Skip to main content

 

ขอเชิญเข้าร่วม
โครงการเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันผู้สูญหายสากล
 
หัวข้อ
 สังคมไทยกับการเข้าถึงสิทธิในการรับทราบความจริง
กรณีการบังคับบุคคลสูญหาย
พิจารณาสิทธิในการรับทราบความจริง
จากการอรรถาธิบายความอนุสัญญาป้องกันการบังคับบุคคลสูญหาย
ของสหประชาชาติ
 
วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ตั้งแต่เวลา 09.00-12.30น.
ณ ห้องประชุม จามจุรี 2
โรงแรมปทุมวัน พริ๊นเซส (ติดกับศูนย์การค้ามาบุญครอง) 
กรุงเทพฯ
 
 
วันที่ 30- 31 สิงหาคม ของทุกปี  เป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย  และถือเป็นวันผู้สูญหายสากล (The International Day of the Disappeared) ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วโลกมาร่วมกันเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ภาวะสงคราม  หรือการปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้ ความหมายของ  การบังคับให้บุคคลสูญหาย  ตามอนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหายขององค์การสหประชาชาติ (The International Convention on The Protection of All Persons from Forced Disappearance)  หมายถึงการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่ง ได้รับการสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหาย ภายใต้คำจำกัดความนี้บุคคลทั้งหมดนี้ได้กระทำการหรือสั่งให้มีการปิดบังหรือไม่เปิดเผยถิ่นพำนักของบุคคลที่หายตัวไป ก็จัดว่าเป็นการกระทำภายใต้การทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ด้วย
 
               “สิทธิในการรับทราบความจริง” (Right to know the Truth) ในกรณีการบังคับบุคคลสูญหายถือเป็นหัวใจสำคัญของอนุสัญญาป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ (The International Convention on The Protection of All Persons from Forced Disappearance) สิทธิดังกล่าวยังได้ถูกเน้นย้ำถึงในกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองโดยสหประชาชาติอีกหลายฉบับ ซึ่งต่อมาคณะทำงานด้านปัญหาการบังคับบุคคลสูญหาย หรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ(UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances- UNWGEID) นำหลักการแห่งสิทธิดังกล่าวมาอรรถาธิบายเพิ่มเติมอย่างเป็นเอกเทศว่า สิทธิการรับทราบความจริง (ในกรณีคดีบังคับบุคคลสูญหาย) หมายถึงสิทธิที่จะรับทราบตลอดกระบวนการและผลลัพธ์ของกระบวนการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งรับทราบชะตากรรมของผู้สูญหาย สภาพการณ์ที่เกิดการสูญหาย และรวมทั้งผู้ก่ออาชญากรรม ทั้งนี้การอรรถาธิบายเพิ่มเติมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้มีการพัฒนาเครื่องมือ และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลในการปกป้องส่งเสริมสิทธิทั้งในระดับบุคคลและสังคม เนื่องจากเน้นย้ำการแสดงข้อเท็จจริงที่ได้ต่อสาธารณะ
 
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาพันธ์คนหายแห่งจึงถือเอาวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ซึ่งตรงกับวันรำลึกถึงผู้สูญหายสากลเป็นโอกาสในการหยิบยกเอาประเด็นเรื่อง สิทธิในการรับทราบความจริง  มาร่วมคิด และแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันในการเข้าถึงความจริงเพื่อใช้นำทางไปสู่ความสันติสุขที่ประกอบขึ้นด้วยความเป็นธรรมทางสังคม
 
 
 
กำหนดการ
 
08.30 – 9.00
ลงทะเบียน
 
09:00 – 09.15
กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ**
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
 
09.10 –09.30
กล่าวเปิด
นายกษิต ภิรมย์ **
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
 
09.30 – 12.00
การเสวนา หัวข้อ
“สังคมไทยกับการเข้าถึงสิทธิในการรับทราบความจริงกรณีการบังคับบุคคลสูญหาย: พิจารณาสิทธิในการรับทราบความจริงจากการอรรถาธิบายความอนุสัญญาป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ”
ร่วมเสวนาโดย
ศ.วิทิต มันตราภรณ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์**
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
Mr. Basil Fernando 
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
นางอังคณา นีละไพจิตร
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
 
12.00 – 12.30
อภิปรายซักถามและแสดงความคิดเห็นโดยผู้เข้าร่วม
เสนอความคิดเห็นโดยตัวแทนญาติผู้สูญหายในประเทศไทย
 
ดำเนินรายการโดย
น.ส. ประทับจิต นีละไพจิตร
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
 
 
          **วิทยากรอยู่ในระหว่างรอการยืนยัน
     *** พักรับประทานอาหารว่างเวลา 10 .00 10.15น.
    **** มีล่ามแปลภาษาตลอดรายการ
 
 
 
Event date