Skip to main content

ข้างล่างนี่คือรายงานของประชาไทที่เคยเรียบเรียงประเด็นที่ผมพูดในเวทีแห่งหนึ่งเมื่อกว่าสามปีที่แล้ว คิดว่ายังน่าสนใจอยู่ เลยเอามาเผยแพร่อีกครั้งครับ

 
 
          ความโดดเด่นของนักข่าวท้องถิ่นนาม "มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน" อดีตบรรณาธิการ สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อยู่ตรงที่มองประเด็นผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ นับเป็นปัญญาชนสาธารณะของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสถานการณ์แห่งความรุนแรงที่โดดเด่นผู้หนึ่ง
 
          กลางเดือนธันวาคม 2549 "มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน" รับคำเชิญจากสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้บรรยายเรื่อง "สื่อและกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ" ผ่านเวทีนำเสนอกรณีศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะภาคสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุม M 103 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
          จากประสบการณ์อันอุดม "มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน" นำเสนอประเด็นสื่อกับการขับเคลื่อนทางสังคมได้แหลมคมอย่างยิ่ง
 
          นี่คือ ความแหลมคมที่เหลาจากประสบการณ์จริงของ "มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน" ที่นำเสนอผ่านเวที เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2549  
 
 
          เรื่องนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ ก่อนที่ผมจะมาพูด ผมดูข้อมูลของสงขลาในเว็บไซด์ ผมว่าสงขลาฐานข้อมูลค่อนข้างดี ประเด็นอยู่ที่จะเอาฐานข้อมูลมาใช้อย่างไร เพราะที่มีอยู่ยังไม่ถูกนำมาขับเคลื่อน มันยังหยิบขึ้นมาผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะไม่ได้ มันเป็นแค่ฐานข้อมูลที่เก็บไว้ ประเด็นนี้เราต้องมานั่งคิดกัน
 
          ผมว่าสื่อเป็นข้อต่อให้กับคนทุกฝ่าย เมื่อเป็นข้อต่อ มันต้องมีพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่ม ถึงจะผลักดันนโยบายสาธารณะได้ สื่อต้องให้ข้อเท็จจริง ถ้าเราต้องการให้สื่อเป็นของพวกใดพวกหนึ่ง มันจะผลักดันนโยบายสาธารณะไม่ได้
 
          ที่ผ่านมา เรายังคิดว่าสื่อเป็นของเรา พอเป็นของเรา เราก็พูดถึงเฉพาะพวกเรา กลุ่มเรา ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้พูดถึง ฝ่ายทางราชการเราก็ไม่มีพื้นที่ให้ อันนี้มันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะไม่ได้
 
          ในการยกวาระของท้องถิ่นให้เป็นประเด็นสาธารณะ ผมว่าประเด็นที่ยาก ก็คือ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของพวกเรา ไม่ค่อยมีคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเข้าร่วม ไม่ใช่เฉพาะที่สงขลา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนกัน
 
          ชนชั้นกลางนี่อยู่สุขสบาย ทำงานไปเช้าเย็นกลับ ทำมาหากินสบาย เลยไม่ค่อยสนใจอะไร ถ้าเรานำพลังของคนชั้นกลางมาเคลื่อนไหวได้ พลังตรงนี้จะเป็นตัวเชื่อมต่อกับคนชั้นล่าง ในการผลักดันนโยบายสาธารณะ ผมว่าตอนนี้คนชั้นกลางที่เข้ามาเชื่อมตรงนี้ยังมีน้อย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนสงขลาผมไม่แน่ใจ
 
          ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ขับเคลื่อนยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ คนรุ่นเดิมๆ ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ เราไม่ได้สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ทำให้ขาดช่วงในการขับเคลื่อน ผมว่าตรงนี้เราต้องนั่งคิดกันได้แล้ว
 
          ในส่วนของสื่อมันมีปัญหาอยู่ ถ้าเราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านสื่อ เราควรจะทำอย่างไร ประเด็นนี้ต้องมานั่งคิดกัน
 
          ผมว่าที่ผ่านมา สิ่งที่เราพยายามจะทำ คือ ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะขึ้นมาจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน ในขณะที่นโยบายสาธารณะยังถูกกำหนดจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง ถึงแม้เราพยายามจะทำ แต่ก็ยังถูกกำหนดมาจากข้างบนอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่อก๊าซ หรือคลองอู่ตะเภาเหมือนกันหมด ปัญหาของกระบวนการขับเคลื่อนมันอยู่ตรงไหน สื่อช่วยหรือไม่ช่วยอย่างไร อันนี้ต้องกลับมานั่งคิด
 
          อีกประเด็น ที่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ คือ การผลักดันนโยบายสาธารณะ มันต้องสื่อสารกันทุกรูปแบบ ไม่ใช่จัดเวทีอย่างเดียว หลังจากข้อเสนอจากชาวบ้านไปถึงรัฐบาล สื่อต้องตามต่อว่า รัฐบาลเอาไปใช้หรือไม่อย่างไร ตรงนี้ที่ขาดหายไป เมื่อขาดตรงจุดนี้ มันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะไม่ได้
 
          ในส่วนของสื่อ ถ้ามองจากศูนย์ข่าวอิศราฯ ที่ผมทำงานอยู่ ต้องใช้พลังขับเคลื่อนสูงมาก ต้องใช้เครือข่าย ใช้การจัดเวทีมาก เราถึงจะได้ข้อมูล ได้แง่มุมที่จะขับเคลื่อนต่อ เรื่องหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านสื่อ จะต้องขับเคลื่อนด้วยประเด็น ถ้าขับเคลื่อนโดยไม่มีประเด็น สื่อจะไม่ตามข่าวต่อเนื่อง ไม่มีใครเอาไปลง สื่อจะไม่สนใจ คนอ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่าน
 
          ทีนี้จะทำอย่างไรให้มันมีประเด็น ผมว่าข้อจำกัดของสื่ออธิบายได้เลยว่า ในการขับเคลื่อนด้วยประเด็น เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะ สื่อจะไม่เก่งในการเขียนข่าวเชิงนโยบาย ในเชิงยุทธศาสตร์ แต่เก่งในการเขียนข่าวตายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร มีคนเท่าไหร่ แต่เชิงยุทธศาสตร์ เชิงนโยบายสื่อจะไม่เก่ง พอไม่เก่งการติดตามข่าวจะไม่ต่อเนื่อง ข่าวจะออกมาเป็นช่วงๆ ขาดๆ หายๆ การผลักดันนโยบายสาธารณะผ่านสื่อก็ไม่สัมฤทธิผล เราจะเห็นข้อจำกัดตรงนี้
 
          ดูตัวอย่างจากศูนย์อิศรา เรื่องแรก คือ เรื่องคนหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมนโยบายมาจากข้างบน เขาคิดง่ายๆ ถ้าคนหายก็เอาเงินไปให้เรื่องมันก็จบ แต่เราคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ มันจะกลายเป็นแผลในใจติดตัวญาติผู้สูญหาย เราก็คิดว่าควรทำอย่างไรต่อเกี่ยวกับการเยียวยา
 
          อันที่สองที่เราพยายามจะผลักดัน คือ การเปิดเจรจากับขบวนการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านี้ สังคมไม่ค่อยสนใจเรื่องการเจรจา แต่พอเราผลักดันให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีการเจรจา ต้องหันหน้ามาคุยกัน คนไทยก็กลับมาสนใจ
 
          อีกเรื่องสำคัญมาก เราจะผลักให้สื่อเปิดพื้นที่ออกสู่สาธารณะอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันหนัก เพราะถ้าไม่มีประเด็นข่าว สื่อสวนกลางไม่เล่นด้วยแน่ ถ้าไม่มีกระแสสื่อก็ไม่จับไปเล่นเป็นข่าว ผมว่าภาคประชาชนจะต้องมีกลยุทธ์ มีเทคนิคมากกว่าเดิม จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น จัดเวทีมีผู้มาอธิบายให้คนฟัง มันไม่แรงพอที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มันต้องคิดรูปแบบ ที่จะทำให้คิดประเด็นได้อย่างต่อเนื่อง อันนี้ต้องคิดกัน
 
          ถ้าเราดูที่ผ่านมา ถ้าเราใช้สื่อช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะ สื่อมีอยู่ 2 แนว หนึ่ง แนวราบแบบพวกผม แบบหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ขณะที่สื่อส่วนกลางซึ่งสำคัญเพราะมีพลัง กลับบริหารจัดการข่าว และนำเสนอข่าวแนวดิ่ง รูปแบบที่จะให้สื่อช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะ มันจะต้องตีคู่ระหว่างสื่อแนวราบกับสื่อแนวดิ่งให้ได้ อย่างสื่อท้องถิ่นในสงขลานี่ดี แต่จะเอาข้อมูลจากสงขลาออกสู่สาธารณะ ผ่านสื่อส่วนกลาง ที่บริหารจัดการข่าว และนำเสนอข่าวแนวดิ่งได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิด
 
          การขับเคลื่อนนโยบาย มันจะต้องไปด้วยกัน 2 ส่วน แนวดิ่ง คือ สื่อส่วนกลาง จะต้องรับประเด็นจากคนทำงานในแนวราบ มันถึงจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะไปได้ ถ้าทำไม่ได้ มันจะทำให้การผลักดันนโยบายสาธารณะทำได้ยาก เพราะข้างบนไม่ทราบว่า คนท้องถิ่นต้องการอะไร หรือข้างล่างเราผลักดันจนไปถึงข้างบนได้ แต่เขาไม่เอาด้วย เราก็ไม่มีพลังที่จะกดดันได้ การเชื่อมระหว่างสื่อแนวราบจากคนท้องถิ่น ไปถึงสื่อแนวดิ่งในส่วนกลาง จำเป็นจะต้องมี ตรงนี้เราต้องมานั่งออกแบบกัน
 
          รูปแบบของศูนย์อิศรา เป็นรูปแบบที่ผสมกันระหว่างแนวราบกับแนวดิ่ง มีบรรณาธิการจากส่วนกลาง ทำงานร่วมกับบรรณาธิการในท้องถิ่น มานั่งพูดคุยประเด็นกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย แล้วนำเสนอผ่านสื่อออกสู่สาธารณะ
 
          บรรณาธิการจากท้องถิ่น จะมีคอมมอนด์เซ้นต์ มีสำนึกธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เห็นสามัญสำนึกธรรมดาของคนในพื้นที่ ซึ่งคนส่วนกลางจะมองไม่เห็น เพราะอยู่ไกลพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม ต่างความเป็นอยู่ 2 ส่วนนี้ จึงต้องทำงานร่วมกัน
 
          ปัญหา คือ จะทำอย่างไร ให้มาทำงานร่วมกัน ผมว่าสื่อมีปัญหา คือ องค์กรสื่อส่วนใหญ่เป็นองค์กรแนวดิ่ง เสนอข่าวประเภทตายเท่าไหร่ มีเงินเท่าไหร่ มีธุรกิจอะไรบ้าง ส่วนข่าวแนวราบจริงๆ ผมไม่แน่ใจว่ามีปะปนอยู่เท่าไหร่ ขณะที่ประชาไท ประชาธรรม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น พยายามจะนำเสนอข่าวแนวราบ เราจะโยงสื่อ 2 ประเภทนี้อย่างไร ให้มันเชื่อมโยงกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นพลังที่จะผลักดันนโยบายสาธารณะมันไม่พอ
 
          บางเรื่องมันสลับซับซ้อนในการอธิบาย ตัวอย่างเช่น พอเกิดศูนย์ข่าวอิศรา เราก็มานั่งคิดว่าเราควรนำเสนอชีวิตมนุษย์เข้าไป ผมบอกว่ายังไม่พอที่จะอธิบายปัญหาภาคใต้ เราก็กลับมานั่งคิดกับชมรมแพทย์ชนบท ที่เขามีประสบการณ์ในการทำงานอยู่กับชาวบ้าน มีผลให้เกิดศูนย์เฝ้าระวังฯ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ จากฐานข้อมูลที่เก็บรวบรวมเอาไว้ เหตุการณ์ที่มันเกิด 700 - 800 ครั้ง มีลักษณะเป็นอย่างไร กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
 
          อีกประเด็นหนึ่ง ที่พวกเราต้องกลับมานั่งคิดกัน คือ การที่เราจะผลักดันนโยบายสาธารณะผ่านสื่อ ต้องคิด 2 ทาง ทางหนึ่ง คิดว่าเมื่อเราเป็นข้อต่อ หรือเราเป็นแรงขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเรารับจากชาวบ้าน นำไปผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ อันนี้เป็นจุดแข็ง ทุกคนทำกันหมดเลย ผมจากศูนย์ข่าวอิศรา หรือศูนย์นั่น ศูนย์นี่ ใครๆ ก็ลงไปคุยกับชาวบ้าน แล้วนำมาผลักดันให้เป็นนโยบาย
 
