Skip to main content

"คู่มือแนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง (สำหรับพลเมืองไทยมุสลิม)"  

สำคัญยิ่งในบริบทสังคมต่างวัฒนธรรม สังคมและศาสนาอิสลาม

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ) 

ประธานคณะกรรมการร่างคู่มือ

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

            ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

        ฝ่ายวิชาการและการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้จัดทำเอกสาร “แนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง (สำหรับพลเมืองไทยมุสลิม) “  เพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษานำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง เพื่อพัฒนาค่านิยม ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักการอิสลามที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมไทยและสังคมโลก

        ฝ่ายวิชาการและการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้ผู้เขียนและคณะจากมุสลิมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในประเทศไทยและขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิและคณะทำงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารฉบับนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ดังรายนามที่ปรากฎในคู่มือและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นพลเมืองที่ดี มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะกระบวนการคิด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีคุณธรรมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและสามารถปรับให้เข้ากับบริบทแต่ละที่ได้

 

สำหรับความเป็นมาและกรอบคิด เนื้อหามีดังนี้

                         การศึกษาของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย โดยสะท้อนจากพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  กระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปครู ปฏิรูปโรงเรียน และปฏิรูประบบบริหารจัดการศึกษา ทั้งนี้ ในประเด็นของหลักสูตรได้เน้นการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และการบริหารจัดการ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เกิดกระบวนการคิดอย่างมีระบบ และแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม การสร้างระเบียบวินัย การมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสังคมไทยในอนาคต แนวคิดดังกล่าวคือ การพัฒนาความเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ นอกจากนี้ ในการจัดการศึกษาของโลก มีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติด้านเนื้อหาและการเรียนรู้ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาด้านทักษะการรู้เท่าทัน ทักษะชีวิต (Life Skills) การบูรณาการในลักษณะสหวิทยาการ รวมทั้งมีการเน้นวิชาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Citizenship Education) 

              กอปรกับในขณะนี้มีนโยบายด้านการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองของคณะรักษาความสงบเรียหบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในชาติได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อสันติสุขในสังคมไทยและกำหนดค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ เพื่อสร้างคนไทยที่เข้มแข็งนำไปสู่การสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง ดังนี้

        ๑. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน  

        ๒. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

        ๓. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

                ๔. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทางตรงและทางอ้อม

                ๕. รักษาวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทยอันงดงาม

                ๖.  มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน

๗. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

๘. มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่

๙. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๑๐. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่าย จำหน่าย และขยายกิจการเมื่อมีความพร้อมโดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี

๑๑. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

๑๒. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

   ฝ่ายวิชาการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีความคิดเห็นสอดคล้องในภาพรวมที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่อาจจะมีส่วนปลีกย่อยของหน้าที่พลเมือง ซึ่งมุสลิมควรระมัดระวังเพราะอาจจะทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง เพื่อศึกษารายละเอียดของวิชาหน้าที่พลเมืองเพื่อปรับใช้กับมุสลิม ในขณะเดียวกันตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไทยในประเด็นของการพัฒนาการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการเตรียมพลเมืองของชาติไปสู่การเป็นพลเมืองดีที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบของหลักการอิสลามนอกจากจะมีการกำหนดสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แล้ว  และเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาการเรียนการสอนหน้าที่พลเมือง และค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ จึงนำมาสู่การกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียน ในเรื่อง ความเป็นไทย รักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการอิสลามความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความปรองดอง สมานฉันท์ และความมีวินัยในตนเอง เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรสถานศึกษาตามกรอบความคิดในการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หมายเหตุคู่มือดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ แนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง (สำหรับพลเมืองไทยมุสลิม)