Skip to main content

 

เชิญชวนเด็กสามจังหวัดภาคใต้เรียนวิทยาศาสตร์

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

เกือบสองเดือนมาแล้วคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาสอบถามมาว่าอยากจะมาบรรยายให้เด็กๆและครูๆโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลาฟังเรื่องฮาลาลบ้างไหม เพราะเด็กๆอยากพบ ดร.วินัยเขาว่าอย่างนั้น ได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยเจอตัวเป็นๆ ผมตอบไปว่าก็เอาซิ พักหลังอยากเจอเด็กๆมากกว่าผู้ใหญ่

ผมไปยะลาบ่อย ผ่านไปทางตลาดเก่าของตัวเมืองเห็นทางเข้าโรงเรียนเป็นทางแคบๆตั้งเยื้องมัสยิดใหญ่ที่ตลาดเก่า มีคนเคยบอกว่าเป็นโรงเรียนใหญ่ มองจากถนนเข้าไปไม่เห็นจะใหญ่สักเท่าไหร่ แต่ได้ยินกิตติศัพท์ของโรงเรียนแห่งนี้อยู่บ่อยๆ มีข่าวว่าครูและนักเรียนโรงเรียนนี้ถูกทางการเพ่งเล็งเนื่องจากอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งมีบุคลากรอยู่ 82 คนในจำนวนนี้นักวิทยาศาสตร์ 3 คนมาจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เก่งทั้งสามคน โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่น่าจะธรรมดา

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ถึงเวลาเสียที ทางคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี จัดงานวิทยาศาสตร์ฮาลาล 4.0 ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ผมจึงได้มีโอกาสไปบรรยายที่นั่น หลังจากตั้งใจมานาน

โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก แบ่งโรงเรียนเป็นสองส่วนคือชายกับหญิง ทุกวันพุธทั้งสองส่วนจะมารวมกันที่สนามใหญ่ หลังเคารพธงชาติตอนแปดโมงเช้าจะฟังครูอบรมทางจริยธรรม นี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กที่มีจากโรงเรียนแห่งนี้มีอัธยาศัยค่อนข้างดี มีวินัย อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ สำหรับครั้งนี้ หน้าที่อบรมจริยธรรมเป็นของผมที่ได้รับเวลาไม่จำกัด อากาศที่ยะลาช่วงเช้ากำลังสบาย ไม่มีแดด

เด็กนักเรียนนั่งเรียบร้อยเต็มสนาม หญิงฟากหนึ่ง ชายฟากหนึ่ง เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 6,700 คน เป็นชาย 2,400 หญิง 4,300 คน น่าสงสัยว่าทำไมมีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงมากนัก ทางโรงเรียนยืนยันว่าสัดส่วนประชากรยะลาเป็นอย่างนี้ เด็กรุ่นใหม่มีเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย ผมเองยังไม่ได้ไปตรวจสอบ เคยแต่อ่านรายงานวิจัยจากญี่ปุ่นเขาว่าเด็กชายรุ่นใหม่ๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบอนาคตของเขา เด็กชายจึงเรียนในระบบน้อยกว่าหญิง นั่นเป็นญี่ปุ่นส่วนเมืองไทยเป็นอย่างไรไม่เคยเห็นรายงานวิจัย

ผมบรรยายเรื่องความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆไม่เคยฟังมาก่อน เล่าเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกอิสลามที่กลายเป็นต้นกำเนิดวิทยาการยุคใหม่ สารคดีของเนชั่นแนลจีโอกราฟิกเคยระบุไว้หลายปีมาแล้วว่าโลกยุคใหม่เจริญขึ้นมาได้ก็ด้วยการต่อยอดวิทยาการจากโลกอิสลามเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว วิทยาการเหล่านั้นถ่ายทอดมาฟรีๆ ชนมุสลิมมีวัฒนธรรมของการให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน สารคดีสรุปไว้ดี

โลกทุกวันนี้ ชาติมุสลิมด้อยการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ขนาดหนัก มีนักวิทยาศาสตร์น้อยกว่าโลกตะวันตก 26 เท่า มีทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์น้อยกว่าโลกตะวันตก 25 เท่า ผลิตนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลแก่โลกน้อยกว่าโลกตะวันตก 60 เท่า หากเทียบกับชาวยิวจะยิ่งแย่หนักเพราะน้อยกว่ายิว 2,812 เท่า โลกอิสลามวันนี้ผลิตนักการศาสนา นักสังคมศาสตร์แต่ไม่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ยากที่จะพัฒนาสังคม

ผมเชิญชวนให้เด็กๆ เลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ อยากให้โรงเรียนสนับสนุนสาขาวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ในส่วนสังคมศาสตร์ดีอยู่แล้วเพราะสอนถึง 5 ภาษาคือไทย มลายู อาหรับ อังกฤษ จีน แต่ควรเพิ่มวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ทั้งควรแทรกวิทยาศาสตร์ฮาลาลเข้าไปในหลักสูตร หมายถึงวิทยาศาสตร์ทุกสาขาที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่ขัดจริยธรรมอิสลาม

ผมบรรยายที่โรงเรียนถึง 5 ชั่วโมง เด็ก 1 ชั่วโมง ครู 4 ชั่วโมง อยู่กับเด็กๆแล้วก็ชื่นใจ คุยกับเด็ก ทุกคนพูดภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง มลายูเป็นภาษาที่สอง รักชาติรักแผ่นดิน ไม่เห็นวี่แววที่บอกกันว่ามีปัญหาเรื่องแนวคิด ถามครูที่นั่นเขาว่าข้อกล่าวหามาจากโรงเรียนมีเด็กนิยมมาเรียนมากไปหน่อย เป็นรายการโค่นแชมป์ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร บอกตามตรงว่าไม่ทราบ ผมสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องเดียว การเมืองไม่อยากยุ่ง