Skip to main content

วิวาทะการทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ ”
: กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด  [1]
                                                             
                                                            นายอิสมาอีล เจ๊ะนิ (มะแอ)[2]
                                         ฉบับร่าง (ห้ามเผยแพร่หรืออ้างอิงก่อนได้รับอนุญาต)
บทนำ
          คงเป็นความท้าทายไม่น้อยเมื่อจะหยิบคุย การทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กับการโต้ตอบของคนสามจังหวัด เพราะความที่สื่อมวลชนเองนั้นทุกคนต่างก็รับรู้ถึงพลังแห่งอำนาจ ผ่านบทบาทที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มากขึ้นทุกขณะ แม้ใครจะมองเขาผ่านการทำหน้าที่อันทรงเดช ไร้ประสิทธิภาพ ไร้สมอง  ไร้อย่างคิด แต่อาจปฏิเสธไม่ได้คือ ความเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่กระจก ติดตาม ตรวจสอบ และสะท้อนสังคม ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะการที่เราสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนผ่านเจ้าตัวที่ชื่อว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย” นั้นเอง แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นที่ผู้เขียนร้อนรน และกลุ้มใจแต่ประการใด แต่ผู้เขียนร้อนรน และเฝ้ามองวิธีการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทยต่างหาก ที่ทำให้ผู้เขียนต้องออกนอกหน้าวิวาทะการทำหน้าที่ดังกล่าว เป็นเพราะความเป็นประชาชนคนสามจังหวัดที่ต้องกล้าตั้งคำถาม หาคำอรรถาธิบาย และแสวงหาหนทาง ภายใต้สภาวะที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย กำลังทำอยู่นั้น มันชวนให้คนสามจังหวัดอย่าง เราๆ ต้องกล้าถอดรหัส และสร้างความจริงในท่ามกลางที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ชายแดนใต้ กำลังเป็นที่สนใจของสังคมพื้นที่แห่งนี้
&ฉบับที่ 1 ฉบับรู้ตัวตนแห่งชื่ออันยิ่งใหญ่ + สื่อมวลชนแบบไทย ไทย  = เนื้อแท้?
  สวัสดี….จิ๊กโก๋ดื้อๆ มันคงคิดว่าสถานะแห่งชื่อและตำแหน่งแห่งที่อยู่ของเจ้านั้น จะชวนให้ใครหลายๆ คนเกรงใจ และอ่อนข้อ กระนั่นหรือ ความจริงการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามประกาศตัวอะไรบางอย่างอยู่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนสามจังหวัดอย่างเราๆ จะตัดโอกาสพิสูจน์ตัวตนหาไม่เพราะคนสามจังหวัดเข้าใจตลอดว่า การพิสูจน์ตัวตนแห่งชื่อนั้น เป็นขั้นตอนของการยืนยันความอยู่จริง จากสิ่งที่คุณมี  สิ่งที่คุณเป็นออกเช่นกัน แม้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะแปรสภาพเป็นพลังหลักในการกำหนดว่าสังคมไทยคืออะไร และอะไรคือสังคมไทย อะไรจริง อะไรเท็จ อะไรสำคัญ ไม่สำคัญ ล้วนอยู่ในกำมื้อของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ก็ไม่ได้ทำให้คนสามจังหวัด จะไม่กล้าที่จะออกนอกหน้ามาวิวาทะ ตัวตนที่ชื่อ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย”เลย เพราะคนสามจังหวัดรู้ดีตลอดถึงเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยว่า แท้จริงตัวของมันเองก็ถูกอิทธิพลภายใต้เจ้าจักรวรรดิสื่อครอบโลกออกเช่นกัน
จากการศึกษาระบบการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ศาสตราจารย์เจเรมี ทันสตอลล์ (Jeremy Tunstall) ยืนยันว่า การสื่อสารมวลชนในโลกถูกครอบงำโดยอเมริกาอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งทางด้านเทคโนโลยี เนื้อหา การศึกษา และอุดมการณ์ทางวิชาชีพ แม้กระทั่งระบบการสื่อสารมวลชนที่ก่อตั้งขึ้นมาของแต่ละประเทศ ก็จัดว่าเป็นส่วนขยายของความเป็นอเมริกัน (พิทยา ว่องกุล , 2541 : 6)
แม้แต่งานเขียนเรื่อง “จักรวรรดิสื่อครอบโลก : สงครามล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม”       (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 38-40) ที่มองว่า แท้จริงสื่อมวลชนไทยได้ตกเป็นทาสของสื่อตะวันตกตั้งนานแล้ว เพราะการที่สื่อมวลชนตะวันตกทำให้สื่อมวลชนของไทยเชื่อว่า สื่อของเขาคือ ตัวแทนความเป็นอิสระ และความเป็นประชาธิปไตย และการที่พยายามชวนเชื่อว่า เสรีภาพของสื่อคือพื้นฐานของ “อิสรภาพ และประชาธิปไตย”  มายาภาพที่เป็นความพยายามต่อภาพด้วยการแสดงตัวของสื่อตะวันตกว่าสนใจอย่างยิ่งต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาความโปร่งใส ปัญหาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านเผด็จการ และเสรีภาพด้านข่าวสารนั้น แท้จริงสื่อมวลชนไทยกลับมองไม่เห็น และเกือบจะตาบอดสนิท เพราะการที่สื่อตะวันตกพยายามจูงให้สื่อมวลชนไทยเชื่อตามนั้นเป้าหมายแท้จริงคือ ความพยายามในการสร้างอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ในการกำหนดเหนือทิศทางของข่าวสารในประเทศไทยต่างหาก เป็นต้นว่าทุกอย่างที่ข่าวตะวันตกบอกคือ ความจริง หรือการชวนหลอกให้เชื่อว่า สื่อคือสถาบันที่ให้คำตอบแก่สังคม และสื่อมวลชนก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางสังคมเช่นกัน ฉะนั้นสื่อมวลชนย่อมมีอิสระเต็มที่ ตามสบายที่จะเสนอ ตามสบายที่จะเขียน ตามสบายที่จะลงข่าว ตามสบายที่จะใช้คำ และตามสบายที่จะพาดหัวข่าว จะดีก็ได้ จะชั่วก็เชิญ
