Skip to main content

โดย ทีมข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2553)

 

ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่ไร้ทีท่าจะยุติคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภาซึ่งมี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญเป็นประธาน ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือในหลายประเด็น

พล.ต.อ.สุนทร เปิดเผยว่าเป็นการเข้าพบเพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาล ซึ่งการใช้งบประมาณและกำลังพลเพื่อแก้ปัญหาจะต้องเห็นผลสัมฤทธิ์

"ปัญหาหนึ่งคือการ ใช้งบประมาณ ซึ่งทุกฝ่ายต้องการเห็นผลสำเร็จ หลายเรื่องที่มีหลายหน่วยงานทำซ้ำซ้อนกัน ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบมากกว่านี้ ท่านนายกฯ ชี้แจงว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน บอกว่าไม่มีคน ซึ่งท่านก็ได้สั่งให้เพิ่มคนเพื่อลงไปตรวจสอบให้มากขึ้น การตรวจสอบเหล่านี้จะมาเกรงใจกันไม่ได้ เพราะทุกคนอยากรู้ว่าทำไปแล้วได้ผลสัมฤทธิ์แค่ไหน ซึ่งท่านรับปาก กรรมาธิการคงต้องรอตรวจสอบต่อไป ว่าได้ผลแค่ไหน"

พล.ต.อ.สุนทร กล่าวว่า ได้หารือในประเด็นการริเริ่มพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มดังกล่าวได้มีทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีหน่วยปฏิบัติต่างๆ ริเริ่มดำเนินการอยู่แล้ว

"ท่านพูดช่วงหนึ่งว่าภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะปกครองรูปแบบพิเศษอย่างใด ท่านก็ไม่ติดใจในประเด็นนี้ หากสามารถเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง แต่ขบวนการก่อความไม่สงบจะเอาอย่างนี้ไหม ต้องการแบบนี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ก็ยังไม่มีหัวขบวนที่ชัดเจน"

ทั้งนี้ ประเด็นที่กรรมาธิการหารือกับนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย การพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลควรส่งสัญญาณว่ามีความจริงใจที่จะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกระดับ และเร่งรัดสะสางคดีต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ได้รับความเป็นธรรม

การตั้งคณะกรรมการอิสระประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้งบประมาณและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ก่อเหตุที่ต้องการยุติบทบาทได้กลับคืนสู่สังคม

การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความจริงคนละชุดระหว่างภาครัฐกับประชาชน และการแก้ไขปัญหาการรายงานจากผู้ปฏิบัติที่ไม่ครบถ้วน รวมถึงการบูรณาการการศึกษากับระบบเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานในระดับอาเซียนและโลกมุสลิมในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีความเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาต้องเป็นเรื่องของการเมืองนำ ซึ่งการพัฒนาและความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญ และรัฐบาลได้ใช้ต้นทุนทางอัตลักษณ์ ภาษามลายู วิถีชีวิตอิสลาม เป็นจุดแข็งในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แนวทางในการมองตรงจุดนี้เป็นจุดแข็งของพื้นที่มาโดยตลอด การใช้ภาษาก็มีนโยบายชัดเจนในการที่จะอำนวยความสะดวกพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงประเด็นทางศาสนาวัฒนธรรม อาทิ กรณีกองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งเดิมขัดกับหลักศาสนาก็ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว