มสลายเพียงเพราะผู้ปกครองไม่สนใจลูกหลาน สามีมัวสนใจนกกรงหัวจุกและนั่งโม้ในร้านน้ำชาเช้ายันค่ำ ในขณะภรรยาถกเถียงแฟชั่นผ้าคลุมผมรุ่นใหม่ที่เน้นความสวยงามมากว่าคุณค่าของการใส่ ที่ตนเองเป็นเจ้าของคนแรก เด็กๆต้มกระท่อมกับสี่คูณร้อย ในขณะกรรมการชุมชนต่างคนต่างอยู่
 สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยที่น้อยคนนักจะพยายามแก้ไขและต่างปัดความรับผิดชอบที่จะถกเถียงอย่างจริงจังและหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่มุ่งไปที่การแก้ไขโครงสร้างอำนาจส่วนบน บนพื้นฐานความเข้าใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมแห่งนี้ไปสู่สิ่งที่วาดฝันได้ หากแต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ยังไม่เพียบพร้อมต่อระบบใหม่เหล่านั้น สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้น วัฏจักรเดิมๆสังคมที่ชนชั้นที่เพรียบพร้อมเท่านั้นที่สามารถจะมาเป็นผู้ปกครองได้ และก็ไม่พ้นกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิม เพียงเพราะพวกเขามีฐานะ มีการศึกษาที่สูงส่ง  โดยที่มะแอ ผู้หาปลาเช้ายันค่ำ บีเดาะ ผู้ขายนาสิกาบู ไม่สามารถขึ้นไปอยู่จุดนั้นได้ เพียงเพราะพวกเขาจบแค่ ป.สี่ สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเหมือนระบบทั้งหลายที่เคยนำมาใช้ นอกจากคำสัญญาต่างๆนานาที่ไม่มีวันเป็นจริง เพียงเพราะพวกเขาไม่มีพลังเงิน พลังอำนาจที่จะไปยืนบนจุดนั้น สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจใหม่ ก็กระจุกอยู่เพียงแค่คนไม่กี่คนบนนิยามที่สวยหรูของคำว่า เขตปกครองพิเศษ เขตของผู้หาเช้ากินค่ำที่พร้อมที่จะอยู่ส่วนล่างสุดของผลประโยชน์อันมหาศาลตลอดเวลาในโครงสร้างเชิงอำนาจที่ผู้ร่ำรวยเท่านั้นเป็นผู้กำหนด