คำถามอยู่ที่ว่าการที่สื่อไทย ไทย บ้าบิ่นขนาดนั้นมันเป็นเพราะอะไรหรือ?...ความจริงคนสามจังหวัดจะต้องทำความเข้าใจอะไรบางอย่างมากกว่านี้ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจต่อสื่อสารมวลชนในนิยามใหม่ที่บอกว่า แท้จริงสื่อมวลชนนั้นคือเครื่องมือของนายทุนหรือบริษัทอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ในการแข่งขันแสวงหาผลกำไรสูงสุด สถาปนาอำนาจของตนเหนือการครอบงำความรับรู้ของประชาชน(หรือประชากรโลก) พิทักษ์ปกป้องและเป็นเครื่องมือกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยมบิดเบือนหรือไม่เสนอข่าวที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของตน นักการเมือง สถาบัน และบริษัทธุรกิจที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน โดยเลือกสรรข่าวสารไปตามอำเภอใจมากกว่ามีจุดยืนเพื่อรับใช้สาธารณประโยชน์ และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างสำนึก (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 8)
หากคนสามจังหวัดสามารถด่ำลึกถึงสัจธรรมของสื่อมวลชนก็จะเห็นว่า สื่อมวลชนเป็นดาบสองคม ที่หันปลายอันคมกริบอยู่เบื้องหน้าประชาชน มีโอกาสที่จะเป็นทั้งเครื่องมือที่ดีและเลวได้ตามเงื่อนไขสภาพการณ์ของสังคม และตามอารมณ์ความรู้สึกหรือโลกทัศน์ของผู้กุมด้านดาบเล่มนี้ได้เช่นกัน (พิทยา ว่องกุล, 2541 : 19)
การที่คนสามจังหวัดพยายามตอกย้ำนั้น ต้องการที่จะบอกว่า “สื่อ” จึงไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจธรรมดาที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อการหากำไรเท่านั้น แต่สื่อ คือเครื่องมือทางการเมือง และการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ยุค ศรีอาริยะ, 2541 : 45)
แล้วทำไม…ประชาชนคนสามจังหวัดไม่คิดที่จะเข้าใจบทบาท และทบทวนบทบาทของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย บ้าง?...เพราะถ้าคนสามจังหวัดหัดที่จะวิเคราะห์ในแนวคิดเชิงมานุษยวิทยาของสื่อมวลชน (พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล, 2550 : 132-137) มาเป็นอีกกรอทฤษฎีหนึ่ง เพื่อเติมเต็มความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของบทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างความจริงในสังคม ผ่านกรอบการวิเคราะห์ที่ว่าด้วยการสร้างชั้นความจริงเสมือนของสื่อมวลชนว่า มิได้มีสาเหตุมาจากการผูกขาดความเป็นเจ้าของในโครงสร้างของสถาบันสื่อมวลชนแต่เพียงด้านเดียว หากแต่มีปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและบรรทัดฐานความเชื่อของสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดกระแสและทิศทางของเนื้อหาในสื่อมวลชนเหล่านั้นอยู่ด้วย ที่สำคัญคนสามจังหวัดจะต้องเข้าใจในหน้าที่ของสื่อมวลชน ความจริงสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเอง ก็พยายามอย่างแรงกล้าในการนิยามและสร้างคุณค่าให้กับตัวแสดงต่างๆ ที่อยู่ ในสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างตรงไปตรงมา และพยายามที่จะแปลงและตีความเนื้อหาและให้น้ำหนักเชิงคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแทบทุกสถานการณ์อยู่แล้ว
ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ตระหนักอยู่เสมอ (เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, 2541 : 28-33)และเข้าใจว่า โลกปัจจุบัน สื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะข้าสื่อมวลชนรู้ดีตลอดว่า นอกจากข้าจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร ความรู้ ความคิด วิเคราะห์ และความบันเทิงแล้ว สื่อมวลชนยังต้องสวมบทบาทเป็นทั้งโจทก์และจำเลยของสังคม คือ เป็นทั้งผู้เรียกร้อง ปกป้อง รักษาสิทธิ หาผลประโยชน์และความถูกต้องให้แก่สังคม และยังพร้อมที่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมต่างๆ หรือการที่ถูกตีตราหน้าว่า      ข้าเป็นต้นแบบแห่งวัฒนธรรมทางความคิด และพฤติกรรมแบบสังคมบริโภค ที่สวนทางกับวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมไทย คนสามจังหวัดจะเข้าใจในหน้าที่อันหนักอึ้งบ้างไหม
ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย พยายามอ้างทฤษฎี บวกกับบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อสร้างความเห็นใจ
แต่คนสามจังหวัดก็อดที่จะถามออกเช่นกันว่า แล้วการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เลือกและคัดสรรเนื้อหาของข่าวที่มักจะถูกการควบคุมผ่านสถานะของการเป็นเจ้าของสื่อ ทั้งในบทบาทของรัฐบาล และในบทบาทของนายทุน มิหนำซ้ำ ตัวผู้ผลิตสื่อเองก็มีแนวโน้มในการนำเสนอเนื้อหาของข่าวให้สอดคล้อง และเป็นไปตามกระแสของสังคมและอุณหภูมิทางการเมือง ผ่านกระบวนการเลือกประเด็นที่ให้ช่องทางของข่าวสารที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น ให้มีความชอบธรรมในการยึดครองพื้นที่ บนสื่อสาธารณะ โดยมิได้เผื่อพื้นที่ไว้สำหรับความหลากหลายทางความคิด แล้วจะให้เราเข้าใจการทำหน้าที่สื่อแบบไทย ไทย ได้อย่างไร  
 
 
การที่คนสามจังหวัดอย่างเราๆ ได้แลเห็น และจับจ้องมองสื่อแบบไทย ไทยกระทำอยู่ ณ เวลานี้ ไม่ว่าการไม่หลุดพ้นเนื้อแท้ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่มีลักษณะนิสัยของการรวมศูนย์อำนาจก็ดี หรือการเมืองเรื่องช่อง 11 กับการควบคุมสื่อของรัฐบาลที่เราเห็นๆ ก็ดี หรือความอ่อนล้าของเจ้าของชื่อ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่เคยได้ยินมาว่ามีความอ่อนแรงในหน้าที่ก็ดี หรือการขาดความน่าเชื่อถือในข้อมูลก็ดี  หรือผู้พิพากษาที่สร้างตราบาปไปชั่วชีวิต หรือการที่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือของนักการเมืองก็ดี หรือการที่เคยถูกกล่าวหาสื่อมวลชนประเภทหนังสื่อพิมพ์ว่า Yellow Journalism (ยอดธง ทับทิวไม้, 2541 : 86) คือหนังสือพิมพ์ประเภท “ขยะ” หรือ “สวะ” ของหนังสือพิมพ์ที่เขียนขึ้นเพื่อการรีด การไถหรือหาผลประโยชน์ บิดเบือนความจริง หรือเขียนข่าวยกเมฆ ยกลมให้มากกว่าความเป็นจริง เพื่อจะสร้างความอึกทึกครึกโครม และดึงดูดความสนใจของคนอ่านก็ดี คำถามอยู่ว่าแล้วคนสามจังหวัดจะทนได้อย่างนั้นเหรอ?...
พับมุม: คนที่  1 : สื่อนำเสนอเกินความจริง  คนที่ 2 : สื่อทำหน้าที่ของสื่อได้ดี แต่สื่อนำเสนอข่าวไม่หมด และบางครั้งสื่อนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง  คนที่ 3 : รายงานข่าวเกินความจริง แทนที่จะเอาสถานการณ์ที่เป็นที่น่าชมมารายงาน ควรที่จะเอาหลักความจริงมานำเสนอไม่ใช่แค่อยากขายสื่อให้ประชาชนบริโภคเท่านั้น คนที่ 4 : การทำหน้าที่ของสื่อกับการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าสื่อให้ความสนใจ มีความเป็นกลาง แต่ยังขาดความเป็นจริง มองเท่าที่มองเห็น แต่ไม่สัมผัสความเป็นจริง คนที่ 5 : ก็ดี เพราะทำให้คนในพื้นที่ได้รู้ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ได้อย่างดี แต่บางที่ข่าวก็ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง คนที่ 6 : การทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนใหญ่ชอบนำเสนอประเด็นที่มีความรุนแรง เน้นการขาย มากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ  คนที่ 7 : ควรนำเสนอตามความจริง สื่อนำเสนอแต่ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ และในกรณีของผู้กระทำความผิด ที่จริงแล้วไม่ควรจะนำเสนอหน้าตา(รูปภาพ) ชื่อ เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิ ความจริงคนสามจังหวัดอย่างเราๆ ไม่ใช่ประเภทชอบจับผิด เหมารวม และพิพากษาเกินเลย คนสามจังหวัดเอง ก็พยายามที่จะหาความจริงออกเช่นกัน แต่ถ้าบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยไม่เชื่อ และเห็นเกินเลยต่อวิวาทะนี้ คนสามจังหวัดจะลองเขียนอย่างตรงไปตรงมา จากการตอบแบบสอบถามปลายเปิดตามความรู้สึกและความอิสระจากคำถามในการศึกษาผลกระทบการรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ภาพสะท้อนของนักศึกษาไทยในพื้นที่ 7 คน ซึ่งผู้คนสามจังหวัดจะลอกในข้อเขียนอย่างตรงไปตรงมาจากข้อคำถามที่ว่า ท่านมองอย่างไรต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน? คำตอบมีดังนี้
 
 
 
 
 
 
จากการตอบแบบสอบถามของนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ข้างตัน ถ้าคนสามจังหวัดจะประมวลคำตอบที่ไม่มีอคติ ปราศจากผลประโยชน์ และอารมณ์นั้น มันก็ชวนให้เข้าใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี การที่บอกว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเสนอเกินจริง เสนอข่าวไม่หมด มองเท่าที่มองเห็น ไม่สัมผัสความเป็นจริง เน้นการขายข่าวมากกว่าที่จะนำเสนอมุมมองในแง่ดีๆ หรือชอบละเมิดสิทธิ ในฐานะสื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะให้คนสามจังหวัดเข้าใจเป็นอื่นเหรอ เพราะพฤติกรรมแบบนี้ภาษาคนสามจังหวัดเรียกว่าภาวะสะท้อนวิกฤติทางจริยธรรมของสื่อมวลชน อันที่จริงมันเคยปรากฏมาก่อนแล้ว ในชื่อสุดหรูว่า “วิกฤติข่าวสาร” (พิทยา- ว่องกุล, 2541 : 9)  วิกฤติข่าวสารนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันเสนอข่าวสารที่นำไปสู่การทำลาย หรือสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง และบิดเบือน เลือกสรรโดยลำเอียง หรือปกปิดข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน หรือไม่เสนอข่าวของประชาชน นอกจากนี้ วิกฤติข่าวสารยังรวมไปถึงการไร้วุฒิภาวะ หรือสติปัญญาของสื่อมวลชน ซึ่งมักจะถูกเป็นเชลยทางความคิดหรือเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และหนักมากไปกว่านั้น การขาดความรับผิดชอบหรือจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนอีกด้วย
หากสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ไม่เชื่ออีก ข้าคนสามจังหวัดยังมีหลักฐานอีกมากมายที่สามารถสะท้อนการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย โดยเฉพาะมีงานศึกษาเรื่อง “สื่อมวลชน” ดาบสองคมที่มีผลกระทบต่อเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จุฑารัตน์ สมจริง, 2549 : 2) จากผลการศึกษาบางส่วนที่เกี่ยวข้องได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของสื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สรุปบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นต้นว่า การที่บอกว่าหลายครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลเกินจริง หรือไม่สมดุล เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ประกอบกับสื่อมวลชนบางกลุ่มมีการแสดงออกทางความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานความอคติทางชาติพันธุ์ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง หรือบอกว่าสื่อมวลชนยังทำหน้าที่บกพร่องในหลายประเด็น เช่น โครงสร้างการเขียน ภาษาและคำที่ใช้ อีกทั้งท่วงทำนองของเรื่องที่นำเสนอว่ามีความโน้มเอียงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับรู้ (Cognition) การเข้าใจ (Perception) และการประเมิน (assessment) เหตุการณ์ของผู้รับสาร หรือแม้แต่ยังพบว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เชื่อมั่นในข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะภาพสะท้อนของเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดที่นำเสนอผ่านสื่อโดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือการสร้างภาพข่าวให้มีความรุนแรงเกินจริง จนส่งผลให้เกิดการสร้างภาพแบบฉบับตายตัวว่าคนมุสลิมทุกคนเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย น่ากลัว และหัวรุนแรง เป็นต้นว่า ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับแบบสอบถามที่คนสามจังหวัดได้ถามนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดในหลายๆ คน  
ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ดูเหมือนว่า คนสามจังหวัดไม่เข้าใจตามทฤษฎีสื่อสารมวลชน (รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, 2541 : 225) เอาซะเลย! คุณเคยได้ยินคำพูดที่ติดปากของนักสื่อสารมวลชนว่า “สื่อมวลชนมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ” บ้างไหม?... เพราะสื่อมวลชนเองก็เข้าใจตัวเองว่าได้รับการสถาปนาเป็นผู้มีอำนาจ (Authority) ในการบอกความจริงกับสังคมอยู่แล้ว คุณเข้าใจหรือเปล่าว่า การเขียนข่าวจะต้องเขียนตามภววิสัย (Subjectivity) ซึ่งแน่นอน การจะให้สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ให้มีความเป็นกลาง หรือความจริงนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก และการที่จะให้การทำหน้าหน้าที่สื่อมวลชนที่ปราศจากความโคมลอยของข้อเท็จจริงนั้นแทบหาคนทำหน้าที่ดีๆได้ยาก
