Skip to main content
สุวรา แก้วนุ้ย
อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
 

ส่วนที่ 1: ทำความรู้จัก “โพล (Poll)”        

เมื่อได้ยินคำว่า “โพล” หลายคนคงมีความสงสัยและตั้งคำถามว่า โพลคืออะไร? ทำโพลไปทำไม? ใครควรเป็นผู้ทำโพล? ประเด็นที่ทำโพลมีอะไรบ้าง? และมีวิธีทำโพลอย่างไร? หรืออีกหลายคำถามที่อาจจะเกิดขึ้น หากทำความเข้าใจง่ายๆ สามารถสรุปประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้

โพล คือการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการโดยวิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก โดยที่การสรุปผลอยู่ในรูปการนับจำนวนผู้มีความคิดเห็นแต่ละเรื่องเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ไปสำรวจทั้งหมด ในหนังสือ An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis แต่งโดยคณาจารย์จาก  Ohio State University  ปี ค.ศ. 1996 ระบุไว้ชัดเจนว่า การทำโพลเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ที่ครอบคลุมการสำรวจความคิดเห็น (Opinion) ทัศนคติ (Attitude) ความเชื่อ (Belief) และพฤติกรรม (Behavior) ของประชาชนต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่อาจเกิดขึ้นก็ได้  นอกจากนี้การทำโพลยังหมายรวมไปถึงการสำรวจข้อเท็จจริงทางสังคม (Social facts) ได้อีกด้วย[1]

การทำโพลมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทราบและเผยแพร่สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจและการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เช่น ประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ให้สาธารณชนทราบและเพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการได้เสียประโยชน์ของสาธารณชน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล และรายงานผลการทำโพลนั้น ควรจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเด็นที่ทำการศึกษา เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ หรือ หน่วยงานเอกชน เป็นต้น

สำหรับประเด็นในการทำโพลมีได้หลายปะเด็น อาทิเช่น 1) โพลด้านการเมือง เช่นการจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายในการจัดการปัญหาต่างๆ 2) โพลด้านเศรษฐกิจ เช่น การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า 3) โพลด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสุราและการพนัน กฎหมายเกี่ยวกับการค้าเสรี 4) โพลด้านประเพณีและวัฒนธรรม เช่น การประพฤติและปฏิบัติตามประเพณี วัฒนธรรม และสังคม 5) โพลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น

รูปแบบในการศึกษาและเก็บข้อมูลการทำโพล จะดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการออกแบบวิจัยสำรวจตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายการวิจัย การออกแบบแบบสอบถาม การกำหนดกลุ่มประชากรเป้าหมายและการออกแบบกรอบการสุ่มตัวอย่าง (Sampling Frame) โดยใช้แบบสอบถามที่เป็นแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยลักษณะคำถามแต่ละเรื่องที่ต้องการทราบอยู่ในรูปมาตรวัดระดับความคิดเห็นซึ่งมีจำนวนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ตอบและต้องไม่เป็นคำถามนำซึ่งพยายามจะให้ผู้ตอบตอบตามระดับความคิดเห็นที่ผู้สำรวจต้องการ สำหรับจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการทำโพลขึ้นอยู่กับขอบเขตของการสำรวจ และกลุ่มผู้ตอบเป็นสำคัญ

สำหรับข้อมูลที่นักวิชาการทำโพลได้มาจากการสำรวจ อาจจะเป็นเพียงแค่ภาพปรากฏทางสังคม (social phenomena) ไม่ใช่ “ความเป็นจริงทางสังคม” (social reality) ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปฏิเสธหรือมองข้ามผลสำรวจจากโพลโดยสิ้นเชิง เพราะโพลเองก็มีประโยชน์ในฐานะที่สำรวจมาจากตัวอย่าง (sample survey)  ซึ่งถ้ามีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมายและมีการควบคุมคุณภาพการสำรวจอย่างดี ผลสำรวจจากตัวอย่างก็จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามหาศาล

 

ส่วนที่ 2: โพลสันติภาพ (Peace Poll)[2]

โพลสันติภาพถูกพัฒนาขึ้นโดย Dr.Colin John Irwin นักวิจัยประจำสถาบันไอริชศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen’s University) ณ​ กรุงเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ โดยทำโพลสันติภาพ 10 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี 1996-2008 ซึ่งการทำโพล 8 ครั้งในจำนวน 10 ครั้ง ทำในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพกันอย่างเข้มข้น ช่วงปี 1996-2000 โพลสันติภาพนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสร้างฉันทามติสำหรับ ‘Belfast Agreement’ ในปี 1998 ที่สามารถนำเสียงของประชาชนเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ทางหนึ่ง ทว่าเกิดขึ้นโดยตนเองไม่ได้ ต้องเดินคู่ไปกับกระบวนและกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และโพลสันติภาพต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการทางการเมืองอื่นๆ ที่มุ่งเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ความหมายและคุณลักษณะ

โพลสันติภาพ คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การสอบถามความคิดเห็นในภาพรวมการดำเนินงานกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข การสำรวจมุมมองต่อสาเหตุความขัดแย้ง การสอบถามทางเลือกต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ไปจนกระทั่งถึงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับข้อตกลงและการนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติ

โพลสันติภาพแตกต่างจากโพลทั่วไป คือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งหลักจำเป็นต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยมีคุณลักษณะเฉพาะ ดังนี้

1)    คู่ขัดแย้งหลัก และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ว่าจะมีการทำโพลสันติภาพ และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

2)    ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมร่างแบบสอบถามและมีความเห็นชอบกับทุกคำถามที่นำไปสอบถามประชาชน

3)    การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล จะดำเนินการโดยคณะทำงานหรือนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจะเผยแพร่ผลการสำรวจสู่สาธารณะในวงกว้างต่อไป

โพลสันติภาพยังแตกต่างจากการทำประชามติ (referendum) ตรงที่ โพลสันติภาพไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ แต่เป็นการหาทางเลือกให้เห็นหลายระดับให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ/ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ประชามติเป็นการตัดสินซึ่งวางอยู่บนฐานของเสียงข้างมาก/น้อย แต่โพลสันติภาพเป็นการหาจุดลงตัวให้ทุกๆฝ่ายพอยอมรับได้

ความท้าทายในการทำโพลสันติภาพ

- การพัฒนาแบบสอบถามจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผลของโพลจะมีผลทางการเมืองสูงเพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังและต้องทำงานกับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้น

- การยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากผลของโพลไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างไร

- การทำโพลสันติภาพไม่สามารถทำให้จบภายในครั้งเดียว จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับกระบวนการพูดคุย การทำอย่างต่อเนื่องนี้เองที่จะทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของประชาชน

ประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข

 - ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไม่ตั้งอยู่บนความรู้สึกหรือการคาดเดา

-  ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีช่องทางในการแสดงออกความคิดเห็น และนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

- กระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ และตื่นตัวกับกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข

- เป็นโอกาสให้คู่ขัดแย้งและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้ง ได้ทำงานร่วมกัน

ขั้นตอนการดำเนินการในเชิงหลักการ

1)    ประสานกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเพื่อชี้แจงแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินการ

2)    ร่วมคิดและร่างแบบสอบถาม รวมทั้งกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะสอบถาม โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน

3)    ดำเนินการสอบถามประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

4)    ประมวลผลและวิเคราะห์ผลการสำรวจ

5)    นำเสนอต่อสาธารณะ

โพลสันติภาพ (Peace Poll) และ การสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ (Peace Survey)           

ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรังในพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่งทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพฯ และในพื้นที่ ได้ออกแบบการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพขึ้น

หากพิจารณาการทำโพลเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้ที่ผ่านมา ยังเป็นเพียงการสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ โดยเป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ  เพื่อสอบถามความคิดเห็น ทัศนคติ ความรู้สึก ที่เป็นส่วนสนับสนุนในกระบวนการสันติภาพ รวมไปถึงความเห็นที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติหากจะยกระดับให้การสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ เป็นโพลสันติภาพนั้น จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับคุณลักษณะเฉพาะ 3 ประการของโพลสันติภาพด้วย

ข้อต่างประการหนึ่งระหว่าง Poll กับ Survey คือ การทำโพลนั้นมักจะทำเฉพาะเรื่อง เช่น โพลของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การทำโพลเพื่อสำรวจความเห็นต่อการทำงานรัฐบาล  เป็นต้น แต่การทำ Survey นั้นจะมีลักษณะกว้างกว่า

แผนภาพแสดงคุณลักษณะของโพลสันติภาพ และ การสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ

                       

การจัดทำโพลสันติภาพเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานคล้ายกับตาข่ายนิรภัย (Safety net) ที่โอบอุ้ม และ หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ผ่านเครื่องมือของกระบวนการสันติภาพ เช่น การสร้างพื้นที่ร่วม (common space) การสร้างการมีส่วนร่วม (participation) การสร้างโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้ทำงานร่วมกัน (dialogue) และ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building measurements) [3]

 

ส่วนที่ 3: ตัวอย่างผลโพลกับการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

ปี 2558 ที่ผ่านมา สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี และ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสันติภาพ (Peace Survey) ซึ่งผลจากการศึกษาเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสะท้อนเสียงของประชาชน เกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมุมมองของประชาชนต่อแนวทางและกระบวนการในการสร้างสันติภาพ/สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังมีการดำเนินการในเรื่องนี้จากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้มีความเห็นต่าง นอกจากนี้ผลของการศึกษายังมีโอกาสเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการจัดการปัญหาในพื้นที่ด้วย โดยมีรายละเอียดของการศึกษา ดังนี้

 

1)    CSCD Peace Survey 2015: เสียงประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในงานวิจัยชื่อ “การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” โดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวน 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ 302 หมู่บ้าน/ชุมชน 83 ตำบล 19 อำเภอ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โครงการสำรวจทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรง (face-to-face interview) โดยทีมเก็บข้อมูลภาคสนามที่ผ่านการอบรมการสัมภาษณ์มาแล้ว การลงภาคสนามดำเนินการในห้วงระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม

โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงร้อยละ 45.1 เป็นเพศชายร้อยละ 54.9 ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 42.8 ปี โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 75.1 ถือศาสนาพุทธร้อยละ 24.9 การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการภายใต้ทุนในการดำเนินโครงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยลงเก็บข้อมูลในห้วงวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม

ภาพรวมความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ

ผลการศึกษาในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข นั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ (เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น) โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.50 และประชาชนร้อยละ 80.2 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข ที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความต่อเนื่องและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.71

ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของ CSCD ในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 2 ปีก่อนในช่วงเดือนมีนาคม 2556 และเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในรัฐบาลชุดที่แล้ว พบว่าการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น กล่าวคือ ขณะที่ในครั้งนี้มีประชาชนร้อยละ 76.9 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2556 ที่มีประชาชนร้อยละ 67.1 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มเห็นต่างในขณะนั้น และยังสูงกว่าผลการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 ก็พบว่ามีประชาชนร้อยละ 76.6 ที่ให้คะแนนผ่านเกณฑ์

แผนภาพที่ 1 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

 

การสำรวจความคิดเห็นในเดือนมีนาคม 2556 นั้นดำเนินการหลังจากที่มีการลงนามในเอกสารฉันทามติว่ากระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ในขณะที่การสำรวจในเดือนมิถุนายน 2556 นั้น ดำเนินการขึ้นภายหลังจากที่มีการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างสองฝ่ายภายใต้การอำนวยความสะดวกโดยทางการมาเลเซียมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง กระบวนการพูดคุยเมื่อสองปีที่แล้วนั้นเป็นที่สนใจติดตามในสายตาของสาธารณชน เนื่องจากมีการสื่อสารจากกลุ่มและฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าแม้ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ในรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินไปอย่างค่อนข้างปิดลับและระมัดระวังต่อการสื่อสารต่อสาธารณะ แต่ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้ลดต่ำลง กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 81.2 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของฝ่ายรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 6.05 ในขณะที่มีประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 74.8 ให้ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.43  นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80.6 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของประเทศมาเลเซียในบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินคือ 5.70

น่าสนใจว่าความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่มีอยู่ค่อนข้างสูงนั้นอาจมีส่วนสอดคล้องกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันที่พบว่ามีประชาชนถึงร้อยละ 81.4 มีความพึงพอใจต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยในการประเมินความพึงพอใจคือ 6.14

แผนภาพที่ 2 – ผลการให้คะแนนความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข ของรัฐบาลไทยกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ และรัฐบาลมาเลเซีย 

 

 

ความไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

ประเด็นต่อมาเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคลและกลุ่มองค์กร ทั้งเอกชนและรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานในสองประเภท คือในงานด้านการพัฒนาและในงานด้านการสร้างสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 อันดับ ดังนี้ คือ 1) ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา (อิหม่ามหรือพระ) 3) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 4) คือ รัฐบาลปัจจุบัน และ 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม. เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ ทหารพราน

เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคน 5 ลำดับแรก ดังนี้ 1) คือ ผู้นำศาสนาในชุมชน เช่น โต๊ะอิหม่าม 2) คือรัฐบาลปัจจุบัน 3) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา เช่น เจ้าคณะจังหวัด 4) คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 5) คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย อสม. ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดคือ เจ้าหน้าที่ทหารพราน

ข้อเสนอในเส้นทางกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ศึกษาประเด็น ความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่มีต่อการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอสำคัญในลำดับต้นๆ ดังนี้

1) ต้องมีการลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย โดยการหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงหรือปฏิบัติการกับเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์

2) การผลักดันให้เกิดกลไกยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย และมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เป็นต้น

3) การร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ห่วงกังวลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหายาเสพติดร่วมกัน

 

2.    SUARA POLL เสียงสะท้อนชายแดนใต้”

สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “จุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ, ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และความสุขของประชาชนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2558 จากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลากระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,057หน่วยตัวอย่าง[4]

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.69 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 22.27 นับถือศาสนาพุทธ โดยสถานภาพส่วนใหญ่สมรสแล้ว ร้อยละ 71.86 รองลงมาคือ สถานภาพโสด ร้อยละ 23.22 ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 28.53  รองลงมาคือจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 25.23 และจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 17.34

ความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “จุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ”

จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.04 ระบุว่า เป็นจุดตรวจสอบความปลอดภัยรองลงมา ร้อยละ 20.63 ระบุว่ามีมากจนเกินไปร้อยละ 13.88 ระบุว่ามีแค่ด่าน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลร้อยละ 12.37 ระบุว่าทำให้รถติด/การจราจรติดขัด และร้อยละ 10.94 ระบุว่า มีการเลือกปฏิบัติในการตรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ ในการคัดกรองบุคคล ยานพาหนะ หรือการรักษาความปลอดภัยอย่างไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.88 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่นรองลงมา ร้อยละ 26.42 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นร้อยละ 15.41 ระบุว่าเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 5.16ระบุว่าไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 4.13 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนอยากให้มีจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจ หรือไม่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.65ระบุว่า อยากให้มีส่วนอีก ร้อยละ 15.35 ระบุว่า ไม่อยากให้มี โดยเหตุผลที่ประชาชนอยากให้มีจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจพบว่า ร้อยละ 58.21 ระบุว่า ปลอดภัย อุ่นใจ และช่วยลดอุบัติเหตุรองลงมา ร้อยละ 31.56 ระบุว่า เป็นจุดเฝ้าระวัง คัดกรอง สกัดกั้นบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งผิดกฎหมายร้อยละ 6.33 ระบุว่า เป็นที่พึ่งยามฉุกเฉินร้อยละ 3.15 ไม่ระบุ/ไม่มีความคิดเห็น และ ร้อยละ 0.75 อื่นๆ ส่วนเหตุผลที่ประชาชนไม่อยากให้มีจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจพบว่า ร้อยละ 48.20 ระบุว่า ทำให้รถติด รองลงมา ร้อยละ 28.74 ระบุว่า ไม่เกิดประโยชน์ และมีมากเกินไปร้อยละ 13.53 ระบุว่า รู้สึกไม่ปลอดภัย และมีการเลือกปฏิบัติร้อยละ 5.14 อื่นๆ และ ร้อยละ 0.75 ไม่ระบุ/ไม่มีความคิดเห็น

ด้านความคิดเห็นของประชาชนอยากให้ปรับปรุงจุดตรวจ จุดสกัด ด่านตรวจในเรื่องใดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.18 ระบุว่า การตรวจค้น การปฏิบัติ และการพูดจาของเจ้าหน้าที่ รองลงมา ร้อยละ 29.07 ระบุว่า ลดจำนวน และปรับปรุงจุดตรวจร้อยละ 10.26 ระบุว่า ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.63 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่นรองลงมา ร้อยละ 22.15 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นร้อยละ 15.17 ระบุว่า เชื่อมั่นมากร้อยละ 5.17 ระบุว่า ไม่แน่ใจและ ร้อยละ 3.48 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น

1 ปี คสช.กับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “1 ปี คสช.กับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2558จากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลากระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,045หน่วยตัวอย่าง[5]

