Skip to main content

ปัญหาความไม่สงบกับกระบวนการยุติธรรม

(เผนแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์ macmuslim.com)

โดย นายอนุกูล อาแวปูเตะ
ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี

ปัญหาความรุนแรงและการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เริ่มประทุขึ้นอีกครั้ง ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ยิงในมัสยิดบ้านไอปาแย อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่กำลังทำพิธีละหมาดในมัสยิดถึงแก่ความตาย  และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ หลังจากนั้นก็มีการฆ่าพระที่จังหวัดยะลา  หลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดได้เป็นประเด็นสาธารณะที่สื่อให้ความสนใจในกระดานข่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ความรุนแรงในสามจังหวัดหลังวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ที่มีการปล้นปืนในค่ายทักษิณพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกือบทุกวัน มีผู้คนล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทรัพย์สินทั้งของทางราชการและของเอกชนเสียหายเป็นจำนวนมาก พูดได้ว่าเกิดเหตุทุกวันจนเบื่อที่จะติดตามและฟังข่าว และหมดหวังแล้วกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลชุดไหน ที่ใช้สามจังหวัดเป็นนโยบายในแก้ไขปัญหามาโดยตลอด

 ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือว่าอะไรคือปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงของเหตุการณ์หนักขึ้นหรือลดลง  หากจะมองย้อนไปก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๗ หาใช่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มีมาก่อน  เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์ยิงฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ เช่น การยิงป้อมตำรวจ ปล้นอาวุธปืนในค่ายทหาร แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน และรัฐบาลในชุดของรัฐบาลทักษิณมีความมั่นใจว่า การก่อเหตุการณ์เป็นเพียงการกระทำของโจรกระจอก ๆ ไม่มีราคา จึงมีคำสั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และกองกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ๔๓ (พตท.๔๓) โดยให้พื้นที่ในสามจังหวัดเป็นพื้นที่ปกติทั่วไปเหมือนจังหวัดอื่น และปัญหาการก่อเหตุการณ์ และอาชญากรรมก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปราม โดยเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจชายแดน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารเล็ก ๆ ในตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๗ ในขณะนั้นได้มีการจับกุมกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบ้านแหร  และลูกบ้านมาดำเนินคดี เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ถูกดำเนินคดี ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา เพราะเชื่อว่าบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเป็นผู้บริสุทธิ์ สุดท้ายปัญหาก็คลี่คลายจนตำรวจต้องยอมให้ได้รับการประกันตัวไป คดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาคดีหลายปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ศาลจังหวัดยะลาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด  

ในฐานะที่ได้มีโอกาสในการทำคดีดังกล่าวพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยกองบังคับการตำรวจภูธรยะลา ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสืบสวนสอบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน พนักงานอัยการได้นำเสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อให้เห็นว่า กำนัน กับผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงชาวบ้านที่บ้านแหร มีส่วนในการปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหาร โดยการให้พลทหารในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นคนบ๊อง ๆ ที่มีสติสัมปชัญญะไม่ดี ซึ่งอยู่ในค่ายทหารในคืนเกิดเหตุซัดทอดว่าเห็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สั่งการโดยได้ยินเสียงและจดจำใบหน้าได้  แล้วบันทึกคำให้การของพยานให้ลงลายมือชื่อ นำส่งต่อศาล แต่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดี เอส ไอ) ได้มีการจับกุมอุสตาสจำนวน ๘ คน จากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีพิเศษศาลอาญา ได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง ๘ คนที่ศาลอาญา ในข้อหา ร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย สะสมกำลังพลในเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เบิกความถึงจำเลยทั้ง ๘ คน โดยการนำของอุสตาส สะแปอิง บาซอ ว่าได้มีการวางแผนคบคิดกันในการที่จะก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน และได้มีการวางแผนในการปล้นปืนของทหารก่อนปี ๒๕๔๗ แล้ว โดยได้หยิบยกถึงการปล้นปืนในช่วงปี ๒๕๔๕ และ ๒๕๔๖ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการปล้นปืนที่บ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นจำเลยด้วย ทั้งที่คดีที่กำนันกับผู้ใหญ่บ้านถูกฟ้อง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ และไม่เกี่ยวกับสะแปอิง บาซอ และโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิเลย แสดงให้เห็นถึงความสับสนในด้านการข่าวของหน่วยงานข่าวกรอง และฝ่ายความมั่นคง ที่มีการเสนอพยานหลักฐานในศาลในคดีที่มีความขัดแย้งและแตกต่างกัน
 

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ จะมีสมมติฐานเพียงสมมติฐานเดียวเท่านั้นคือ “ แบ่งแยกดินแดน”  ถามว่าสมมติฐานนี้จะตอบโจทก์ของปัญหาสามจังหวัดได้หมดหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงสมมติฐานทางวิชาการที่ตั้งไว้เพื่อจะนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาแล้วก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะสุดท้ายก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ เมื่อเป็นข้อมูลเมื่อผิดพลาดก็ตั้งสมมติฐานใหม่เพื่อกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาต่อไป แต่ถ้านำสมมติฐานนี้ไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น? ถ้าคดีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนว่าเป็นคดีความมั่นคง และตั้งข้อหาเกี่ยวกับก่อการร้าย สะสมกำลังพล สะสมอาวุธ อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งเป็นโทษหนักทุกคดีจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรม  เพราะข้อหาดังกล่าวคงไม่มีการดำเนินกับผู้ต้องหาที่นับถือศาสนาอื่น  นิยามก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดนกลายเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมในสามจังหวัดไปเสียแล้ว  ทั้งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจไม่ได้มาจากคนที่เป็นมุสลิมก็ได้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากมูลเหตุการกระทำเพราะความต้องการแบ่งแยกดินแดนก็ได้  และถามต่อไปว่าหากเมื่อมีการพิจารณาคดีแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย ใครจะรับผิดชอบกับผลกระทบของจำเลยในคดี หมายความว่าเราจะลองผิดลองถูกกับอิสระภาพและเสรีภาพของคนในสามจังหวัดใช่หรือไม่? 
 