คนสามจังหวัดเข้าใจป่าวว่า ขนาดนักมานุษยวิทยาการสื่อมวลชน Lule (พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล, 2550 : 138-139) ยังเข้าใจถึงกระบวนการผลิตข่าว โดยเขาบอกว่าความโคมลอยของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาจากการสั่งสมทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคมหนึ่ง ในขณะเดียวกันเนื้อหาข่าวก็มีอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างความเชื่อโคมลอยใหม่ๆในสังคมอีกด้วย ถ้าคนสามจังหวัดเข้าใจบนตรรกะแบบนี้น่าจะเห็นใจการทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทยได้บ้าง
ความจริงในฐานะคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เราได้มอบหน้าที่สำหรับคนสามจังหวัดออกเช่นกัน โดยเฉพาะหน้าที่ในเรื่องการตื่นตัวกับการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Media Literacy” (นภินทร ศิริไทย, 2547 : 56-58) ความจริงคำ Media Literacy  นี้ไม่ได้ใหม่สำหรับสังคมไทยแต่อย่างใด ความจริงคนสามจังหวัดเองก็เข้าใจในหลักการนี้ดีอยู่แล้ว เพราะ Media Literacy เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการอ่านสื่อออก สามารถอ่านและประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อประเภทต่างๆ ได้ สามารถในการสื่อและแสดงออกเชิงข้อมูล ความเห็น ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกผ่านสื่อได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังเป็นเรื่องของการให้การศึกษาเกี่ยวกับสื่อ เพื่อให้เกิดความรู้และทักษะในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์สื่ออีกด้วย ฉะนั้นการกล่าวหาโดยปราศจากการไม่หยั่งรู้ในหลักการของการทำหน้าที่สื่อมวลชน กับการเปิดพื้นที่ให้คุณรู้เท่าทันสื่อนั้น แท้จริงมันเป็นส่วนด่ำลึกของคนสามจังหวัดเองหรือเปล่า! ความจริงคนสามจังหวัดต้องตระหนักรู้ และเข้าใจในข้อปลีกย่อย และข้อจำกัดเหล่านั้นบ้าง หากไม่อย่างนั้น คุณจะปิดประตูการรับรู้ความอยู่จริงของข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยเหมือนกัน
&  ฉบับที่ 2 เข้าใจตัวตนที่แท้จริง + สื่อมวลชนแบบไทย ไทย = สร้างภาพที่สามจังหวัด
          สวัสดีเจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ของข้า…..
เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ข้าคนสามจังหวัดได้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของเจ้าบ้างแล้ว แม้ในบางครั้งเจ้าอาจจะปากแข็ง ผ่านวาทกรรมจอมปลอมก็ตาม แต่ข้าคนสามจังหวัดเข้าใจ และเข้าใจ โดยเฉพาะในแนวคิดว่าด้วยจิตวิเคราะห์ (อิสมาอีล เจ๊ะนิ , 2552 : ) ของ Sigmund Freud (Psychoanalytic) ที่เชื่อว่า มนุษย์ คือ ระบบของพลังงานขับเคลื่อนโดยตัวเร้าสองตัวหลัก หนึ่งในตัวหลักที่สำคัญ คือ ความก้าวร้าวในด้านของระบบการทำงานของสมอง เพราะเขาเชื่อว่า คนเรามีระบบความคิด 2 แบบ คือ ระบบแรก คือ ความคิดระดับปฐมภูมิ ซึ่งระดับนี้จะมีส่วนให้จิตใต้สำนึกที่ต้องการการตอบสนองแบบฉับพลัน ทำตามอำเภอใจ ไม่รวมความคิดเหตุผล ศีลธรรมจรรยา ระบบที่สอง คือ ความคิดระดับทุติยภูมิ คือ สภาวะก่อนมีสติ ถึงมีสติ คือรู้ตัวจะยั้งคิด หรือดึงสติมาคิดได้ ซึ่งประกอบด้วยเหตุผล ศีลธรรมจรรยา ความสงสัย ความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน ไม่แน่ใจ คือ การคิดระดับนี้อยู่ใต้กฎเกณฑ์ความจริง โดยจะสร้างการควบคุมให้ตนเองมีพฤติกรรมตามที่สิ่งแวดล้อม สังคมรอบข้างต้องการ เมื่อสร้างพฤติกรรมได้ถูกต้อง เหมาะสม จะเกิดระดับพลังงานสมดุลขึ้นภายในมนุษย์ ความจริง Freud ยังได้กล่าวถึงกระบวนการทางจิต 