Skip to main content

สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว (เผยแพร่ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2556, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374138330&grpid=03&catid&subcatid)

 
การเดินหน้าพูดคุยสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป แม้เสียงปืนเสียงระเบิดและความสูญเสียยังไม่ยุติลงทันทีทันใด ทำให้มีคำถามว่าการบรรลุผลของการพูดคุยสันติภาพ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่ แต่สำหรับคนที่มองการพูดคุยเป็น "การต่อสู้" อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการใช้ปืนใช้อาวุธแบบเดิม ย่อมมีความหวังว่า การต่อสู้ในอนาคตจะเปลี่ยนเวทีจากสนามรบ ไปสู่โต๊ะเจรจา
 
"มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ "รอมฎอน ปันจอร์" ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (www.deepsouthwatch.org) ถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเส้นทางสันติภาพ ที่ยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ ภาครัฐกับประชาชน และประชาชนต่อประชาชน
 

 @การพูดคุยสันติภาพ ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอะไรใหม่และแตกต่างจากวิธีการเดิมของรัฐไทยหรือไม่

 
การพูดคุยจริงๆ เป็นของที่มีมาก่อน แต่เป็นกระบวนการปิดลับ เริ่มตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มี แต่สิ่งที่แตกต่างจากเดิมในยุครัฐบาลชุดนี้ คือ การเผยให้เห็นว่าตัวเองเดินและผลักดันมาในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเกาะติดกระบวนการสันติภาพ ตั้งคำถามกับทางการไทย ว่า มีเจตนารมย์ทางการเมือง ที่หนักแน่นเพียงใด ซึ่งต้องดูผ่านการกระทำ
 
 
@การพูดคุยโดยผลักดันออกมาในที่สาธารณะส่งผลอะไรหรือไม่
 
มีแรงกระเพื่อมสูงเพราะคนเริ่มพูดถึงวิธีการทางการเมืองเป็นทางออกรวมถึงเป้าหมายที่จะใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงในเวทีทุกระดับซึ่งรัฐไม่ได้จัดขึ้น

ขณะที่ฝ่ายทหารก็ถูกจำกัดบทบาทจากเดิมที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาภาคใต้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่รัฐบาลนี้ พยายามสร้างสมดุลกับทหารให้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า กองทัพบก แม่ทัพภาค 4 ไม่ได้กุมทิศทางได้ทั้งหมดเหมือนแต่ก่อน
 
 
@ในเดือนรอมฎอน ก็ยังมีเหตุการณ์รุนแรงและมีความสูญเสีย แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีเหตุน้อยลง แต่จริงๆ แล้วเป็นสัญญาณบวก ขนาดนั้น หรือไม่
 
เร็วไปที่จะตัดสิน เพราะถ้าตามข้อตกลงที่ทางการมาเลเซียแถลงคือ 40 วัน ซึ่งยากที่จะตอบว่าเมื่อมีเหตุการณ์สูญเสียแล้ว แปลว่าการพูดคุยล้มเหลว หรือสำเร็จ มันง่ายไป
 
การหยุดยิงลักษณะนี้ เป็นการหยุดชั่วคราว เป้าหมายไม่ใช่การหยุดความรุนแรงโดยตัวมันเอง แต่เป้าหมายเพื่อพิสูจน์กำลัง และอำนาจบังคับบัญชา ของฝ่ายกองกำลัง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้คู่สนทนา ว่าตัวเองมีอำนาจพอที่จะมานั่งคุย เป็นการบอกว่า คุณสามารถสั่งทหารของคุณได้ ผมก็สามารถสั่งทหารของผมได้
  
แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นในพื้นที่ ต่างก็ต้องหาคำอธิบายตอบโจทย์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือจะร่วมกันตรวจสอบ เพื่อให้สาธารณะเห็นว่า การพูดคุยมีความหมาย มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะคุยกัน
 
 
@ ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ นับแต่มีการพูดคุยครั้งแรก ทำไมไม่มองว่า การพูดคุยสันติภาพนั้น ล้มเหลวแล้ว
 
จริงๆ ก็มีคนของทั้ง 2 ฝ่าย อยากให้การพูดคุยล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทย หรือฝ่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี นี่เป็นลักษณะปกติของกระบวนการสันติภาพที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะมีคนกังขากับกระบวนการเหล่านี้  และบางครั้ง พวกเขาพูดด้วยภาษาเดียวกันเหตุผลเดียวกันว่า จะทำให้ข้อต่อรองของฝ่ายตนลดถอยลง และทำไมไม่ใช้กำลัง
 
ส่วนตัวมองว่าจริงๆ มีสัญญาณเชิงบวกเยอะแยะมากมาย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนฆ่ากัน จะมานั่งคุยกันในที่เปิด
ส่วนการเผยความคิดและข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น แม้จะดูน่าอึดอัด แต่นี่เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวก เพราะที่ผ่านมา เขาสื่อสารด้วยการใช้ความรุนแรงอย่างเดียว แต่เมื่อเขาสื่อสารแบบนี้ ก็ดูเหมือนจะได้ใจคนในพื้นที่ไปด้วย สะท้อนว่าเขาก็รู้สึกว่าอาวุธในทางการเมืองแบบนี้มันได้ผล มีสิ่งที่แสดงว่าได้ผลสำหรับเขา คือ สังคมไทยเองก็รู้สึกอึดอัด ที่ตัวแทนฝ่ายไทยต้องมาพูดคุยกับฝ่ายขบวนการ
 
 
@ไม่ว่าฝ่ายไทย หรือฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็มีโจทย์ ที่ต้องตอบ ฝ่ายมวลชนของตัวเอง
 
ใช่ เวลาเข้าสู่การพูดคุย มักจะมีคำถามว่าคุณมี mandate หรือเปล่า คุณมาในนามอะไร ในนามของรัฐบาลหรือไม่ ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็ถามอีกฝ่ายว่า คุณคุมกำลังได้จริงหรือเปล่า ใช่ตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวไหม พูดแทนประชาชนปาตานีได้หรือเปล่าเพราะคุณไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง นี่ก็เป็นปัญหาความชอบธรรมของคู่สนทนา เป็นปัญหาทางการเมือง และเป็นเนื้อหาการสนทนาทางการเมือง
 
ในฝ่ายทางการไทย เคยมีหลายกลุ่มพยายามเปิดการพูดคุย บางคนมี mandate ในรัฐบาลชุดก่อน แล้วถูกเขี่ยออกไป ฝ่ายขบวนการก็ย่อมสงสัย การมาของกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะ เมื่อมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง ทุกคนก็ตกใจ เพราะ ทักษิณอยู่ในเกมกระดานความขัดแย้งทางการเมืองไทย มันทำให้การพูดคุยสันติภาพ เป็นการเมือง มากๆ 

ขณะที่บีอาร์เอ็น มีทั้งพูโล กลุ่มใหม่กลุ่มเก่า กลุ่มบีอาร์เอ็นจึงต้องมีภาวะการนำสูงเพราะต้องพูดในภาษาที่นักต่อสู้ปาตานีเข้าใจว่า นี่คือการต่อสู้ การพูดคุย ไม่ใช่การสยบยอมต่อเจ้าอาณานิคมสยามและการพูดคุยนี้ ยังต้องการการสนับสนุนจากนักต่อสู้ปาตานี
 
 
@ทั้งสองฝ่ายต้องต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายตัวเองด้วย แล้วจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร
 
ตอนนี้ มีการบรรลุเป้าหมายแล้ว ตรงที่การพูดคุยเจรจาต่อรองมีฐานะเป็น วิธีการหนึ่ง เป็นทางเลือกหนึ่ง ในการอยู่กับความขัดแย้งนี้ ไม่ว่าจะนับเป็น 10 ปี หรือ 100 ปี แห่งความขัดแย้งระหว่าง ปาตานี กับสยาม ขณะที่ผ่านมา มีแต่ความคิดจะใช้ปืน แต่ไม่มีพื้นที่ทางการเมือง นี่คือ ความสำเร็จที่ค่อยๆ ขยับ
 
 
@มองบทบาท เลขา สมช. และ เลขา ศอ.บต. อย่างไร
 
ส่วนตัวมองว่า บทบาทของคุณภราดร (พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)) คือ นำในที่เปิด พูดกับสาธารณะ ส่วนการเดินจริงๆ ผ่องถ่ายให้ คุณทวี (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.) สำหรับคำพูดของคุณภราดร แม้จะพูดเยอะแต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อ เพราะมีนัยยะทางการเมืองที่ส่งสัญญาณทั้งสัญญาณต่อหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงว่าต้องคิดอะไรต่อสถานการณ์ และสัญญาณกับบีอาร์เอ็นอย่างระมัดระวัง ผมว่าเขาทำการบ้าน การมีตัวแสดงแบบนี้ในกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะในฝ่ายไทย ก็เป็นประโยชน์ต่อการพูดคุย
 