          อีกทางหนึ่งที่เราไม่ได้ทำ คือ เมื่อรับเอามาผลักดันเป็นนโยบายแล้ว เราขาดการขับเคลื่อนให้ชาวบ้านร่วมกันผลักดันต่อไปให้เป็นจริงเป็นจัง เพื่อให้รัฐบาลรับเอาไปทำ เราทำตรงนี้กันน้อย ยิ่งรัฐบาลรับเอาไปทำเราก็จบ ไม่ขับเคลื่อนต่อ ไม่มีการติดตามต่อไปว่า นโยบายที่คิดว่าดี มันดีจริงหรือไม่ ทำได้หรือทำไม่ได้เพราะอะไร รัฐบาลเอาไปทำจริงหรือเปล่า อันนี้เราต้องกลับมานั่งคิดต่อว่า จะทำอย่างไร เรื่องนี้คิดชั้นเดียวไม่ได้
 
          ยังมีอีกประเด็น คือ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จะต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่ละพื้นที่ต้องออกแบบว่า จะขับเคลื่อนอย่างไร จะต้องวางแผนแบบไหน เพราะสภาพของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เราจะขับเคลื่อนอย่างไรกับสื่อ ในการสื่อสารนโยบายสาธารณะ การออกแบบสื่อมันจำเป็น ถ้าออกแบบเดิมๆ จะขับเคลื่อนยาก
 
          โลกในปัจจุบันมันเชื่อมถึงกันหมด สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะออกแบบอย่างไรให้สอดคล้องกับพื้นที่ และสอดคล้องกับคนชั้นกลาง เพราะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ แค่ให้ชาวบ้านรับรู้อย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องให้คนข้างนอก และคนชั้นกลางรับรู้ เพื่อจะได้เป็นข้อต่อไปอธิบายกับสังคม มิฉะนั้นพลังมันไม่พอ
 
          ในส่วนข้อจำกัดของสื่อเอง อยู่ที่โครงสร้าง ผมจะสื่อสารนโยบายสาธารณะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ถ้าไม่มีสถานีวิทยุภาคภาษามลายู ไม่มีรายการภาคภาษามลายู ไม่มีสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายู สื่อเท่าไหร่ก็จบเห่ เพราะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
 
          อยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าจะสื่อสารนโยบายสาธารณะ ต้องมีโทรทัศน์ภาคภาษามลายู ที่ไม่ทำเหยาะแหยะอย่างปัจจุบัน ทำกันแบบผักชีโรยหน้าไม่ได้ ต้องทำจริงๆ จังๆ มันถึงจะสื่อสารกับเขาได้ การสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อน ทำไมนักการเมืองแหกปากให้ชาวบ้านนั่งฟังจนสว่างได้ เพราะเขาพูดภาษาท้องถิ่น ฟังแล้วรู้เรื่อง มันเข้าใจ
 
          แล้วจะออกแบบการขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อให้ข้อเสนอได้รับการตอบรับ อันนี้ต้องกลับมานั่งคิด ผมว่าสงขลาน่าสนใจตรงที่มีฐานข้อมูลเพียงพอ จะเอาฐานข้อมูลไปขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างไร ต้องมานั่งคิดกัน ผมไม่มีความรู้เรื่องสงขลาเลย แต่พอเปิดเว็บไซด์พบทั้งเรื่องคลองอู่ตะเภา หรืออะไรๆ ผมว่าศูนย์อิศรายังทำไม่ได้ แล้วก็เว็บอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังสู้ไม่ได้ ที่พอจะสู้ได้ คือ เว็บไซด์ศูนย์เฝ้าระวังฯ ที่บรรดาคุณหมอมาช่วยทำ มาช่วยเพิ่มข้อมูลเข้าไป
 
          ทีนี้มองในประเด็นการผลักดันนโยบายสาธารณะของสื่อ ผมว่ามันมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง ผมคิดจากตัวผมเองก่อนว่า ทำไมสื่อจึงมักไม่ค่อยสนใจเรื่องการผลักดันนโยบายสาธารณะ ผมว่าตัวผู้สื่อข่าวหรือคนทำงานสื่อ ทำงานแบบฉาบฉวย คือ ตามไม่ต่อเนื่อง ตามเป็นรายวัน ไม่ได้เขียนเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่ได้เขียนเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้เก็บฐานข้อมูล
 
          ต้องยอมรับอย่างหนึ่ง สื่อถ้าไม่มีคนมาคอยรวบรวมข้อมูลให้ ส่งไปก็จบ ยิ่งกรุงเทพฯ นี่จบเลย มันเป็นปัญหาคนทำข่าวในการผลักดันนโยบายสาธารณะ คือ เวลาทำข่าวทำเฉพาะรายวัน รายจังหวัด ไม่ได้วิเคราะห์ในภาพรวม มันจึงยากที่จะผลักดันนโยบายสาธารณะได้ เช่น เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนตายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จากเดิมร้อยละ 49 เป็นมุสลิม ก็เริ่มเป็นไทยพุทธมากขึ้นเป็นร้อยละ 45 อย่างนี้มันต้องวิเคราะห์ออกมา เพื่อให้สังคมได้รับรู้
 
          ถ้าพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาษาเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมบางตัว บางคนอ่านไม่รู้เรื่อง มันต้องอาศัยคนที่รู้เรื่องมาอธิบาย ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มันถึงจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ เขียนใช้คำยาก การขับเคลื่อนก็ไม่สำเร็จ
 
          ต่อมา ในเชิงโครงสร้างของสื่อ หมายถึงตัวองค์กรแม่ของสื่อ มันไม่รองรับการขับเคลื่อนทางสังคม มันมีปัญหาว่าสื่อไม่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคม ต้องไปถามนักวิชาการด้านการสื่อสาร สื่อจะจัดเวทีได้หรือเปล่า สื่อเห็นแก่ตัว ไปนั่งฟังคนเล่าแล้วเอาไปนำเสนอ โดยที่ตัวเองไม่ต้องจัด อันนี้ต้องกลับมานั่งคิด ผมว่ามันมีปัญหา โครงสร้างของสื่อมันไม่รองรับงานขับเคลื่อนทางสังคม เช่น สื่อจะมาจัดเวทีทางด้านสังคมได้หรือไม่ บางกระแสบอกว่าได้ บางกระแสบอกว่าเดี๋ยวไม่เป็นกลาง สื่อมีหน้าที่เขียนอย่างเดียว ปรากฏการณ์การออกมาเคลื่อนไหวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อันนี้ผมพูดจากประสบการณ์
 
          สองอย่างที่มีปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของสื่อ คือ ตัวบุคคลกับโครงสร้างของสื่อ ที่ไม่รองรับกับการขับเคลื่อน พอไม่รองรับมันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรทำได้หรือไม่ได้
 
          ผมคิดว่า การขับเคลื่อนทางสังคม มันต้องมีทีมเฉพาะ ไม่ใช่เปลี่ยนหัวหน้ากันทุกวันอย่างกองบรรณาธิการข่าว มันต้องสะสมองค์ความรู้ เรื่องท่อก๊าซถ้าไปอ่านหนังสือของอาจารย์ประสาท มีแต้ม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือของใครต่อใคร อ่านไม่รู้เรื่อง การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มันต้องอาศัยการสะสมองค์ความรู้
 
          เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องมีทีมเฉพาะกิจมาอธิบายให้สังคมได้รับทราบ สื่อมวลชนจะมีโต๊ะสึนามิ โต๊ะภาคใต้ เกาะติดเรื่องสิ่งแวดล้อมใน 14 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ ผมว่าต้องกลับมานั่งคิดกันใหม่
 
          3 - 4 ประเด็นที่ผมเสนอมา ผมเองก็ไม่มีความรู้ เพียงแต่อยู่ภาคใต้มานาน พบว่าปัญหามันหนา ความรุนแรงมันมากเกินไป ทำให้ต้องกลับมาคิดเรื่องนี้
 
          ที่สำคัญมาก คือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของภาคประชาชนที่ผ่านมา เราทำหลังจากเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ได้คิดล่วงหน้า สิ่งที่เราต้องทำ คือ การส่งสัญญาณล่วงหน้าให้กับประชาชน ให้กับประเทศชาติ ที่ผ่านมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราส่งสัญญาณล่วงหน้าไม่ได้เลย พอเกิดเหตุก็บอกไม่ได้อีกว่าใครทำ ทำเพื่ออะไร ผมว่าแบบนี้เจ๊งแน่ๆ ตรงนี้จะทำอย่างไร ต้องกลับมานั่งคิดกัน
 
          ไม่เฉพาะเรื่องความมั่นคง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม มันต้องมีการขับเคลื่อนออกสู่สาธารณะ ส่งสัญญาณบอกอนาคตได้ จะทำอย่างไรต้องช่วยกันคิด
 