3 ระดับในตัวมนุษย์เหมือนกัน  ซึ่งประกอบด้วย จิตใต้สำนึก (id) คือ การทำตามอำเภอใจ ระดับที่สอง คือ ego หรือตัวควบคุม ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความสมดุลระหว่าง id และ superego และระดับที่สูงขึ้นไปอีกคือ เป็นเรื่องของการรับรู้ โลกทัศน์ หรือการมองโลก ความทรงจำ การเรียนรู้ การปรับตัว วิจารณญาณ และเรื่องของระบบความเชื่อต่างๆ จึงไม่แปลกที่จะเข้าใจในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย แม้อาจไม่มากแต่ก็พอเข้าใจในสถานะของเจ้าอย่างดี     คำถามว่าอะไรที่คนสามจังหวัดอ้างแนวคิดจิตวิเคราะห์มามองภาพของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย? อาจเป็นเพราะคนสามจังหวัดไม่ปักใจเชื่อง่ายๆ ต่อความเก่งกาจ โดยเฉพาะกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย การที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทยพยายามหยิบใช้วาทกรรมดีๆ ออกมานำเสนอ ไม่ว่าวาทกรรมเรื่อง เสรีภาพของสื่อ ที่บอกว่า รัฐบาล “จะเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างเต็มที่” หรือคำว่าปฏิรูปสื่อ ที่พยายามบอกว่าต่อไปนี้สื่อมวลชนจะต้องออกจากธรรมเนียมเก่าๆ ของวิธีการรายงานข่าว ต้องสลัดภาพลักษณ์เดิมที่ถูกมองว่าเป็นกองเชียร์รอบสนาม หรือ ผู้ร่วมเล่นเกม ให้ออก หรือภาพที่มุ่งเน้นการเสนอสาระในเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจ มองปัญหาสังคมได้อย่างเชื่อมโยง และเกิดกระบวนการแก้ไขในเชิงที่สร้างสรรค์ (วิลาสินี พิพิธกุล, 2541 : 100)  
คนสามจังหวัดอยากจะหัวเราะที่สุด โดยเฉพาะความพยายามการฉายภาพเกินจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะคำว่าการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ที่พยายามบอกว่าต่อไปนี้วิธีการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพความขัดแย้งที่เป็นการเอาชนะคะคานกันของ 2 ฝ่าย ไม่ด่วนสรุปและแบ่งฝ่าย แต่ต้องเปิดใจเพื่อหาบทสรุปที่หลากหลาย หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยแค่คำกล่าวของผู้นำ แต่จะต้องสืบสวนหาเป้าหมายที่ลงลึกลงไป หรือการที่จะต้องหลีกเลี่ยงการตอบย้ำเกี่ยวกับสิ่งที่จะสร้างความแตกแยก หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อ แต่จะต้องรายงานเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น และถามด้วยว่าเขาจะจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร และหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ตีตรา เช่น ผู้ก่อการร้าย พวกหัวรุนแรง (ประเวศ วะสี, 2552 : 62-63)
 ไม่ว่าเจ้าจะหลอกแล้วหลอกอีก แต่คนสามจังหวัดไม่เชื่อในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยประการหนึ่ง และไม่อยากถูกหลอกจากวาทกรรมดูดีที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย นำเสนอประการหนึ่ง หรือการที่สื่อมวลชนแบบไทย ไทย เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อันทรงเดชอีกประการหนึ่ง
พับมุม: คำถาม : ที่ผ่านมาท่านคิดว่าการรายงานข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร?  คำตอบ “…ที่ผ่านมาการรายงานข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชอบนำเสนอข่าวที่มีภาพเหตุการณ์ที่รุนแรง บางข่าวออกมาเกินความเป็นจริง บางก็ออกมาไม่หมด และมักจะรายงานข่าวด้านลบ และบางข่าวออกมาไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงมักตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏ และมักนำเสนอข่าวที่ไม่ชัดเจน…”              เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย คงรู้ดีว่า การที่คนสามจังหวัดออกมาวิวาทะนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีเจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย แบบไร้เหตุผล เพราะจากการที่คนสามจังหวัดได้สอบถามประชาชนในพื้นที่เพื่อจะดูผลสะท้อนในความจริงต่อบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทย ที่กระทำอยู่ ณ เวลานี้ ในข้อคำถามที่ว่า
 