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 99.44 รู้จัก คสช. เมื่อถามประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจการทำงานของ คสช. ในภาพรวมด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านการสร้างความปรองดอง ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.61 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ  33.39 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 12.69 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการแก้ปัญหาประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.54 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ  36.20 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 10.32 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.82 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ  39.74  มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 10.29 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด

เมื่อถามประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจผลการดำเนินการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ คสช. ด้านต่าง ๆ ดังนี้  ด้านการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.13 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา ร้อยละ  36.69 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และร้อยละ 9.93 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด  ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชน (ทุ่งยางแดงโมเดล)  ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.26 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ  40.58 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 8.39 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.07 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา ร้อยละ  36.48 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และร้อยละ 9.25 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย ด้านการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาสถานการณ์และการสร้างสันติสุข ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.88 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา ร้อยละ  40.02 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และร้อยละ 8.69 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย และด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาของประชาชนในระดับชุมชน/หมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (คัมภีร์ 8 เล่ม) ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.16 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ  40.74 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 8.71 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด

 ประเด็นสุดท้าย เมื่อถามประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.89 มีความเชื่อมั่นต่อ คสช. อยู่ในระดับมาก รองลงมา ร้อยละ 37.25 มีความเชื่อมั่นต่อ คสช. อยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 9.05 มีความเชื่อมั่นต่อ คสช. อยู่ในระดับมากที่สุด

 

ส่วนที่ 4: สิ่งที่ต้องคำนึง เมื่อต้องการนำโพลมาใช้ในภาคใต้

1. จะทำให้โพลสะท้อนความเห็นของกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างสมดุลได้อย่างไร? ภูมิหลังในทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์นั้นจะมีความสัมพันธ์กับการมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขของผู้ที่ตอบคำถามในภาคใต้ สัดส่วนมุสลิมกับพุทธ 80:20 ฉะนั้น การสำรวจต้องพิจารณาความเห็นทั้งแบบภาพรวมและการดูความเห็นภายในกลุ่มด้วย มิฉะนั้น จะเสี่ยงต่อการมองข้ามความเห็นของกลุ่มคนพุทธ

2. จะทำให้โพลเป็นอิสระและเป็นกลางได้อย่างไร? โพลที่เอียงข้าง (Partisan Poll) อาจจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะใช้โพลเพื่อการผลักดันวาระหรือรักษาสถานภาพของตนเอง  การทำโพลต้องทำโดยกลุ่มที่มีอิสระและเป็นกลาง มีแหล่งทุนที่เป็นกลางและต้องพยายามนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้

3. จะใช้วิธีทำโพลอย่างไรให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริง? วิธีการทำโพลต้องทำให้เกิดความมั่นใจและกล้าแสดงความคิดเห็น เช่น ประเด็นรูปแบบการปกครองเป็นประเด็นอ่อนไหว การให้เจ้าหน้าที่ที่เขาไม่รู้จักไปสอบถามต่อหน้า อาจจะทำให้ผู้ตอบไม่กล้าพูดความจริง อาจให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบกลับแล้วส่งไปรษณีย์กลับมา โดยไม่ระบุชื่อผู้ส่งอาจจะมีการทำแบบสอบถามเป็นสองภาษา คือ ไทย - มลายู เพื่อให้สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้มีระเบียบวิธีในการเก็บข้อมูลอีกมากมายเพื่อปกป้องผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ตอบทราบตั้งแต่ต้น เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจระดับหนึ่งให้ผู้ตอบว่า ข้อมูลของตนเป็นควมลับ

4. จะมีคำถามเรื่องเอกราช (Merdeka) ในการทำโพล (สันติภาพ) ได้หรือไม่? การเรียกร้องเอกราชเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย การใส่ประเด็นนี้เข้าไปในฐานะตัวเลือกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งจะทำได้หรือไม่ การใส่เรื่องนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายรัฐไทยไม่พอใจ อาจจะนำไปสู่การแทรกแซงเพื่อยุติการทำโพลได้ แต่ว่าหากไม่ใส่ประเด็นนี้เข้าไป ก็อาจจะทำให้ชาวผู้คนบางส่วนวิจารณ์ว่าโพลขาดความสมดุล  โจทย์เฉพาะหน้าคือ ภายใต้บริบทหลังรัฐประหาร เพดานของข้อถกเถียงในการทำโพลสันติภาพจะทำได้แค่ไหน อย่างไร

5. จะนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่กระบวนการร่างคำถามสำหรับโพลสันติภาพได้อย่างไร? คู่ขัดแย้งต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบคำถาม และต้องสัมพันธ์กับประเด็นที่ถกเถียงกันในแทร็ก - 1 การนำเอาบุคคล/หน่วยงานต่างๆของ ‘Party A’ และ ‘Party B’ มาร่วมกันออกแบบโพล จะเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

6. บริบทการเมืองส่วนกลางจะเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำโพลสันติภาพหรือไม่ อย่างไร? บริบทการเมืองส่วนกลางซึ่งที่ผ่านมามีการแตกแยก ไร้เสถียรภาพจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพในภาคใต้

7. จะมียุทธศาสตร์ในการทำงานกับสื่อเพื่อทำให้โพลสันติภาพมีผลสะเทือนต่อการดำเนินนโยบายมากขึ้นได้อย่างไร? สื่อเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญมากในการทำโพลสันติภาพ การทำงานของสื่อ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกที่ผ่านมายังคงไม่ค่อยเอื้อต่อกระบวนการสันติภาพมากนัก การสร้างความสัมพันธ์อันดีและการให้ความรู้สื่อกระแสหลักในเรื่องโพลสันติภาพ การใช้สื่อทางเลือกเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลที่มีความลึกมากขึ้น ในระยะยาวจำเป็นจะต้องสร้างสื่อที่มีแนวคิดการสื่อสารสันติภาพให้มากขึ้นด้วย

แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพ/การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างกำลังได้รับการรื้อฟื้นอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายอยู่อีกไม่น้อย ที่สำคัญการสร้างสันติภาพที่จำกัดการใช้ความรุนแรงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง การจะทำให้กระบวนการสันติภาพสามารถแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนนั้นจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุดและดึงผู้คนให้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนใจเสียงของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการ และความกังวลใจจะมีส่วนในการประเมินสถานการณ์และความเป็นไปได้ในการสถาปนาเครือข่ายนิรภัยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ หรือ “safety net” ที่จะคอยค้ำจุนในกระบวนการเดินหน้าไปอย่างมีความหมายต่อคนทุกกลุ่ม ตลอดจนสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความต้องการและความเป็นจริงมากที่สุด

ความสำคัญของโพลในฐานะเครื่องมือในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ/สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี  คือการสร้างพื้นที่ของการทำงานร่วมกันของคู่ขัดแย้ง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ การทำโพลยังเป็นเครื่องมือในการสร้างช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ความขัดแย้งให้นูนขึ้นมา และ สามารถนำความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้แสดงความคิดเห็นในโพลสันติภาพไปใช้ในกรณีการพูดคุยสันติภาพเกิดทางตัน  โดยการนำเสนอผลนั้น จะไม่มีการตัดความเห็นของคนส่วนน้อย (minority) ออกจากการนำเสนอผลต่อสาธารณ เนื่องจากเสียงของคนส่วนน้อยถือว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการนำผลโพลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย หรือ การปรับปรุงยุทธศาสตร์ในกระบวนการสันติภาพ เพื่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้อย่างรอบด้าน และ ครอบคลุมทุกประเด็นอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ไห้ยุติได้ในเร็ววัน

 


[1] โพลไม่ใช่มติมหาชน โดย นพดล กรรณิกา สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 จากhttp://www.ipoll.th.org/article/Mathi/Mathi.htm

[2] สุวรา แก้วนุ้ย (2558) โพลสันติภาพ (Peace Poll) ใน deepsouthwatch.org. URL: http://www.deepsouthwatch.org/node/7185

[3] กษมา จิตร์ภิรมย์ศรี (2558) ทำไมโพลสันติภาพ (Peace Polls) จึงมีความสำคัญกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานี ใน deepsouthwatch.org. URL: http://www.deepsouthwatch.org/node/7258

[4] สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (2558) ผลการสำรวจข้อมูล เรื่องที่ 4 – 6 /2558 ใน ใน http://www.yru.ac.th:  http://research.yru.ac.th/yrupoll/contents.php?menu_id=12

[5]  สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (2558) ผลการสำรวจข้อมูล เรื่องที่ 14/2558 ใน ใน http://www.yru.ac.th:  http://research.yru.ac.th/yrupoll/contents.php?menu_id=23