ทุกวันนี้หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มาลงที่ “ แบ่งแยกดินแดน” ทั้งที่บางคดีที่พิจารณาอยู่ในศาลพบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่พนักงานสอบสวนละเลย เพิกเฉยที่จะทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นกระแสความ อาจมีเหตุผลของการเกรงกลังอำนาจหรืออิทธิพลมืดบางอย่าง แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้กระบวนการยุติธรรมและระบบการสอบสวนอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงที่แท้จริงได้ เพราะกรอบของกระบวนการยุติธรรมแคบมาก และเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ภายใต้กรอบนี้  หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทำงานแบบแยกส่วน แล้วก็ติดกับดักของกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ เดิม ๆ ที่ไม่อาจข้ามพ้นไปได้ ด้วยเหตุดังกล่าวทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็จะพบกับพยานหลักฐานชุดเดิม ๆ พยานบุคคลคนเดิม ๆ อัยการที่สั่งสำนวน และศาลที่พิจารณาคดีก็จะพิจารณาคดีในรูปแบบเดิม ๆ จนแทบจะพูดได้ว่าหลับตาก็รู้ว่าพยานคนนี้จะเบิกความเกี่ยวกับเรื่องอะไร  ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในเชิงนโยบายได้ สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกหรือฟันเฟืองตัวหนึ่งที่เดินอยู่ ภายใต้วัฏจักรของกรอบปัญหาใหญ่ในสามจังหวัดที่เป็นเรื่องของ อำนาจ และผลประโยชน์ ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้ปัญหาของสามจังหวัดเป็นสนามประลองกำลัง
 

ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ในสมัยท่านอานันท์ ปัญญารชุน ก็ยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ ภายหลังมีการปฏิวัติ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รัฐบาลท่านสุรยุทธ จุลลานนท์ ก็ยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ จนต้องยอมขอโทษต่อประชาชน และต่อผู้นำศาสนาภายหลังที่เป็นรัฐบาล แต่ความไม่เป็นธรรมเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น และกรอบของความไม่เป็นธรรมใหญ่มาก เช่น ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง การปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันต่อผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน หรือต่อคนต่างเชื้อชาติ แต่ความไม่เป็นธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการถูกกล่าวหาและดำเนินคดีโดยไม่ได้กระทำความผิดจริง เป็นความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมองเห็นเป็นรูปธรรม และเป็นความเจ็บปวดที่บาดลึกลงไปในหัวใจ ทั้งต่อตนเองและญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และหากความไม่เป็นธรรมนี้เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา ก็จะขยายวงกว้างไปอีก แต่แม้รัฐบาลจะยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ การแก้ปัญหาก็เป็นเพียงนามธรรมเช่นเดียวกัน  ไม่ได้ปรากฏการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายก็ต้องยอมรับในระบบว่าประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา หากถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธต่อสู้คดีในชั้นศาล เพราะปลายทางของคดีอยู่ที่ศาลจะพิจารณาตัดสิน โดยไม่ได้พูดถึงว่าสิ่งที่เขาสูญเสียไปในระหว่างการพิจารณาคดีกับความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่นั้น รัฐจะชดเชยอย่างไร และจะแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต   
 

ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังในฐานะที่อยู่ในวงการและมีประสบการณ์ในคดีความมั่นคงและทนายความเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ไม่อาจที่จะปฎิเสธทนายความได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คดีในศาลจะต้องมีทนายในการแก้ต่าง โดยเฉพาะคดีความมั่นคงเป็นคดีที่มีโทษหนัก ย่อมต้องให้ทนายความเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่แรกในเบื้องต้น นอกจากนี้มีความรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ที่มีรายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงว่า ภายหลังที่มีคำพิพากษาคดีตากใบ เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดจะยิ่งหนัก และผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี รวมทั้งอัยการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะถูกหมายหัวจากผู้ก่อความไม่สงบ  เพราะคดีตากใบเป็นเพียงคดีหนึ่งของอีกหลาย ๆ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง แม้ความไม่เป็นธรรมจะเป็นเหตุของความไม่สงบ  แต่คำพิพากษาของศาลมันไม่ใช่ผลที่ทำให้มีเหตุการณ์รุนแรง เพราะปัจจัยที่ทำให้มันรุนแรง ไม่รุนแรง ทรง ๆ ทรุด ๆ ไม่รู้จริง ๆ มาจากสาเหตุอะไร หากจะบอกว่าผลของคำพิพากษาในคดีตากใบ ทำให้เหตุการณ์มีความรุนแรงขึ้น แล้วหลังเหตุการณ์ตากใบที่เกิดตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนศาลมีคำพิพากษา ปี ๒๕๕๒ ในระหว่างรอคำพิพากษาแล้วเหตุใดเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ  และจะอธิบานได้อย่างไรว่าในอีกหลาย ๆ คดีที่ศาลให้ความปรานีพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น  นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้วปล่อยตัวไป น่าจะเป็นที่พอใจของผู้ก่อความไม่สงบ แต่เหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้นอีก สุดท้ายจะอธิบายอย่างไร ในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีและต้องถูกขังระหว่างพิจารณา เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว ก็ถูกฆาตรกรรมโดยผู้ก่อความไม่สงบอีกเช่นเดียวกัน