Skip to main content

    “ในยุคสมัยที่วัฒนธรรมใต้อย่างการแสดงมโนราห์แพร่หลายเข้าสู่ดินแดนมลายา ครูมโนราห์คนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรักกับครูสอนดีกา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะการแสดงของกันและกัน และร่วมประยุกต์ท่าร่ายรำใหม่กลายเป็น ‘ตารีอีนา’ ”  ลุงมะยะโกะ  ยูโซ๊ะ ครูภูมิปัญญาที่สอนการแสดงตารีอีนาเล่าความเป็นมาของการแสดงที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมมุสลิมและพุทธเข้าด้วยกันอย่างงดงามให้ฟัง

ก่อนการเข้ามาของตารีอีนาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เข้าสู่ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสว่า “เมื่อปี ๒๔๑๖ นายยะโก๊ะ  อาแวแซ หรือ เปาะนิโก๊ะ ครูผู้เชี่ยวชาญศิลปะการแสดงตารีอีนา และซีละ ซึ่งเป็นชาวรัฐกลันตัน ได้เดินทางมายังตำบลกายูคละเพื่อติดตามหาญาติ การเดินทางมาครั้งนี้ท่านได้สอนตารีอีนาให้กับลูกศิษย์ ๔ คน นับจากนั้นการแสดงตารีอีนาก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชุมชน แม้จะมีบางช่วงเคยเงียบหาย แต่ตอนนี้ก็กลับมาใหม่ มีการสืบทอดการแสดงให้ลูกหลานไม่ขาดสาย”

เครื่องดนตรีของตารีอีนามี ๔ ชิ้นคือ ปี่ชวา  ฆ้อง กลองตัวผู้ และกลองตัวเมีย จะเห็นได้ว่าในการผสมผสานวัฒนธรรมนั้นไม่ได้ผสมเฉพาะเพียงส่วนการแสดง หากยังรวมถึงเครื่องดนตรีอีกด้วย

“ตารีอีนาเป็นการรำที่ดูเหมือนจะอ่อนช้อย แต่เอาเข้าจริงคนรำต้องแข็งแรงและอดทนอย่างมากในการฝึกซ้อม เพราะไม่ใช่ง่ายๆ นักกับการจะให้เด็กๆ มาทำตัวอ่อนแบบสะพานโค้งแล้วเดินด้วยมือและเท้า โดยในการสอนนั้นจะทำการสอนที่บ้าน เพราะมีพื้นที่ลานกว้างพอให้เด็กๆ มาฝึกซ้อมได้ โดยจะซ้อมกันในช่วงหัวค่ำ วันละ 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่มีการฝึกซ้อมและมีงานแสดงตามที่ต่างๆ เด็กๆ ในหมู่บ้านจึงให้ความสนใจมาเรียนรู้กันมาก ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นครูภูมิปัญญาขององค์กรเยาวชน อบต.กายูคละ ก็สอนเด็กรำตารีอีนาไปแล้ว 2 รุ่น มีความสุขมากๆ ที่ได้ถ่ายทอดศิลปการแสดงไม่ให้สูญหาย”

ด้าน ด.ญ.อาดวียะห์  อาหามะ อายุ 14 ปี ลูกศิษย์คนเก่งของลุงมะยะโกะ พูดถึงการฝึกซ้อมให้ฟังว่า “เราต้องมีความอดทน ร่างกายเราจะต้องแข็งแรงเพราะแต่ละท่าของตารีอีนาคือการฝึกความอดทน ไม่ใช่แค่ทำท่ารำเท่านั้น แต่ต้องรำให้เข้ากับจังหวะดนตรีด้วย ช่วงแรกๆ ที่ได้มาเรียนรู้ หนูท้อเลยทำสะพานโค้งไม่ได้สักที ครูจะต้องมาจับตัวเราให้อ่อนลงทีละนิดๆ ถ้าท้อซะก่อนในช่วงนี้ก็จะฝึกต่อไม่ได้ และหนูคงไม่มีวันนี้ที่ได้มาแสดงให้เห็นถึงความอดทนของพวกเรากับท่าที่สวยที่สุดของตารีอีนาอย่างท่าดอกไม้บาน”

เมื่อถามถึงความรู้สึกของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานการแสดงพื้นบ้านที่หาชมได้ยากนี้ เด็กหญิงยิ้มสวยตอบว่า “หนูภูมิใจและดีใจมากที่ได้สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านของบ้านเราให้คนอื่นได้ดู ได้เห็นในสิ่งดีๆ ของบ้านเรา และหนูอยากถ่ายทอดการแสดงตารีอีนานี้ให้กับน้องๆ ต่อด้วย เพื่อไม่ให้มันสูญหายไปจากบ้านเรา”

 
ปัจจุบันตารีอีนาเป็นการแสดงที่สามารถหาชมได้ที่ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น โดยมีองค์กรเยาวชน อบต.กายูคละ เป็นผู้ดูแลและจัดการการแสดง

  รอพบกับการแสดงชุดดอกไม้บานในวันที่ 1 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 น. ที่หอประชุมสถาบันราชภัฎยะลาและวันที่ 9-11 สิงหาคม 2553 เวลา 14.00 น. และ 19.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ในการแสดงบอกเล่าเรื่องราวของงามและหลากหลายในชุดการแสดง "กลองกะบานอ"