ส่วนคุณทวี เลขา ศอ.บต ทำเรื่องยุทธศาสตร์ยุติสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารทำได้ลำบาก เพราะมีวิธีคิดแบบเดิม ขณะที่ คุณทวี และ คุณภราดร เป็นตัวเดิน คือ เปิดการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น และกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพ ทำไม่ได้ ดูอย่างเช่นที่ ผบ.ทบ. พูดไว้ครั้งหนึ่งว่า เขาไม่สามารถคุยกับคนที่ต่อต้านรัฐ มันผิดกฎหมายถ้าจะคุยกับพวกที่ต่อต้านรัฐ ซึ่ง ถ้าคิดในกรอบกฎหมาย มันก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว
 
แต่ถ้าคิดในแง่การเมือง การสามารถพูดคุยกับคนที่เห็นต่างและต่อสู้กันด้วยอาวุธ  ให้มาต่อสู้ในอีกแบบหนึ่งได้ ก็เป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคุณทวีและคุณภราดร ทำบทบาทนี้
 
ส่วนการมานั่งตำแหน่งนี้ ในฐานะเครือข่ายทักษิณ ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะ การแก้ปัญหาชายแดนใต้ เป็นเรื่องเซนซิทีฟ ต้องใช้คนที่ไว้ใจได้
 
 
@ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงกลุ่มที่ติดอาวุธเป็นอย่างไร
 
ผมคงตอบแทนชาวบ้านทั้งหมดไม่ได้ แต่เท่าที่สัมผัส ถ้าเป็นคนกลุ่มน้อย คือ คนไทยพุทธ คนจีน ก็รู้สึกหวาดระแวง ในอดีตพวกเขาเคยตกเป็นเป้าและเรียกร้องให้รัฐคุ้มครอง แต่ปัญหาคือพวกเขาก็เริ่มรู้สึกว่า การคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินโดยรัฐก็มีปัญหาคุ้มครองไม่ได้ 100%
 
ในขณะที่ ชาวบ้านมลายูมุสลิม ก็ไม่ใช่ทั้ง 100% ที่จะสนับสนุนขบวนการต่อสู้ปาตานี บางคนสนับสนุนในแง่ความคิด เป้าหมาย อยากได้รัฐเอกราช รู้สึกภาคภูมิใจต่อประวัติศาสตร์ แต่ไม่โอเคกับวิธีการใช้ความรุนแรง แต่ก็เข้าใจความจำเป็นในการใช้ความรุนแรง
 
ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ได้สนใจนัยยะทางการเมือง ของขบวนการต่อสู้ ก็พยายามอยู่ให้ได้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่
ความหลากหลายของคนในพื้นที่มีสูงมาก แต่สิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการมีน้ำหนักมาก นอกจากเรื่องในประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังมีความไม่เป็นธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้คนรู้สึกว่าทางการไทยจัดการไม่ดี ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นมีหลายกรณีที่สร้างแนวร่วมให้กับขบวนการด้วย เช่น ตากใบ เป็นเคสที่ใหญ่ที่สุด สร้างผู้สนับสนุนขบวนการ และผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่เพิ่มเข้ามา และอีกหลายกรณีตามมา
 
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ประวัติศาสตร์ จับต้องได้ ว่านี่ไงรัฐไทยมันห่วยมันไม่ได้เป็นเรื่องเล่าเฉยๆ นี่ไง เมื่อวานนี้ ยังกระทืบคนอยู่เลย มันจับต้องได้  ทำให้แรงขับเคลื่อนความขัดแย้งยืดเยื้อ
 
 
@คนในพื้นที่มองกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างไร 
 
คนมองอย่างไรกับกระบวนการพูดคุยก็ยังไม่ไว้วางใจแต่รู้สึกว่า นี่คือวิธีการหนึ่ง ที่ต้องหนุนให้เป็นไปได้ และมีความหมายกับคนในพื้นที่ ทั้ง คนจีน คนพุทธ และ คนมาลายูที่ต้องการความภาคภูมิใจ การจัดการชีวิตตัวเอง ตอนนี้ กระบวนการพูดคุยอยู่ในที่สาธารณะ ทุกคนสามารถคาดหวังและกังขากับมันได้
 

@ กรณีปะทะและสูญเสีย 16 ศพ ที่จ.นราธิวาส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นอีกปมหนึ่งในยุคปัจจุบันหรือไม่
 
ค่อนข้างชัดว่านี่คือกองกำลังที่จะมาลุยจริงฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้กังขาผลการชันสูตรและถือว่า พวกเขาเป็นนักรบ ในแง่นี้ คนที่ยกย่องนักรบก็เป็น “มวลชนสนับสนุนกองกำลังปฏิวัติ” โดยกองกำลังก็ฝังตัวในชุมชน ไม่ใช่กองกำลังที่อยู่ในป่า เขาคือลูกหลานของชาวบ้าน และชาวบ้านเข้าใจว่าทำไมพวกเขาเจ็บแค้น ไม่ใช่ถูกเกลี้ยกล่อมหลงผิด แต่ความรู้สึกรวม เขารู้สึกว่าการต่อสู้กับรัฐไทยถือเป็นฮีโร่
 
 
@ท่าทีฝ่ายรัฐ ที่เข้าไปหาครอบครัวผู้เสียชีวิตทันที หลังจากมีการปะทะ
 
รัฐก็เรียนรู้ในการรับมือสถานการณ์วิกฤตศรัทธาของมวลชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มี“สงครามประชนชน”มีกองกำลังติดอาวุธและมีมวลชนสนับสนุน เพื่อเป้าหมายทางการเมืองชนิดหนึ่งรัฐก็รู้ว่าพวกนี้ไม่ใช่โจร ที่สังคมประนามหยามเหยียด แต่เป็นลูกหลานที่ชาวบ้านสนับสนุน 

วิธีการที่รับมือโดยเข้าไปเยียวยาโดยด่วน ก็เป็นสิ่งที่รัฐเรียนรู้ ถ้าเทียบจากช่วงแรก ไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเขาก็ไม่ได้แคร์ว่าชาวบ้านจะคิดยังไง
 
ขณะที่ตอนนี้ รัฐเริ่มเรียนรู้ว่า การที่ไม่แคร์ชาวบ้านจะเป็นผลลบต่อทางการในท้ายที่สุด ฉะนั้น จึงต้องมีการเยียวยาเฉพาะหน้าก่อน นี่ก็เป็นงานการเมืองที่พยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเพื่อเดินหน้าทางการเมืองสู้กับขบวนการ
 
 
@การเยียวยาแบบนี้ ถือว่าได้ผลหรือไม่
 
ตอบยาก เพราะการเยียวยาโดยตัวมันเองไม่ใช่สาระหลักในการแก้ปัญหาโดยรวม แต่ก็ส่งผลทำให้ขบวนการต่อสู้ มีความยากที่จะใช้เหตุผลว่ารัฐไม่ดูแล มาเป็นเหตุในการขับเคลื่อนต่อสาธารณะ คล้ายๆ กับ เป็นการบล็อคสู้กัน จากเดิม ขบวนการอาจจะสะสมความคลุมเครือที่รัฐไม่ได้ดูแล นำมาขยายผลในการติดอาวุธต่อสู้ ซึ่งก็บล็อคได้ระดับหนึ่ง
 
 
@รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามต่อการเมืองภายในประเทศ ว่าทำไมเยียวยาครอบครัว ของฝ่ายขบวนการ
 
ก็ไม่ต่างจากการช่วยเหลือเสื้อแดง ที่ต้องอธิบายให้มีน้ำหนักต่อสังคม ว่าทำไม รัฐต้องจ่าย ขนาดนั้น
 
 
@ถ้าจินตนาการสุดขั้วไปเลย ให้ฝ่ายรัฐถอนกำลังทั้งหมดแล้วจะมีหลักประกันหรือไม่ว่าทุกคนจะปลอดภัย
 
ก็ไม่มีไง ก็เป็นข้อเสนอที่ไม่จริง
 
 
@ แม้ทหารจะทำงานชุมชนสัมพันธ์ แต่ก็มีภาพที่ทหารถือปืนในพื้นที่ จะสร้างความไว้วางใจกันอย่างไร มีทางออกหรือไม่
 
เป็นอาการที่เรียกว่า ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ยิ่งแก้ยิ่งพัน จนยากที่จะหาต้นสายปลายเหตุความขัดแย้งนั้นๆ เพราะพันกันไปหมด ยิ่งแก้ ก็ยิ่งไปสร้างเงื่อนไขเพิ่ม
 
วิธีการหนึ่งที่จะสลายความรุนแรงแบบนี้ จึงต้องสร้างพื้นที่ทางการเมือง ที่ห่างออกไป และแรงพอจะดึงทั้งสังคมออกไปคิดทางเรื่องใหม่ๆ ถ้าตามสูตร ก็คือ การพูดคุย หรือการชวนคุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ เรื่องอนาคต ต้องมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนี้ให้มาก ไม่งั้น คุณจะจมอยู่กับการต่อสู้ด้วยความรุนแรงและการใช้กำลัง รวมถึงการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง ซึ่งจะยิ่งพันให้มันหนาแน่นขึ้น มีเหยื่อเพิ่มมากขึ้นและทางตัน
 
บางคนอาจจะถามว่า หยุดยิงแล้วยังไง ในเมื่อยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ มีการกดขี่อยู่ ยังไม่ให้อิสระในระดับความภาคภูมิใจที่เขามีอยู่ ซึ่งกระบวนการสันติภาพ ต้องสร้างสมดุลของสิ่งเหล่านี้  การหยุดยิงจำเป็นก็จริง แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย มิเช่นนั้น เงื่อนไขความรุนแรงก็ยังมีอยู่  
 
 
@ความหมายของสันติภาพสำหรับฝ่ายต่างๆ มีความหมายตรงกันหรือไม่ 

ความหมายของสันติภาพ ยังไม่นิ่ง  เพราะ บางคนอาจจะบอกว่า สันติภาพ คือต้องเป็นเอกราช บางคนบอกว่าสันติภาพคือ คุณต้องอยู่เฉยๆ อย่ามาต่อต้าน ซึ่ง เป็นความหมายที่ยังต้องสู้กันอยู่ แต่สิ่งกระบวนการพูดคุยทำให้เห็น คือ การต่อสู้แบบไม่ใช้ปืน มันเห็นชัดเจนขึ้น นี่คือ คุณูปการ
 
 
@ ตัวแทนฝ่ายไทย เคยพูดถึงเขตปกครองพิเศษ แต่เมื่อมีกระแสต่อต้านจากส่วนกลาง ก็กลับไม่มีการพูดถึงอีก แล้วบีอาร์เอ็น มีเป้าหมายในเรื่องเขตปกครองพิเศษหรือไม่
 
คงไม่มีใครตอบในที่สาธารณะในจังหวะเวลาแบบนี้  เพราะนี่คือเนื้อหาการเจรจาต่อรองในอนาคต ตอนนี้ อยู่ในขั้นสร้างความไว้วางใจต่อคู่สนทนา ให้มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับจากสันติสนทนา ไปสู่การเจรจาสันติภาพ ซึ่ง ต้องการเนื้อหาข้อตกลง เมื่อถึงตอนนั้น จึงจะได้ยินข้อเรียกร้องแบบนี้ เพราะการพูดถึงเขตปกครองพิเศษในขณะนี้ อาจบ่อนทำลายการสร้างความไว้วางใจของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ได้ มันเร็วไป เพราะ มวลชนสนับสนุนบีอาร์เอ็น ก็อาจจะไม่พอใจทางออกที่เป็นโมเดลแบบนี้
 
 
@ ด้วยแม้ว่าเขตปกครองพิเศษ จะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยรับไม่ได้แต่ก็ยังไม่ใช่โมเดลที่น่าพอใจของมวลชนฝ่ายบีอาร์เอ็น
 
ใช่เพราะเขาก็มีมวลชนที่ต้องการเอกราชแยกเป็นรัฐต่างหากฉะนั้น การพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่แยกออกมา มันทำให้คนทั้งสังคม ทั้งที่สนับสนุนขบวนการ และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใครครวญทางเลือกต่างๆ ให้ทุกกลุ่มคิดว่า โมเดล ควรจะเป็นอะไร ไม่ใช่การสู้รบอย่างเดียว เป็น กระบวนการสันติภาพ ไม่ใช่สันติภาพที่ตั้งนิ่ง แต่ ทำให้มีที่ต่อรอง เพื่อให้การใช้ปืน ใช้ระเบิด น้อยลง
 
 
@ฝ่ายไทยได้ทักท้วงกรณีกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศหยุดยิงโดยรวมเอาพื้นที่ อ.สะเดา ไปอยู่ในประกาศด้วย
 
ปฏิกิริยาฝ่ายไทยนั้นไม่แปลก เพราะเรื่องดินแดน เป็นตาปลาของสังคมไทย มีกรอบคิดที่ว่าเป็นเรื่องแตะไม่ได้ อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไทย แต่เดี๋ยวก็คลี่คลายไปเอง
 
 
@ มองว่า การที่เขาอ้างสะเดา ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะมีสิทธิเหนือดินแดน ที่ อ.สะเดา 

ใช่ ต่อให้เขาเคลม 14 จังหวัด ก็พูดได้ แต่ พูดไปก็ดูไม่มีน้ำหนัก การมาอ้างเฉพาะสะเดา ก็อาจจะเป็นการรุกแบบหนึ่ง ซึ่งฝ่ายไทยก็ต้องโวยวายอยู่แล้ว นี่เป็นการเมือง กระบวนการก็เป็นอย่างนี้ ก็ตอบโต้กันไป
 
 
@กรณีระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง เป็นการสะท้อนอะไร
  
คนในพื้นที่เรียกว่า “ปืนปลอม” ไม่ได้เรียกว่า “ปืนจำลอง” เรื่องนี้สะท้อนภาพใหญ่ผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมว่า สิ่งที่คน กทม. คิด กับสิ่งที่คนมลายูคิดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการส่งปืนปลอมไปให้ อาจจะมีเจตนาดี แต่ก็สะท้อนวิธีคิดที่ไม่ไวต่อความรู้สึกอะไรแบบนี้
 
เพราะกลับกลายเป็นการคอนเฟอร์มความรับรู้ของคนในพื้นที่ ที่มองว่า ส่วนกลางไม่มีความจริงใจและพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ เป็นคนนอกที่พยายามเข้ามาควบคุม เป็นผู้ยึดครอง ดังนั้น การระเบิดปืนปลอม ก็โดนใจคนในพื้นที่โดยรวม เป็นเรื่องสัญลักษณ์มากๆ เพราะปืนใหญ่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่
 
 
@ในรัฐไทย ก็มีความคิดแบบเก่า ความคิดแบบใหม่ ส่วนบีอาร์เอ็น ก็มีผู้สนับสนุนตั้งแต่โมเดลเขตปกครองพิเศษ จนไปถึง การแบ่งแยกดินแดน จะหาจุดลงตัวอย่างไร

หากฝ่ายบีอาร์เอ็น ถ้ามาพูดคุยแล้วยอมโอนอ่อนตามฝ่ายไทยตลอด ก็จะโดดเดี่ยวจากมวลชน เพราะถ้ามวลชนสนับสนุนไม่เอา การมาคุยก็ไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก
 
ในขณะที่ การทำงานของ คุณภราดร และ คุณทวี จะเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพได้ ก็ต้อง ทำให้เห็นว่า เหตุการคลี่คลายกว่าปีที่แล้ว ไม่เช่นนั้น งานที่ทำก็ไม่มีความหมาย
 
ประเด็นอยู่ที่ว่า การต่อสู้ภายในของแต่ละฝ่าย ไม่สามารถเหมาได้ว่ามีเหยี่ยวกับพิราบเท่านั้น เพราะ การมองแบบนี้ไม่สะท้อนความเป็นจริง เช่น ฝ่ายไทย ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบทักษิณ  มีคนเสื้อแดงหลายเฉด หรือฝ่ายเหลือง ก็มีอนุรักษ์นิยมแบบสุดๆ ในแดงก็มีอนุรักษ์นิยม
 
 
@ การพูดคุย สันติภาพ เป็นอุดมคติที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริงหรือเปล่า
 
ไม่ใช่ว่าคนที่เดินงานสันติภาพทั้งฝ่ายรัฐและบีอาร์เอ็นจะเป็นพวกไร้เดียงสาเพราะงานสันติภาพเป็นงานทางการเมืองอย่างหนึ่งซึ่งเขาก็ยังโอเคกับการใช้กำลังใช้ทหารเขาอาจจะไม่ใช่นักสันติวิธี

ดังนั้น การใช้ความรุนแรงก็ยังเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของพวกเขา แต่การระเบิด ต้องสร้างอำนาจต่อรองได้ หรือว่าการบุกค้นจับกุมคนนี้ จะส่งผลต่ออำนาจต่อรองอย่างไร
 
ขณะที่บางคนก็มองว่า การพูดคุยจำเป็น เพราะการทหาร ก็มีเพดาน สุดได้แค่นี้ ไปมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะ ความสูญเสียจะเยอะกว่านี้ คือไม่ใช่เกิดมาเหยี่ยวแล้วตายแบบเหยี่ยว หรือเกิดมาพิราบแล้วจะตายแบบพิราบ แต่มันมีส่วนผสมกันอยู่