Skip to main content

    ในวัย 58 ปีของลุงนิโซะ นิเลาะ จากตำบลเกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ร่างการยังแข็งแรงและทำการต่อคู่ซีละกับเด็กรุ่นหลานอย่างนายมอหามะสากือรี  เม๊าะหะมะ ได้อย่างสบาย ด้วยการฝึกฝนซีละมาตั้งแต่อายุ 21 ปี จากผู้เป็นพ่อ ลุงนิโซะเล่าถึงตำนานซีละให้ฟังว่า “ซีละเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าของชาวมุสลิมที่มีจุดกำเนิดจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเริ่มจากฟาตีเมาะห์ หญิงชาวบ้านที่ได้ไปฝึกฝนการต่อสู้ที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จนสามารถต่อสู้กับผู้ชายได้ด้วยมือเปล่า จากนั้นศิลปะการต่อสู้ที่งดงามนี้ก็เป็นที่แพร่หลาย”

    สำหรับครอบครัวของลุงนิโซะได้ฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัวนี้มาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย แหล่งอารยะธรรมของชาวมลายู และนำมาเผยแพร่ต่อกับผู้ที่สนใจมาแล้วทั้งหมด 8 รุ่น โดยในช่วงแรกๆ มีเพียงคนในครอบครัวเท่านั้นที่ฝึกซีละ โดยจะให้เริ่มฝึกเมื่อเห็นว่ากล้ามเนื้อมีความพร้อม เพราะซีละในแบบของลุงนิโซะยังเป็นซีละโบราณ มีการต่อสู้จริงจังประลองกำลัง ไม่ใช่เพียงการร่ายรำเท่านั้น    

    ซีละเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเครื่องดนตรีประกอบคล้ายคลึงกับมวยไทยคือ กลองแขก 2 ใบ ฆ้อง 1 ใบ และปี่ชวา 1 เลา เมื่อเครื่องดนตรีประโคมโหมโรง นักซีละจะก้าวออกมาด้วยชุดการแต่งกายที่รัดกุมคือ กางเกงขายาว เสื้อยืดคอกลมมีแขน และมีผ้าซึ่งมีลวดลายสวยงามพันทับจากเอวถึงเหนือเข่า ไม่สวมรองเท้า แล้วผลัดกันไหว้ครูและทำความเคารพผู้ชมด้วยการโค้งคำนับ จากนั้นคู่ต่อสู้จะสลาม หรือทักทายตามแบบชาวมุสลิม จากนั้นจึงวาดลวดลายท่ารำดูชั้นเชิงกันก่อนที่จะลงมือต่อสู้ด้วยท่วงท่าที่สวยงามเหมือนการร่ายรำ ภายหลังซีละในบางสำนักจึงเป็นแบบการรำเพื่อให้ดูศิลปะของท่ารำนั้นมากกว่าการต่อสู้จริงๆ เหมือนในอดีต

    ในส่วนของการสอนนั้น ลุงนิโซะบอกว่าก่อนอื่นผู้เรียนจะต้องจะต้องทำการไหว้ครูมอบตัวยอมรับเป็นลูกศิษย์ก่อน โดยการไหว้ครูนั้นจะต้องไม่ขัดกับหลักศาสนาคือมีการกราบ จากนั้นจึงจะสามารถสอนท่าร่ายรำที่เป็นศิลปะการต่อสู้ของซีละได้

    มอหามะสากือรี  เม๊าะหะมะ เด็กหนุ่มวัย 20 ปี นักซีละบอกว่าเพิ่งเริ่มฝึกซีละมาได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น นับจากเข้าร่วมองค์กรเยาวชน หากการฝึกซ้อมที่สม่ำเสมอก็ทำให้เห็นผลอย่างชัดเจน อย่างแรกเลยคือเรื่องของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การมีสมาธิ ครั้งแรกๆ ที่ได้เรียนรู้ซีละนั้น นึกว่าจะเจ็บตัวในการต่อสู้ แต่เมื่อได้ฝึกให้ถูกต้องตามที่ครูสอน แม้จะมีท่าที่ดูเหมือนจะทำให้เจ็บอยู่บ้างแต่ก็ไม่เจ็บเท่าไหร่นัก

    ปัจจุบันองค์กรเยาวชนเครือข่ายมูลนิธิสุข-แก้ว  แก้วแดง จำนวน 6 องค์กร ได้เข้าไปสืบสานซีละให้คงอยู่คู่ชุมชนคือ องค์กรเยาวชน อบต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน องค์กรเยาวชน อบต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก และองค์กรเยาวชน อบต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี องค์กรเยาวชน อบต.บางปอ อ.เมือง องค์กรเยาวชน อบต.กายูคละ อ.แว้ง และองค์กรเยาวชน อบต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส

    ศิลปะการต่อสู้อันงดงามตามแบบฉบับของซีละจึงไม่ใช่ศิลปะการต่อสู้เพียงอย่างเดียวหากยังเป็นไปเพื่อออกกำลังกายและเกิดสันติภาพ เพราะการที่เยาวชนเลือกสืบสานซีละนั้นพวกเขาไม่ได้เรียนรู้เฉพาะการเป็นนักซีละที่ดี หากพวกเขายังเรียนรู้ในเรื่องของมิตรภาพในการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน และมิตรภาความเป็นเพื่อนนี่ล่ะคือสิ่งสำคัญที่ทำให้สันติภาพจะกลับคืนสู่สามจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง