Skip to main content

 

สันติวิธี ฟุตบอล และสิ่งแวดล้อม : มองหลักการและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

 

อิมรอน ซาเหาะ

 

 

โดยปกติแล้วผู้เขียนมักจะเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานีอยู่บ่อยครั้ง แต่มักไม่ได้ถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวเองออกมามากนัก แต่ในครั้งนี้จึงอยากลองใช้พื้นที่นี้ถ่ายทอดมุมมองของผู้เขียนเองดูบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีทั้งคนที่เห็นตรงกันและเห็นค้านกับผู้เขียน ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้

คำสามคำ ระหว่าง สันติวิธี ฟุตบอล และสิ่งแวดล้อม คงเป็นคำหลักๆ ที่ทำให้ผู้เขียนต้องขบคิดกับสามคำนี้ไปพร้อมๆ กับคำว่าใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือ “สันติภาพ” จากปรากฏการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ ผู้เขียนจะกล่าวถึง 3 กิจกรรมที่มีโอกาสได้เข้าร่วมในวันดังกล่าว กิจกรรมแรกคือ การบรรยายของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหัวข้อ “สันติวิธี/ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กิจกรรมที่สอง คือ การแข่งขันฟุตบอลโตโยต้าลีกคัพ 2016 รอบ 64 ทีมสุดท้าย ระหว่าง ปัตตานี เอฟซี พบกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ณ สนามเรนโบว์สเตเดี่ยม และกิจกรรมที่สาม คือ การเดินรณรงค์ "หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจชายแดนใต้"

 

 

เรียนรู้เรื่องสันติวิธีกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

การบรรยายของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหัวข้อ “สันติวิธี/ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” มีนักศึกษา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านความมั่นคง และสื่อมวลชน เข้าร่วมฟังเต็มห้องประชุมใหญ่คณะรัฐศาสตร์ อ.ชัยวัฒน์ ที่คนจำนวนหนึ่งมักจะเรียกท่านว่า ครูใหญ่แห่งวงการสันติวิธีบรรยายด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมกับเดินถือไมค์ไปถามนักศึกษา ถามไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบและค้นพบข้อคิดอย่างหนึ่งว่า แม้ท่านจะอยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะรู้หรือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนักศึกษาบางท่านไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเขากำลังถาม-ตอบเรื่องอะไรกันอยู่

อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การบรรยายในครั้งนี้จะไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะผู้ที่เข้าร่วมฟังการบรรยายเป็นคนในพื้นที่และหลายท่านก็อาจเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า แต่สิ่งที่ตนจะบรรยายหรือร่วมพูดคุยคือทฤษฎีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อ.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจความขัดแย้งมีอยู่ 3 ประการ คือ การรับรู้ (Perceptions) ความคาดหวัง (Expections) และ อำนาจ (Power) ในประเด็นการรับรู้ อ.ชัยวัฒน์ ให้ผู้เข้าร่วมดูภาพ แล้วบอกว่าเห็นอะไร สิ่งที่ได้ก็คือ หลายคนอธิบายสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกัน และในหนึ่งภาพไม่ได้มีแค่เรื่องเดียวหรือมุมเดียวอย่างที่เกือบทุกคนในห้องคิดมาโดยตลอดก่อนจะมีการเฉลย เป็นต้น โดย อ.ชัยวัฒน์ อธิบายต่อว่า ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ประกอบไปด้วย การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส สิ่งที่อธิบายยากที่สุดคือ การมองเห็นเพราะเราไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราเห็นกับสิ่งที่เราเข้าใจเป็นเรื่องจริงหรือถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นอาชีพที่ยากอาชีพหนึ่ง นั่นก็คือ นักข่าว

ในส่วนประเด็นความคาดหวัง อ.ชัยวัฒน์ อธิบายว่าในกระบวนการจัดการความขัดแย้ง เราไม่ได้มีความคาดหวังเดียว ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ชายแดนใต้ มีความคาดหวังของรัฐบาล ความคาดหวังของฝ่ายขบวนการ ความคาดหวังของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ความคาดหวังของคนพุทธในพื้นที่ และความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่ในพื้นที่  อ.ชัยวัฒน์ ยังได้นำผู้ฟังเข้าสู่ประเด็นอำนาจ โดยถามนักศึกษาว่า หากแฟนขอหรืออ้อนให้เปลี่ยนเสื้อหรือรองเท้าเป็นแบบอื่นจะยอมเปลี่ยนหรือไม่ คำตอบคือยอมเปลี่ยน แต่หากถามว่าถ้าแฟนหรือมีคนมาด่าแรงๆ หรือเอามีดมาขู่ให้เปลี่ยนจะเปลี่ยนหรือไม่ คำตอบคือไม่เปลี่ยน อ.ชัยวัฒน์ จึงถามนักศึกษาว่า แล้วตกลงอำนาจมีตอนไหน? หากเปรียบความรักคืออำนาจ การใช้ความรุนแรงก็เหมือนการข่มขืน เพราะคุณจะหมดอำนาจทันทีเมื่อคุณใช้ความรุนแรง

 

ขอบคุณภาพจาก Facebook : Srisompob Jitpiromsri

 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่ อ.ชัยวัฒน์ พูดถึงก็คือ Trigger ซึ่ง อ.ชัยวัฒน์ แปลว่า ลั่นไก หรือในสุภาษิตอาหรับจะเรียกว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลังลาหัก โดย อ.ชัยวัฒน์ ทดลองให้นักศึกษาขึ้นไปยืนบนเก้าอี้หลายๆ คน และสมมุติว่าคนสุดท้ายที่ขึ้นไปทำให้เก้าอี้หัก ดังนั้นสาเหตุที่เก้าอี้หักไม่ใช่เพราะคนสุดท้าย (ที่เป็นเสมือน Trigger) ขึ้นไปยืน แต่เป็นเพราะมีคนขึ้นไปยืนหลายคนแล้วก่อนหน้านั้น ในทางทฤษฎี เราจะหยุด Trigger ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเป็น Trigger

อ.ชัยวัฒน์ พูดถึง มหาตมะ คานธี ว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนมาถามว่าทำไมทหารอังกฤษแสนนายถึงปกครองคนอินเดียสามร้อยล้านคนได้ คำตอบของคานธีก็คือ เพราะคนอินเดียยอม ดังนั้นวิธีการต่อสู้ก็คือการไม่ยอมแต่ใช้สันติวิธีในการต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นคานธี ร่วมสมัย 4 ท่านที่ อ.ชัยวัฒน์ ได้ยกตัวอย่าง คือ Jose Bove, Fatima Meer, Aminatou Haidar และ Abdul Ghafar Khan ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า 3 ใน 4 คนถูกขนานนามว่าเป็นคานธีร่วมสมัยนั่นเป็นมุสลิม

 

 

ฟุตบอลกับความประทับใจและดราม่าหลังเกมส์

หลังจากฟังบรรยายของ อ.ชัยวัฒน์ เสร็จ ผู้เขียนได้เดินทางไปชมศึกโตโยต้าลีกคัพ 2016 รอบ 64 ทีมสุดท้าย ระหว่าง ปัตตานี เอฟซี พบ เมืองทอง ยูไนเต็ด ณ สนามเรนโบว์สเตเดี่ยม (สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี) ซึ่งมีผู้เข้าชมล้นสนามมากกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันคน ซึ่งผู้เขียนเดินทางถึงสนามและหาที่จอดรถกว่าจะถึงขอบสนามก็หมดเวลาพอดี ผลการแข่งขันปรากฏว่าเสมอกันไปในเวลา 90 นาที 1-1 โดยเจ้าถิ่นได้ประตูขึ้นนำ 1-0 จาก เอลวิส จ๊อบ นาทีที่ 16 ก่อนที่ กิเลนผยอง จะตีเสมอ 1-1 จาก อาทิตย์ ดาวสว่าง ในนาทีที่ 27 ต้องต่อเวลาพิเศษ และหมดช่วงต่อเวลาพิเศษก็ยังเสมอกันอยู่ด้วยสกอร์เดิมจนต้องตัดสินด้วยการดวลลูกโทษที่จุดโทษ ผลปรากฏว่า เมืองทองยิงจุดโทษแม่นกว่า ชนะ 3-2 รวมสกอ 4-3 เข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายต่อไป

ซึ่งช่วงต่อเวลาพิเศษและช่วงดวลจุดโทษผู้เขียนได้เดินออกจากสนามเพราะมีอีกงานที่จะต้องไป แต่ก็ได้ดูการดวลจุดโทษผ่านการถ่ายทอดสดด้วยเฟสบุ๊ค ไลฟ์ ของเพจ Pattani FC และได้ติดตามบรรยากาศต่างๆ หลังเกมส์การแข่งขันจากโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนออกมาว่าประทับใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแฟนบอลปัตตานีพอใจกับผลการแข่งขัน เพราะถือเป็นการแพ้อย่างสมศักดิ์ศรี ส่วนแฟนบอลเมืองทองและแฟนบอลทีมอื่นๆ ทั่วประเทศต่างก็ชื่นชมนักเตะปัตตานี เพราะก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมืองทองจะผ่านปัตตานีไปได้อย่างง่ายดาย

ในขณะเดียวกันก็มีปรากฏการณ์ดราม่าภายหลังจากมีการโพสต์รูปแฟนบอลผู้หญิงที่ไปถ่ายรูปและโอบกอดกับนักเตะของเมืองทอง จนมีคนแชร์ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากทั้งตักเตือนและประณาม นอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่เข้าชมการแข่งขันละหมาดหรือไม่ เพราะการแข่งขันใช้เวลานานจนเลยเวลาละหมาด มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย ขณะที่แฟนบอลบางส่วนที่ออกมาโพสต์ว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะตัวเขาเองก็ไปชมการแข่งขันมาแล้วทั่วประเทศ แต่ก็สามาถหาเวลาและสถานที่ละหมาดได้ ไม่ได้ทิ้งการละหมาดแต่อย่างใด และที่สนามเรนโบว์เองก็มีอาคารละหมาด และในวันดังกล่าวก็มีคนรอคิวละหมาดกันอย่างไม่ขาดสาย รวมไปถึงมีบางกลุ่มก็ละหมาดบนสนามหญ้านอกอาคารละหมาดด้วย

 

 

เดินกลางแดดเดือนเมษายนเพื่อรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ย้อนกลับไปในช่วงสายๆ ของวันดังกล่าวนี้ ก่อนที่ผู้เขียนจะไปฟังการบรรยายของ อ.ชัยวัฒน์ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมและให้กำลังใจคณะเดินรณรงค์หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการเดินวันที่ 2 จากทั้งหมด 3 วัน เป็นการเดินท่ามกลางแดดร้อนในช่วงเดือนเมษายน โดยจุดหมายปลายทางของวันที่ 2 นี้ก็คือสำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อหยุดพักและจัดวงเสวนาพูดคุยขึ้นที่นั้น จำนวนผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ในครั้งนี้มีประมาณ 30 กว่าคน

ในช่วงค่ำของวันดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมฟังการเสวนาที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งช่วงที่ผู้เขียนไปถึงวงเสวนาวงแรกที่ประกอบด้วยพี่น้องจากพื้นที่อื่นๆ ที่เคยมีประสบการณ์คัดค้านมาร่วมแลกเปลี่ยน เช่น พี่น้องจาก อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย เป็นต้น กำลังจะเสร็จพอดี วงเสวนาตามที่ผู้เขียนเห็นถูกจัดขึ้นแบบง่ายๆ บรรยากาศมืดๆ บนถนนบริเวณใกล้ที่จอดรถ โดยผู้จัดกิจกรรมพาลำโพงและไฟมาเอง ส่วนวงเสวนารอบที่ 2 มีประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีกับการพัฒนา วิทยากรคือ มาหมูด บือซา เลขาธิการศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา และ มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ดำเนินรายการโดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาประมาณเกือบๆ ร้อยคน

วิทยากรท่านแรกเป็นคนอารมณ์ขัน มักจะพูดให้คนได้หัวเราะ ทำให้คนที่ร่วมเดินรณรงค์จะได้ผ่อนคลายเพราะเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว แต่ภายใต้ความตลกก็แฝงไปด้วยความเจ็บปวดและคำถามที่ค้างคาใจ เช่น เขาได้เปรียบเทียบกับบ้านของเขาเองว่า ถ้าสมมติมีคนจะมาซ่อมหรือพัฒนาห้องน้ำของเขา แน่นอนว่าเขาต้องการ แต่หากจะเอาชักโครกสวยๆ มาวางไว้บนหัวที่นอน คำถามคือการพัฒนาในลักษณะนี้ใครบ้างที่ต้องการ เป็นต้น ขณะที่วิทยากรท่านที่สองได้ชี้ให้เห็นถึงเครื่องมือในการที่จะสามารถใช้ในการเคลื่อนไหวต่อไปคือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในคำสั่งดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะประสานงานระดับพื้นที่ คือการสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

 

 

แล้วทั้ง 3 กิจกรรมเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

หากจะวิเคราะห์จากหลักการที่ฟังมาจาก อ.ชัยวัฒน์ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในวันดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

ประเด็นแรก เรื่องที่มีการออกมาประณามแฟนบอลผู้หญิงที่โอบกอดนักเตะเมืองทองและมีการแชร์รูปกันต่อๆ กันไปคล้ายกับการล่าแม่มด รวมไปถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์คนที่ละทิ้งการละหมาด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หากย้อนไปดูสิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ อธิบายจะตรงกับคำว่า Trigger กล่าวคือ มันมีปัญหาทำนองนี้ในสังคมอยู่แล้ว และต่อให้ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้กระทำการในลักษณะดังกล่าวที่สนามฟุตบอลแห่งนี้ พวกเขาก็ไปทำที่อื่นอยู่ดี ดังนั้นแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ Trigger อย่างเดียว ท่านควรย้อนกลับไปดูว่าสถาบันต่างๆ ได้ทำหน้าที่ป้องกันเรื่องนี้กันอย่างไร เช่น สถาบันครอบครัวอบรมเลี้ยงดูลูกหลานกันดีแล้วหรือยัง! สถาบันการศึกษาอบรมสั่งสอนให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม หรือศีลธรรม กันดีแล้วหรือยัง! หรือสถาบันศาสนาที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ทำหน้าที่แล้วหรือยัง! เป็นต้น

ประเด็นที่สอง เรื่องการเดินรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน แน่น่อนว่าการเดินรณรงค์เป็นหนึ่งในแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ในวันดังกล่าวนั้นสังเกตได้ว่าคนที่มาร่วมเดินกลางแดดเปรี้ยงๆ มีจำนวนน้อย ซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวของพวกเขาเอง แต่พวกเขาทำเพื่อผู้คนเป็นล้านๆ คนในพื้นที่ รวมไปถึงลูกหลานที่จะกำเนิดขึ้นมาในอนาคต เพื่อปกป้องไม่ให้มีสิ่งที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ แต่ในวันดังกล่าวผู้คนเป็นหมื่นกว่าคนเลือกที่จะไปอยู่กับความสุขชั่วคราว มีเพียงสามสิบกว่าคนพยายามปกป้องผู้คนเป็นล้านๆ จากสิ่งที่จะถูกก่อสร้างและส่งผลเสียต่อสุขภาพถาวร หากในอนาคตโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถสร้างได้ และเมื่อลูกหลานของเรามาถามเราว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ จนสุขภาพของพวกเขาได้รับผลกระทบ ให้ตอบตามที่ อ.ชัยวัฒน์ เล่าเรื่องที่คานธีตอบ คือ เพราะคนส่วนใหญ่ยอม!!!

ส่วนประเด็นอื่นๆ คือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายภาคส่วนมีการพูดถึงพื้นที่ปลอดภัย และเมื่อย้อนไปยังสนามเรนโบว์สเตเดี่ยมในวันดังกล่าวนั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าพื้นที่ปลอดภัยได้หรือไม่ แต่ทุกคนในวันดังกล่าวนั้นต่างมีความสุขและเห็นถึงความประทับใจ ที่สำคัญเรื่องกีฬาเป็นการแข่งขันที่มีอารยะอยู่แล้ว เพราะมีกฎกติกา รู้แพ้รู้ชนะ ที่น่าสนใจในสนามวันนั้นไม่มีการแบ่งแยกศาสนาและชาติพันธุ์ เพราะคนมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยในวันดังกล่าวเดินทางไปยังสนามเพื่อเชียร์ทีมเมืองทองซึ่งมีความต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์กับตน และแฟนบอลปัตตานีเองก็ยินดีกับทีมเมืองทอง แม้ทีมที่ตนเชียร์จะแพ้ก็ตาม แต่ที่น่าแปลกใจคือ เพราะเหตุใดเวลามีการแข่งขันกันระหว่างทีมปัตตานี เอฟซี พบกับทีม นราฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นคนมลายูมุสลิมด้วยกันมักจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยๆ!!!

ประเด็นเพิ่มเติม คือ ในวันดังกล่าวผู้เขียนโชคดีที่เพจปัตตานี เอฟซี มีการถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊ค ไลฟ์ ทำให้ได้ดูช่วงการดวลจุดโทษด้วย และเห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ ได้เห็นข่าวของ เน วัดดาว เน็ตไอดอลคนหนึ่ง ที่ทำการยิงหัวตัวเองถ่ายทอดสด แม้ภายหลังจะทราบข่าวว่าเขาไม่เสียชีวิตและปลอดภัย แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างมาก ผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนจะรับมือกับมันอย่างไร จะเท่าทันเทคโนโลยีหรือไม่ หรือเราทำได้แค่ประณาม แชร์ต่อ วิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่เป็น Trigger เท่านั้น แต่ไม่คิดที่จะป้องกันตั้งแต่เนินๆ แน่นอนว่าภารกิจนี้ย่อมต้องตกไปยังสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมไปถึงสถาบันศาสนา ที่จะต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ด้วยกับการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เยาวชนสามารถแยกแยะให้ออกว่าสิ่งไหนเป็นสื่อที่ดีที่สามารถบริโภคได้ และสิ่งไหนเป็นสื่อที่ไม่ดีไม่ควรบริโภคหรือไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง

เมื่อเฟสบุ๊คทำให้ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ และนักข่าวเป็นอาชีพที่ยากเพราะต้องใช้ตาเป็นลำดับแรกในการทำงานซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ง่ายๆ ว่าสิ่งที่เห็นนั้นถูกต้อง ดังที่ อ.ชัยวัฒน์ ได้อธิบายเอาไว้ ความท้าทายจึงเกิดขึ้นกับผู้คนในยุคนี้ แล้วเราจะรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร คงเป็นอีกคำถามที่ผู้เขียนคิดใคร่ครวญจากเรื่องราวทั้งวันที่ผ่านมา...