          ผมเชื่อมั่นเรื่องสามัญสำนึกธรรมดาของชาวบ้าน แต่ต้องมีคนไปจัดระบบ มีคนมาจับสามัญสำนึกตรงนี้ มาอธิบายต่อสังคม ก่อนที่เหตุการณ์มันจะเกิดขึ้น ผมว่าชาวบ้านมีสามัญสำนึกอยู่ในตัวเอง กระบวนการของเราต้องเข้าไปจับสามัญสำนึกตัวนี้ ออกมาอธิบายให้เป็นระบบ อธิบายในเชิงวิชาการ ให้เกิดการขับเคลื่อนขึ้นมา ตรงนี้ยังไม่ค่อยมีคนทำ ผมว่าอันนี้ต้องทำ มันจะเห็นภาพอนาคตได้
 
          ยกตัวอย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมพยายามอธิบายอยู่ตลอดเวลาว่า ในสามัญสำนึกของคน ยังมีภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธกับมุสลิม มีภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีต แต่ความรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ รอยปริมันก็มากขึ้นตามไปด้วย เพราะคนเกิดความหวาดกลัว
 
          พอความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนทางสังคมมันหยุดนิ่ง เมื่อการขับเคลื่อนทางสังคมหยุดนิ่ง ภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมมันก็พลอยหยุดนิ่ง การหยุดนิ่งเป็นประโยชน์กับฝ่ายก่อความรุนแรง เพราะฉะนั้น จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ต้องไม่ให้ข่าวสารไหลเวียนอยู่แค่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในโทรทัศน์ มันต้องไหลเวียนลงสู่ชุมชนด้วย ไหลไปถึงตัวบุคคล ไหลผ่านการจัดเวที ไหลผ่านการไปมาหาสู่กัน ถ้าไม่ไหลยิ่งอันตราย การอยู่เฉยๆ จะยิ่งอันตราย
 
          เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้มันต้องกลับมาคิดว่า ต่อไปในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือในภาวะเกิดความขัดแย้งสูงสุด เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้อย่างไร
 
          พระไพศาล วิสาโล เคยตั้งคำถามที่ผมตอบยากเหมือนกันว่า ในสถานการณ์วิกฤตเราจะทำอย่างไร ที่จะเสนอข่าวสารออกสู่สาธารณะให้เร็วที่สุด ตอบยาก เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้ง มันจะมีอารมณ์มากกว่าสติปัญญา ถ้าคนบริโภคข่าวสารในท่ามกลางความขัดแย้งไม่รอบด้าน ไม่ครอบคลุมพื้นที่ คนจะใช้อารมณ์มากกว่าใช้สติ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนทางศาสนา ทางวัฒนธรรม ยิ่งต้องตั้งสติในการรับข่าวสารสูงมาก นี่เป็นประเด็นที่เราต้องช่วยกันคิด
 
          การขับเคลื่อนมันต้องใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมไม่ใช่วันแมนโชว์ ต้องแบ่งปันความคิดเห็น เพราะถ้าใช้สื่อมาเป็นข้อต่อ ข้อต่อต้องให้โอกาสกับทุกคน มันจึงจะผลักดันนโยบายสาธารณะได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราคุยเฉพาะฝ่ายเรา ไม่มีคนอื่นมาพูดด้วย ก็จะไม่มีการถ่วงดุลกัน
 
          วันก่อน ผมไปบรรยายที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังรัฐประหาร ผมบอกว่า การพูดที่คณะรัฐศาสตร์วันนี้ ควรต้องมี ผอ.ศอ.บต.มานั่งพูด ต้องมีแม่ทัพภาคที่ 4 มานั่งคุยด้วย ต้องมีเจ้าหน้าที่มานั่งอยู่ด้วย จะได้คุยกันทุกฝ่ายว่า หลังจากนี้สถานการณ์ภาคใต้จะเป็นอย่างไรกันแน่ แต่นี่ผมพูดอยู่ฝ่ายเดียว กลายเป็นอีกด้านไปเลย มันต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย จะได้เห็นภาพทั้งหมด ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เห็นภาพรวม
 
          ประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จังหวัดสงขลามีความพร้อมกว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเครื่องมืออยู่แล้ว เพียงแต่จะออกแบบอย่างไร ผมยกตัวอย่างในอดีตเวลาเราทำข่าวนโยบายเชิงสาธารณะ ก็คือ จัดเวที จัดเสร็จเอาข่าวไปออกหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต วิทยุ
 
          ผมว่าวันนี้มันไม่พอ สำหรับการผลักดันนโยบายสาธารณะ มันต้องมีสิ่งพิมพ์ที่สามารถให้รายละเอียด อธิบายเรื่องราวในเวทีได้มากกว่าขึ้นมาอีกเล่ม มันต้องมีจุลสารที่อธิบายปรากฏการณ์ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง เพราะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต้องอาศัยชนชั้นกลาง เขาจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
 
          ปัจจุบันข่าวสารไหลเร็วมาก การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเดียวอธิบาย มันไม่พอ สื่อจะต้องลงพื้นที่ ลงไปคุย ลงไปฟัง ลงไปดูด้วยตาตัวเอง มันถึงจะนำเสนอสู่สาธารณะได้อย่างมีพลัง ถ้าไม่ลงไปเลย คุณจะไม่เห็นสามัญสำนึกของผู้คนในชุมชน ในท้องถิ่น การลงพื้นที่เราจะเห็นบางมุม ที่จะนำไปอธิบายได้
 
          อันที่สองจะต้องมีประเด็น ถ้าจะให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต้องเกาะกระแส ถ้าไม่เกาะกระแส ผมท้าเลยว่าสื่อรายวันจะไม่สนใจ ถ้าคุณจะบอกว่าไม่ต้องสนใจสื่อรายวัน ทำวิทยุของเรา 3 - 4 หมู่บ้านก็พอ เราทำได้ก็จริง แต่ผลักดันอะไรไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เรื่องที่ทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมที่นี่ ต้องให้สังคมที่อื่นเห็นด้วย
 
          น้องๆ ผมที่ศูนย์ข่าวอิศรา เขียนหนังสือเล่มหนึ่งถอดประสบการณ์ชีวิตตัวเอง คือ ปักหมุดเทใจ บันทึกเหยี่ยวข่าวศูนย์ข่าวอิศรา นักข่าวจากกรุงเทพฯ ที่มาทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาจะเล่าและอธิบายถึงอารมณ์ความรู้สึกและปัญหา เวลาเขาลงไปทำข่าว เวลาเขาลงไปคุยกับชาวบ้าน ผมว่าประเด็นนี้สงขลาต้องทำ ต้องถอดบนเรียนมาเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กสักเล่มหนึ่ง อธิบายการทำงานขับเคลื่อนทางสังคมว่า ในเชิงสื่อเขาทำกันอย่างไร ถอดออกมาเพื่อคนอื่นจะได้เห็นกระบวนการขับเคลื่อน ถ้าไม่ถอดต่อไปหายหมดเลย คนอื่นมาก็ต้องเริ่มต้นใหม่ การทำงานมันต้องถอดบทเรียน ถ้าไม่ถอดเราแพ้
 
          ข้อสำคัญที่เราอยู่ได้ตอนนี้ ทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา ก็เพราะว่าเรามีทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรมเยอะ หนึ่ง เรามีปัญญา สอง เรามีคนที่ใส่ใจกับสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผมว่านี่เป็นทุนที่ไม่ต้องลงทุนเพราะเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่กำหนดรูปแบบและวางแผนให้ดีเท่านั้นเอง
 
          ถ้ามีสื่อร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะ มีเวทีนโยบายสาธารณะ มันจะเป็นพื้นที่แบ่งเบาความรู้สึก กลุ่มคัดค้านท่อก๊าซที่จะนะ จังหวัดสงขลา แรกๆ อาจไม่มีคนเข้าใจ นานเข้าคนเริ่มเข้าใจ เช่นเดียวกับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พอมีพื้นที่แบ่งเบาความรู้สึก มีโอกาสได้อธิบายเรื่องของตัวเอง นานเข้าก็เริ่มมีคนเข้าใจ มันก็เป็นประโยชน์
 
          เวทีนโยบายสาธารณะ จะต้องเป็นเวทีสะท้อนปัญหาของคนในพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่เป็นเวทีมองปัญหามาจากคนข้างนอก ที่ผ่านมาเท่าที่ดูหนังสือพิมพ์รายวัน หรือสื่อต่างๆ มักจะให้พื้นที่กับคนข้างนอกมองปัญหาเข้ามาในพื้นที่ ขณะที่คนในพื้นที่กลับไม่มีโอกาสสะท้อนปัญหาผ่านสื่อ อันนี้ไม่ได้ ผมว่าจะต้องมีเวทีสะท้อนปัญหาจากคนข้างในออกสู่คนข้างนอก
 