         
พับมุม: คำถาม : ท่านคิดว่าต่อไปนี้การรายงานข่าวความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ควรคำนึงถึงในแง่มุมใดบ้างเป็นพิเศษ และผู้สื่อข่าวควรปรับตัวอย่างไรสำหรับการรายงานข่าวในพื้นที่แห่งนี้? “…ควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ จะต้องให้เกียรติ ให้ปรับตัวให้เข้ากับคนในพื้นที่ หามุมมองที่หลากหลายและหาความจริงในหลายๆ มิติ สื่อไม่ควรปรุงแต่งข่าวให้เกิดเข้าใจผิด ผู้สื่อข่าวเองต้องค้นหาข้อมูลจริงและวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย จะต้องวางตัวให้ดี เข้ากับชาวบ้านได้ และควรคำนึงถึงความถูกต้อง ความชัดเจนของข่าว และข่าวที่เป็นในเชิงสร้างสรรค์ด้วย ในส่วนการปรับตัว ไม่ควรมีอคติ เลือกปฏิบัติ ไม่ควรที่จะรีบจะเสนอข่าวหากข้อมูลที่ได้รับไม่ชัดเจนพอ หากจำเป็นต้องรายงานถึงผู้กระทำความผิด สื่อมวลชนเองไม่ควรรายงานชื่อ รูปภาพ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ...”ดูแล้วน่าจะเป็นผลงานที่น่าชมอย่างนั้นเหรอ การที่เศษส่วนหนึ่งได้ตอบย้ำว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย มักรายงานข่าวที่มีลักษณะเกินจริงมั่ง ออกไม่หมดมั่ง ออกแต่ด้านลบมั่ง ตรงข้ามกับเหตุการณ์มั่ง ไม่ชัดเจน เลือกที่จะเสนอมั่ง แล้วแบบนี้ จะให้คนสามจังหวัดให้เครดิตได้อย่างไร เพราะดูๆ แล้วมันไปสอดคล้องกับ การทำหน้าที่อันบกพร่องของสื่อมวลชนตามหลักหน้าที่นิยม (Functionalism) ในเรื่อง “การไม่ทำหน้าที่ หรือ ทำหน้าที่ที่บกพร่อง” (Dysfunction) ของสื่อมวลชน  (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 2)  บอกว่าการทำหน้าที่อันบกพร่องของสื่อมวลชนมาจากหลายสาเหตุหลัก เช่น การใช้ภาษาและถ้อยคำที่รุนแรง การรายงานเกินจริงและการรายงานข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดต่อเหตุการณ์หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง แบบนี้เจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยจะอธิบายให้เราเข้าใจอย่างไร เพราะทฤษฎียังสามารถบ่งชี้ตรงกับการกระทำของเจ้าได้ขนาดนี้ หรือเจ้าอาจจะยังบอกว่าเราฉายภาพตายตัวอย่างนั้นหรือ ความจริงคนสามจังหวัดไม่ได้ลืมในบทสัมภาษณ์คนในพื้นที่ โดยเฉพาะในบทสัมภาษณ์ในข้อคำถามที่ว่า
 
 
 
 
 
 
 
                                                                  
                         ที่มา: โนรี (ชื่อเล่น). นักประชาสัมพันธ์. สัมภาษณ์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553
 
 
ก็ไม่เป็นไร คนสามจังหวัดจะฝากคิดอีกรอบว่า สื่อมวลชนแบบไทย ไทย ได้ตระหนักบ้างไหม ในข้อเรียกร้องที่ด่ำลึก ไม่ว่าการที่ต้องคำนึงสิทธิเสรีภาพ การให้เกียรติ หาความจริงในหลายๆ มิติ มีความชัดเจน ไม่ควรปรุงข่าวจนบิดเบือน ตระหนักถึงความถูกต้อง ปราศจากอคติ ไม่ด่วนสรุปข่าว หากจำเป็นต้องรายงานผู้กระทำความผิด ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ภาพ เป็นต้น ถามว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนแบบไทย ไทย มีเศษส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่แบบนั้นบ้างไหม
คนสามจังหวัดคิดว่าไม่ต้องอะไรมากหรอก แค่ขอเรื่องคุณค่าของเนื้อหาสาร (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 4) ที่บอกว่า 1) ต้องมีความถูกต้อง หมายถึง ความถูกต้องในการเสนอข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิด 2) ความสมดุล โดยที่นักข่าวจะต้องพยายามเน้นหนักในข้อเท็จจริง และความสมบูรณ์ครบถ้วนของข้อเท็จจริง 3) ความเป็นกลาง ข่าวที่ดีจะต้องไม่มีการสอดแทรกหรือแสดงความคิดเห็นเข้าไปในเนื้อข่าว 4) ความชัดเจนกะทัดรัด ภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าวนั้นจะต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายมีความกะทัดรัดและไม่กำกวม และ 5) ข่าวจะต้องมีความสดและทันต่อเหตุการณ์ ไม่รู้มันจะมีบ้างไหมในตัวตนของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยในยุคปัจจุบัน
ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย อยากจะเตือนว่า การที่คนสามจังหวัดพยายามมืดบอดในทุนความรู้เดิมต่อทฤษฎีกำหนดวาระข่าวสารของสื่อได้อย่างไร?
ข้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยอยากจะบอกว่า ทฤษฎีกำหนดวาระข่าวสารของสื่อ Agenda Setting (นุวรรณ ทับเที่ยง, มปป. : 2) ต้องเข้าใจด้วยว่าในแต่ละวันมีเรื่องราวและเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สื่อมวลชนจำเป็นต้องทำหน้าที่ในการช่วยจัดวาระ เรียงลำดับความสำคัญเพื่อที่ประชาชนจะได้พูดถึง อภิปราย ถกเถียง และให้ความสนใจต่อประเด็นที่สื่อ “เลือกมานำเสนอ” ความจริงมันไม่ใช่เป็นความผิดของข้าแต่อย่างใด คุณต้องเข้าใจ และรับทราบในจุดนี้บ้าง ไม่ใช่จะปิดตา ปิดหู และเลือกพูด เลือกสอนได้อย่างเดียว ในบางบริบทการเลือกนำเสนอข่าว เราจะต้องแข่งขันกับสำนักอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างงันเราจะทันได้เหรอ แบบนี้ตกงานแน่เลย ความจริงคุณหัดเข้าใจในขีดจำกัด หรือไม่ก็หัดเข้าใจในสภาวะที่สังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าการรายงานข่าวจะไม่มีการแข่งขันเลย เราแข่งขันการนำเสนอข่าว ใครเร็วใครได้ ใครยิ่งรวดเร็ว เข้าถึงผู้บริโภคข่าวย่อมได้เปรียบกว่า คุณได้รู้บ้างไหม
พับมุม: ท่านคิดว่าผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยที่ชายแดนใต้ ที่ผ่าน มีผลกระทบอย่างไรบ้างมากที่สุด?<br />
ëด้านชีวิตประจำวัน : สภาพจิตใจแย่ลง คนนอกพื้นที่มองคนในพื้นที่ไม่ดี ไม่ปลอดภัย ต้องระมัดระวังมากขึ้น  ëด้านความรู้สึก : ทำให้คนนอกพื้นที่มอง 3 จังหวัดในแง่ลบ เกิดความหวาดกลัวกับสถานการณ์ ทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรมจากการทำหน้าที่ของสื่อ ทำให้เกิดความหวาดระแวง และไม่กล้าที่จะออกไปทำงานเกินเวลาและต้องดูความปลอดภัยทั้งตัวเองและครอบครัว  ëการอยู่ร่วม : มีผลมากต่อการคบกันระหว่างต่างศาสนา เกิดความบาดหมางโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้เกิดการหวาดระแวงกันเอง พุทธไม่กล้าเข้าใกล้มุสลิม มุสลิมไม่กล้าเข้าใกล้พุทธ ต่างก็ไม่ไว้วางใจกัน ทำให้สภาพสังคมปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนแบบไทย ไทยดื้อดันไม่จบ ข้าคนสามจังหวัดก็ไม่รู้จะทำอย่างไรในวิธีคิดของเจ้า ข้าอยากยืนยันเป็นครั้งสุดท้าย เพราะข้าคนสามจังหวัดไม่อาจทนในพฤติกรรม และวิธีคิดที่ไม่คำนึงถึงสังคมด้วยกัน คิดอยู่อย่างเดียวคือ กำไร อำนาจ เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว และปราศจากความรับผิดชอบ  และไม่เข้าใจในบริบทสังคมออกซะเลย!  เจ้าจงดูผลจากแบบสอบถามให้เต็มตาอีกรอบหนึ่งเผื่อว่าจะร่วมกันรับรู้มากกว่านี้ เพราะผลจากการทำหน้าที่ของเจ้า แท้จริงมันเกิดผลกระทบมากมาย ท่านลองอ่านดู ในคำตอบและคำถามในกล่องข้อความนี้ และล่องพิจารณา ใคร่ครวญจากความทรงจำในอดีตที่ผ่านมาแล้วกัน
 
 
 
 
 
 
 
 
ข้าคนสามจังหวัด ข้าคงเข้าใจว่าเจ้าสื่อมวลชนแบบไทย ไทย จะเข้าใจในความหวังดีของข้าบ้าง ความจริงการวิวาทะทางปัญญาอันมีเหตุผลเป็นเรื่องปกติทางวิชาการ แม้การวิวาทะเกิดจากอารมณ์ใฝ่ต่ำของข้า แต่ข้าคงต้องทำหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมพื้นที่ของข้า ความจริงข้าเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเจ้าดี การที่เจ้าต้องสร้างฉาก ถ่ายทำ เอาหน้า อาจเป็นความสุขของเจ้า แต่สำหรับข้าแล้วกลับเป็นหน้าที่ ที่ต้องปกป้องสังคมของข้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ   “หวังว่าเจ้าคงเข้าใจ…และเข้าใจข้าดี………รักเจ้าเสมอ…..
 


[1] บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา “การสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ในบทความชิ้นนี้เป็นเพียงแค่สิ่งสมมุติเรื่องราวเท่านั้น การโต้ตอบนั้นจะมีคำว่า“คนสามจังหวัด” ซึ่งคำนี้หมายถึงผู้เขียนเอง มิได้หมายถึงคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดทั้งหมดแต่อย่างใด และจะมีคำว่า “การทำหน้าที่ “สื่อมวลชนแบบไทย ไทย” นั้น เป็นเพียงแค่วิวาทะระหว่างผู้เขียนกับสื่อมวลชนแบบไทย ไทยที่สมมุติเท่านั้น ซึ่งไม่ถือเป็นการวิวาทะของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด แน่แท้หมายถึงผู้เขียนเองในฐานะคู่วิวาทะ หากคำนี้รู้สึกไม่เป็นธรรมสำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแบบไทย ไทยอื่น  ผู้เขียนมิได้หมายความถึงการทำหน้าที่ของสื่อนั้นแต่ประการใดออกเช่นกัน
[2] นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่