Skip to main content

 

ทำความเข้าใจกับคำว่า "นิยมอิสลาม"

 

 

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในโลกร่วมต่อต้านการรัฐประหารในตุรกีไปพร้อมๆ กับท่านแอรโดอานไปด้วย ไม่เพียงแต่มุสลิมส่วนใหญ่(จะยกเว้นก็มีน้อยมาก ไม่กี่แนว) แม้แต่คนไม่ใช่มุสลิมก็ร่วมต่อต้านด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นจำนวนมากมายในโลกนี้ ... เพราะเห็นว่าการเมืองแบบมอบความวางใจให้แก่ประชาชนเป็นแนวทางที่ทุกคนมีส่วนร่วมและสร้างสังคมที่สันติได้

แต่ทันทีที่การต่อต้านรัฐประหารสำเร็จและสื่อเริ่มเสนอว่าประธานาธิบดีแอรโดอานเป็นใคร? (ถึงขั้นถกเถียงกันว่า ชื่ออ่านออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่?) และได้รู้ว่า เติบโตขึ้นมาจากคนที่เรียกว่า ‪#‎นิยมอิสลาม จากพรรคการเมืองที่เดินไปบนค่านิยมแบบอิสลาม ... เสียงชื่นชมของคนไม่ใช่มุสลิมก็เริ่มเบาลง และกลายเป็นเสียงกล่าวหาด้านอื่นๆ เข้ามาแทน ... แต่พูดกันตรงๆ แล้ว ประเด็นใหญ่อยู่ที่สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ศาสนานิยม” ในตัวนโยบายของแอรโดอานอยู่นั่นเอง

พูดง่ายๆ ว่า คนไม่ใช่มุสลิมรู้สึกหวาดระแวงกับคำว่า “นิยมอิสลาม” หรืออะไรๆ ที่เกี่ยวกับการใช้คำว่า "อิสลาม" นั่นเอง ... เรื่องนี้ควรจะนำมาทำความเข้าใจกันตรงไปตรงมา เพราะความรู้สึกหวาดระแวงและไปจนถึงหวาดกลัวนั้น มันมีอยู่จริง และมาจากความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากทรรศคติที่มองเห็นอิสลามในเชิงก้าวร้าวและครอบงำ

เรื่องนี้เป็นทรรศคติที่มีปัญหาชนิดหนึ่ง อาจมาจากการไม่ได้รู้จักใกล้ชิดคนมุสลิมจริงๆ (ชีวิตอาจจะแทบไม่เคยรู้จักมุสลิม) หรืออาจรับรู้จากโลกของสื่อเพียงด้านเดียว(ฟังไม่กี่คำ อ่านไม่กี่ประโยค) หรือแทบจะไม่เคยได้ทำความเข้าใจอะไรเลยต่อประชากรมุสลิมจำนวนมากในโลกนี้

สิ่งที่อยากจะตอกย้ำความเข้าใจในที่นี่ก็คือ คนมุสลิมจำนวนมากมาย(พูดอย่างกว้างๆ)ที่เอาศาสนาในโลกนี้ ไม่ได้หันมาเอาศาสนาหรือยึดมั่นกับศาสนา เพราะอยากจะอวดศาสนาตัวเองหรือก้าวร้าวต่อคนในความเชื่ออื่นๆ และไม่ใช่เรื่องจะสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธ์ใดๆ ... แต่พื้นฐานสำคัญของการเอาศาสนาคือ ‪การคิดไปถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตัวเขาและการคิดไปถึงความตาย ... ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นพื้นฐานของคนที่แสวงหาสัจธรรมโดยทั่วไป แล้วพวกเขาก็ยอมรับคำตอบต่อชีวิตด้วยสิ่งที่เรียกว่า “อิสลาม” ซึ่งคำนี้หมายถึง "การยอมตน" ต่อผู้เป็นเจ้าเพียงหนึ่งเดียว

คนจำนวนมากมายที่สื่อเรียกว่า “นิยมอิสลาม” และถูกมองในแง่ลบไปนั้น พวกเขาก็คือมนุษย์ปุถุชน พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย สามารถปฏิบัติตามศาสนาที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น การละหมาด การถือศีลอด ... หรือข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวันอื่นๆ อย่างการคลุมหิญาบ ที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ และเมื่อเขาถูกห้ามไม่ให้สวมใส่ (อย่างกรณีของตุรกีก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐตีความเซ็คคิวลาร์แบบสุดโต่ง ไม่ให้สวมใส่หิญาบในสถานที่ราชการ ไม่เว้นแต่สถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัย) พวกเขาก็รู้สึกคับแค้นใจในการดำเนินชีวิตที่ไม่สามารถแสดงตนถึงการยอมตนต่อผู้เป็นเจ้าได้

กลุ่มคนที่นิยมอิสลามไม่ได้ต้องการก้าวร้าวอะไรกับชีวิตคนอื่น พวกเขาแค่ต้องการให้ลูกๆ เติบโตมาให้มีการศึกษาที่ดี ไม่ติดยา ไม่มั่วสุมทางเพศ ‪#‎ต้องการมีครอบครัวที่มีความสุข ไม่ต้องหวาดกลัวกับการปฏิบัติอิสลามพื้นๆ ไม่ต้องอยู่อย่างอดอยากหิวโหย ... คนที่ว่านิยมอิสลามนั้น เอาเข้าจริง แทบทั้งหมดที่เราพบเห็น ก็ไม่ใช่คนทีชอบพูดวิจารณ์ความเชื่อของศาสนาอื่นๆ แต่นิยมที่จะทำชีวิตตัวเองให้อยู่ในแนวทางของอิสลาม ให้ได้ใกล้ชิดกับผู้เป็นเจ้า ... พวกเขาต้องการมีชีวิตอย่างมีความหมาย ภายใต้เวลาชีวิตที่กำลังเดินไปสู่ความตาย ต้องการปฏิบัติศาสนาได้อย่างง่ายๆ ไม่ได้มีเจตนาจะเอาชนะใคร หรือก้าวร้าวต่อความเชื่ออื่นๆ

สิ่งเหล่านี้เราเคยได้ยินผู้ทำงานด้านสถาบันการเงินอิสลามในมาเลเซียพูดไว้คล้ายๆ กัน คือการที่มุสลิมต้องการมีธนาคารอิสลามนั้น ไม่ได้ต้องการทำเหนือชั้นหรืออวดตัวเองเหนือศาสนิกอื่นๆ แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการทำสิ่งฮะรอม(สิ่งต้องห้าม)อันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตวิญญาณไม่สะอาดอย่างการกินดอกเบี้ย ... ก็เช่นเดียวกันกับที่มุสลิมรับประทานอาหารที่ฮะลาล(สิ่งอนุมัติ) ก็ไม่เกี่ยวใดๆ เลยกับการอวดทับเหนือศาสนิกอื่น มุสลิมต้องการรับประทานอาหารที่อยู่ในขอบข่ายที่ศาสนาอนุญาต .... ความจริงแล้วคนไม่ใช่มุสลิมจำนวนไม่น้อยที่คลุกคลีกับคนมุสลิมก็เข้าใจเรื่องนี้ดี บางคนถึงกับจัดที่ละหมาดให้ หรือพาไปรับประทานอาหารที่เป็นร้านฮะลาล

ส่วนข้อสงสัยมากมายที่มีต่อคำสอนในเชิง “วิถี” ของมุสลิมอื่นๆ นั้น สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันได้ ในความเป็นจริงมันไม่ได้แข็งกระด้างตามที่เห็นคนโจมตีกันในสังคมออนไลน์ ... แต่สิ่งที่คนไม่ใช่มุสลิมควรจะเข้าใจก็คือ คนมุสลิมก็เหมือนกลุ่มชนอื่นๆ ที่ต้องการมีชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่มีความสุข ไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวายต่อสังคมโลก คำสอนจากอิสลามก็มุ่งสร้างคนให้เป็นคนที่สงบและมีสันติกับทุกสิ่งทุกอย่าง

เราคงไม่สามารถพูดแทนมุสลิมทุกคนและทุกกลุ่มได้ แต่สำหรับมุสลิมที่สื่อเรียกว่า “นิยมอิสลาม” และได้ก้าวสู่เวทีการเมืองผ่านกติกาแบบประชาธิปไตยนั้น มีความคล้ายๆ กัน คือพวกเขาได้เลือกทางที่ไม่นิยมความรุนแรง ต้องการจะเข้าไปแชร์การอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ในสังคม พวกเขาเป็นพวกใจกว้าง ไม่ก้าวร้าวต่อศาสนิกอื่นๆ (อย่างพรรคของอดีตประธานาธิบดีมุรสีย์ของอียิปต์เข้าหาชาวคริสเตียนบ่อยๆ ถึงกับมีรองหัวหน้าพรรคเป็นคริสเตียน มีคริสเตียนลงสมัครเป็นสส.ในนามพรรคด้วยซ้ำ) ... พูดง่ายๆ คือต้องการพื้นที่ในการให้วิถีชีวิตโดยพื้นฐานของมุสลิมดำรงอยู่ได้ ร่วมกับคนอื่นๆ แม้แต่คนมุสลิมที่ไม่ค่อยเอาศาสนา ไปจนถึงศาสนิกต่างๆ

การเข้าสู่การเมืองอย่างเปิดเผยของกลุ่มนิยมอิสลาม เป็นเส้นทางที่เลือกแล้วของผู้รักสันติและไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปตีตราให้พวกเขาเป็นพวกสุดโต่ง หรือผลักให้พวกเขาไปอยู่กับแนวสุดขั้ว ... ยิ่งพวกเขาเข้าสู่อิสลามทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมกับผู้คนหลากหลาย ยิ่งทำให้สังคมเป็นสังคมที่สันติ ไม่นิยมความรุนแรง ... นี่คือแนวโน้มที่คล้ายคลึงกันหมดของพรรคทีคนเรียกกันว่า “นิยมอิสลาม” ในประเทศต่างๆ

‪"ไม่มีเหตุผลที่จะหวาดกลัวอิสลาม"

..................................................

ปล.รูปภาพประกอบ ภาพขวาผู้สนับสนุนพรรค "นิยมอิสลาม" ในตูนีเซีย ภาพซ้ายนั้นในตุรกี