          ยกตัวอย่าง กรณีกรือเซะมีคนตายมาก มีเด็กคนหนึ่งเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เวลาออกจากบ้าน เขาจะถูกเรียกว่าไอ้ลูกโจร เพราะพ่อเขาตายในมัสยิดกรือเซะ แต่พอหลังจากเขาไปกรุงเทพฯ ได้ไปออกอากาศวิทยุ ไปคุยกับครอบครัวคนกรุงเทพฯ ได้ระบายความรู้สึก ได้อธิบาย เขากลับมาบอกว่าคนกรุงเทพฯ เริ่มเข้าใจเขามากขึ้น นี่คือ สิ่งที่เราต้องทำ
 
          ผมว่าพื้นที่สำหรับคนจะนะ หรือชาวบ้านที่มีปัญหายังน้อยไป การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต้องรีบทำประเด็นนี้ ถ้าไม่มีเวทีให้คนในพื้นที่สะท้อนปัญหามันอันตราย คุณจะไม่เข้าใจความคิดเขา ไม่เข้าใจความรู้สึกเขา คุณจะไม่มีวันเข้าใจเขา เป็นแบบนี้จบเลย เวทีขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมีประโยชน์ตรงนี้
 
          การสะท้อนปัญหาต้องใช้ข้อมูลจากชีวิตจริง เขียนจากชีวิตจริง โรงแยกก๊าซส่งผลกระทบอย่างไรกับคนจะนะ คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งพุทธ - มุสลิมรู้สึกอย่างไร ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องสถานการณ์ความรุนแรง เขียนจากชีวิตจริงเลย
 
          ที่สำคัญอย่างยิ่ง สื่อที่ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต้องเป็นอิสระ
 
          ขณะเดียวกันต้องพัฒนาให้เป็นของชุมชน ของคนในพื้นที่ ผมไม่รู้คนสงขลาจะทำอย่างไร คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำอย่างไร รู้แต่เพียงว่าจะต้องพัฒนาให้เป็นสื่อของเขาเอง และมีความเป็นอิสระ ในการสะท้อนปัญหาของเขาเอง
 
          สำหรับสงขลาสื่อแนวราบแน่น จะทำอย่างไรให้สื่อแนวราบประสานกับแนวดิ่งขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ เพราะการผลักดันนโยบายสาธารณะทำไม่ได้ ถ้าสื่อแนวดิ่งไม่เล่นด้วย สื่อแนวดิ่งไม่ได้หมายเฉพาะสื่อส่วนกลางในประเทศ แต่รวมไปถึงเอพี รอยเตอร์ เบอร์นามา ถ้าประสานกันดีๆ มันไปกันได้
 
          ข้อสำคัญการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ อย่าทำเฉพาะคนสงขลา ต้องขยายไปทุกจังหวัด ที่เรามีเครือข่าย ต้องช่วยกัน โลกจะพัฒนาไปอย่างไรก็แล้วแต่ ต่อให้มีเครือข่ายมากมายอย่างไรก็แล้วแต่ เครือข่ายของความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณของความเป็นคน ความรู้สึกร่วมของคนยังคงยิ่งใหญ่ เครือข่ายนี้สำคัญกว่าเครือข่ายใดๆ ผมอธิบายไม่ได้ แต่ถ้าเห็นกับตาเข้าใจได้เลย
 
          เครือข่ายความเป็นมนุษย์ สำคัญกว่าเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เพราะถ้ามีความผูกพัน เวลาทำงานร่วมกันมันจะไม่สั่นคลอน มีอุปสรรคอย่างไรก็ไม่สั่นคลอน ขณะที่เครือข่ายที่มาตามสาย จะสั่นคลอน เช่น เวลาไม่มีคลื่นง่อยอย่างเดียว เวลาอินเตอร์เน็ตล่มวุ่นวายหมดเลย
 
          สังคมจะต้องถักทอกันให้ได้ ถ้าเราถักทอกันได้ ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ มันอาจจะช้าในความเห็นของผม มันจะไม่ทันใจเหมือนอินเตอร์เน็ต แต่ยั่งยืนและมั่นคง มันจะไปกันได้ ตรงจุดนี้กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจะต้องทำให้เร็ว ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
 
          เราอย่าเพิ่งเบื่อกับเวที การเบื่อเวทีเท่ากับเราเบื่อปัญหาที่จะเผชิญในอนาคต เราจะทิ้งให้ลูกหลานเรามีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เบื่อเรื่องเวทีสาธารณะ เบื่อเรื่องการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีงามเมื่อไหร่ เรากำลังจะทิ้งปัญหาให้ลูกหลานเราไปแก้กันเอง ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเลวร้ายขนาดไหน